ศก.ทรุด!จีดีพี62โต2.4% หั่นเป้าปี63เหลือ1.5-2.5


เพิ่มเพื่อน    

 สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 4/62 ขยายตัว 1.6% ต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส จากผลกระทบสงครามการค้าและการส่งออก ส่งผลทั้งปีขยายตัวเพียง 2.4% พร้อมคาดปี 63 ขยายตัว 1.5-2.5% แบงก์ชาติรับ สศช.หั่นจีดีพีสะท้อนเศรษฐกิจชะลอตัวลงแรง

    เมื่อวันจันทร์ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2562 ขยายตัว 1.6% ต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาส จากผลกระทบสงครามการค้าและการส่งออกที่ลดลง 4.9% ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ล่าช้า ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.4% ลดลงจากปี 2561 ที่ขยายตัว 4.2% 
    สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าลดลง 3.2% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.5% การลงทุนรวมขยายตัว 2.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.8% ของจีดีพี 
    อย่างไรก็ตาม ขณะที่แนวโน้มปี 2563 คาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวในกรอบ 1.5-2.5% ชะลอตัวลงจากปี 2562 ตามปัจจัยเสี่ยงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณ ส่วนปัจจัยหนุนคือการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลก การขยายตัวในการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชนและรัฐ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการรัฐ และการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562
    ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกปี 2563 จะขยายตัว 1.4% การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.5% และการลงทุนรวมจะขยายตัว 3.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.4-1.4% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.3% ของจีดีพี 
    นายทศพลกล่าวอีกว่า หากจีดีพีไทยปี 2563 จะขยายตัวได้ในกรอบกลางที่ 2% จะอยู่ภายใต้สมมติฐาน คือเศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.2% มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำขยายตัว 2% การแพร่ของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่จุดสูงสุดในเดือนมีนาคมและสิ้นสุดลงเดือนพฤษภาคม ทำให้ทั้งปีมีนักท่องเที่ยวรวม 37 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.73 ล้านล้านบาท 
    อย่างไรก็ตาม ขณะที่ปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อการผลิตของภาคเกษตรลดลงเพียง 5% และไม่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ส่วนการเบิกจ่ายงบรวมอยู่ที่ 91.2% โดยมีการเบิกจ่ายงบประจำ 98% และงบลงทุน 65%
    ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขจีดีพีปี 2562 ที่ 2.4% และช่วงประมาณการจีดีพีปี 2563 ที่ 1.5-2.5% ที่สภาพัฒน์ประกาศต่ำกว่าตัวเลขที่ ธปท.ประมาณการไว้ ณ เดือน ธ.ค.62 ที่ 2.5% และ 2.8% ตามลำดับ  สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงแรง ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของภัยแล้งต่อผลผลิตเกษตร และผลกระทบจากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ต่อการใช้จ่ายภาครัฐ ที่มากกว่าคาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระบาดของไวรัสโคโรนาตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.63 ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย
    อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 5 ก.พ.63 ได้ประเมินข้อมูลล่าสุด ณ ขณะนั้น พบว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมมาก กนง.จึงมีมติเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องรอตัวเลขทางการจากสภาพัฒน์
    ทั้งนี้ ธปท.จะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจไทยชุดใหม่ในวันที่ 25 มี.ค.63 โดยในระหว่างนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เบื้องต้นคาดว่าผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาจะรุนแรงที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อนที่จะทยอยปรับดีขึ้นหลังสถานการณ์คลี่คลาย  โดยเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเกิน 3% ได้อีกในปี 2564 หากไม่มีปัจจัยลบอื่นเพิ่มเติม
    นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และมีความพร้อมที่จะดำเนินมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีพื้นฐานแข็งแกร่ง ไม่มีแรงกดดันด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ ทั้งอัตราเงินเฟ้อต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และฐานะทางการคลังสะท้อนจากหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพียง 41.3% ถือว่ายังอยู่ในระดับที่เข้มแข็งมาก.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"