กระทรวงสาธารณสุขเผย บุคลากรทางการแพทย์ของไทยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 หลังดูแลผู้ป่วยโดยไม่สวมใส่หน้ากากขณะปฏิบัติงาน สะท้อนว่าการป้องกันโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลอาจไม่เข้มแข็ง เตรียมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ประชุมแพทย์ และ รพ.ต่างๆ ในวันจันทร์ที่ 17 ก.พ.นี้ กำชับป้องกันเคร่งครัด ผงะ! ซูเปอร์โพลเผยประชาชนส่วนใหญ่กลัวปัญหาปากท้องมากกว่าโควิด-19
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า สาระสำคัญคือผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 ได้กลับบ้านอีก 1 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนอายุ 56 ปี ทำให้ยอดกลับบ้านมีจำนวน 14 ราย แต่ล่าสุดได้พบผู้ป่วยที่ยืนยันการติดเชื้อรายใหม่ เป็นหญิงไทยอายุ 35 ปี เป็นบุคลากรทางการแพทย์ มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ปวยที่รักษาตัวโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส และผู้ป่วยรายใหม่นี้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่เข้าข่ายติดตามเฝ้าระวัง ซึ่งเกิดอาการมีไข้ เลยนำตัวไว้ห้องแยกโรคตรวจหาเชื้อ ผลออกมาเป็นบวกจึงรับไว้รักษา
ส่วนสาเหตุที่ติดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยรายใหม่นี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ได้สัมผัสผู้ป่วย ซึ่งปกติมีความเสี่ยงมากกว่าประชาชนทั่วไป ซึ่ง สธ.ได้มีการติดตามตรวจบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ อีก 24 ราย แต่ไม่พบเชื้อ ไม่มีอาการป่วย ประกอบกับผู้ป่วยรายใหม่ อาศัยอยู่ลำพังคนเดียว จึงไม่มีผู้สัมผัสในครอบครัวเพิ่มเติม
"เมื่อเจอผู้ป่วยรายหนึ่งจะมีการสำรวจ การสัมผัสคนรอบช้าง และจะถูกนำมาแยก และติดตามผล ผู้ป่วยรายนี้ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ มีผู้ใกล้ชิด 24 ราย ซึ่งการตรวจและติดตาม ไม่พบผิดปกติ แต่เราจะติดตาม 14 วัน และเมื่อเราสอบสวนข้อมูลเชิงลึก พบว่าผู้ป่วยรายใหม่ ไม่สวมใส่หน้ากากขณะปฏิบัติงาน สะท้อนว่าการป้องกันโรคติดเชื้อใน รพ.อาจไม่เข้มแข็ง และนี่อาจเป็นการป้องกันรายบุคคลที่ไม่ดีพอ สังเกตได้จากอีก 24 คนไม่เป็นไร แต่คนนี้อาจได้รับเชื้อทางใดทางหนึ่ง จึงขอให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูงระมัดระวังป้องกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำชับ จะมีหนังสือสั่งการสถานพยาบาลรัฐเอกชน อบรมเข้ม จัดร่วมกัน ชมรมโรคติดเชื้่อโรงพยาบาลในประเทศไทย"
นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า การติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์เกิดขึ้นแล้วกับประเทศจีน จากรายงานคณะกรรมการสุขภาพจีนเมื่อวันที่ 14 ก.พ. พบว่าตั้งแต่เริ่มต้นของการระบาดไวรัสโคโรนา 19 จนถึงวันที่ 11 ก.พ. จีนมีบุคลากรทางการแพทย์ 1,716 รายที่ติดเชื้อ คิดเป็น 3.8 % ของผู้ติดเชื้่อทั้งหมดของจีน และมีบุคลากรแพทย์เสียชีวิต 6 ราย คิดเป็น 0.4% ของผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตของจีน ดังนั้น สธ. กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ ชมรมป้องกันผู้ติดเชื้อ รพ.ในประเทศ จึงเน้นให้ รพ.ดำเนินมาตรการป้องกันผู้ติดเชื้อจากผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด
และขอให้บุคลากรทุกระดับและทุกสถานพยาบาลที่ดูแลป่วยไวรัสโคโรนา 19 ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ดูแลตนเองที่เหมาะสม รวมถึง รพ.เองก็ต้องมีอุปกรณ์และระบบป้องกันการติดเชื้อที่เหมาะสม และทบทวนระบบป้องกันอย่างสม่ำเสมอ สธ.จะมีการอบรมการป้องกันติดเชื้่ออีกครั้งในวันที่ 17 ก.พ. โดยเน้นสถานพยาบาลที่มีสถานที่ท่องเที่ยวให้ดำเนินการป้องกันอย่างเคร่งครัด ตลอดจนสถานพยาบาลทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน ก็ต้องดำเนินมาตรการเคร่งครัดด้วยเช่นกัน
วิดีโอคอนเฟอเรนซ์จันทร์นี้
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ และโฆษกของ สธ. กล่าวว่า หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ทาง สธ.จะมีการทำวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ประชุมแพทย์และ รพ.ต่างๆ ในวันจันทร์ที่ 17 ก.พ.นี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่สุดของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าการต่อสู้เชื้อโรค และเพื่อซักซ้อมความเข้าใจ การทำงาน ซึ่งขณะนี้เรามีกำลังคนทางการแพทย์ 2 แสนทั้งประเทศ ซึ่งมีตั้งแต่ระดับเวรเปลขึ้นไปที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรค และการยกระดับรับมือกับ ของ สธ.ต้องทำงานล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือในการเปลี่ยนระยะของโรค เพื่อที่เราจะได้ก้าวหน้ารับมือได้ ดังนั้น ขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงของ สธ.เห็นว่าการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ เหมือนกองทัพต่อสู้เชื้อโรค จึงได้เสนอให้มีการตั้งงบกลางตอบแทนทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานล่วงเวลาขณะนี้ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจต่อไป
นพ.สุวรรณชัยยังรายงานความคืบหน้าผู้ป่วยหนัก 2 ราย ที่นำพลาสมาของแท็กซี่ที่ติดเชื้อและหายแล้ว ซึ่งถือว่ามีภูมิต้านทานโรคมาใช้กับผู้ป่วยหนัก 2 รายดังกล่าว ว่าจีนก็นำวิธีการนี้มาใช้ และอยู่ในกระบวนการรักษาไปศึกษาไป โดยผู้ป่วย 2 รายนี้เราได้ร่วมกับสภากาชาดไทยเอาพลาสมาคนที่หายแล้วไปรักษา พบว่าไม่ได้ทำให้อาการดีขึ้นชัดเจน อาจจะมาจากเหตุผลว่าพลาสมาที่นำมาใช้ยังไม่รู้ภูมิคุ้มกันอยู่มากน้อยแค่ไหน และการใช้พลาสมา ที่เคยติดเชื้อ ยังไม่เคยมีรายงานผลการรักษามาก่อน แต่เพื่อประโยชน์สูงสุดผู้ป่วย
ขณะนี้จึงได้นำเครื่องเอ็กโมหรือปอดเทียมมาใช้กับผู้ป่วยอาการหนัก เพื่อให้ระดับออกซิเจนในเลือดสูงขึ้น และเพื่อให้ผู้ป่วยมีเวลาฟื้นตัวรักษาตัวเอง ขณะเดียวกันเราก็ไม่นิ่งนอนใจ ขณะนี้ได้มีการนำเข้ายาหลายตัวที่มีการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนบ้านเรา สั่งนำเข้ามาใช้รักษาผู้ป่วย ในรายที่มีอาการหนัก ยาจะมาถึงได้วันนี้ ยาดังกล่าวเป็นกลุ่มต้านไวรัส รักษาฟลาวิราเวียร์ หรือเป็นยาที่ใช้การรักษาระดับที่สอง หลังจากใช้ยารักษาอาการระดับแรกแล้วไม่ได้ผล
สำหรับสถานการณ์ถึงวันที่ 15 ก.พ. เวลา 08.00 น. ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 20 ราย กลับบ้านแล้ว 14 ราย รวมสะสม 34 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม-14 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 804 ราย คัดกรองจากสนามบิน 54 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 750 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว และอยู่ระหว่างติดตามอาการ 685 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 119 ราย
สถานการณ์ทั่วโลกใน 27 ประเทศ และ 2 เขตบริหารพิเศษ ข้อมูลตั้งแต่ 5 มกราคม-14 กุมภาพันธ์ 2563 (07.00 น.) พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 67,100 ราย เสียชีวิต 1,526 ราย ส่วนประเทศจีนพบผู้ป่วย 66,492 ราย เสียชีวิต 1,523 ราย
คัดกรองสะสม 393,788 ราย
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากเรือเวสเตอร์ดัม เมื่อวานนี้ได้เดินทางเข้าประเทศมาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งหมด 9 ราย เป็นชาวต่างชาติ 8 ราย คนไทย 1 ราย ตรวจคัดกรองไม่มีไข้ ชาวต่างชาติเดินทางกลับประเทศ ส่วนคนไทยดูแลติดตามเฝ้าระวังตามมาตรฐานป้องกันควบคุมโรค
ผลการดำเนินงานที่ด่านควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 3-23 มกราคม 2563 ได้เฝ้าระวังคัดกรองผู้โดยสารเที่ยวบินตรงจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2563 ขยายเพิ่มที่ท่าอากาศยานเชียงราย และตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2563-14 กุมภาพันธ์ 2563 คัดกรองเที่ยวบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งขาเข้าและขาออกจากประเทศจีน สะสมทั้งสิ้น 799 เที่ยวบิน รวมคัดกรองผู้เดินทางและลูกเรือสะสม 64,357 ราย ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเจ้าหน้าที่หมุนเวียนไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่ด่าน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ได้คัดกรองพื้นที่ ณ ท่าเรือ 5 แห่ง (กรุงเทพมหานคร ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ท่าเรือภูเก็ต และท่าเรือสมุย) มีผู้ได้รับการคัดกรองสะสมรวม 44,200 ราย และด่านพรมแดนทางบก มีผู้ได้รับการคัดกรองสะสม 393,788 ราย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง การควบคุมโรคโควิด-19 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,302 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงปัญหาสุขภาพของตนเองหรือคนใกล้ชิดที่ติดต่อจากไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 พบว่า เพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้นที่คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 รองลงมาหรือร้อยละ 30.7 ระบุไม่เกี่ยวข้องกัน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.4 ระบุยังไม่มีปัญหาสุขภาพอะไรที่น่ากลัว
เมื่อถามถึงความใส่ใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโรคระบาด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.2 ระบุรัฐบาลใส่ใจมากถึงมากที่สุด รองลงมาคือร้อยละ 25.2 ระบุปานกลาง ในขณะที่ร้อยละ 3.6 ระบุใส่ใจน้อยถึงไม่ใส่ใจเลย
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.9 พอใจมากถึงมากที่สุดต่อหน่วยงานต่างๆ ในการควบคุมโรคระบาด ในขณะที่ร้อยละ 21.7 พอใจปานกลาง และร้อยละ 9.4 พอใจน้อยถึงไม่พอใจเลย
กลัวปัญหาปากท้องมากกว่า
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.4 กลัวปัญหาปากท้อง กลัวไม่มีจะกิน หากินขัดสน มากกว่ากลัวปัญหาโรคระบาด โคโรนา (โควิด-19) ในขณะที่ร้อยละ 22.6 กลัวโรคระบาด โคโรนา (โควิด-19) มากกว่า
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า การตื่นตัวดูแลสุขภาพแต่ไม่ตื่นตระหนกเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าตื่นตระหนกเกินเหตุเป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่าโรคระบาด เพราะอาจสร้างความเสียหายใหญ่หลวง และอาจจะซ้ำเติมความเสียหาย ความเดือดร้อนของประชาชนด้านอื่นๆ ได้ ในเวลานี้ที่ควรเน้นในการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ต่อสาธารณชนมีเพียง 3 อย่างที่ควรสื่อสารกับประชาชนต่อเนื่องคือ 1.หมั่นล้างมือ ไม่เอามือลูบหน้าปะจมูก อาบน้ำเมื่อกลับถึงบ้าน ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่มีคนหนาแน่น 2.ถ้ารู้สึกตัวไม่สบายควรรีบรักษาหาหมอตามปกติ และ 3. หน่วยงานต่างๆ ตื่นตัวยกระดับควบคุมโรคเหมือนที่กำลังทำอยู่ได้สร้างความพอใจให้กับประชาชนแล้วจึงจะไม่ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาปากท้องและการทำมาหากินขัดสนของประชาชน
นายนนท์ กลินทะ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ในเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และล่าสุดหลายประเทศได้แนะนำให้ประชาชนลดการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ โดยไม่จำเป็น ดังนั้น บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องปรับลดเที่ยวบินเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางและปริมาณการสำรองที่นั่งล่วงหน้าของผู้โดยสาร ดังนี้
1.ปรับลดเที่ยวบินในเส้นทางไป-กลับกรุงเทพฯ-โซล จากเดิมทำการบิน 5 เที่ยวบินต่อวัน ปรับเปลี่ยนเป็นทำการบิน 4 เที่ยวบินต่อวัน ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์-28 มีนาคม 2563
2.ยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางไป-กลับกรุงเทพฯ-ปูซาน ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 และวันที่ 5-6 มีนาคม 2563
3.ปรับลดเที่ยวบินในเส้นทางไป-กลับกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ จากเดิมทำการบิน 5 เที่ยวบินต่อวัน ปรับเปลี่ยนเป็นทำการบิน 4 เที่ยวบินต่อวัน ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์-27 มีนาคม 2563
ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของตารางการบินที่ปรับปรุงใหม่ รายละเอียดเที่ยวบินที่ทำการบินและเที่ยวบินที่ปรับลดได้ที่เว็บไซต์ thaiairways.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ THAI Contact Center โทร.0-2356-1111 ตลอด 24 ชั่วโมง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |