พปชร.เปิดหน้าชนศึกรุมกินโต๊ะ


เพิ่มเพื่อน    

 นับถอยหลังก่อนระเบิดศึกซักฟอก พปชร.ตั้งวอร์รูมรบเต็มรูปแบบ ขนองครักษ์พิทักษ์นาย-อดีต ส.ส. เตรียมตอบโต้ สวนกลับ ขู่ฝ่ายค้าน ดาบฟาดรัฐบาลสุดท้ายเจอดาบคืนสนอง  เพื่อไทยโหมโรง เปิดปมบิ๊กตู่ทำสัญญาเช่าศูนย์ประชุมสิริกิติ์สุดพิสดาร เอื้อเจ้าสัวใหญ่  

    อีกหนึ่งสัปดาห์ก่อนถึงวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะเริ่มวันแรก 24 ก.พ.นี้ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านมีความเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก
    ในส่วนของพรรครัฐบาล เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการประชุมวอร์รูมพรรคพลังประชารัฐรับศึกอภิปราย โดยต่อมา นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมของคณะทำงานวอร์รูมนอกสภาว่า มีการตั้งคณะทำงานสนับสนุนผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ล้วนมีประสบการณ์และผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจและรู้ถึงแนวทางในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นทุกคนจะเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนทั้งเชิงข้อมูลและช่วย ส.ส.ของพรรคที่จะดำเนินการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ในการตอบโต้หรือการให้ข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ และช่วยให้การอภิปรายเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
    นายสนธิรัตน์กล่าวว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีนายจำลอง ครุฑขุนทด เป็นประธานคณะทำงาน, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เป็นเลขาฯ, นายวัชระ กรรณิการ์ เป็นทีมโฆษกฯ, นายทศพล เพ็งส้ม เป็นทีมกฎหมาย, นายรณฤทธิชัย คานเขต เป็นหัวหน้าทีมประสานงานฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร สำหรับตนเป็นผู้ช่วยดูแลในภาพรวม โดยถือเป็นครั้งแรกของ พปชร. ที่ได้รวบรวมผู้อาวุโสของพรรคเข้ามา เพราะการอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านพุ่งเป้ามาที่ พปชร. แต่เพียงพรรคเดียว และข้อกล่าวหาต่างๆ ก็เป็นข้อกล่าวหาที่เน้นทางการเมืองเป็นหลัก ไม่ได้เน้นข้อเท็จจริงทั้งหมดทีเดียว และเป็นความตั้งใจที่จะทำให้ พปชร.เป็นเป้าหมายทางการเมือง 
    นายสนธิรัตน์กล่าวว่า สำหรับการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพียงแค่มาช่วยเหลือการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการเข้ามาช่วยการทำงานทางการเมืองของพรรคในการสร้างความเข้มแข็ง เพื่อให้พรรคเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาประเทศต่อไปได้ โดยคนเหล่านี้จะช่วยประคับประคองการทำงานของพรรคตลอดไป ทั้งนี้ จะประสานกับประธานและวิปรัฐบาล เพื่อให้คณะทำงานชุดนี้ได้ประสานกับ ส.ส.ของพรรคและคณะทำงานชุดอื่นๆ เพื่อได้ร่วมทำงานเป็นทีมเดียวกัน โดยจะตั้งเป็นวอร์รูมตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันอภิปราย โดยคณะทำงานจะประจำที่สภา อย่างไรก็ตาม พรรคและรัฐบาลพร้อมถูกตรวจสอบตามกลไกของสภาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
    นายจำลอง ครุฑขุนทด หัวหน้าคณะทำงานฯ กล่าวว่า 
พรรคฝ่ายค้านมุ่งเน้นที่จะเล่นงานพรรคพลังประชารัฐ จึงเห็นว่าพวกเรากำลังถูกรุมกินโต๊ะจากฝ่ายค้าน จึงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องการมาช่วยพรรค เพื่อให้ความจริงปรากฏว่าแท้จริงเป็นอย่างไร โดยการทำงานมุ่งสนับสนุนโดยคำนึงถึงความคาดหวังของประชาชน เพราะผลสำรวจความเห็นของประชาชนในหลายสำนักต้องการเห็นการอภิปรายครั้งนี้เป็นไปโดยความสงบเรียบร้อย และอยู่ในกติกา ทั้งนี้ อยากเห็นการอภิปรายในครั้งนี้มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศ และหลังจากเรามีคณะทำงาน ก็ได้มีการพิจารณาญัตติของฝ่ายค้าน มีความเห็นร่วมกันว่าเป็นญัตติที่เป็นไปตามฤดูกาลเท่านั้น เมื่อกฎหมายอนุญาตให้อภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมได้หนึ่งครั้ง แต่โดยปกติเมื่อรัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำงาน งบประมาณยังไม่ผ่าน ข้อหาทั้งหมดจึงไม่น่าจะมี และที่ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายในครั้งนี้เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ก็จะทำ ทางคณะทำงานจึงวิเคราะห์กันว่าข้อมูลต่างๆ ที่เขียนมาในญัตติที่เหมือนจะรุนแรง แต่เนื้อหาในความเป็นจริงเป็นเพียงแค่ญัตติน้ำท่วมทุ่งมากกว่าญัตติฝนแล้ง เพราะตัวญัตติไม่ได้กล่าวถึงการทำงานในขณะนี้ของรัฐบาล แต่เป็นการกล่าวถึงเรื่องในอดีตทำนองว่ามาจะกล่าวบทไป ตั้งแต่เรื่องการปฏิวัติเป็นต้นมา จึงมีความกังวลเกี่ยวกับการทำงานของสภา จึงได้ตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมาเพื่อทำงานใกล้ชิดทีมวิปในสภา เพื่อรักษาสถานภาพทางการเมืองในสภาให้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชน
    นายจำลองกล่าวว่า วิธีการทำงานเราแบ่งออกเป็นกลุ่มงาน เพราะเวลามีจำกัด 5-6 วัน แต่คณะทำงานชุดนี้จะทำงานตลอดไป ทั้งก่อนและหลังการอภิปรายจะมีการเตรียมข้อมูลเหมือนการทำและเก็งข้อสอบล่วงหน้าให้กับรัฐมนตรี แล้วส่งให้ทีมงานของรัฐมนตรีคนนั้นๆ เพื่อให้มีเนื้อหาที่ดีที่สุดในการตอบคำถามฝ่ายค้าน ส่วนในสภาก็จะประสานงานเพื่อให้การทำงานมีความเรียบร้อย รวมทั้งยินดีประสานงานกับฝ่ายค้านและสภา ผ่านนายรณฤทธิชัย เพื่อให้การประชุมมีประโยชน์ อย่างไรก็ตามการประท้วงจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบกติกา ถ้าเรามีความร่วมมือระหว่างกัน ประชาชนจะมีความหวังกับการเมืองของเรา
    "การทำงานครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนของพรรคอย่างหนึ่ง การเข้ามาทำงานภายใน พปชร. เพราะอยากเห็นบ้านเมืองเดินต่อไปข้างหน้าได้ เพราะเราเจ็บปวดมานานแล้ว วันนี้เราอยากเห็นการทำงานที่เป็นความหวัง การทำงานช่วงแรกของเราจะทำการบ้าน ช่วงสองคือการมอนิเตอร์ในการประชุมสภาตลอดเวลา เมื่อรัฐมนตรีคนใดถูกอภิปราย ทีมงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบก็จะเข้าเวรมาดูแล งานเราจะสิ้นสุดต่อเมื่อการอภิปรายจบลง" นายจำลองกล่าว
    นายฉลอง เรี่ยวแรง คณะทำงานวอร์รูมฯ กล่าวว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ขอฝ่ายค้านอย่ายื่นดาบให้กับรัฐบาล เพราะไม่เช่นนั้นดาบนั้นจะวกกลับไปทิ่มแทงฝ่ายค้านเอง
    ด้านนายสุภรณ์ หรือแรมโบ้อีสาน กล่าวว่า สำหรับคณะวอร์รูมชุดนี้ได้กำหนดหัวหน้าทีมเพื่อสนับสนุนผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะ 1.ทีมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ประกอบด้วย นายจำลอง ครุฑขุนทด ประธานที่ปรึกษาผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี, นายทวี สุระบาล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายฉลอง เรี่ยวแรง ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายรณฤทธิชัย คานเขต ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายเอกภาพ พลซื่อ ที่ปรึกษาผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี 
    นายสุภรณ์กล่าวต่อว่า 2.ทีมสนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าทีม,  นายเวียง วรเชษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม,  นายภิรมย์ พลวิเศษ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม 3.ทีมสนับสนุนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นพ.วิชัย ชัยจิตวานิชกุล ที่ปรึกษาผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม, นายวัชระ กรรณิการ์ ประจำเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และโฆษกกระทรวงพลังงาน, นายสรชาติ สุวรรณพรหม คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพิกิฏ ศรีชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 4.ทีมสนับสนุน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ประกอบด้วย นายอำนวย คลังผา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานวิปรัฐบาล เป็นหัวหน้าทีม นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายธีรทัศน์ เตียวเจริญโสภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงมหาดไทย) และนายสุทธิชัย จรูญเนตร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี
       นายสุภรณ์กล่าวว่า 5.ทีมสนับสนุนนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประกอบด้วย นายธีรยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าทีม, นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงพลังงาน), นายภาคิน สมมิตรธนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ภาคเหนือ และนายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม และ 6.ทีมสนับสนุน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นหัวหน้าทีม, นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรฯ), นายธงชัย ลืออดุลย์ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงวัฒนธรรม) 
    ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า มั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนทราบได้ เพราะเนื้อหาที่ฝ่ายค้านใช้เป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องของกระทรวง ซึ่งกรมที่เกี่ยวข้องได้เตรียมข้อมูลไว้พร้อมแล้ว และพบว่าข้อกล่าวหาต่างๆ เป็นเรื่องการเมืองธรรมดา ไม่ได้เป็นไปตามเนื้อหา จึงไม่ได้รู้สึกกังวลใดๆ แต่เห็นว่าการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจยังไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เพราะรัฐบาลชุดนี้เพิ่งเข้าทำหน้าที่เพียง 7 เดือน ยังไม่ได้เริ่มทำงานอย่างจริงจัง แต่รัฐบาลกลับต้องมาเสียเวลากับเรื่องดังกล่าวที่ไม่น่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนเท่าไร แต่หากฝ่ายค้านคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน รัฐบาลก็มั่นใจว่าจะสามารถชี้แจงได้
    ทั้งนี้ มีรายงานว่าประเด็นที่ฝ่ายค้านจะหยิบยกมาใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจนายดอน เป็นเรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ ซึ่งมีหนังสือลับ-ด่วนที่สุด จากกระทรวงการต่างประเทศ ถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแนวทางการดำเนินการยุติข้อพิพาทอย่างฉันมิตร ต่อกรณีบริษัท ฟิลลิป มอริส ที่นำเข้าบุหรี่ หลังฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO เมื่อปี 2549 และ 2560 จำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีใบขนสินค้าบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ และคดีใบขนสินค้าบุหรี่นำเข้าจากอินโดนีเซีย 
      ที่พรรคเพื่อไทย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย แถลงข้อมูลก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เจ้าสัวรายใหญ่มีแผนดำเนินธุรกิจ New CBD Bangkok  แต่โครงการนี้จะสมบูรณ์แบบไม่ได้ ถ้าไม่ได้เช่าพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เนื่องจากที่ผ่านมาลงทุนไปกว่า 1.5 แสนล้านบาท เพื่อทำธุรกิจ MICE ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล โดยบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้ การประชุมนานาชาติ และการจัดนิทรรศการ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่จะใช้บริการ MICE จะมีหลักในการเที่ยวแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อเข้าร่วมประชุมบริษัท หรือประชุมนานาชาติ MICE จึงสามารถนำนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพในการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 3-4 เท่า ดังนั้น กลุ่มเจ้าสัวจะต้องเอาพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ให้ได้ เพราะต่อไปจะกลายศูนย์การประชุมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ธุรกิจครบวงจร
     นายยุทธพงศ์กล่าวว่า ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์สร้างขึ้นด้วยเงินของรัฐบาลสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อจัดประชุมเวิลด์แบงก์ โดยบริษัท NCC Management and Development เข้ามาดูแลเรื่องการประชุม หลังจากจัดประชุมไปแล้วจะต้องหาบริษัทเข้ามา รัฐบาลก็หาคนมาดูแลพื้นที่ตรงนี้ต่อโดยให้ NCC เสนอแผนการลงทุน และประโยชน์ตอบแทนมา ซึ่งตามสัญญาบริษัท NCC จะต้องสร้างโรงแรมมาตรฐาน 4-5 ดาว จำนวน 400 ห้อง, ที่จอดรถ 3,000 คัน พื้นที่เชิงพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 28,000 ตารางเมตร แต่เมื่อเวลาผ่านไปปรากฏว่า NCC ไม่ได้สร้างโรงแรม เท่ากับว่า NCC ผิดสัญญาตั้งแต่ตอนนั้น ทุกอย่างต้องเป็นโมฆะตั้งแต่ตอนนั้น แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาต่อสัญญาให้เช่าเพิ่มอีก 50 ปี ซึ่งถือว่าเป็นอภิมหาสัญญาเช่าที่นานที่สุดของประเทศ เพราะรัฐบาลยังไม่เคยทำสัญญาให้เอกชนรายใดในประเทศเช่าได้นานขนาดนี้
      นายยุทธพงศ์กล่าวอีกว่า วิธีการเช่าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ของเจ้าสัวสุดพิสดาร พล.อ. ประยุทธ์ไม่ได้ระมัดระวัง ไม่รอบคอบ ไม่เปิดให้มีการประชุมประมูลแข่งขันอย่างเป็นธรรมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ฟังใครทั้งนั้น จะให้เจ้าสัวท่าเดียว เท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์เข้าไปพัวพันกับเจ้าสัวใช่หรือไม่ เพราะในสัญญาใหม่ก็เขียนอีกว่า จะสร้างโรงแรมอีก ตรงนี้จะไม่เรียกค่าโง่ได้อย่างไร เพราะในสัญญาเก่าก็ระบุว่าจะสร้างโรงแรมก็ยังไม่ได้สร้าง เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจากกรณีสัญญารถดับเพลิง ที่สุดท้ายก็ต้องเลิกทำ 
    "หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะสามารถทำให้ยกเลิกอภิมหาสัญญาเช่า 50 ปีได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่เกี่ยวกับการธุรกิจอีกมากที่เกี่ยวกับการทุจริต ซึ่งยังมีเจ้าสัวคนอื่นๆ อีก อยากให้ประชาชนได้ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ทนฟังเรื่องเลวร้ายของตัวเองไม่ได้ สัปดาห์หน้ายังมีเวลาที่จะไปพิจารณาลาออกก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยมีข้อมูล พร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบ และในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น. มีข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานยาสูบมาเปิดเผยอีก" นายยุทธพงศ์กล่าว 
     นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากเมื่อวันที่ 7 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา กรณีการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. โดยวินิจฉัยว่าการกระทำโดยไม่สุจริต ใช้สิทธิ์ออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมประชุม เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใด แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ทั้งสมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 120 วรรคสาม และการออกเสียงลงคะแนนจะทำแทนกันไม่ได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 80 วรรคสามนั้น
       นายศรีสุวรรณกล่าวต่อไปว่า กรณีดังกล่าว ศาลยังได้ระบุด้วยว่าบุคคลใดจะต้องรับผิด รับโทษอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งกรณีดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้ยื่นคำร้องไว้แล้วต่อ ป.ป.ช.เพื่อไต่สวน สอบสวน ส.ส.ที่อาจกระทำการดังกล่าวไว้จำนวน 4 คน เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย 2.นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย 3.นายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย และ 4.น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ
    แต่ปรากฏว่ายังมี ส.ส.อีกหลายคนที่อาจมีพฤติกรรมดังกล่าวอีก 3 ราย อาทิ 1.น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ 2.นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท และ 3.นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าว จึงอาจเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.185 อันถือได้ว่าเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่น และอาจเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 และเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในข้อ 7 และข้อ 8 ในประเด็นที่ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และต้องไม่มีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ฯลฯ ซึ่งหาก ป.ป.ช.วินิจฉัยว่ามีความผิดตามข้อห้ามข้างต้น ก็อาจนำไปสู่การสิ้นสุดลงของตำแหน่ง ส.ส. ตามมาตรา 101 (7) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้สมาคมจึงจะนำรายชื่อ ส.ส.ดังกล่าวไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพิ่มเติม เพื่อให้ดำเนินการไต่สวน สอบสวน และเอาผิด ส.ส.ดังกล่าวในวันที่ 17 ก.พ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"