(ผู้สูงอายุที่มักแง่งอนหรือคุยกันน้อยลง การปรับจูนความเข้าใจที่ดีที่สุดคือ การหันกลับไปมองที่จุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่ หรือการหันมองว่าในอดีตทั้งคู่รักกันมากแค่ไหน)
การที่ผู้สูงวัยอยู่ด้วยกันว่าดีแล้ว แต่ทว่าการที่ครองคู่กันมายาวนานนั้นก็อาจสร้างปัญหาความสัมพันธ์ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการพูดคุยกันน้อยลง หรือแม้แต่ไลฟ์สไตล์ที่ยิ่งสูงวัยก็ยิ่งแตกต่างกัน บางครั้งอาจทำให้คุณตาคุณยายที่ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรรู้สึกหงุดหงิดใจยามที่อยู่ใกล้กัน ล่าสุดมีคำแนะนำจาก อาจารย์ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีข้อมูลเกี่ยวกับระดับความสัมพันธ์ของคู่ผู้สูงอายุที่อยู่ด้วยกัน ตลอดจนคำแนะนำในการดูแลเอาใจใส่กันมาบอกให้ทราบ
(อาจารย์ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์)
อาจารย์ศิริวรรณให้ข้อมูลว่า “ข้อดีของการที่ผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันเป็นคู่คือ เรื่องของความมั่นคงทางใจ ว่าในบ้านยังมีอีกคนหนึ่งที่คอยช่วยดูแล ตัวอย่างเช่น หากคู่สมรสหกล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุในบ้าน แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ “อยู่ด้วยกัน แต่คุยกันน้อยลง” นั่นอาจเป็นผลมาจากการที่คนสูงวัยใช้ชีวิตด้วยกันมากหรือเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่ทั้งนี้จากการศึกษาก็พบอีกว่า แม้จะเกิดปัญหาคู่สมรสคุยกันน้อยลง แต่ผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงก็ยังคงมีบทบาทหรือสื่อสารมากกว่าผู้สูงอายุเพศชาย เพราะอย่างน้อยๆ ผู้หญิงยังต้องทำกับข้าวและจัดสำรับให้กับคู่สมรสกิน หรือการที่ทั้งคู่ต่างดูแลกัน เช่น คอยช่วยใส่เสื้อผ้าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สิ่งที่เกิดแม้จะพูดกันน้อย แต่ทั้งคู่ก็ยังรู้สึกเปรียบเสมือนว่ายังเป็นเงาของกันและกัน
ส่วนปัญหาเรื่อง “การแง่งอน” ของผู้สูงอายุ ก็เป็นการศึกษาที่เจอได้ค่อนข้างเยอะ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่อยู่ด้วยกันเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อกันและกัน ดังนั้นถ้าเจอปัญหานี้ วิธีแก้ก็คงต้องกลับไปมองย้อนจุดเริ่มต้นของความรักของเราว่ามีที่มาอย่างไร เพราะบางคู่อาจต้องผ่านอุปสรรคมากมายกว่าจะรักและครองคู่อยู่ด้วยกันได้ หรือที่ผ่านมาคนสูงอายุมีความสัมพันธ์ที่นุ่มลึกอย่างไร ดังนั้นการดูแลเกื้อกูลกันในฐานะคู่สมรสก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
แต่สิ่งที่ไม่ควรลืมคือ ปัจจัยเรื่องสังขารที่ร่วงโรยของผู้สูงอายุ ก็ไม่ใช่วิสัยของคนสูงวัยที่จะมาเอาใจใส่เรื่องความสัมพันธ์มากนัก เพราะต่างคนก็ต้องเอาตัวเองให้รอดไปแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตทั่วไปอย่างการเข้าห้องน้ำเอง หรือลุกขึ้นมาพยุงตัวเอง หรือแม้แต่บางคู่ที่ยังต้องช่วยกันแต่งตัวในกรณีเป็นอัมพฤกษ์ คอยเช็ดปาก บางคนอาจกินข้าวได้ช้า ก็ยังจำเป็นต้องช่วยดูแลกันและกัน ส่วนใครที่เป็นลูกหลานก็ต้องตระหนักในเรื่องนี้ว่า เขาอยู่ด้วยกันก็จริง แต่เขาอยู่ด้วยความยากลำบาก ถ้าลูกหลานดูแลไม่ได้ก็ต้องมาดูว่าจะมีวิธีทดแทนพระคุณพ่อแม่ได้อย่างไร บางครั้งก็ต้องใช้จิตอาสาหรือเพื่อนบ้านเข้ามาช่วยดูแล ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องมาป้อนข้าว แต่ควรรู้ว่าแต่ละวันผู้สูงอายุจะอยู่ได้อย่างไร
นอกจากนี้ก็ควรให้ความเอาใจใส่เรื่องอุบัติเหตุการหกล้ม เช่น บ้านไม่ปลอดภัย เสามีเหลี่ยม ไม่เรียบกลม เพราะคนสูงวัยสะดุดล้มอาจหัวแตกได้ หรือบ้านไม้ใต้ถุนสูง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่แต่ละบ้านยังใช้เป็นบันไดแบบไต่ (เท้าวางบนแผ่นบันไดไม่เต็ม) ประกอบกับการก้าวของผู้สูงอายุจะสั้นลง ซึ่งอาจเสี่ยงตกบันไดและไม่มีใครเห็น บางคนกว่าจะมีผู้มาพบก็อาจทำให้คนสูงอายุเสียชีวิตได้
ประเด็นที่กล่าวมา หากลูกหลานอยู่ไกล หรือคู่สมรสที่ไร้ลูกหลาน การใช้เรื่องของอาสาสมัคร เช่น ให้เพื่อนบ้านเป็นหูเป็นตา ซึ่งในต่างจังหวัดไม่มีปัญหา เขาทักกันทุกวัน สื่อสารกัน หรือใช้เสียงตามสายสำหรับพูดคุยกัน แต่บ้านในกรุงเทพฯ ที่อยู่ติดกัน แต่มักไม่ค่อยคุยกัน จึงสะท้อนให้เห็นว่าคนปัจจุบันมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง เนื่องจากอยู่บ้านติดกัน รู้จักกันน้อยมาก ซึ่งบางกรณีคนที่มาอยู่กรุงเทพฯ อาจไม่ใช่คนกรุงเทพฯ แต่มาจากต่างถิ่น จึงไม่ได้เอาวัฒนธรรมต่างถิ่นหรือการทักทาย ยิ้มแย้มแจ่มใส มาอยู่ในชุมชนใหม่จึงทำให้ไม่ไว้วางใจกัน มองหน้ากัน แต่ไม่ได้คุยกัน ดังนั้นกลุ่มอาสาสมัครหรือชมรมที่มาทำกิจกรรมต่างๆ ควรเข้ามาดูแลผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตามลำพังให้มากขึ้น โดยเฉพาะชุมชนเมือง
ส่วนการที่ต่างฝ่ายต่างอายุมากและส่งผลให้ “ไลฟ์สไตล์ของคู่สมรสแตกต่างกัน” เป็นต้นว่า คุณตาชอบร้องเพลง แต่คุณยายชอบทำบุญ อันที่จริงต้องบอกว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะท้ายที่สุดแล้วท่านทั้งคู่ก็จะสามารถปรับจูนกันได้เอง ที่สำคัญเพื่อลดปัญหานี้จึงได้มีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้นมา และสิ่งที่เกิดขึ้นยังพบว่า ผู้หญิงมักจะมาร่วมกิจกรรมนอกบ้านมากกว่าผู้ชาย ทั้งที่ในช่วงวัยหนุ่มสาว ผู้ชายมักจะชอบเขาสังคม ทั้งจากเรื่องการเป็นผู้นำครอบครัว ชอบเรื่องการสังสรรค์ ในขณะที่ผู้หญิงสูงวัยนั้นจะชอบการเข้าสังคม ชอบพูดคุย บางครั้งไม่ได้ชอบพูด แต่ก็ขอไปฟังเรื่องที่เพื่อนเล่า เพราะเมื่อไรก็ตามที่ได้ออกนอกบ้านก็จะรู้สึกสดชื่น มีเพื่อน จากการได้เข้ากลุ่มผู้ที่มีความสนใจต้องกัน จึงทำให้ไม่เหงา นอกจากนี้ การได้ช็อปปิ้งก็จะทำให้รู้สึกคึกคักมากขึ้น หรือมาโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมให้ทำ เช่น ทำอาหาร ก็ทำให้คู่สมรสที่เลือกมาทำกิจกรรมนอกบ้านที่ตัวเองชอบมีความสุขได้จากเรื่องที่ตัวเองสนใจ
(การติดโซเชียลจะทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาโลกส่วนตัว แต่การใช้อย่างถูกต้อง เช่น การอ่านข่าวในสื่อออนไลน์และเล่าสู่กันฟัง จะยิ่งกระชับความสัมพันธ์ของคู่แต่งงานวัยเกษียณได้)
ปิดท้ายกันที่ “การติดโซเชียล” หรือต่างคนต่างก้มหน้าเล่นมือถือหรือไอแพดนั้น ปัจจุบันพบว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คู่สมรสสูงอายุมีความสุข แม้ต่างคนต่างนั่งเล่นโซเชียลก็ตาม เพราะเราอาจเคยได้ยินว่า “ลำพัง แต่สุขใจ” หากท่านสามารถใช้เกิดประโยชน์ เป็นต้นว่า ส่งไลน์หาลูกหลานที่อยู่ไกล หรือการได้อ่านข่าวสารก่อนในทีวี หรือแม้แต่การได้แชร์ข่าวสารต่างๆ ก่อนใคร ตรงนี้ก็จะทำให้ท่านรู้สึกมีความสุข กระทั่งการได้อ่านเรื่องแปลกๆ ทั้งคู่ก็จะเล่าสู่กันฟัง ดังนั้นหากคนสูงอายุมีความกล้าที่จะเล่นโซเชียล และเลือกใช้อย่างพอดี อีกทั้งเป็นไปในทางสร้างสรรค์ ก็จะช่วยทำให้ชีวิตคู่มีความสุขได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |