ส่ง‘ยงยุทธ’นอนคุก2ปีโกงที่วัด


เพิ่มเพื่อน    

  ไม่รอด! ติดคุกแทนนายใหญ่อีกคน ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" 2 ปี คดีโกงที่ธรณีสงฆ์ ส่งเข้าเรือนจำทันที ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เผยตรวจสุขภาพพบโรคต้อหิน ข้อเข่าเสื่อม โรคหัวใจ แจกผ้าให้ 3 ผืน อยู่แดนแรกรับ มีนักโทษผู้ช่วยคอยดูแล 1-2 คน 

    วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำสั่งศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อท.38/2559 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อายุ 78 ปี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย, อดีต รมว.มหาดไทย และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
    กรณีกล่าวหา นายยงยุทธ จำเลยขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในการพิจารณาอุทธรณ์ และสั่งเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน โดยมีเจตนาช่วยเหลือบริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด, บริษัท กอล์ฟ  แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด และผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในเวลาต่อมาให้ได้รับประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
    คดีนี้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 เห็นว่า การที่นายยงยุทธ จำเลยพิจารณาอุทธรณ์ และมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งให้ยกเลิกโฉนดที่ดินที่จดทะเบียนในนาม "สนามกอล์ฟอัลไพน์" อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นธรณีสงฆ์จากการที่นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ที่ถึงแก่ความตายแล้วได้ทำพินัยกรรมยกที่ดิน 2 แปลงดังกล่าว ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหารนั้น จำเลยออกคำสั่งโดยมิชอบ โดยจงใจละเลยข้อเท็จจริงต่างๆ และยังจงใจตีความกฎหมายให้ผิดเพี้ยนไปจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2482 ที่ระบุให้กระทรวงถือปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา 
    ดังนั้นคำสั่งของนายยงยุทธ จำเลยจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ถือเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแก่ผู้อื่น และก่อให้เกิดความเสียหายแก่วัดธรรมิการามวรวิหาร ทั้งยังทำลายศรัทธาของผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
    ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์และได้รับประกันตัวไปวงเงินประกัน 5 แสนบาท คดีมีการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา เห็นว่าการที่จำเลยขณะดำรงตำแหน่งรักษาการปลัดมหาดไทย แล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนมติอธิบดีกรมที่ดินเรื่องที่ดินอัลไพน์เป็นที่ธรณีสงฆ์นั้น โดยไม่นำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งมีแนวทางวินิจฉัยไว้แล้วมาพิจารณาประกอบ เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบและโดยทุจริต ทั้งที่แนวทางปฏิบัติเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นมาแล้ว ฝ่ายบริหารจะให้หน่วยราชการยึดถือปฏิบัติตาม เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินในมาตรฐานทางเดียวกัน  เพราะมิเช่นนั้นในแต่ละยุคสมัยจะมีความเห็นต่างกัน สร้างความเสียหายแก่ระบบบริหารราชการแผ่นดินได้
    จากนั้น นายยงยุทธ จำเลยได้ยื่นขออนุญาตฎีกา ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 42, 44, 46 ที่บัญญัติว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด หากคู่ความประสงค์จะฎีกาจะต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณา ซึ่งระหว่างยื่นขออนุญาตฎีกาดังกล่าว จำเลยได้ประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 9 แสนบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
    วันนี้นายยงยุทธ จำเลยเดินทางมาศาลพร้อมฟังคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา 
    ศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องฯ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า คำร้องขอฎีกาของนายยงยุทธ จำเลยไม่ได้แสดงถึงปัญหาข้อเท็จจริง หรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกา ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 47 และข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ข้อ 28 (1) จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา โดยให้ยกคำร้องและไม่รับฎีกาของจำเลย
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องฯ ไม่รับฎีกาของจำเลยแล้ว ตามขั้นตอนกฎหมายผลคำพิพากษาคดีนี้ จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษายืนจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยเมื่อเวลา 12.00 น.เศษ ศาลได้ออกหมายคดีถึงที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะได้ควบคุมตัวนายยงยุทธ จำเลยไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพื่อรับโทษตามคำพิพากษา
    นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขออนุญาตฎีกาในคดีอัลไพน์ว่า คดีนี้เป็นคดีที่ฟ้องภายหลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว จึงต้องใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาบังคับ ซึ่งมาตรา 42 กำหนดว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด หากคู่ความประสงค์จะฎีกาต้องปฏิบัติตามมาตรา 44 ที่กำหนดให้การฎีกา ผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับฎีกาไว้พิจารณาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาด้วย เหตุที่ศาลฎีกาจะพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้ระบุไว้ในมาตรา 46 คือต้องเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย 
    สำหรับมาตรา 46 (7) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกานั้น ประธานศาลฎีกาได้กำหนดปัญหาสำคัญอื่นเพิ่มเติมอีก 2 กรณีคือ (1) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีความเห็นแย้งในสาระสำคัญ (2) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้วินิจฉัยข้อกฎหมายสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย ส่วนเรื่องการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกาก็เป็นสิทธิที่จำเลยพึงกระทำได้ ซึ่งหากมีการยื่นขอปล่อยชั่วคราวมา ทางองค์คณะก็จะเป็นผู้พิจารณาคำร้องดังกล่าวว่าเห็นควรส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยหรือพิจารณามีคำสั่งได้เลย
    นายสุริยัณห์อธิบายเพิ่มว่า คดีนายยงยุทธนี้เป็นคดีที่ต้องใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบฯ เมื่อศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปีซึ่งต้องห้ามคู่ความคือห้ามทั้งโจทก์และจำเลยฎีกา ตรงนี้การยื่นฎีกาได้จะต้องขออนุญาตฎีกา ซึ่งจะต้องใช้ผู้พิพากษาศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตและจะต้องเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนด จะมีความแตกต่างกับการรับรองฎีกาใน ป.วิ.อาญา ที่เพียงใช้ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์ที่พิจารณาหรือลงลายมือชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งพิจารณา และอนุญาตให้ฎีกาหรือให้อัยการสูงสุดรับรองฎีกา
     ด้านนายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เรือนจำได้รับตัวนายยงยุทธและนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามคำสั่งของศาล โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำได้นำตัวนายยงยุทธเข้าสู่ระบบการตรวจรับนักโทษใหม่ ทั้งนี้นายยงยุทธมีอาการเครียดเช่นเดียวกับผู้ต้องขังใหม่ทั่วไป คาดว่าเมื่อใช้เวลาปรับตัวเข้ากับสภาพเรือนจำและใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนผู้ต้องขังไปสักระยะก็จะเริ่มปรับตัวได้ อย่างไรก็ตามจะดูแลตามระเบียบของเรือนจำ ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร ในส่วนของการตรวจสุขภาพพบว่านายยงยุทธป่วยเป็นโรคต้อหิน ข้อเข่าเสื่อม โรคหัวใจ
    สำหรับขั้นตอนการรับตัวนักโทษใหม่ประกอบด้วย การตรวจบันทึกร่างกายว่ามีร่องรอยบาดเจ็บมาจากภายนอกหรือไม่ ซักประวัติและตรวจสุขภาพเบื้องต้น ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อทำประวัตินักโทษ  จากนั้นจะให้นักโทษเปลี่ยนเสื้อผ้า ซึ่งผู้ต้องขังใหม่จะได้รับแจกอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวที่จำเป็น และผ้า  3 ผืนใช้สำหรับปูรองนอน ม้วนเป็นหมอน และห่มนอน 
    จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำตัวไปคุมขังยังแดนแรกรับของเรือนจำ ซึ่งภายในเรือนนอนจะถูกจับตาด้วยกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชม. ในกรณีนักโทษรายสำคัญจะมอบหมายนักโทษผู้ช่วย 1-2 คนคอยให้ความช่วยเหลือจนกว่านักโทษใหม่จะปรับตัวได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"