ทุกเม็ด! 'ปิยบุตร' หลังพิงฝรั่ง อ้างกมธ.สภาผู้แทนเยอรมนีจับตาคดียุบพรรคอนาคตใหม่


เพิ่มเพื่อน    

20 ก.พ.63 - นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้

พหุนิยมประชาธิปไตยไม่สามารถปิดกั้นความคิดเห็นของพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้

ผมและเพื่อน ส.ส. ในคณะกรรมาธิการกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และการยุติธรรม ได้ให้การรับรอง ปีเตอร์ รามซาวเออร์ ประธานคณะกรรมาธิการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สภาผู้แทนราษฎรสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สมาชิกกรรมาธิการอีก 2 ท่านได้แก่ มาคุส โฟรห์นไมเออร์ และ เฮลิน เอฟริม ซอมเมอร์ พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เกออร์ค ชมิดท์ และคณะ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์การทำงาน แนวปฏิบัติ และข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมาย และการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์

คุณรามซาวเออร์ ประธานคณะกรรมาธิการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สภาผู้แทนราษฎรสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี แลกเปลี่ยนว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆในอาเซียนที่มีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงพอสมควร นอกจากนี้ภูมิภาคอาเซียนก็มีความหลากหลายทั้งทางด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรม

เขายังบอกกับผมว่าทราบข่าวมาว่าวันศุกร์ที่จะถึงนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยว่าจะยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ โดยกล่าวว่าสำหรับพวกเขาแล้ว นี่ถือเป็นสิ่งที่น่าจับตามองมาก เพราะหากมองในแง่เสรีภาพทางการเมือง สิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และความเป็นประชาธิปไตยแล้ว หากผลการตัดสินออกมาในลักษณะที่ไม่เป็นคุณต่อพรรคอนาคตใหม่ จะเป็นเรื่องน่าจับตาอย่างมาก อยากให้ทราบว่าทางคณะกรรมาธิการฯ และสภาผู้แทนราษฎรสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ให้ความสนใจและติดตามเรื่องนี้อยู่

อีกประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ ติดตามและจับตามองก็คือความถูกต้องและเป็นธรรมของการฟ้องร้องดำเนินคดีและการพิจารณาคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทธรรมเกษตร รวมทั้งอีกหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีปิดปากและการละเมิดสิทธิมนุษชนในประเทศไทยและประเทศต่างๆ

คุณโฟรห์นไมเออร์ ให้ความสนใจกับการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ๆ ของไทยในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และถามผมถึงการสร้างพรรคอนาคตใหม่

ผมตอบว่า พรรคการเมืองใหม่มีทั้งอยู่ในซีกฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมทางการเมืองจากพรรคเก่า ในขณะเดียวกัน พรรคเก่าเดิมก็ได้ทราบถึงวิธีการทำพรรคแบบใหม่ การเกิดขึ้นของพรรคใหม่ๆ ทำให้แต่ละพรรคต้องปรับตัว ซึ่งส่งผลดีต่อการเมืองในภาพรวม

ในขณะที่คุณซอมเมอร์ กล่าวว่า เธอเองก็ติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในหลายประเทศอย่างใกล้ชิด เธอบอกว่าแม้ว่าสิทธิมนุษยชนจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่กำเนิดในตะวันตก แต่แท้จริงแล้วสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสากลที่ทุกคนควรจะให้คุณค่าและความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน

คุณซอมเมอร์ยังถามผมว่าการละเมิดสิทธิมนุษชนและเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย มีเรื่องใดที่น่ากังวลบ้าง และเธอกล่าวว่าในรัฐสภาเยอรมันมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ดูแลและคอยปกป้องสมาชิกรัฐสภาด้วยกัน เมื่อสมาชิกรัฐสภาถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม เธอเสนอว่าน่าจะมีโอกาสได้พูดคุยกันในอนาคต และอาจจะสามารถประสานงานกันและทำให้ประเด็นที่ ส.ส. และพรรคการเมืองไทยถูกคุกคาม ได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นได้

ผมบอกว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการแสดงออก แลกเปลี่ยนถกเถียงกัน หรือความอดทนอดกลั้น ต่อความเห็นที่แตกต่างเลย ประชาธิปไตยจะเดินต่อไปไม่ได้

ภาพรวมของการปกครองโดยรัฐบาลทหารตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีคนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกเป็นจำนวนมาก และหลายคนต้องไปขึ้นศาลทหาร ขัดกับหลักการที่ว่าพลเรือนต้องไม่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร และกระบวนการพิจารณาในศาลทหารนั้น ก็ไม่ได้มีหลักประกันในการต่อสู้คดีที่เพียงพอ

ในสัปดาห์นี้คณะกรรมาธิการของเราได้จัดทำรายงานศึกษาว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมานี้มีการละเมิดสิทธิมนุษชนและเสรีภาพในการแสดงออกภายในรัฐบาล คสช. อย่างไรบ้าง และจะนำรายงานนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนของนักการเมืองและนักกิจกรรม ก็ถูกนำตัวไปปรับทัศนคติทางการเมือง หลายคนถูกอายัดบัญชี ถูกห้ามเดินทางไม่ให้ไปต่างประเทศ หากจะเดินทางไปต้องขออนุญาตก่อนในช่วงเวลาหนึ่ง ขณะนี้มีการเลือกตั้งสถานการณ์ก็กลับมาดีขึ้น

ขณะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านคณะกรรมาธิการของเราก็ได้เชิญหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยเพื่อหาทางฟื้นฟูเสรีภาพในการแสดงออกกลับมา เช่น เมื่อช่วงเช้าเราได้เชิญผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาหารือและหาจุดร่วมกันในการสนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างสันติ

ผมเชื่อว่าระบบรัฐสภาเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่สำคัญในการแสดงออก อย่างน้อยที่สุดถ้าสมาชิกรัฐสภานำความเรียกร้องของประชาชนมาพูดในสภา และหาทางแก้ไขปัญหาได้ ระบบรัฐสภาก็จะเป็นทางออก แต่ขณะเดียวกันหากระบบรัฐสภาไม่สามารถเอาเสียงเรียกร้องของประชาชนมาพูดได้หรือผลักดันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้ออกไปจากสภา นี่ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้

นอกจากนี้ผมกล่าวถึงตัวอย่างที่น่าประทับใจอย่างหนึ่งของรัฐสภาเยอรมันสำหรับผมก็คือ มีความหลากหลายในอุดมการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่ ซ้ายสุด ซ้ายกลาง ขวากลาง และขวาสุด ซึ่งคณะกรรมาธิการของเราก็มาจากต่างพรรคมีความเห็นต่างกันแต่ก็สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

ผมยืนยันว่าพหุนิยมประชาธิปไตยไม่สามารถปิดกั้นความคิดเห็นของพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินความนิยมของพรรคการเมืองและเลือกพรรคการเมืองที่เขาเห็นด้วย และเปลี่ยนการตัดสินใจได้เสมอ หลักก็คือต้องมีพื้นที่สำหรับการแสดงออกในทุกความเห็น

ผมยังได้กล่าวชื่นชมประเทศเยอรมนี ในฐานะเป็นต้นแบบในเรื่องรัฐธรรมนูญที่ประกันหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ และหลักสังคมรัฐ

ประเทศไทยรับอิทธิพลในเรื่องเหล่านี้ และยังนำรูปแบบศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีมาประยุกต์ใช้ และผมหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยจะเป็นองค์กรที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยได้ดังเช่นที่เยอรมนีทำสำเร็จ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"