"อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ" โล่ง! ศาลพิพากษาจำคุก 36 เดือน รอลงอาญา 2 ปี สนับสนุนปฏิบัติหน้าที่มิชอบคดีเงินทอนวัด 69 ล้าน "พนม-ผู้บริหาร พศ." เจอคุกต่อ "ตัวแทนลูกศิษย์" อุทธรณ์สบายใจไม่ใช่เรื่องทุจริต
ที่ห้องพิจารณา 703 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) คดีหมายเลขดำ อท.251/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายพนม ศรศิลป์ อายุ 60 ปี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.), นายชยพล พงษ์สีดา อายุ 64 ปี อดีตรอง ผอ.พศ., นายณรงค์เดช ชัยเนตร อดีต ผอ.กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา, นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อายุ 50 ปี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา และอดีตพระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข หรือนายธงชัย สุขโข อายุ 64 ปี อดีตพระราชาคณะเจ้าคณะรอง อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 ประกอบมาตรา 83, 86, 91
คดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2561 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 29 ต.ค.2558-22 ก.ค.2559 พวกจำเลย ได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณของสำนักงาน พศ.ประจำปี 2559 จำนวน 69,700,000 บาท (จากวงเงินงบประมาณประจำปี 2559 จำนวน 5,360,188,000 บาท) ไปเป็นประโยชน์ของตน โดยใช้วัดเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดรับโอนเงิน ด้วยการให้วัดโดยเจ้าอาวาส เสนอโครงการเพื่อรับเงินสนับสนุนที่เบียดบังมาจากที่ได้มีการพิจารณาอนุมัติโครงการเงินอุดหนุนในโครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม จำนวน 37,200,000 บาท และโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท ซึ่งวัดสระเกศฯ ได้รับอนุมัติเงินไปเพียงวัดเดียว โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2561 พ.ต.ท.พงศพร พราหมณ์เสน่ห์ ผอ.พศ. ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งมีการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนตามกฎหมาย ซึ่งมีคำขอท้ายฟ้อง ขอศาลให้มีคำสั่งจำเลยที่ 1-5 ร่วมกันคืนเงินหรือใช้เงินจำนวน 69,700,000 บาท คืนแก่สำนักงาน พศ.ผู้เสียหาย พร้อมขอให้ศาลนับโทษจำคุก นายพนม จำเลยที่ 1 กับคดีหมายเลขดำ อท.253/2561, อท.254/2561 (ร่วมทุจริตการจัดสรรเงินงบ พศ.) ของศาลนี้ และอดีตพระพรหมสิทธิฯ จำเลยที่ 5 กับคดีหมายเลขดำ อท.197/2561 (ร่วมฟอกเงิน) ของศาลนี้ด้วย
ขณะที่ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ นายพนม จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งได้ถูกดำเนินคดีหลายสำนวนในศาลนี้ ส่วนพระพรหมสิทธิ จำเลยที่ 5 เพิ่งได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2562 โดยศาลตีราคาหลักประกัน 2.5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 1 เดือน ไปจนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
วันนี้ อดีตพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 สวมชุดขาวมาศาลพร้อมคณะลูกศิษย์ ส่วนจำเลยที่ 1- 4 นั้นถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ศาลได้เบิกตัวทั้งหมดมาฟังคำพิพากษา
หนุน จนท.ปฏิบัติมิชอบ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารงานและดำเนินการตามภารกิจของสำนักงาน พศ. และมีอำนาจอนุมัติโครงการ แผนงานต่างๆ ตามการจัดสรรงบประมาณ และตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ ในช่วงเกิดเหตุปี 2558-2559 ได้อนุมัติเงินอุดหนุนใน 2 โครงการ คือโครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรม จำนวน 37 ล้านบาท และโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32.5 ล้านบาท ให้กับศูนย์สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมฯ วัดสระเกศฯ ที่มีจำเลยที่ 5 เป็นประธาน ซึ่งจำเลยที่ 5 ได้ต่อสู้ว่าไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย กรณีที่กล่าวหาไม่ได้อยู่ในฐานะเจ้าอาวาสวัด แต่เป็นประธานศูนย์สำนักงานส่งเสริมคุณธรรมฯ วัดสระเกศฯ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลเห็นว่าแม้จำเลยที่ 5 จะอ้างว่ากรณีที่ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำในฐานะเจ้าอาวาส แต่ในเอกสารที่ลงชื่อก็กำกับท้ายเจ้าอาวาส ขณะที่ศูนย์สำนักงานส่งเสริมฯ ก็อยู่ในความดูแลของวัดสระเกศฯ ที่จำเลยที่ 5 มีอำนาจบริหารจัดการดูแลภายในวัด ส่วนที่โจทก์ฟ้องก็ฟ้องจำเลยที่ 5 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5
โดยการอนุมัติจัดสรรงบประมาณโครงการอบรมคุณธรรมจริยธรรม จำนวน 37 ล้านบาทนั้น ได้โอนเงินให้กับวัดสระเกศฯ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งจำเลยที่ 5 ก็มีหนังสือแจ้งกลับจำเลยที่ 1-4 ที่เป็นผู้บริหารงบประมาณว่าได้รับเงินที่จัดสรรมาแล้ว ศาลเห็นว่าการดำเนินการของศูนย์ส่งเสริมคุณธรรมฯ ที่จำเลยที่ 5 ดูและดำเนินการได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย โดยมีผู้ร่วมโครงการจำนวน 22,000 คน กลับขอเงินอุดหนุนและได้รับอนุมัติถึง 30 ล้านบาทเพียงวัดเดียว ทั้งที่วัตถุประสงค์ในการจัดสรรงบประมาณ ต้องการให้กระจายงบในวัดทั่วประเทศจำนวนกว่่า 39,400 แห่ง เมื่อเทียบดูเวลาการอนุมัติเงินให้วัดสระเกศฯ นี้ ได้กระทำในช่วงต้นของปีงบประมาณดังกล่าว ทั้งที่ไม่ใช่กรณีเร่งรัด จำเลยที่ 1-4 จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องรีบอนุมัติเงินจำนวนมากดังกล่าว ซึ่งควรจะมีการส่งเรื่องให้คณะเลขานุการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงานตรวจดูก่อน หากพบว่ามีการใช้งบประมาณไม่ได้เต็มที่ หรือเกินความจำเป็น ก็สามารถที่จะเรียกคืนเงินเพื่อมาจัดสรรให้กับส่วนอื่นได้อีก การกระทำส่วนนี้จึงเป็นการอนุมัติงบประมาณสำนักงาน พศ. ที่จัดสรรให้กับวัดสระเกศฯ เพียงวัดเดียว โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามเป้าหมาย ส่วนงบประมาณจำนวน 7 ล้านบาท ในโครงการนี้ ตามทางนำสืบพบว่าเป็นการอนุมัติงบที่สืบเนื่องมาจากงบประมาณปี 2558 ที่ดำเนินการต่อเนื่องมา การกระทำของจำเลยที่ 1-5 ส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
ส่วนการอนุมัติงบประมาณให้กับโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวน 32,500,000 บาท วัดสระเกศฯ ก็ได้จัดสรร 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวน 26 ล้านบาท ครั้งที่สองจำนวน 6.5 ล้านบาท ซึ่งตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายก็ต้องวางแผนจัดกิจกรรมใน 3 ไตรมาส แต่ไม่ได้ดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวที่กำหนดให้วัดซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณต้องกระทำให้ครบทั้ง 6 ด้าน อาทิ ด้านการปกครอง การศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา สาธารณสงเคราะห์พระภิกษุหรือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ตามทางนำสืบยังได้ความจากจำเลยตอบการถามของอัยการโจทก์ว่า ก่อนการอนุมัติเหมือนมีการตกลงกันไว้ก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการอนุมัติเงินงบประมาณทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และอดีตอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนฯ
สำหรับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์ฯ ใช้อำนาจหน้าที่เบียดบังทรัพย์นั้นไปเป็นประโยชน์ของตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และจำเลยที่ 5 เป็นผู้สนับสนุนฯ นั้น ตามทางนำสืบรับฟังได้ว่าเมื่อจัดสรรงบประมาณไปแล้ว ทางวัดได้นำไปจัดกิจกรรมตามโครงการ แต่ไม่ครบถ้วนตามเป้าหมายที่วางไว้ทั้งหมด อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณฯ โดยตามทางนำสืบก็ยังไม่มีหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-5 นำเงินงบประมาณนั้นไปเป็นของตัวเอง ซึ่งประเด็นนี้ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เบิกความว่าในการทำหน้าที่ตรวจสอบการนำเงินงบประมาณไปดำเนิน 2 โครงการนี้ ไม่มีการทุจริต การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 147 และไม่ต้องร่วมกันคืนเงินในส่วนนี้
คุก 36 ด.รอลงอาญา 2 ปี
พิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกนายพนม อดีต ผอ.พศ. จำเลยที่ 1 จำนวน 2 กระทง กระทงละ 2 ปี รวม 4 ปี , จำเลยที่ 2-4 จำคุก 3 กระทง กระทงละ 2 ปี รวม 6 ปี ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 ส่วนอดีตพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ จำเลยที่ 5 จำคุก 3 กระทง กระทงละ 1 ปี 4 เดือน และปรับกระทงละ 12,000 บาท รวม 3 ปี 12 เดือนและปรับ 36,000 บาท ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 4 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 12 เดือนและให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีหมายเลขดำ อท.253/2561 ที่มีโทษจำคุก 20 ปีและโทษจำคุก 3 เดือน คดีหมายเลขดำ จส.2/2562 ของศาลนี้ด้วย, จำเลยที่ 2-4 จำคุกคนละ 3 ปี 18 เดือน ส่วนจำเลยที่ 5 ให้จำคุก 36 เดือน และปรับ 27,000 บาท
โดยในส่วนของอดีตพระพรหมสิทธิ จำเลยที่ 5 เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม ภาวะแห่งจิต สิ่งแวดล้อม และสภาพความผิดของจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นพระภิกษุ เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในธรรมวินัย เป็นครูผู้สอนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นผู้มีบทบาทในการส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับคณะสงฆ์ สังคม และสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดมา จนได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์หลายสาขาจากหลายมหาวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่พระพรหมสิทธิ ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าพระราชาคณะชั้นธรรม และรองลงมาจากสมเด็จพระราชาคณะ อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 ประกอบกับไม่มีเรื่องการทุจริตหรือแสวงหาประโยชน์ส่วนตน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 5 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี
ภายหลังเสร็จสิ้นการฟังคำพิพากษา นายโฆสิต สุวินิจจิต ตัวแทนคณะศิษย์ของพระพรหมสิทธิ ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกสบายใจที่มีคำพิพากษาแล้วว่าไม่มีการทุจริต รัฐไม่ได้เสียหาย และจำเลยทั้งห้าพ้นมลทินเรื่องทุจริต เพียงแต่พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าพนักงานของรัฐมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 ซึ่งเป็นขั้นตอนของระบบราชการ ส่วนจำเลยที่ 5 นั้นมีความผิดเกี่ยวกับการขอสนับสนุนงบประมาณ โดยความจริงแล้วเป็นการขอในนามประธานสำนักงานศูนย์คุณธรรมจริยธรรม ก็เป็นไปตามหน้าที่
"คณะลูกศิษย์ตกลงกันว่าจะขอใช้สิทธิอุทธรณ์คดีในส่วนของพระพรหมสิทธิ จำเลยที่ 5 ซึ่งปัจจุบันท่านก็ยังปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะอยู่ข้างในหรือนอกเรือนจำ อีกทั้งยังไม่เคยเปล่งวาจาลาสิกขา ยังปฏิบัติธรรมเป็นพระสมบูรณ์ครบถ้วน ดังนั้นเมื่อศาลตัดสินว่าไม่ทุจริต ชาวพุทธน่าจะสบายใจว่าพระผู้ใหญ่ไม่ได้ทุจริต" นายโฆสิตระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |