ศาลรัฐธรรมนูญตอกย้ำไม่เปลี่ยนวันชี้ชะตาพรรคอนาคตใหม่แน่ “ปิยบุตร” สวมบทตุลาการมั่นใจทั้งข้อเท็จจริง-กฎหมายไม่ถูกยุบแน่ ลั่นจะทำทุกวันเหมือนวันสุดท้าย มิวายแขวะปากกาอยู่ที่ศาล วงสัมมนาชำแหละ “อนค.” เป็นร่างใหม่ของ “พท.” จึงถูกตัดตอนไม่ให้โต “สมชัย” มองย้อนอดีตไม่ถึงขั้นต้องยุบ “แก้วสรร” ชี้มี 3 ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย เชื่อโทษแค่ปรับและลงดาบ กก.บห. สะกิด “เซเลบ-นักวิชาการ” ทำตัวตีปลาหน้าไซ ในสมองไม่มีการอยู่ร่วมกันด้วยกฎหมายมีแต่อยู่ด้วยชังชาติหรือ
เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ก.พ. สำนักประชาสัมพันธ์ศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งในกลุ่มไลน์ผู้สื่อข่าวประจำศาลรัฐธรรมนูญ ถึงกำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ.นี้ เวลา 15.00 น.ถึงแนวทางปฏิบัติของสื่อมวลชน ว่าในการอ่านคำวินิจฉัย ศาลจะถ่ายทอดโทรทัศน์วงจรปิดลงมาบริเวณห้องรับรองสื่อมวลชนและโถงชั้น 2 โดยขอความร่วมมือสื่อมวลชนทุกคนปฏิบัติตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในที่ทำการศาล พ.ศ.2562 เช่น กรณีสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องในคดีขอให้สัมภาษณ์นอกเขตที่ทำการศาล และงดเว้นการถ่ายภาพ บันทึกภาพและเสียง หรือกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันในที่ทำการศาล
ทั้งนี้ การชี้แจงระเบียบและข้อปฏิบัติดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย รวมทั้งเป็นหนึ่งในมาตรการรักษาความปลอดภัยโดยรอบศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นการยืนยันว่าไม่มีการเลื่อนการพิจารณาคดีดังกล่าวแน่นอน
รายงานข่าวจากสำนักงาน กกต.ในกรณี พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค อนค. และเป็นกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง กก.บห.จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักทหารแม้เกษียณอายุราชการแล้วนั้น หากในวันที่ 21 ก.พ.ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินยุบพรรค อนค. ตัว พล.ท.พงศกรก็ต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตามเดิม เพราะศาลยึดรายชื่อ กก.บห.ในวันที่กระทำความผิด ซึ่งขณะนั้น พล.ท.พงศกรยังคงมีชื่อเป็น กก.บห.อยู่
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวประเด็นนี้ว่าไม่ทราบ ตอบไม่ถูกในเรื่องนี้ ขอให้ไปถาม กกต.จะดีกว่า
วันเดียวกัน นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค อนค.ในฐานะเลขาธิการพรรค อนค.โพสต์ในหัวข้อ “ทำทุกวันให้เสมือนเป็นวันสุดท้าย” ถึงวันนี้ยังมั่นใจว่าพรรคจะไม่ถูกยุบ เพราะไม่ว่าจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไม่มีเหตุใดเลยที่จะยุบได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราใด ข้อใด ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองกู้เงิน และในอดีตจนถึงปัจจุบันก็มีพรรคการเมืองจำนวนมากที่กู้เงิน รวมทั้งเงินกู้ก็มิใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สิน จึงไม่เข้าข้อจำกัดตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดที่มาของรายได้ของพรรคการเมือง
ซัดปากกาอยู่ที่ศาล
“อย่างที่ผมเน้นย้ำอยู่เสมอว่าปากกาไม่ได้อยู่ที่ผม แต่ปากกาอยู่ในมือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในท้ายที่สุดการยุบพรรคอนาคตใหม่จะเกิดขึ้นหรือไม่ จึงอยู่ที่อำนาจตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญ และด้วยปรากฏการณ์ยุบพรรคในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ก็ย่อมทำให้คนจำนวนมากคาดการณ์ไปต่างๆ นานา ถึงชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ที่อยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ” นายปิยบุตรโพสต์
นายปิยบุตรยังโพสต์โดยยกคำของสตีฟ จอบส์ พร้อมระบุว่า "หากเราตระหนักว่าในแต่ละวันอาจเป็นวันสุดท้าย แล้วเรายังคงเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำในแต่ละวันนั้นถูกต้อง สอดคล้องกับมโนธรรมสำนึก และเป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เราก็จำต้องเร่งลงมือทำสิ่งเหล่านั้น ทำทุกวันให้เสมือนเป็นวันสุดท้าย ซึ่งนับตั้งแต่เข้าสู่ปีใหม่ก็เร่งทำงานในฐานะ ส.ส.อย่างหนักหน่วงเต็มที่ ทั้งการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร และงานในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน"
ทั้งนี้ นายปิยบุตรยังได้อ้างถึงผลงานที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการอภิปรายในเรื่องต่างๆ และการทำงานใน กมธ. รวมทั้งเผยถึงงานที่จะทำในช่วงต่อไป ก่อนทิ้งท้ายว่าจะได้ทำงานในฐานะ ส.ส.หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ.นี้ ซึ่งเวลาจะมากหรือน้อยเพียงใด เหลือเวลาอีกเท่าไรไม่สำคัญ ขอเพียงเราเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำและทำมันทุกวันเสมือนทุกวันเป็นวันสุดท้าย
วันเดียวกันที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนา เวที ฬ.นิติมิติ เรื่อง “เงินกู้พรรคการเมือง : อิสระ VS การตรวจสอบ” โดยมี รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเสวนา
โดย รศ.ดร.พิชิตได้เริ่มไล่ลำดับภาพการเมืองในอดีตจนถึงปัจจุบันว่า พรรคอนาคตใหม่มีความคล้ายกับพรรคเพื่อไทย (พท.) คือมีฐานมวลชน แต่มีความพยายามทำให้ต่างจากพรรค พท.โดยไม่ยึดติดกับตัวบุคคล และยังมีลักษณะแตกต่างจากกลุ่มพรรคเพื่อไทยที่ไม่ได้มาจากตัวแทนที่มาจากต่างจังหวัดอีกต่อไป กลายเป็นพรรคที่มีระเบียบโครงสร้างพรรคในต่างจังหวัดของพวกเขา มีการแยกกันระหว่าง ส.ส.กับหัวหน้า สาขาของจังหวัด ซึ่ง ส.ส.ไปสั่งหรือควบคุมสมาชิกไม่ได้ ส.ส.จะทำอะไรต้องอาศัยทีมงานจังหวัดทำงานด้วยกัน ซึ่งเป็นโครงสร้างพรรคการเมืองสมัยใหม่
“ณ วันนี้การเมืองไทยยังไม่ก้าวหน้าไปถึงไหน พรรคการเมืองยังคงเป็นเครื่องมือเพื่อช่วงชิงอำนาจ อย่างพรรคเพื่อไทยเชื่อว่ามาถึงปลายทางแล้ว แต่แทนที่พรรคเพื่อไทยที่กำลังจะตาย แล้วมีพรรคความหวังใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่มาแทนที่ ก็ไม่ถูกปล่อยให้โต เพราะเขามีบทเรียนมาแล้วจากทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป้าหมายเจตนารมณ์ของกฎหมายในครั้งนี้คือพยายามไม่ให้พรรคอนาคตใหม่โต” รศ.ดร.พิชิตระบุ
ดร.ณรงค์เดชกล่าวตอนหนึ่งถึงการกู้เงินของพรรค อนค.ว่า พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน ดังนั้นหลักเกณฑ์หรือหลักการที่ใช้กับพรรคการเมือง คือถ้าไม่มีกฎหมายห้าม เอกชนย่อมกระทำได้ ซึ่งการกู้เงินของพรรคการเมือง ถ้าเป็นการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ถือว่าอยู่ในขอบอำนาจโดยปริยาย เงินที่ได้จากการกู้ยืมไม่ถือเป็นรายได้ และไม่ใช่การบริจาคแน่นอน ส่วนจะเป็นการทำนิติกรรมอำพรางหรือไม่ต้องพิสูจน์เจตนา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณชฎากล่าวว่า ยังไม่เคยเจอประเทศไหนที่มีกฎระเบียบในการรับเงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองมากเท่าไทย โดยในต่างประเทศจะพิจารณาการให้เงินพรรคการเมืองจากคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกเข้าไป แล้วค่อยคำนวณจำนวนเงินที่จะให้แก่พรรคการเมืองนั้นๆ เช่น อินโดนีเซียที่เราจะเห็นว่าการพัฒนาประชาธิปไตยของเขาเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ในส่วนของการบริจาคเงินให้พรรคการเมืองจะไม่มีการจำกัดจำนวนเงินบริจาค ทั้งจากบุคคลและบริษัทเอกชนที่จะให้แก่พรรคการเมือง จึงไม่น่าแปลกใจว่าพรรคการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในอินโดนีเซียพัฒนาได้รวดเร็ว เพราะเขาไม่มีกฎหมายที่ห้ามเรื่องการบริจาคเยอะเหมือนของไทย
สมชัยเชื่อรอดยุบพรรค
ขณะที่นายสมชัยได้พูดถึงคดีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ ก่อนระบุว่าที่ผ่านมาพยายามเรียกร้องให้ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำงานได้ ซึ่งก็ยังไม่มีการปลดล็อกจนถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 จนตนเองโดนปลดไป ซึ่งพรรคการเมืองต้องใช้เงิน ต้องทำป้ายโฆษณา ต้องตั้งเวที ต้องมีรถแห่ มีค่าเช่าสำนักงาน มีค่าจ้างบุคลากร และ กกต.ยังกำหนดวงเงินในการหาเสียงไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อผู้สมัคร 1 คนในแต่ละเขต และตราบใดที่พรรคการเมืองไม่สามารถระดมทุนขายโต๊ะจีนโต๊ะละ 3 ล้านบาท โดยมีชื่อผู้จองคล้ายกับหน่วยงานราชการได้ การกู้เงินจะเป็นเรื่องที่คู่กับการเมืองไทยตลอดไป ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ามีเพียง 2 พรรคที่จัดโต๊ะจีนได้ ซึ่งน่าสังเกตว่าทั้ง 2 พรรครู้มาก่อนหรือไม่ว่าจะมีการปลดล็อกวันไหน มีการเลือกตั้งวันไหน
นายสมชัยกล่าวอีกว่า ขอให้สังเกตกระบวนการตั้งแต่ กกต.ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรามีเครื่องหมายคำถามว่า กระบวนการตั้งคณะกรรมการควบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและนำไปสู่ข้อหาใหม่งอก 2 ข้อหานั้น เป็นกระบวนการที่สั้นและขาดการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่ และกระบวนการในขั้นศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เปิดให้ไต่สวนเพิ่มเติมนั้น หากเทียบกับการรับโทษของบุคคล การยุบพรรคคือการประหารชีวิต เพราะฉะนั้นก็ควรให้ทุกฝ่ายมีโอกาสสู้กันให้ถึงที่สุด และในส่วนของเนื้อหานั้นหากมองถึงพยานหลักฐานตั้งแต่อดีต คิดว่าในวันศุกร์นี้โดยเนื้อหาไม่น่าจะถึงการยุบพรรคได้
“เรื่องนี้เป็นบทเรียนของพรรคอนาคตใหม่มากกว่า หากศาลตัดสินว่าไม่ผิด จากนี้จะเดินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง แต่ถ้าตัดสินยุบก็เป็นเรื่องที่พรรคอนาคตใหม่เองต้องหาทางที่ทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ว่าท่านจะดำเนินการต่างๆ อย่างไรต่อไป” นายสมชัยกล่าว
ขณะเดียวกัน นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้เขียนบทความเรื่อง "ยุบ 'อนาคตใหม่'? : ความเป็นไปได้ทางกฎหมาย” ในลักษณะถาม-ตอบ โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจระบุว่า ในทางกฎหมายเงินกู้ถือเป็นเงินได้หรือไม่ นี่คือประเด็นที่ศาลต้องตัดสิน ซึ่งเงินได้คือเงินที่พรรคได้จากสถานภาพที่เป็นพรรคการเมือง โดยวัตถุประสงค์ที่เป็นพรรคจึงไม่อาจไปทำมาค้าขายเกิดรายได้ขึ้นมาได้ กฎหมายจึงจำกัดที่มารายได้เขาไว้อย่างนี้ ปัญหามีอยู่ว่าถ้าพรรคใดเดือดร้อนไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าตึกที่ทำการพรรค อย่างนี้จะให้เขากู้เงินมาใช้ค่าเช่าได้ไหม ตรงนี้ก็มีความเห็นอีกด้านหนึ่งยืนยันขึ้นมาว่า จะไปห้ามความสามารถทำนิติกรรมของพรรคการเมืองไม่ได้ ที่ผ่านมาก็เห็นกู้เงินกันได้เยอะแยะไปไม่ใช่หรือ นี่คือประเด็นแรกที่ศาลต้องวินิจฉัยก่อน ส่วนประเด็นที่สองคือ ประเด็นที่ศาลต้องตัดสินว่า การที่พรรคการเมืองกู้เงินจากนายทุนได้ 191 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยต่ำและไม่มีหลักประกันเช่นนี้ ถือเป็นการรับประโยชน์โดยมิชอบ เพราะเกิน 10 ล้านบาทตามที่มาตรา 66 ได้ห้ามไว้หรือไม่ และประเด็นสุดท้าย การกระทำอันต้องห้ามที่รับบริจาคเป็นประโยชน์ก้อนใหญ่อย่างนี้ จะจัดการลงโทษด้วยมาตรการทางกฎหมายเช่นใดได้บ้าง ซึ่งตรงจุดนี้พรรคอนาคตใหม่มีโอกาสพลิกล็อกชนะคดีได้มากทีเดียว
“ข้อห้ามรับเงินบริจาคก้อนใหญ่ๆ นั้น มาตรา 66 ห้ามไว้ก่อน แล้วก็มีมาตรา 125 บัญญัติตามมาให้ลงโทษอาญาปรับพรรคนั้น 1 ล้านบาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการทั้งหมด พร้อมทั้งริบเงินบริจาคนั้นด้วย ถ้านี่คือเส้นทางเดียวที่ต้องเดิน กกต.ก็ต้องไปแจ้งความกับตำรวจ ให้ดำเนินคดีอาญากับนายธนาธรและพวก และในที่สุดคดีนี้ก็ต้องไปศาลยุติธรรม 3 ชั้นศาล ไม่ใช่ไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ยุบพรรค” นายแก้วสรรตอบคำถามที่ว่าจะชนะได้อย่างไรถ้าชัดว่าพรรครับบริจาคเกิน 10 ล้านบาทไปแล้ว
แก้วสรรชี้แค่ปรับ-ตัดสิทธิ์
นายแก้วสรรยังประเมินถึงน้ำหนักและเหตุผลในคดีนี้ว่า การฝ่าฝืนรับบริจาคเกิน 10 ล้านบาท ตามมาตรา 66 มันเป็นความผิดทางการเงิน กฎหมายกำหนดโทษให้ปรับพรรค 1 ล้านบาท และริบเงินบริจาค กับตัดสิทธิ์เลือกตั้งของ กก.บห. กกต.เอามาขอศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคตามมาตรา 72 และ 92 ได้ลำบาก มาตรา 72 นั้นมันตกเป็นพรรคที่อันตรายต่อสังคม เพราะยอมฟอกเงินที่ผิดกฎหมาย เลวยังงี้ถึงจะยุบได้ แถมผู้เกี่ยวข้องต้องโทษถึงติดคุก 3 ปีด้วย แต่ในคดี อนค.นี้ไม่ใช่การฟอกเงินผิดกฎหมาย แต่เป็นเงินที่นายธนาธรเขาได้มาโดยชอบ จะเอาไปเป็นเหตุยุบพรรคได้ยาก มันผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ได้แต่ลงโทษปรับพรรค 1 ล้านบาทและตัดสิทธิ์ กก.บห.เท่านั้น
“เราลงโทษผู้บริหารพรรคที่ยอมรับประโยชน์เป็นทาสน้ำเงินของนายทุน แล้วบังอาจมาเสนอตัวรับใช้ประชาชนโดยอ้างว่าเป็นอิสระจากผลประโยชน์ใดๆ นี่คือข้อห้ามทางกฎหมาย จริงๆ แล้วพรรคอนาคตใหม่จะตกเป็นทาสธุรกิจยานยนต์ของนายธนาธรหรือไม่ เราไม่ทราบ แต่ข้อนี้เป็นวินัยพรรคการเมืองที่เรากำหนดไว้ ผิดวินัยก็ต้องจัดการ ไม่ต่างจากพระภิกษุที่ฝ่าฝืนวินัย แรมคืนอยู่ห้องเดียวกับสีกา เปิดประตูกุฏิมาเจออย่างนี้จะมีอะไรกันหรือไม่ก็ไม่สำคัญเลย คณะสงฆ์ลงโทษได้แล้ว” นายแก้วสรรระบุ
บทความของนายแก้วสรรยังตั้งคำถามว่า เมื่อปัญหาในคดีเป็นปัญหาตีความทางกฎหมายทั้งหมดอย่างนี้ แล้วบรรดานักวิชาการและผู้นำภาคประชาสังคมทั้งหลายเขาออกมาคัดค้านการตีความของศาลรัฐธรรมนูญกันทำไม ซึ่งนายแก้วสรรตอบว่า เขาไม่สนใจหรอกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความอย่างไร ก็เชิญว่ากันไป แต่เขาอ้างว่าเขาโผล่มาเพราะไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองเป็นสำคัญ
และเมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ทำไมไม่ค้าน กลับมาค้านตอนศาลกำลังจะตัดสินคดีกู้เงินคดีนี้ สามอาทิตย์ก่อนตอนคดีอิลลูมินาติที่มีผู้ร้องให้ยุบพรรค ทำไมไม่โผล่มาค้านด้วย คดีนั้นศาลท่านก็ยกฟ้องไปแล้ว แล้วทำไมมาค้านคดีนี้อีกโดยอ้างลอยๆ ประเทศไทยต้องไปข้างหน้า การเมืองต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย เลิกคิดเสียทีว่าการยุบพรรคการเมืองหรือตัดสิทธิ์ทางการเมืองของคนที่คิดไม่เหมือนเราจะนำไปสู่ความสงบในสังคม ซึ่งการอ้างอย่างนี้คือการอ้างว่าศาลตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจนั่นเอง ถ้าศาลเป็นอย่างนี้จริง แล้วทำไมพิพากษายกฟ้องตัดสินไม่ยุบอนาคตใหม่ในคดีอิลลูมานาติ ตกลงศาลไทยคือสถาบันที่ต้องถูกพวกคุณตีปลาหน้าไซได้ฟรีๆ ทุกคดีทุกครั้งเลยหรือ ถ้าพรรคพวกตัวเองขึ้นศาลแล้วยอมไม่ได้ ซึ่งนายแก้วสรรตอบสั้นๆ ว่าเขารำพึงให้ฟังลอยๆ เท่านั้นว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคเพื่อปิดปากทางการเมือง
“แล้วถ้ายุบเพราะทำผิดกฎหมายจริงๆ จะยอมรับไหม ก็ต้องไปถามเขาเองให้ชัดเจนดีกว่า ว่าในสมองของเขามีการอยู่ร่วมกันด้วยกฎหมายด้วยความถูก-ผิดหรือไม่ หรือมีแต่สังคมไทยที่แสนจะน่าเกลียดน่าชังสำหรับพวกเขาเท่านั้น” นายแก้วสรรทิ้งท้ายไว้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |