จะเรียกเขาว่าเป็นนักการเมือง "ขั้นเทพ"
หรือ "นักฉวยโอกาสตัวยง" ก็ตามแต่
นายกรัฐมนตรีฮุน เซนของกัมพูชากลายเป็น "ฮีโร่" ของสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ท่ามกลางความหวั่นไหวของคนทั้งหลาย
สัปดาห์ก่อนไทยประกาศว่าจะไม่ยอมให้เรือสำราญ Westerdam เทียบท่าแหลมฉบัง เพราะกลัวว่าจะมีผู้โดยสารติดเชื้อไวรัสอู่ฮั่น หลังจากที่กวม, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่นบอกปัดมาก่อนหน้าแล้ว
แต่เรือลำนี้หันหัวจากทิศที่จะมาแหลมฉบังมุ่งสู่ "ท่าเรือสีหนุวิลล์" ของกัมพูชาหน้าตาเฉย
ฮุน เซนบอกว่าที่ตัดสินใจสวนกระแสประเทศอื่นเพราะตนมีสำนึกใน "มนุษยธรรม"
ก่อนหน้านี้เขาก็เป็นคนออกมาประกาศว่าไม่มีอะไรที่จะต้องตกตื่นกับไวรัสตัวนี้
เขาเองก็ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย และบอกให้คนเขมรไม่ต้องตื่นตระหนก ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากเช่นกัน
ว่าแล้วเขาก็บินไปปักกิ่งเพื่อจับมือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเพื่อแสดงตนเป็น "มิตรแท้ในยามยาก"
ผู้นำจีนแสดงความชื่นชมและซาบซึ้งในการแสดงความเป็นเพื่อนแท้ของกัมพูชา ขณะเดียวกันปักกิ่งก็ประณามประเทศที่ห้ามคนจีนเข้าประเทศ
การทำอย่างนั้นถือว่าเป็นการเหยียบย่ำซ้ำเติมจีน
ไม่เพียงแต่สี จิ้นผิงเท่านั้นที่ออกมาแสดงความยินดีกับฮุน เซน
ต่อมาอีกไม่กี่วัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็เขียนข้อความขึ้นทวิตเตอร์ แสดงความขอบคุณนายกฯ กัมพูชาคนนี้ว่าได้แสดงความเมตตาต่อเรือสำราญสัญชาติสหรัฐฯ ลำนี้อีกด้วย
ฮุน เซนได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง
ย้อนไปดูข่าววัน "วาเลนไทน์" ที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ว่าผู้โดยสารบนเรือสำราญเวสเตอร์ดัมที่มีผู้โดยสาร 2,257 คน ที่รัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้เทียบท่าเรือในเมืองสีหนุวิลล์ เริ่มทยอยขึ้นฝั่งหลังติดค้างบนเรือกลางทะเล 2 สัปดาห์
ฮุน เซนให้การต้อนรับผู้โดยสารอย่างอบอุ่น และยังแสดงความรักในวันวาเลนไทน์ด้วยการมอบดอกไม้และผ้าพันคอเขมรดั้งเดิมให้ 100 คนแรกที่ก้าวขึ้นฝั่ง ผู้โดยสารที่เหลือบนเรือต่างโบกมือแสดงความปีติและส่งเสียงเชียร์ดังก้อง
นายกรัฐมนตรีเขมรประกาศก้องว่าผู้โดยสารทั้งหมดจะได้รับอนุญาตขึ้นฝั่ง กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาระบุว่าไม่พบผู้ติดไวรัสโควิด-19 บนเรือสำราญเวสเตอร์ดัม
"กัมพูชาทำแบบนี้เพราะให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น...เราเคารพสิทธิของคนบนเรือมากกว่า 2,000 คน เราไม่มีความมั่งคั่งเหมือนประเทศร่ำรวย แต่เรามีความเห็นใจผู้โดยสารที่ติดค้างบนเรือ" ฮุน เซนพูดหาเสียงเต็มที่
สำหรับนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศแล้ว นี่ย่อมมิใช่เรื่องของ "มนุษยธรรม" แต่อย่างใด
หากแต่เป็นวิเทโศบายทางการทูตของฮุน เซน ที่ต้องการแสดงการเอาอกเอาใจ แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับรัฐบาลจีนอย่างจะแจ้ง
เพราะปักกิ่งได้กลายเป็นพันธมิตรสำคัญของฮุน เซน
จีนได้ตอบแทนท่าทีเป็นมิตรของฮุน เซน ด้วยการให้เงินกู้จำนวนมหาศาลแก่ประเทศนั้น แลกกับการที่จีนสามารถมาลงทุนในกัมพูชาขนานใหญ่
อีกด้านหนึ่ง ฮุน เซนก็คงจะพยายามให้ปฏิบัติการการทูตครั้งนี้กลบข่าวเชิงลบที่สหภาพยุโรป (อียู) เพิ่งประกาศตัดสิทธิพิเศษทางการค้าต่อกัมพูชา
เหตุผลสำคัญคือ อียูต้องการจะตอบโต้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในประเทศ
จังหวะเดียวกันนั้น นายฟิลล์ โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรต์วอตช์ ชี้ให้เห็นว่าการยอมรับเรือสำราญที่ไม่มีชาติไหนรับ เป็นจังหวะปะเหมาะกับช่วงเวลาที่สหภาพยุโรปกำลังลงโทษกัมพูชาด้วยการตัดสิทธิเศษทางการค้า
ย่อมตีความได้อีกทางหนึ่งว่า ฮุน เซนสามารถพลิกสถานการณ์เหมือนกับจะส่งสัญญาณไปถึงอเมริกาและสหภาพยุโรป ว่าบางครั้งเขาก็ยังเป็นมิตรที่เป็นประโยชน์ได้เหมือนกัน
ประเด็นที่ว่านี้คือ มติของสหภาพยุโรปที่ให้ตัดสิทธิพิเศษทางการค้ากับกัมพูชา 20% ภายใต้โครงการ "Everything But Arms" (EBA) หรือการให้สิทธิพิเศษด้วยการยกเว้นภาษีนำเข้าและยกเลิกการกำหนดโควตานำเข้าสินค้าทุกประเภท ยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งอียูมอบให้ 48 ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก
มตินี้มีผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดอียู มูลค่าประมาณ 3.4 ล้านล้านบาททีเดียว
ข้อหาต่อกัมพูชาในเรื่องนี้คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
แต่ฮุน เซนก็ใช้คำว่า "มนุษยธรรม" นี้กับเรือสำราญ Westerdam เพื่อพลิกสถานการณ์แก้ภาพลักษณ์ทางลบของตนทันทีเช่นกัน
ถึงขั้นที่ให้สี จิ้นผิงกับโดนัลด์ ทรัมป์แสดงความยินดีอย่างเปิดเผยได้
อย่างนี้ไม่เรียกว่า "ฝีมือขั้นเทพ" จะเรียกอะไร?
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |