ประมูล5จีสุดคึก รัฐโกยแสนล้าน! ‘AIS’กวาด23ใบ


เพิ่มเพื่อน    

  ประมูล 5G สุดคึกคัก! กสทช.โกยกว่า 1 แสนล้าน "เอไอเอส" ซิวทั้ง 3 คลื่น 23 ใบอนุญาตจ่าย 4.2 หมื่นล้าน "แคท" เซอร์ไพรส์คว้า 700 MHz 2 ใบอนุญาตควัก 3.4 หมื่นล้าน "ทรู" 17ไลเซนส์ 2 คลื่นความถี่ 2.1 หมื่นล้าน "ทีโอที" 4 ใบอนุญาต 1,795ล้าน "ดีแทค" ได้แค่ 2 ไลเซนส์ 900 ล้าน "ฐากร" โวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจพลิกโฉมประเทศ

    เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700, 2600 MHz และ 26 GHz  หรือคลื่น 5G โดยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เข้าร่วมประมูล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
    โดยเวลา 07.30 น. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เข้ารายงานตัวที่จุดลงทะเบียนบริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคารอำนวยการ สำนักงาน กสทช. เป็นรายแรก ถัดมา เวลา 07.35 น. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือดีแทค เข้าลงทะเบียนเป็นรายที่ 2 นำโดยนายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เวลา 07.40 น. บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือทรู เข้าลงทะเบียนเป็นรายที่ 3 นำโดยนายเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร, นายนพปฎล เดชอุดม รองประธานคณะกรรมการบริหาร 
    เวลา 07.45 น. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้าลงทะเบียนเป็นรายที่ 4 นำโดยนายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการบริษัท และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่, นายชิต เหล่าวัฒนา กรรมการบริษัท เวลา 07.50 น. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือเอไอเอส เข้าลงทะเบียนเป็นรายที่ 5 นำโดยนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 
    ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย? แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือพาสปอร์ตต่อเจ้าหน้าที่ จากนั้นลงลายมือชื่อในแบบลงทะเบียนและรับบัตรประจำตัว โดยต้องฝากอุปกรณ์สื่อสารหรือสิ่งของที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าห้องประมูลไว้กับเจ้าหน้าที่ และไม่อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมการประมูลที่มาภายหลังเวลา 09.30 น. เข้าห้องประมูล
    จากนั้นในเวลา 08.15 น. ผู้เข้าร่วมประมูลเตรียมตัวในจุดที่กำหนด ก่อนเริ่มพิธีเปิดในเวลา 08.20 น. โดย พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. เป็นผู้จับฉลากรายชื่อผู้เข้าร่วมประมูลว่ารายใดจะได้ทำการจับฉลากเลือกเลขห้องประมูล และเลือกซองบรรจุ Username และรหัสผ่านตามลำดับ ก่อนเข้าห้องประมูลในเวลา 09.00 น.
ค่ายมือถือแห่ประมูลคึก!
    ในเวลา 09.20 น. ผู้เข้าร่วมการประมูลทำการ Log in เข้าระบบ ก่อนเริ่มการประมูลในคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz เป็นลำดับแรกในเวลา 09.30 น. ตามด้วยคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz โดยในการประมูลรอบแรกของแต่ละย่านความถี่ ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเสนอความต้องการชุดคลื่นความถี่ในย่านความถี่ที่ได้มีการวางหลักประกันไว้ หากไม่มีการเสนอความต้องการชุดคลื่นความถี่นั้นจะพ้นจากสถานะผู้เข้าร่วมการประมูล และถูกริบหลักประกันการประมูล
    ทั้งนี้ การประมูลคลื่น 5G และเริ่มต้นที่คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ชุด ชุดละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวม 15 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาท โดยในคลื่นนี้มีผู้เข้าประมูล 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ทรูมูฟ และแคท เทเลคอม ซึ่งเริ่มประมูลเริ่มตั้งแต่ 09.30 น. ในรอบแรกมีการเสนอความต้องการมากถึง 6 ชุดความถี่ มากกว่าจำนวนที่มีจัดสรรถึงเท่าตัว 
    ต่อมาในรอบที่ 2 มีการเสนอความต้องการลดเหลือ 4 ชุดมากกว่าจำนวนที่มีจัดสรร 1 ชุด โดยจากรอบที่ 2 เคาะราคายืนที่ 4 ชุดมาตลอด เวลาผ่านไปเกือบ 3 ชั่วโมง จนมาถึงรอบที่ 20 มีการเสนอความต้องการเท่ากับจำนวนที่จัดสรรแล้วที่ 3 ชุด โดยราคาคลื่นมาหยุดที่ 17,153 ล้านบาท ในเวลา 11.58 น. ด้วยเวลาประมูล 2.20 ชั่วโมง 
    ทั้งนี้ ราคาคลื่น 700 ครั้งนี้ถือว่ามีราคาประมูลที่แพงขึ้นมาก ต่างจากการประมูลคลื่น 700 ที่สำนักงาน กสทช.จัดประมูลไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2562 ที่ 3 ชุดใบอนุญาต  ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ โดยครั้งนั้น เอไอเอส, ทรูมูฟ และดีแทค ได้ไปคนละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ในราคาเท่ากันที่ 17,584 ล้านบาท แต่ครั้งนี้ การประมูลจัดสรรเพียงแค่ 5 เมกะเฮิรตซ์ แต่กลับมีราคาถึง 17,153 ล้านบาท รวมกัน 3 ใบ เท่ากับ  51,459 ล้านบาท
    สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 2600 MHz  โดยมีจำนวน 19 ใบอนุญาต ใบละ 10 MHz ผู้เข้าร่วมประมูลจะสามารถประมูลได้ไม่เกิน 10 ใบ โดยมีราคาขั้นต่ำใบละ 1,862 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นขั้นละ 93 ล้านบาท โดยการประมูลจบลงอย่างรวดเร็วในเวลา 13.30 น. ซึ่งเป็นการประมูลรอบที่ 2 ทั้งนี้ มีผู้เข้าประมูล 3 ราย ได้แก่ เอดับบลิวเอ็น ในเครือเอไอเอส, ทียูซี ในเครือทรู และ แคท เสนอราคาประมูล การเคาะราคารอบแรกใบละ 1,955 ล้านบาท แสดงความต้องการ 25 ใบ และรอบที่ 2 แสดงความต้องการ 19 ใบตามจำนวนที่เปิดประมูล ด้วยราคาใบละ 1,956 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่า 37,164 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ถือว่าจบการประมูล
    ส่วนการเปิดการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม 26 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) เป็นคลื่นที่ 3 จบที่การประมูลครั้งแรก เนื่องจากมีผู้เคาะความต้องการคลื่นมาจำนวน 26 ใบอนุญาต จากที่มี 27 ใบอนุญาต ที่ราคาใบละ 445 ล้านบาท รวมทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 11,570 ล้านบาท สำหรับผู้เข้าประมูลคลื่นในย่านนี้ ได้แก่ เอไอเอส, ทรูมูฟ, ดีแทค และทีโอที 
กสทช.โกย 100,521 ล้าน
    ต่อมา กสทช.ประกาศรายชื่อผู้ให้บริการเครือข่ายที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 5G ทั้ง 3 คลื่น ประกอบด้วย คลื่น 700 MHz,  2600 MHz และ 26 GHz มูลค่ารวม 100,521,177,777 บาท ขั้นตอนต่อไปทางสำนักงาน กสทช.จะเรียกประชุมรับรองผลการประมูลในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563
    สำหรับคลื่นความถี่ 700 MHz ใบอนุญาตละ 5 MHz จำนวน 3 ชุด ผู้ที่ได้รับใบอนุญาต คือ 1.กสท ได้ใบอนุญาต 2 ชุด เป็นจำนวนรวม 10 MHz มีราคาสุดท้าย 34,306 ล้านบาท 2.เอไอเอส ได้ใบอนุญาต 1 ชุด เป็นจำนวนรวม 5 MHz มีราคาสุดท้าย 17,154 ล้านบาท
     ส่วนคลื่นความถี่ 2600 MHz ใบอนุญาตละ 10 MHz จำนวน 19 ชุด ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตคือเอไอเอส ได้ใบอนุญาต 10 ชุด เป็นจำนวนรวม 100 MHz มีราคาสุดท้าย 19,561 ล้านบาท, ทรูมูฟ เอช ได้ใบอนุญาต 9 ชุด เป็นจำนวนรวม 90 MHz มีราคาสุดท้าย 17,872 ล้านบาท
    ขณะที่คลื่นความถี่ 26 GHz ใบอนุญาตละ 100 MHz จำนวน 26 ชุด ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตคือเอไอเอส ได้ใบอนุญาต 12 ชุด เป็นจำนวนรวม 1200 MHz มีราคาสุดท้าย 5,345 ล้านบาท, ทรูมูฟ เอช ได้ใบอนุญาต 8 ชุด เป็นจำนวนรวม 800 MHz มีราคาสุดท้าย 3,576 ล้านบาท, ทีโอที ได้ใบอนุญาต 4 ชุด เป็นจำนวนรวม 400 MHz มีราคาสุดท้าย 1,795 ล้านบาท, ดีแทค ได้ใบอนุญาต 2 ชุด เป็นจำนวนรวม 200 MHz มีราคาสุดท้าย 910 ล้านบาท
    นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การประมูลคลื่น 5G ครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในโลกยุคใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงช้าถือว่าถอยหลัง หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วคืออยู่กับที่ แต่หากจะให้ประเทศเดินไปข้างหน้า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทันทีและอย่างรวดเร็วที่สุด สำนักงาน กสทช.จะไม่ปล่อยให้โอกาสของประเทศไทยอยู่กับที่ ในทางตรงข้าม จะเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพลิกโฉมประเทศให้เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีในอาเซียน
         อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความล่าช้าด้าน 3G กว่าประเทศอื่น 8 ปี ส่วน 4G ล่าช้ากว่าประเทศอื่นประมาณ 4 ปี วันนี้ประเทศไทยกำลังจะมีการเปิดให้บริการ 5G ทางด้านธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.คาดการณ์ขั้นต่ำว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2563 ประมาณ 177,039 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1.02% ของ GDP ในปี 2563 สำหรับในปี 2564 คาดว่าจะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจขั้นต่ำประมาณ 332,619 ล้านบาท และในปี 2565 จะมีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประมาณ 476,062 ล้านบาท
    น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประมูลคลื่นความถี่ 5G กล่าวว่า หลังจากนี้กมธ.จะติดตามการดำเนินงานตามแผนงานที่ กสทช. ได้ออกกฎระเบียบเงื่อนไขในการประมูลไว้ ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องขยายโครงข่ายตามแผนที่กำหนดไว้ รวมทั้งจะติดตามตรวจสอบในเรื่องคุณภาพและราคาให้เหมาะสมและเป็นธรรมตามกฎเกณฑ์ของ กสทช.ด้วย
         พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กมธ.การสื่อสารฯ กล่าวว่า หากการให้บริการขยายไปสู่หัวเมืองใหญ่จนสามารถครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ จะทำให้รูปแบบการสื่อสารและความบันเทิงเปลี่ยนไปอย่างมาก จนทำให้วงการสื่อสารมวลชนต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"