หวั่น!ไวรัสแพร่หนักอีกระลอก


เพิ่มเพื่อน    

  สัญญาณอันตราย! กรมควบคุมโรคชี้ไทยมีความเสี่ยงไวรัสโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น จากนักท่องเที่ยวเข้ามาหลังพบหลายประเทศเชื้อระบาดในชุมชนต่อเนื่อง ขณะเรือสำราญเจอปัญหาหนัก หลายประเทศปฏิเสธให้เทียบท่า มาเลเซียตบหน้าฉาดใหญ่ "ฮุน เซน" ยกเกณฑ์คัดกรองระดับเวิลด์คลาส ยันผลตรวจหญิงอเมริกันโดยสารเวสเตอร์ดัมติดเชื้อ

    เมื่อวันอาทิตย์ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  และ นพ.สุวิช ธรรมปาโล รักษาการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้อำนวยการด่านควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่า กระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติการชะลอการแพร่ระบาดของโรคมาอย่างหนัก รวม 45 วันแล้ว ซึ่งสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดให้อยู่ในระดับต่ำได้ ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก มีจำนวนผู้ป่วยเข้าใกล้ 70,000 คน และมีผู้เสียชีวิตเข้าใกล้หลัก 2,000 คนแล้ว 
    "ขณะนี้เริ่มเห็นการแพร่ระบาดไปในชุมชนเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม และญี่ปุ่น ที่ไม่สามารถหาแหล่งที่มาของการป่วยได้ ส่งผลให้สถานการณ์ในประเทศไทยกลับมามีความเสี่ยงอีกครั้ง จากการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรคเฝ้าระวังทั้งในประเทศและผู้ที่เดินทางมาจากต่างประทศอย่างใกล้ชิด เพิ่มการคัดกรองและให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากสิงคโปร์และฮ่องกง ขณะที่ตัวเลขยืนยันสำหรับผู้ป่วยไวรัสโคโรนาในประเทศไทยคือ 34 คน กลับบ้านได้แล้ว 15 คน และผู้ป่วยรุนแรง 2 คน รักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร ทีมแพทย์ให้การรักษาอย่างเต็มที่ 
    นพ.ธนรักษ์ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ยังเพิ่มการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นทางเรือ เมื่อเรือมาถึงฝั่งต้องตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้น หากผู้เดินทางมากับเรือเกิดอาการไข้ จะตรวจติดตาม ตามมาตรฐานและระมัดระวังเพื่อให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยระดับต่ำต่อไป" นพ.ธนรักษ์ระบุ
    ด้าน นพ.สุวิชกล่าวว่า ในวันที่ 17 ก.พ.63 จะมีการประชุมระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงการจัดระบบในโรงพยาบาล ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยจำนวน 1 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ รพ.แห่งหนึ่งที่ไม่ใช่ที่สถาบันบำราศนราดูร 
    สำหรับกรณีผู้โดยสารจากเรือสำราญเวสเตอร์ดัมกำลังทยอยเดินทางเข้ามายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านจากสนามบินพนมเปญ เข้ามาทางสนามบินสุวรรณภูมิ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ล่าสุดผู้โดยสารเรือสำราญเวสเตอร์ดัมเดินทางเข้ามาในไทยแล้วไม่ต่ำกว่า 12 ราย โดยเดินทางมากับ 3 สายการบิน ประกอบด้วย 1.เที่ยวบินที่ TG585 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 7 ราย 2.สายการบินเอมิเรตส์ จำนวน 2 ราย และ 3.สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จำนวน 3 รายนั้น ล่าสุดนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้ยกระดับการคัดกรองทุกเที่ยวบินที่มาจากกัมพูชาจากที่ให้ดำเนินการเข้มอยู่แล้ว โดยให้สายการบินทำ exit screening ขณะที่ entry screening หน้า gate
     นายศักดิ์สยามกล่าวด้วยว่า พร้อมกำชับสนามบินจัดระบบเป็นการเฉพาะ กรณีมาเปลี่ยนเครื่อง รวมถึงการทำ exit screening ก่อนออกไป ทุกคนที่มาจากเรือเวสเตอร์ดัมและมาผ่านด่านพรมแดนพร้อมติดตามอาการของคนไทย 1 ราย ที่เข้าเมืองมาแล้ว แม้จะไม่มีไข้ ไม่มีอาการป่วยเป็นประจำทุกวัน และกำชับให้ ดแลตัวเองอย่าเคร่งครัด หรือหากประเมินว่ามีความเสี่ยง ให้ไปรับตัวมาเฝ้าดูอาการทันที
    สำหรับสรุปการดำเนินงาน วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารบนเรือเวสเตอร์ดัมบินมาประเทศไทย 9 คน แบ่งเป็นต่างชาติต่อเครื่องกลับประเทศ 8 คน และคนไทย 1 คน 1.ต่างชาติ 8 ราย ตรวจร่างกาย และวัดอุณหภูมิร่างกาย โดยแพทย์ ไม่พบไข้ทั้ง 8 ราย อุณหภูมิทางหูวัดได้อยู่ระหว่าง 36.4-36.9 องศาเซลเซียส ไม่มีอาการทางเดินหายใจ บันทึกข้อมูล ต.8 และอนุญาตให้บินต่อ 2.คนไทย อายุ 47 ปี ตรวจร่างกาย อุณหภูมิ 36.8 องศาเซลเซียส ไม่มีอาการทางเดินหายใจ เก็บตัวอย่างส่งตรวจเชื้อโควิด-19 (รอผล) บันทึกข้อมูลใน ต.8 และให้ติดตามอาการป่วย 14 วัน
     นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายในการรับมือปัญหาไวรัสโควิด-19 ดังนี้ 1.ลดโอกาสการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศไทย 2.ทุกคนในประเทศไทยต้องปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และ 3.ลดผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ดังนั้นสถาบันจึงได้นำพิมพ์เขียวแนวทางวิจัยและพัฒนาขององค์การอนามัยโลก (WHO R&D Blueprint) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มาเป็นประเด็นสำคัญในการระดมสมองเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายข้างต้น และสอดรับกับภารกิจของสถาบัน ได้แก่ การพัฒนาพิมพ์เขียวของประเทศ การจัดลำดับความสำคัญในการรับมือสถานการณ์ และการหาทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทั้งจากในและต่างประเทศ
     “ขณะนี้แต่ละหน่วยงานกำลังดำเนินงานอย่างเข้มข้น เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถเพาะเชื้อไวรัสโควิด-19 จากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยได้สำเร็จ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการวิจัยพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีศักยภาพในการวิจัยพัฒนา virus-like particle, VLP วัคซีน และอยู่ระหว่างการพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อไวรัสเบื้องต้น ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 3-5 เดือน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังขอทุนสนับสนุนในการวิจัยวัคซีนชนิด mRNA องค์การเภสัชกรรมก็กำลังเตรียมการในการร่วมงานกับ ม.มหิดลเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ก็พร้อมร่วมมือสนับสนุนการนำวัคซีนไปทดสอบในสัตว์ทดลอง นอกจากจะได้รับทราบถึงความก้าวหน้าขององค์ความรู้ในหลายมิติแล้วยังได้เห็นสัญญาณของการร่วมมือเพื่อบูรณาการจัดการกับปัญหานี้อีกด้วย” นพ.นคร กล่าว
    ขณะที่สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ภายในจีนเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 68,500 รายแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ยังมีข่าวดีที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในมณฑลหูเป่ย์เพิ่มในจำนวนที่ลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ในขณะที่ผู้ติดเชื้อนอกหูเป่ย์ลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 12 โดยคำแถลงของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (เอ็นเอชซี) กล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวันเสาร์ 2,009 ราย ลดลงจาก 2,641 รายในวันก่อนหน้านั้น ยอดผู้ติดเชื้อรวมทั้งประเทศ 68,500 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตมีเพิ่มขึ้น 142 รายเมื่อวันเสาร์ ยังใกล้เคียงกับวันก่อน และเกือบทั้งหมดอยู่ในมณฑลหูเป่ย์ ยอดผู้เสียชีวิตในจีนแผ่นดินใหญ่รวมถึงวันเสาร์อยู่ที่ 1,665 ราย 
    โฆษกเอ็นเอชซีกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ด้วยว่า ตัวเลขล่าสุดเป็นสัญญาณว่าจีนกำลังควบคุมการแพร่ระบาดได้ แต่ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวเตือนในที่ประชุมที่เมืองมิวนิกของเยอรมนีว่า ยังเป็นไปไม่ได้ที่จะคาดคะเนว่าการแพร่ระบาดนี้จะเป็นไปในทิศทางใด และขอให้รัฐบาล, บริษัท และองค์กรสื่อทั้งหลายร่วมมือกับดับเบิลยูเอชโอในการกระตุ้นเตือนอย่างเหมาะสมโดยไม่กระพือให้เกิดความหวาดผวา
    วันเสาร์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตในยุโรปรายแรก โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนอายุ 80 ปี ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้เสียชีวิตนอกจีนแผ่นดินใหญ่รายที่ 4 ต่อจากผู้เสียชีวิตที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนในฟิลิปปินส์, ชาวฮ่องกง และชาวญี่ปุ่น ในวันอาทิตย์มีรายงานของรอยเตอร์ด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันยืนยันว่ามีชายวัย 60 ปีเศษ เสียชีวิตเพราะโควิด-19 รายแรกในไต้หวัน ชายคนนี้ไม่ได้เดินทางออกนอกไต้หวันในช่วงที่ผ่านมา แต่เขาเป็นโรคเบาหวานและไวรัสตับอับเสบชนิดบี ถึงขณะนี้ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อที่ผ่านการตรวจยืนยันแล้ว 20 ราย
    ภายนอกจีน ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือญี่ปุ่น ส่วนใหญ่อยู่บนเรือสำราญไดมอนด์ปรินเซสที่ดำเนินการโดยบริษัทคาร์นิวัล และผู้โดยสารพร้อมลูกเรือเกือบ 3,700 คนถูกกักกันอยู่นอกชายฝั่งเมืองโยโกฮามาของญี่ปุ่น เมื่อวันอาทิตย์เจ้าหน้าที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 70 ราย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อบนเรือลำนี้เพิ่มเป็น 355 ราย ขณะที่รัฐบาลสหรัฐ, แคนาดา และฮ่องกง กำลังเตรียมการพาพลเมืองของตนบนเรือลำนี้กลับไปกักกันในประเทศ
    การพบผู้ติดเชื้อบนเรือสำราญก่อความวิตกกังวลแก่หลายประเทศ ทำให้ประกาศห้ามเรือสำราญเข้าเทียบท่า เมื่อวันศุกร์ทางการเวียดนามปฏิเสธเรือ 2 ลำ และในวันอาทิตย์ รัฐบาลมาเลเซียประกาศว่าจะไม่อนุญาตให้เรือสำราญที่ออกเดินทางจากจีนและเคยแวะเมืองท่าของจีนเข้ามาเทียบท่าในประเทศ ภายหลังตรวจพบผู้โดยสารบนเรือสำราญเวสเตอร์ดัมรายหนึ่งที่มาแวะเปลี่ยนเครื่องที่มาเลเซียติดเชื้อไวรัสนี้
    เรือสำราญเวสเตอร์ดัมลำนี้ถูก 5 ประเทศและดินแดนปฏิเสธการเข้าเทียบท่า รวมถึงญี่ปุ่นซึ่งเป็นจุดหมายดั้งเดิมของเรือที่ออกเดินทางจากฮ่องกงลำนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว รัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้เรืออเมริกันลำนี้เข้าเทียบท่า และเมื่อวันศุกร์ ผู้โดยสารส่วนหนึ่งจากทั้งหมด 1,455 คน ไม่รวมลูกเรือ 802 คน ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่งกัมพูชา โดยนายกฯ ฮุน เซน มาต้อนรับจับมือสวมกอดผู้โดยสารหลายคน
    เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ผู้โดยสารและลูกเรือบนเรือลำนี้ได้รับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อเทียบท่า กัมพูชาได้นำตัวอย่างของเหลวจากผู้โดยสาร 20 คนที่มีอาการป่วย ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่ผลออกมาเป็นลบ
    วันศุกร์ที่ผ่านมา ผู้โดยสาร 145 คนขึ้นเครื่องบินออกจากกัมพูชามายังมาเลเซีย และทางการมาเลเซียได้ตรวจสอบผู้โดยสารทุกคน ปรากฏว่า พบหญิงอเมริกันวัย 83 ปีติดเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดนี้ คำแถลงของกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียกล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า หญิงรายนี้มีอาการทรงตัว ส่วนสามีของเธอแสดงอาการเช่นกัน แต่ผลตรวจออกมาเป็นลบ ทั้งคู่เป็นผู้โดยสารเพียง 2 คนจาก 145 คนที่มีอาการ ผลตรวจล่าสุดนี้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในมาเลเซียเพิ่มเป็น 22 ราย
    ด้านบริษัท ฮอลแลนด์อเมริกา บริษัทแม่ของคาร์นิวัล ผู้ดำเนินกิจการเรือสำราญ ออกแถลงการณ์ว่า รายงานดังกล่าวเป็นผลตรวจครั้งแรก ซึ่งยังเป็นเพียงการตรวจเบื้องต้น บริษัทกำลังรอผลการตรวจครั้งที่ 2 เพื่อยืนยัน ทางการกัมพูชาก็เรียกร้องให้มาเลเซียตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผลลัพธ์เช่นกัน
    ในวันอาทิตย์ รายงานรอยเตอร์กล่าวว่า ยังมีผู้โดยสาร 236 คน และลูกเรือ 747 คนอยู่บนเรือเวสเตอร์ดัม ซึ่งเทียบท่าอยู่ที่จังหวัดพระสีหนุ ข่าวการตรวจพบผู้โดยสารบนเรือติดเชื้อก่อความวิตกถึงความเป็นไปได้ที่ผู้โดยสารคนอื่นๆ บนเรือลำนี้อาจติดเชื้อด้วย
    วันอาซิซาห์ วัน อิสมาอิล รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยืนยันเมื่อวันอาทิตย์ว่า ผลการตรวจซ้ำครั้งที่ 2 เมื่อคืนวันเสาร์ก็ยังคงยืนยันว่าหญิงอเมริกันคนนี้ติดเชื้อ แต่ผลตรวจสามีของเธอไม่พบเชื้อ "เกณฑ์วิธีของเราอยู่ในระดับเวิลด์คลาส ผลออกมาเป็นบวก" เธอกล่าวระหว่างการแถลงข่าว
    รองนายกฯ หญิงเปิดเผยอีกว่า สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้เช่าเหมาลำเครื่องบินของมาเลเซียแอร์ไลน์ 4 ลำ เพื่อนำผู้โดยสารของเรือเวสเตอร์ดัมมายังกรุงกัวลาลัมเปอร์ แต่ภายหลังตรวจพบหญิงรายนี้ติดเชื้อบนเที่ยวบินเที่ยวแรก เที่ยวบินที่เหลือจึงถูกยกเลิก
    เอเอฟพีรายงานอ้างคำกล่าวของลอร์เรน โอลิเวียรา ซึ่งพำนักอยู่ในอังกฤษ ว่าบรรยากาศบนเรือเปลี่ยนจากความยินดีปรีดาเป็นความเศร้า ผู้โดยสารกังวลกันมากนับแต่รู้ว่ามีคนติดเชื้อ 
    การตัดสินใจของนายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชาที่ยอมให้ผู้โดยสารเวสเตอร์ดัมขึ้นฝั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากถูกญี่ปุ่น, กวม, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์ และไทย ปฏิเสธให้เทียบท่า ได้รับคำชื่นชมจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยแพทริก เมอร์ฟีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงพนมเปญ ยังขึ้นเรือสำราญลำนี้ไปต้อนรับพลเมืองชาวอเมริกันด้วยตนเอง.

          


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"