โป๊ะแตกพอสมควร กรณี “เสธ.โหน่ง” พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังอยู่ “บ้านหลวง” หลังเกษียณอายุราชการมาแล้ว 4 ปี
แน่นอน “เสธ.โหน่ง” ไม่ใช่อดีตนายทหารคนแรกที่ยังอยู่ “บ้านหลวง” หากแต่เขาคือ หัวหน้าหน่วยปฏิรูปกองทัพของพรรคอนาคตใหม่
เมื่อคนที่ชูเรื่องการปฏิรูปกองทัพ กลับกระทำการเสียเองมันจึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในลักษณะว่า เขวี้ยงงูไม่พ้นคอตัวเอง
แม้จะมีการชี้แจงว่า กำลังจะทำเรื่องย้ายออกในปีหน้า เพราะกำลังเก็บเงินอยู่ แต่นั่นกลับถูกมองว่า “ฟังไม่ขึ้น” เพราะในการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. พบว่ามีทรัพย์สินอยู่ 8.6 ล้านบาท
กระทั่งทนแรงเสียดทานไม่ไหว “เสธ.โหน่ง” ต้องเลื่อนเวลาย้ายออกจาก “บ้านหลวง” มาเป็นเร็วๆ นี้แทน เพราะส่งผลกระทบต่อพรรคต้นสังกัดที่ชูเรื่องการปฏิรูปกองทัพมาโดยตลอด
ขณะเดียวกัน ยังตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง “รองหัวหน้าพรรค” เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งคนในพรรคอนาคตใหม่ต่างชื่นชมในสปิริต
หากแต่มีเครื่องหมายคำถามตามมามากมายว่า หากเรื่องนี้ “ไม่แดง” ขึ้น พล.ท.พงศกรมีแผนจะออกจาก “บ้านหลวง” จริงหรือไม่
นอกจากนี้ การลาออกจากกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่นี้ เป็นการแสดงความรับผิดชอบที่สมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะอีกไม่กี่วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปล่อยกู้ให้พรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191 ล้านบาท
มีการตั้งข้อสังเกตว่า พล.ท.พงศกรลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น หรือใช้จังหวะนี้เพื่อลาออกจากกรรมการบริหารพรรค เพราะหากในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ยุบพรรค” บรรดากรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองทั้งหมด
ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีใครให้คำตอบที่ชัดเจนว่า กรณี พล.ท.พงศกรลาออกจากกรรมการบริหารพรรคก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะทำให้รอดจากการถูกตัดสิทธิ์หรือไม่ มีเพียงรายงานข่าวจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เท่านั้นว่า “ไม่รอด” เพราะมีผลย้อนหลังไปถึงได้
แต่หากรอดขึ้นมา จะทำให้ พล.ท.พงศกรยังเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่ และหาสังกัดใหม่ได้ภายใน 30 วัน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค
อีกประเด็นที่หลายคนคาใจคือ หาก พล.ท.พงศกรต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เหตุใดไม่เลือกตำแหน่งที่เกี่ยวกับการปฏิรูป ในฐานะที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร” แต่เลือกที่จะลาออกจากกรรมการบริหารพรรค ซึ่งไม่ได้มีอำนาจอะไรในฝ่ายนิติบัญญัติ มีเฉพาะภายในพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น
ตำแหน่งดังกล่าวเกี่ยวกับทั้ง “ความมั่นคง” และ “การปฏิรูปประเทศ” เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นที่ พล.ท.พงศกร กำลังถูกครหา ว่าคนที่คิดจะปฏิรูป แต่กลับยังไม่เริ่มจากตัวเอง
การลาออกจากกรรมการบริหารพรรค เป็นการแสดงสปิริต หรือเป็นเพียงแค่การลดโทนคมหอกคมดาบที่กำลังย้อนศรไปสู่ “นายพลอนาคตใหม่”
อีกจุดย้อนแย้ง สำหรับ พล.ท.พงศกร ที่เป็นตัวตั้งตัวตีปฏิรูปกองทัพ ก็คือ สมัยยังไม่เกษียณอายุราชการ ในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
โดยในปี 2556 คณะรัฐมนตรีได้โอนย้าย “เสธ.โหน่ง” จากกองบัญชาการกองทัพไทย มาเป็นรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีเพื่อนรักอย่าง “เสธ.แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เป็นเลขาธิการ สมช.อยู่
การมาของ พล.ท.พงศกร ทำให้ข้าราชการใน สมช.ที่เป็นลูกหม้อแท้ๆ ต้องเติบโตขึ้นมาเป็นรองเลขาธิการ สมช. พลาดตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้
สำหรับเหตุผลที่นายทหารส่วนใหญ่มักขอโอนย้ายมา สมช. เป็นเพราะไม่สามารถเติบโตในกองทัพได้แล้ว จึงเลือกจะมาที่นี่ เพื่อหวังเป็นหัวหน้าส่วนราชการในชีวิตบั้นปลาย
และหากย้อนกลับไป “เสธ.โหน่ง” โอนย้ายมาอยู่ สมช. ซึ่งเป็นหน่วยงานพลเรือน ตั้งแต่ปี 2556 ก่อนในปี 2558 จะถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย้ายมาอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ จนเกษียณในปี 2559
มันจึงไม่แปลกที่หลายฝ่ายจะคาใจในตัว พล.ท.พงศกร ว่า การอาสาเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องปฏิรูปกองทัพของพรรคอนาคตใหม่ เป็นเพียงความ “คับแค้น” หรือ “มุ่งให้ดีขึ้น” จริงๆ
เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “เสธ.โหน่ง” ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นได้เลยว่า เขาแตกต่างจากนายทหารคนอื่นๆ อย่างไร
หรือแค่เหมาะสมสำหรับถือธงนำปฏิรูป ในฐานะ “อดีตนายทหารใหญ่” เท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |