'หลี่ เซียนหลง' วิเคราะห์ทางออก ประเทศเล็กในภาวะโลกป่วน


เพิ่มเพื่อน    

       นายกรัฐมนตรีหลี่ เซียนหลงของสิงคโปร์ไปร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ที่ดาวอส  สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา และวิเคราะห์สถานการณ์โลกที่กำลังปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรงได้น่าสนใจ

                ผู้นำสิงคโปร์ต้องเกาะติดสถานการณ์โลกทุกจังหวะอย่างใกล้ชิด เพราะต้องปรับยุทธศาสตร์ของตนเองให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

                เพราะเป็นเกาะที่เปิดกว้าง ใช้นโยบายทุนนิยมเสรี สร้างประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันจนอยู่ในแถวหน้าของโลกในปัจจุบัน คำว่า disruption จึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลา

                หลี่ เซียนหลงบอกว่า สิงคโปร์คบกับมหาอำนาจทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือจีน และสิงคโปร์ก็กระโดดเข้าหากลไกของการค้าเสรีในทุกรูปแบบ

                แต่วันนี้โลกกำลังเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ

                ผู้นำสิงคโปร์บอกว่า "ดุลแห่งอำนาจในภูมิภาคนี้กำลังเปลี่ยน เพราะจีนมีอิทธิพลมากขึ้นและเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นทุกขณะ"

                สหรัฐฯ ก็ยังไม่ยอมถอยให้จีน วอชิงตันยังเล่นเกมความมั่นคงอย่างคึกคัก

                เกาหลีเหนือก็เป็นตัวละครที่ต้องจับตา เพราะเปียงยางสะสมนิวเคลียร์อย่างเปิดเผย

                "สหรัฐฯ (ภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์) กำลังถามว่าประเทศของเขากำลังแบกรับภาระหนักไปไปหรือเปล่า และต้องการให้พันธมิตรช่วยแบ่งเบาภาระนั้น อย่างน้อยก็ช่วยควักกระเป๋าช่วยแชร์ค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงด้วย" หลี่ เซียนหลงบอก

                อีกด้านหนึ่ง อเมริกาก็เริ่มปรับท่าทีของตนเองต่อการที่เสียดุลการค้าให้แก่ประเทศอื่น และต้องการจะเอางานฐานการผลิตในต่างประเทศกลับมา

                สหรัฐฯ เริ่มจะชี้นิ้วกล่าวหาว่าประเทศอื่นๆ เอาเปรียบตัวเองทางด้านการค้าการขาย

                สมัยหนึ่งอเมริกาเคยเชื่อว่าตัวเองเป็นแกนสำคัญของการค้าขายในโลก ตัวเองเปิดตลาดกว้างเพื่อให้ประเทศอื่นได้ประโยชน์เพื่อว่าในท้ายที่สุดตัวเองก็ได้ประโยชน์จากระบบนี้ด้วย

                นายกฯ สิงคโปร์บอกว่านี่คือแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงที่เป็นพื้นฐานเลยทีเดียว

                จะเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีชั่วคราวหรือถาวรยังไม่แน่ แต่ก็เห็นได้ว่านี่คือการปรับการเปลี่ยนนโยบายของมหาอำนาจอย่างอเมริกาที่สำคัญยิ่ง

                ส่วนจีนนั้น เนื่องเพราะเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก จึงกำลังมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

                ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จึงกำลังเปลี่ยนแปลงและ "บริหารยากยิ่งขึ้น"

                หลี่ เซียนหลงพูดไว้น่าฟังว่า

                "แต่ก่อนนี้เราพูดได้สบายๆ ว่าเราเป็นเพื่อนกับทุกคน และรวมถึงเป็นเพื่อนกับอเมริกาและจีน ทุกวันนี้เราก็ยังอยากจะเป็นเพื่อนกับทุกคน แต่คุณกำลังถูกผลักดันให้เป็นเพื่อนที่ดีกับฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง นั่นคือความเปลี่ยนแปลงของโลกล่ะ"

                แปลว่าประโยคที่ว่า "เราคบกับทุกฝ่าย" นั้น วันนี้สองยักษ์ใหญ่ระดับโลกต้องการให้คุณเลือกว่าจะคบกับใครใกล้ชิดกว่าใคร

                นั่นทำให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศทั้งด้านการค้า การลงทุน การเมือง การทูต และความมั่นคงยากขึ้นกว่าแต่ก่อนมากมายหลายเท่านัก

                พิธีกรบอกว่า "ผมคิดว่าประเทศยุโรปหลายแห่งเข้าใจประเด็นนี้ดีครับ"

                หลี่ เซียนหลงตอบว่า

                "คุณยิ่งเล็ก คุณยิ่งเข้าใจ"

                (คงจะหมายความว่าประเทศเล็กถูกประเทศใหญ่บีบมากกว่า จึงเข้าใจถึงความสำคัญของการปรับท่าทีให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงมากกว่า)

                อีกปัจจัยหนึ่งที่กำลังเปลี่ยนแปรอย่างมากคือ "โลกาภิวัตน์" หรือ globalization

                ประชาชนในโลกสมัยนี้มีเรื่องห่วงกังวลหลายเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการไปมาหาสู่กันใกล้ชิดขึ้น และการขาด "กันชน" ที่จะปกป้องตัวเราเองเมื่อต้องเจอกับภัยพิบัติทั้งที่มาจากธรรมชาติและที่สร้างโดยมนุษย์

                เขาบอกว่าสิงคโปร์มองไป 50 ปีข้างหน้า และพยายามจะวางแนวปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของสิงคโปร์เอง...มิใช่เพราะเราต้องการเป็นลูกมือของฝ่ายใด.

                (พรุ่งนี้ว่าต่อ...สิงคโปร์มองข้างหน้าอย่างไร) 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"