ดูท่าประเทศกำลังตกอยู่ภายใต้กฎหมู่
ก็ไม่รู้จะมีกฎหมายเอาไว้ทำไม
บรรดานักวิชาการ นักกิจกรรม นักแสดง ที่ร่วมลงชื่อกับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ รณรงค์คัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ มองกฎหมายเป็นอะไร
ทำไมคนกลุ่มนี้ถึงไม่ร่วมลงชื่อคัดค้านการยุบพรรคไทยรักษาชาติด้วยเล่า
หรือเพราะถูกจริตกับพรรคอนาคตใหม่ มากกว่าพรรคไทยรักษาชาติ
ปากตะโกนปาวๆ ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค ไม่ว่าพรรคไหน แล้วทำไมถึงปกป้องอย่างเป็นรูปธรรมเอาเฉพาะกับพรรคอนาคตใหม่
กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๐
พรรคอนาคตใหม่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑
ใครก็ตามที่เอาแต่โจมตีว่า กฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันมีขึ้นเพื่อเล่นงานพรรคอนาคตใหม่ ก็ควรกลับไปศึกษาหาข้อมูลกันใหม่
ฉะนั้นอย่าหลงประเด็น
คดีเงินกู้ ๑๙๑ ล้านบาท ถ้า "ธนาธร-ช่อ" ไม่พูด ก็ไม่มีใครรู้ และ กกต.อาจตรวจสอบไม่เจอ
แต่เมื่อทั้งคู่พูด และพูดในประเด็นที่สุ่มเสี่ยงว่าพรรคอนาคตใหม่ทำผิดกฎหมาย จึงกลายเป็นคดีขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ
ผลที่สุดของคดีอาจยุบหรือไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ก็ได้
หรือไม่ยุบ แต่ ๑๕ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ๑๐ ปี
หรือไม่มีความผิดใดๆ เลย
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็จบแบบนั้น
แต่...พรรคอนาคตใหม่ และบรรดาฟ้าชรายันฟ้าวานซืน ดูร้อนใจจนล้ำเส้น กดดันศาลรัฐธรรมนูญทุกครั้งที่มีการตัดสินคดีของพรรคอนาคตใหม่
ราวกับว่า พรรคอนาคตใหม่คือผู้ถูกต้อง ไม่เคยทำความผิดใดๆ ทั้งสิ้น
ย้ำกันอีกทีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๖๒ บัญญัติเอาไว้ชัดเจนว่า พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้
(๑) เงินทุนประเดิมตามมาตรา ๙ วรรคสอง
(๒) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามที่กำหนดในข้อบังคับ
(๓) เงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง
(๔) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง
(๕) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค
(๖) เงินอุดหนุนจากกองทุน
(๗) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
ล้อมาจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๓ ที่บัญญัติว่าพรรคการเมืองอาจมีรายได้ดังต่อไปนี้
(๑) เงินค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมืองตามที่กําหนดในข้อบังคับพรรคการเมือง
(๒) เงินที่ได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการของพรรคการเมือง
(๓) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้ ที่ได้จากการจัดกิจกรรม
หาทุนของพรรคการเมือง
(๔) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้ ที่ได้จากการบริจาคแก่พรรคการเมือง
(๕) เงินอุดหนุนจากกองทุน
(๖) ดอกผลของเงินและรายได้จากทรัพย์สินของพรรคการเมือง
(๗) รายได้อื่น
ความต่างของกฎหมาย ๒ ฉบับนี้คือ "รายได้อื่น"
สาเหตุกฎหมายปี ๒๕๖๐ ตัดออก เพราะไม่ต้องการให้พรรคการเมืองใช้เป็นช่องทางกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
เจตนารมณ์หลักของกฎหมายมีอยู่เท่านี้ เลิกเถียงเสียทีว่าเงินกู้ไม่ใช่รายได้
อย่าลืมว่าการเมืองไทยตกอยู่ในการครอบงำของกลุ่มทุนมานาน กฎหมายพยายามแยกกลุ่มทุนออกจากการเมือง พยายามกำหนดวงเงินบริจาคเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองตกอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน
วันนี้พรรคอนาคตใหม่ยังใช้ตึกไทยซัมมิทของ "ธนาธร" เป็นที่ทำการพรรค เหมือนที่ "ทักษิณ" ใช้ตึกที่ตระกูลชินวัตรเป็นเจ้าของเป็นที่ทำพรรคเพื่อไทย
หนำซ้ำยังมีพนักงานของบริษัทไทยซัมมิทเข้าไปยุ่มย่ามในกิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่ จนมีเสียงโวยวายจากอดีตคนของพรรคอนาคตใหม่
ฉะนั้นอย่าสักแต่ร่วมลงชื่อห้ามยุบพรรคอนาคตใหม่ ต้องกลับไปตีความคำว่า "ครอบงำ" ให้แตก ดูพฤติการณ์ให้ออก
ไม่เช่นนั้นอาจซ้ำรอย "อัศวินควายดำ-นารีขี่ม้าขาว" ที่สุดท้าย โคตรโกง!
เจ็บแล้วจำเสียบ้าง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |