ออกเสียงไว้วางใจเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัว แต่พรรคร่วมรัฐบาลลงเรือลำเดียวกัน
ก่อนระเบิดศึกซักฟอก เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของพรรคร่วมฝ่ายค้านในช่วง 24-27 ก.พ.นี้ ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำมีการเตรียมพร้อมรับศึกรอบนี้ผ่านการตั้งวอร์รูมนอกสภา โดยมีแกนนำพรรคพลังประชารัฐลงมาคุมเกมทั้งในและนอกห้องประชุมสภาตั้งแต่ก่อนถึงวันซักฟอก ขณะเดียวกันช่วง 3 วันสุดท้ายก่อนถึงวันอภิปรายวันแรก คือช่วง 21-23 ก.พ. พรรคร่วมรัฐบาลได้จัดสัมมนาเตรียมความพร้อม ส.ส.รัฐบาลรับมือศึกซักฟอกที่ชลบุรี โดยมีข่าวว่ารัฐมนตรีเกือบทั้งหมดที่ถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยกเว้นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะไปร่วมงานสัมมนาดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ-เลขานุการวิปรัฐบาล ในฐานะหัวหน้าทีมวอร์รูมวิปรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ในการสู้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล กล่าวถึงการเตรียมรับศึกซักฟอกครั้งนี้ที่จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งแรกในรอบเกือบ 6 ปี หลังจากขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศว่า ในส่วนของวิปรัฐบาลหน้าที่หลักก็คือ 1.ดูแล ส.ส.ให้มาร่วมประชุมสภา และร่วมลงมติไว้วางใจในวันที่ 28 ก.พ. และ 2.ในระหว่างการประชุมสภา ช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วิปรัฐบาลต้องช่วยกันตรวจสอบการอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ให้อยู่ในระเบียบวาระ ไม่อภิปรายนอกประเด็น ต้องไม่มีลักษณะเสียดสี ทำให้บุคคลอื่นเสียหายโดยไม่จำเป็น คือหน้าที่ของวิปที่ต้องทักท้วง หรือที่คนเรียกกันว่า "ประท้วง" เพื่อให้การประชุมเป็นไปโดยเรียบร้อยสร้างสรรค์
สำหรับเรื่องเสียงโหวตไว้วางใจพลเอกประยุทธ์และรัฐมนตรีอีก 5 คน ที่เป็นคนของฝ่ายรัฐบาลและพลังประชารัฐทั้งหมดนั้น เวลานี้เบื้องต้นเสียง ส.ส.รัฐบาลเดิมอยู่ที่ ประมาณ 254 เสียง แต่ปัจจุบันก็มีอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ออกมาอยู่กับพรรครัฐบาล อีก 4 คน ทำให้เพิ่มเป็น 258 เสียง และเมื่อตัดเสียงประธานสภาและรองประธานสภาออกไป 3 คน ก็ทำให้เสียง ส.ส.รัฐบาลอยู่ที่เบื้องต้นประมาณ 255 เสียง ไม่นับรวมกรณี 5 ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ อย่างไรก็ตาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรื่องคะแนนเสียงหลักคือ เสียงไม่ไว้วางใจของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่เป็นผู้ยื่นญัตติ ต้องเกินกึ่งหนึ่ง หากเสียงไม่ถึงก็ถือว่าฝ่ายค้านแพ้รัฐบาล พบว่าตอนนี้ฝ่ายค้านเสียงเต็มที่อยู่ที่ประมาณ 230 เสียง ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.อยู่แล้ว การโหวตเสียงตอนไว้วางใจจึงไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลกลัว
สิ่งที่ต้องการคือต้องการให้ ส.ส.รัฐบาลโหวตออกเสียงไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมดต้องได้เสียงเท่ากันหมดครบทุกคน ซึ่งเมื่อตอนนี้ 5 เสียงของพรรคเศรษฐกิจใหม่ออกมาจากฝ่ายค้านแล้ว ก็ถือว่าทำให้เสียง ส.ส.รัฐบาลอยู่ในระดับปลอดภัย แต่เราก็จะพูดแบบนั้นตอนนี้ไม่ได้ เพราะเรายังไม่รู้ว่าตอนโหวตจะเกิดอะไรขึ้น วิปรัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องคุมเสียง เราก็มีหน้าที่ต้องคุยกับ ส.ส.รัฐบาลให้เขาเข้าใจ
-หากจะมี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฟังการอภิปรายของฝ่ายค้านแล้วบอกว่าข้อมูลฝ่ายค้านแน่นมาก ขอฟรีโหวต ทำได้หรือไม่?
เราก็เป็นห่วงตรงนี้ เราก็พยายามจะพูดคุยกันเพื่อขอให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต้องโหวตไปทางเดียวกัน เพราะมันไม่เคยเกิดเหตุแบบนี้ในสภาที่จะของดออกเสียง มันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ วิปรัฐบาลก็จะคุยกับ ส.ส.รัฐบาลทั้งหมดเพื่อขอให้ต้องโหวตไว้วางใจทุกคนที่ถูกยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ถือเป็นหน้าที่ของเรา ซึ่งผมก็เชื่อว่า ส.ส.รัฐบาลทุกคนก็พร้อมใจกันมาโหวตให้รัฐบาลอยู่แล้ว ส่วน 5 ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่จะมาโหวตให้ฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกับ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมดเป็นการส่วนตัว แต่เท่าที่ฟังจากที่พวกเขาได้มาคุยกับผู้ใหญ่เราบางคน เขาก็ยินดีที่จะมาช่วยรัฐบาล
-ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล ยืนยันว่าเสียงโหวตไว้วางใจยังไงรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายต้องได้คะแนนไว้วางใจครบเท่ากันหมด?
ที่ผ่านมาจะพบว่าเวลามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล จะพบว่าในอดีตเสียงไว้วางใจแต่ละครั้งจะไม่เคยเท่ากัน ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เช่น บางคนขาดไปตอนโหวต จนเป็นเรื่องปกติ ส่วนหากผลการลงมติถ้ามี ส.ส.รัฐบาลไม่โหวตไปในทางเดียวกัน วิปรัฐบาลจะมีมาตรการอะไรหรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่ถึงเวลา ต้องรอดูเหตุการณ์ก่อน แต่ปกติที่ผ่านมา มันก็ไม่เคยมีการลงโทษอะไร เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในการโหวตลงมติ เป็นสิทธิ์ของเขา
“มันเป็นเอกสิทธิ์ของเขา แต่เราก็จะขอความร่วมมือ ส.ส.รัฐบาลให้โหวตไปทางเดียวกัน แต่สุดท้ายก็เป็นเอกสิทธิ์ของเขา เป็นสิทธิ์ของเขา เราบังคับเขาลงมติไม่ได้ แต่เขาจะลงมติอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่เขาต้องรับผิดชอบชีวิตของเขาเอง แต่ก็เป็นเรื่องของความรับผิดชอบ ความเสียสละ คือเสียสละความเห็นส่วนตัวเพื่อความเห็นส่วนรวม บางทีก็ต้องเอาความรู้สึกส่วนตัวทิ้งบ้างเพื่อส่วนรวม และการอยู่ร่วมกันต้องเสียสละหากทุกคนยังยึดถือแต่ตัวเอง ประโยชน์ของตัวเอง สิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น ไม่ยอมเสียสละ ไม่ยอดลดเลย มันก็ไปไม่ได้ ผมว่าอันนี้สำคัญ บางคนบอกไม่ได้ตรงนั้น ขอตำแหน่งตรงนั้นไม่ได้ ไม่โหวต ก็ตายเลย เราต้องเสียสละเรื่องส่วนตัวบ้างเพื่อให้ส่วนรวมเดินหน้า แต่เชื่อว่าก่อนการลงมติ คงไม่น่าจะมีการต่อรองอะไร เพราะทุกคนคงพร้อมจะช่วยกัน”
ชัยวุฒิ-คีย์แมนหลักทีมวอร์รูมรัฐบาล กล่าวถึงการเตรียมรับมือฝ่ายค้านในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า วอร์รูมรัฐบาลดังกล่าวจะมี 2 ภารกิจหลัก
...เรื่องแรกคือ ดูเนื้อหาประเด็นการอภิปรายของฝ่ายค้าน จากนั้นเราจะช่วยหาข้อเท็จจริงและจะช่วยชี้แจงแทนรัฐมนตรี แต่ไม่ได้จะไปลุกขึ้นชี้แจงแทนรัฐมนตรีในห้องประชุมสภาฯ แต่จะชี้แจงผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น การชี้แจงผ่านสื่อมวลชนระหว่างการอภิปรายหรือช่องทางอื่นๆ เพื่อสื่อสารกับประชาชน จะได้ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ เพราะบางครั้งรัฐมนตรีตอบคำอภิปรายของฝ่ายค้านในสภาฯ เวลาอาจมีจำกัด เราก็อาจต้องใช้กลไกของสื่อนอกห้องประชุมสภาฯ ในการช่วยชี้แจง ให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิดและเกิดความสับสน อันนี้คือภารกิจที่ทีมวอร์รูมเราต้องทำ โดยจะมีการทำแบบคู่ขนานไปกับการชี้แจงของฝ่ายรัฐมนตรี ในลักษณะการไปช่วยเสริม เช่น การให้ ส.ส.แจงผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเองก็อาจจะทำให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลได้ง่ายกว่าการฟังการอภิปรายในสภาอย่างเดียว
ภารกิจที่ 2 ของทีมวอร์รูมที่ต้องทำก็คือ เราจะต้องมีการทำความเข้าใจกับ ส.ส.รัฐบาลทุกคนให้เข้าใจในประเด็นที่มีการอภิปรายตลอดการประชุม ให้เขาได้ข้อมูลที่ครบถ้วน เขาจะได้เข้าใจว่าเรื่องไหนจริง ไม่จริง เรื่องไหนเรื่องเท็จ อยู่นอกประเด็น จะได้ช่วยกันประท้วงทักท้วงในที่ประชุม
"ทีมวอร์รูมก็จะมีการจัดทีมงานมาช่วยกันในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็มีทั้งทีมงานของรัฐมนตรี ทีมงาน ส.ส.จะมาช่วยกัน ส่วนบทบาทของพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะมาช่วยกัน เพราะถือว่าเราลงเรือลำเดียวกันแล้ว ยังไงก็ต้องมาช่วย เขาจะมาช่วยกันทุกเรื่อง ในตอนนั้นจะไม่มีการแบ่งพรรคกันแล้ว เพราะรอบนี้ถือว่าต้องช่วยกัน ในเมื่อเราลงเรือลำเดียวกันแล้ว เพราะอย่างบางคนที่อยู่ในพรรคอื่น เขาก็ยืนยันจะมาช่วย เช่น หากการอภิปรายอะไรไม่ถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมสภาจะช่วยชี้แจงแทนด้วย รัฐบาลอยู่ได้หรือไม่ได้อยู่ที่สภาฯ อยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาล เพราะรัฐบาลมาจากสภา ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลแตกกันก็ต้องยุบสภาเลือกตั้งกันใหม่” เลขานุการวิปรัฐบาลย้ำ
ชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับข่าวที่จะมี 3 คีย์แมนพลังประชารัฐลงมาช่วยรัฐมนตรีสู้ศึกฝ่ายค้านที่เรียกกันว่า ทีม อ.ส.ว.คือ อนุชา นาคาศัย, สุชาติ ชมกลิ่น และวิรัช รัตนเศรษฐ เกิดจากระบบการทำงานของพลังประชารัฐ ที่มีการแบ่งงานกัน เพราะ ส.ส.ของพลังประชารัฐมีหลายคน เราก็แบ่งกันว่า กลุ่มนี้ให้คนนี้เป็นผู้รับผิดชอบ โดย 3 คนคือ นายอนุชา-สุชาติ-วิรัช จะมีการแบ่งงานกันทำแล้วก็จะมี ส.ส.มาช่วยกันเป็นทีม ชุดนั้นก็จะมี 3 ทีม ส่วนทีมงานของนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นอีกทีมหนึ่งที่จะมาช่วยสนับสนุนในเรื่องของข้อมูลและเรื่องเกี่ยวกับการชี้แจงกับสื่อมวลชน เพราะทีมงานของนายสุภรณ์ถือว่าอยู่กับนายกรัฐมนตรี ทำงานอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ทีมเขาก็จะมีข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยซัพพอร์ตเรา
-ในฐานะทีมวอร์รูมรัฐบาล คิดยังไงกับคำพูดที่ถูกมองว่าการตั้งทีมงานลักษณะแบบนี้คือพวกองครักษ์พิทักษ์นาย-องครักษ์พิทักษ์นายกฯ?
คำนี้ถ้ามองในเชิงบวกมันก็เป็นบวก คือเรามาช่วยกันทำงาน แต่ถ้ามองในเชิงลบก็เหมือนกับว่าเรากลัวการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน ซึ่งผมก็มองว่ามันเป็นการทำหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายค้าน เป็นภารกิจสำคัญของรัฐสภาที่ต้องตรวจสอบรัฐบาล
ทางเราก็ยืนยันพร้อมให้ความร่วมมืออยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้การอภิปรายของฝ่ายค้านเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และเป็นข้อเท็จจริงที่ประชาชนได้ติดตามแล้วเขาได้ประโยชน์ แต่หากอภิปรายโดยเนื้อหาไม่ถูกต้อง เช่น เอาเรื่องเท็จมาอภิปราย หรืออภิปรายแบบเสียดสี อภิปรายไม่อยู่ในประเด็น ก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ต้องทักท้วงในที่ประชุม
ติวเข้ม 3 วันสุดท้ายก่อนแลกหมัด
สำหรับการจัดสัมมนา ส.ส.พรรครัฐบาลที่ชลบุรีในช่วงสุดสัปดาห์หน้า ที่มีข่าวเบื้องต้นว่ารัฐมนตรีเกือบทุกคนอาจจะเดินทางมาร่วมงานเกือบหมด ทั้งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ, พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา, วิษณุ เครืองาม, ดอน ปรมัตถ์วินัย, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
เรื่องนี้ ชัยวุฒิ-จากทีมวอร์รูมรัฐบาล บอกว่างานดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมของฝ่ายรัฐบาล ที่ต้องการให้รัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติรวมถึงคนที่เกี่ยวข้อง ที่มีข้อมูลได้มาอธิบายข้อเท็จจริง มาเล่าประเด็นต่างๆ ให้ ส.ส.รัฐบาลฟัง เพราะบางทีเวลาไปฟัง ส.ส.ฝ่ายค้านพูด เขาอาจจะพูดความจริงครึ่งเดียว หรือพูดจาเสียดสี เมื่อรัฐมนตรีมาร่วมงานด้วย ก็จะได้อธิบายสิ่งที่ฝ่ายค้านพูดให้ ส.ส.รัฐบาลเข้าใจว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เหมือนกับการช่วยให้รัฐมนตรีชี้แจงง่ายขึ้น เพราะหาก ส.ส.รัฐบาลรู้ข้อมูลเบื้องต้นที่ถูกต้องก่อนการอภิปราย ทำให้เมื่อเข้าสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วฝ่ายค้านอภิปรายสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ ส.ส.รัฐบาลเขารู้ข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว เขาจะได้เกิดการเปรียบเทียบข้อเท็จจริงได้
เบื้องต้นวิปรัฐบาลก็ตั้งใจให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายมาร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ด้วยไม่ใช่แค่พลเอกประวิตรคนเดียวเพื่อจะได้ทำให้ ส.ส.รัฐบาลรู้ก่อนว่าประเด็นที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายนั้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เป็นการให้รัฐมนตรีมาเล่าให้ ส.ส.รัฐบาลเข้าใจก่อน ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าจะมาหรือไม่ แต่ตอนนี้ได้ประสานไปแล้ว
ชัยวุฒิ-คีย์แมนวอร์รูมรัฐบาล กล่าววิเคราะห์การเมืองถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นหลังสภาฯ ว่างเว้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาร่วมจะ 7 ปี ว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลด้วย เพราะรัฐบาลชุดนี้เพิ่งบริหารประเทศได้แค่ 7 เดือน อีกทั้งการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารประเทศต่างๆ โดยที่เม็ดเงินงบประมาณจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ก็ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ ก็ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ก็ทำได้ยาก การอภิปรายของฝ่ายค้านก็ควรต้องอภิปรายในช่วงรัฐบาลที่มาจากผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 อยากให้ฝ่ายค้านอภิปรายอยู่ในกรอบตรงนี้และต้องอภิปรายไปในเชิงสร้างสรรค์ เช่น เรื่องนโยบาย ความผิดพลาด หรือที่บอกว่ามีการทุจริต
...เมื่อดูจากถ้อยคำในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ คาดว่าฝ่ายค้านคงจะมีการอภิปรายเท้าความไปถึงเรื่องในอดีต ตั้งแต่รัฐประหาร การขึ้นสู่อำนาจของพลเอกประยุทธ์ พูดง่ายๆ คืออภิปรายไม่ไว้วางใจหัวหน้า คสช. แล้วเท้าความมาถึงปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้ผมก็มองว่าฝ่ายค้านอาจจะเท้าความไกลเกินไป ไม่อยู่ในประเด็น เพราะประเด็นคือรอบนี้เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
เตรียมสกัด-ประท้วง
หากอภิปรายย้อนถล่มถึงยุค คสช.
-แต่ฝ่ายค้านก็ยืนยันหนักแน่นว่าจะต้องมีการอภิปรายนายกรัฐมนตรีย้อนไปถึงช่วง คสช.ด้วย?
คิดว่าไม่เหมาะสม แต่ต้องรอดูลักษณะการอภิปรายของเขาก่อน แต่ก็ต้องมีการทักท้วงในที่ประชุม ก็อยู่ที่ประธานในที่ประชุมว่าจะให้อภิปรายถอยไปได้ไกลมากแค่ไหน แต่ปกติการอภิปรายเท้าความไปถึงเรื่องในอดีต มันเท้าความได้บ้างเพื่อที่จะให้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งหากเท้าความย้อนไปอดีตสัก 10-20 เปอร์เซ็นต์ของการอภิปราย แล้วเนื้อหาสาระส่วนที่เหลืออีก 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในสถานการณ์เรื่องปัจจุบันแบบนี้ เราก็โอเค ต้องไม่ใช่เอาเรื่องอดีตมาอภิปรายไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำเรื่องปัจจุบันมาอภิปรายแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ผมว่ามันก็ไม่สร้างสรรค์ หรือไปอภิปรายถึงบุคคลที่สาม อภิปรายโจมตีไปดึงมาโดยบุคคลนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย เราก็ต้องพยายามประท้วง
-จะมีการประท้วงหรือไม่หากอภิปรายเรื่องข้อมูลหลังบ้านรัฐมนตรี เช่น การซื้อขายที่ดินอะไรต่างๆ?
ถ้าเชื่อมโยงก็ต้องให้สิทธิ์ฝ่ายค้านอภิปราย ก็อาจจะเป็นโอกาสดีทำให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายได้ชี้แจง ว่าคนใกล้ตัวไม่ได้ไปทำเรื่องอย่างนั้น หากจะอภิปรายเรื่องส่วนตัว หากเป็นเรื่องประเด็นคุณสมบัติหรือโยงมาเรื่องทุจริต ก็ได้ มันก็เป็นสิทธิ์ ก็ขอให้อภิปรายแบบสร้างสรรค์ เอาข้อมูลมาคุยกันแล้วรัฐมนตรีก็ชี้แจงไป แต่เรื่องไหนควรประท้วงหรือไม่ควรประท้วง เราก็ต้องไปดูกันที่หน้างานวันอภิปรายไม่ไว้วางใจกันอีกที
...ผมคิดว่าฝ่ายค้านเขาต้องการจะอภิปราย คสช. เพราะคนที่ถูกอภิปรายรวมทั้งหมด 6 คน พบว่า 5 คนเป็นรัฐมนตรีที่ทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย คสช. ผมว่าเขาต้องการจะอภิปรายเรื่องการทำงานของรัฐบาลในอดีต มากกว่าจะมาอภิปรายรัฐบาลปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นเรื่องเชิงการเมือง เพราะรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายเป็นรัฐมนตรีที่ทำงานในกระทรวงด้านการเมือง ไม่ได้อยู่ในสายงานด้านเศรษฐกิจ ตอนแรกคิดว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจบ้าง เช่น เรื่องปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ปัญหาภัยแล้งเกิดการผิดพลาดอย่างไร ที่จะเกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกระทรวงเหล่านี้เป็นกระทรวงที่ลักษณะงานมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ฝ่ายค้านกลับไม่พูดถึงเลย ไปเอาแต่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับงานการเมือง ประเด็นการเมือง โดยที่ผ่านมาฝ่ายค้านจะบอกว่าปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองคือปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยการอภิปรายของฝ่ายค้านก็เป็นเรื่องทางการเมืองที่มุ่งเน้นรัฐมนตรีจากพรรครัฐบาลที่เป็นพรรคหลักเพื่อให้เกิดผลกระทบกับรัฐบาล ก็ต้องเล่นที่พรรครัฐบาลที่เป็นพรรคหลัก ที่ก็เป็นเรื่องปกติ การอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีตก็ทำลักษณะแบบนี้ คือจะไม่อภิปรายรัฐมนตรีจากทุกพรรครัฐบาล จะเอาแค่รัฐมนตรีจากบางพรรค
-นายกฯ รับมือไหวไหมตลอดการอภิปราย คนมองว่าอาจจะเบรกแตกเสียก่อน?
ผมว่านายกรัฐมนตรีเวลาชี้แจงอะไรก็มีเหตุมีผล ตอบได้ดี เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะชี้แจงการอภิปรายได้แน่นอน ตอบได้ทุกเรื่อง ส่วนว่านายกรัฐมนตรีอาจจะพูดเร็ว พูดรุนแรงไปบ้าง ก็เป็นสไตล์ บุคลิกของแต่ละคน แต่ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายค้านอภิปรายนอกประเด็นหรือไม่ เพราะบางเรื่องนายกรัฐมนตรีอาจเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรต้องมาตอบ
ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ เช่น พลเอกประวิตร รองนายกฯ ผมมองว่าน่าจะเป็นคนที่ไม่ควรถูกอภิปราย เพราะที่ทำงานมาตั้งแต่ยุค คสช.ก็ไม่เห็นจุดอ่อนอะไร ส่วนที่จะมีการมาอภิปรายเรื่องส่วนตัว เรื่องเก่าในอดีต มันก็จบไปแล้ว การอภิปรายมันก็ไม่ได้มีผลอะไรกับการทำงานของพลเอกประวิตรในปัจจุบัน อย่างเช่นเรื่องนาฬิกา ถามว่ามีใครบ้างไม่รู้เรื่องนี้ มันเสียเวลาสภาไหม มันจบไปแล้วในเชิงกฎหมายและสังคม ประชาชนก็รับทราบหมดแล้ว
สำหรับกรณีของพลเอกอนุพงษ์ รมว.มหาดไทย ก็ต้องเห็นใจ เพราะการเป็น รมว.มหาดไทย ถือเป็นกระทรวงใหญ่มีเรื่องต่างๆ ต้องดูแลมาก และเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับประชาชนในหลายมิติ ก็เลยทำให้มีประเด็นให้พูดได้เยอะ มองดูแล้วพลเอกอนุพงษ์ก็คงต้องชี้แจงหลายเรื่อง แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะอภิปราย รมว.มหาดไทยในประเด็นใดบ้าง แต่ก็เชื่อว่า รมว.มหาดไทยจะชี้แจงได้ แต่ก็น่าจะหนักสุดเพราะเป็นกระทรวงใหญ่ มีงานและโครงการที่ทำหลายเรื่อง ส่วนที่ฝ่ายค้านอ้างว่าได้รับข้อมูลการอภิปรายจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลให้อภิปรายพลเอกอนุพงษ์ ผมไม่ทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าคงไม่ใช่ข้อเท็จจริงเพราะ ส.ส.รัฐบาลที่อยู่ด้วยกันก็ช่วยกัน คงไม่คิดจะมาสร้างผลกระทบหรือสร้างปัญหาให้กับรัฐบาล ยังรักกันดีอยู่ เราก็เก็งกันว่าการอภิปราย รมว.มหาดไทย ฝ่ายค้านอาจจะมีประเด็นเยอะ แต่ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ชัดเจน ต้องรอดูการอภิปรายของฝ่ายค้าน แต่เท่าที่ดูแล้วรอบนี้ก็ห่วงกระทรวงใหญ่คือกระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นกระทรวงใหญ่มีโครงการเยอะ ไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะหยิบเรื่องไหนมาอภิปราย
ชัยวุฒิ-เลขานุการวิปรัฐบาล ยังกล่าวหลังเราถามถึงกรณีฝ่ายค้านตั้งข้อหานายกฯ และรัฐมนตรีทั้งหมดว่ามีพฤติการณ์ทุจริต การอภิปรายในสภาฝ่ายค้านต้องมีหลักฐานมายืนยันที่ชัดเจนหรือไม่ หากไม่มีหลักฐาน ส.ส.รัฐบาลจะยอมให้อภิปรายต่อเนื่องหรือไม่ โดยเขาแสดงท่าทีว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจมันคือการกล่าวหาอยู่แล้ว การที่เขากล่าวหาว่ารัฐมนตรีทุจริต ฝ่ายค้านก็ต้องให้เหตุผลด้วยว่ามีการทุจริตอย่างไร เราก็ต้องฟัง คือคำแบบนี้มันพูดได้ แต่หากนำข้อมูลที่เป็นเท็จมาอภิปรายเราก็ต้องทักท้วง ขณะเดียวกันหากประเด็นใดที่นายกฯ จะให้รัฐมนตรีคนอื่นช่วยชี้แจงแทนเช่นเรื่องเศรษฐกิจ ก็คิดว่าทำได้เป็นสิทธิ์ของรัฐบาล ไม่ผิดระเบียบข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้านก็รู้เรื่องนี้ เพราะในอดีตก็เคยทำ
ชัยวุฒิ-คีย์แมนวอร์รูมรัฐบาล ย้ำว่า การอภิปรายที่จะมีขึ้นต้องการให้ฝ่ายค้านอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ โดยอภิปรายว่าที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาลมีความผิดพลาด ข้อบกพร่องอย่างไร มีการทุจริตอย่างไร นโยบายเรื่องไหนที่รัฐบาลทำแล้วไม่ดี ที่ทำแล้วสร้างปัญหาให้กับประชาชน ก็อยากให้มาช่วยกันนำเสนอเพื่อให้รัฐบาลไปปรับปรุงหรือระมัดระวังการทำงานให้ดีขึ้น โดยไม่อยากเห็นการอภิปรายเชิงการเมืองที่มีการเสียดสี ย้อนอดีตไปเพื่อทำลายกันทางการเมือง แบบนั้นประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะโดยหากมีการอภิปรายแบบตีกินก็คงต้องประท้วง การเมืองยุคใหม่ไม่ใช่การเมืองที่จะมาเสียดสีตีกินกันแล้ว เพราะชาวบ้านเขารู้อยู่แล้ว พลเอกประยุทธ์และรัฐบาลในอดีตทำอะไรมาบ้าง อะไรถูกอะไรผิด ย้อนอดีตไปคนก็เบื่อขี้เกียจฟัง หากจะมาอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์ คสช.ในเรื่องเก่าๆ ถามว่าชาวบ้านไม่รู้หรือ สื่อมวลชนก็รู้ ก็ไม่อยากเขียนข่าว เขียนไปก็เหมือนเขียนข่าวเก่า ต้องเอาเรื่องใหม่ๆ มานำเสนอ
...ถ้าฝ่ายค้านอภิปรายไม่สร้างสรรค์ ไปเน้นอภิปรายแบบเสียดสี เน้นตีกิน เน้นโจมตีทางการเมืองมากเกินไป ผมว่าคนฟังก็เบื่อ ถ้าไม่มีประเด็นข้อมูลใหม่ๆ ที่จะมาชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลในปัจจุบันทำผิดพลาดอย่างไร ถ้าแบบนั้นฝ่ายค้านก็จะได้คะแนนด้วย เช่นบางโครงการที่ทำมาจากรัฐบาลก่อนแล้วโครงการนั้นยังทำต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน แบบนี้อภิปรายได้เพราะมันต่อเนื่องกัน แต่หากฝ่ายค้านมัวแต่ไปจมอยู่กับอดีต คนก็จะเบื่อเขาไปเอง เพราะมาอภิปรายสิ่งที่ประชาชนเขารู้อยู่แล้ว แบบนั้น ฝ่ายค้านก็เสียหาย การเมืองมันไม่ได้เดินหน้า เพราะวันนี้เราผ่านการเลือกตั้งจนมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว มันก็ต้องเดินหน้า
"เราก็ไม่ได้อยากประท้วง เราอยากให้เขาอภิปรายไปจนจบเลย เพราะหากเราประท้วงมากไปประชาชนก็เบื่อ จะหาว่าเรามาคอยตัดเกม มาทำให้การติดตามฟังจะไม่สนุก ไม่รู้เรื่อง แต่ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านด้วย ก็อยากให้พูดอยู่ในประเด็น ให้การอภิปรายมีสาระ แต่ถ้าอภิปรายนอกประเด็น อภิปรายขัดข้อบังคับการประชุมสภามา เราก็ต้องประท้วงเพราะต่างคนก็ต่างทำหน้าที่"
...เท่าที่ดูจากรายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ส่วนใหญ่เป็นรัฐมนตรีตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช.และดูจากข้อความในญัตติของฝ่ายค้าน ผมประเมินว่าน่าจะเป็นการอภิปรายเรื่องเก่าค่อนข้างเยอะ พอเป็นเรื่องเดิมๆ แล้วประชาชนรู้อยู่แล้ว มันก็ไม่น่าจะเป็นการอภิปรายที่ร้อนแรงอะไร เหมือนกับการดูหนังซ้ำ ดูไปสามรอบแล้ว มาดูรอบที่สี่ก็จะไม่ร้อนแรงตื่นเต้น ผมว่าการอภิปรายรอบนี้มันไม่น่าจะมีอะไร ฝ่ายค้านไม่น่าจะมีข้อมูลอะไรใหม่มาอภิปราย
-แบบนี้เป็นการปรามาสฝ่ายค้าน?
ก็ต้องปรามาส (หัวเราะ) คือถ้าจะร้อนแรงก็ต้องมีเรื่องใหม่ๆ เป็นเรื่องใหม่เป็นข้อเท็จจริงที่เราไม่รู้ เป็นเรื่องความผิดพลาดในการบริหารที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน หรือเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน ผมอยากจะฟังเรื่องแบบนี้ ตอนนี้วอร์รูมก็กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ว่าการอภิปรายของฝ่ายค้านจะมีเรื่องอะไรบ้าง วอร์รูมก็จะช่วยซัพพอร์ตแต่ข้อมูลหลักก็จะมาจากทีมงานของรัฐมนตรี แต่เท่าที่ผมได้คุยกับผู้ใหญ่หลายคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เขาก็ไม่ได้แสดงความหนักใจอะไร ต่างก็บอกว่าชี้แจงได้หมด เพราะรัฐมนตรีแต่ละคนผมก็เชื่อว่าเขาก็พอรู้ว่าจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นใดบ้าง เพราะเขาก็ทำงานของตัวเองอยู่ ก็ต้องรู้ว่าเรื่องไหนมีความเสี่ยงที่จะถูกฝ่ายค้านอภิปราย เพราะคนที่ทำอะไรไปเขาก็ต้องรู้ว่ามันผิดหรือถูก
พร้อมให้สอบ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน
ชัยวุฒิ-เลขานุการวิปรัฐบาล ยังกล่าวถึงปัญหา ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ที่ตามข่าวพบว่าเกิดจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและมีคนของพรรคพลังประชารัฐมีชื่อปรากฏด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐได้กำชับ ส.ส.ของพลังประชารัฐทุกคน พรรคเราไม่มี ผมในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาลก็ได้รับแจ้งตลอดจาก ส.ส.บางคน เช่นเขาติดภารกิจต้องออกไปงานข้างนอก ผมก็บอกว่าก็ไป แต่ห้ามมีการให้มากดบัตรแทนกันห้ามทำเด็ดขาด ไม่มีอยู่แล้ว เรากำชับทุกคน ก็ให้ขาดไปเลย อย่างตอนโหวตร่าง พ.ร.บ.งบฯ วาระสองและสามที่ตรงกับวันเด็ก ส.ส.พลังประชารัฐก็ขาดหลายคน เขาก็ไม่ได้ลงมติ เรารู้อะไรถูกอะไรไม่ถูกต้อง
การเสียบบัตรแทนกัน จริงๆ ข้อเท็จจริงยังไม่ได้ข้อยุติ เรื่องนี้มีสองความหมาย คือกรณีแรก ส.ส.ไม่อยู่ตอนโหวต แต่คะแนนโหวตของเขาขึ้นมา แบบนี้ต้องตรวจสอบ แบบนี้ผิดแน่แล้วแต่จะผิดอย่างไรต้องมาว่ากัน กับกรณีที่สอง คือที่มีการเผยแพร่ภาพคลิปวิดีโอที่ถ่ายออกมาช่วงสั้นๆ แล้วเห็นมีช่องเสียบบัตรลงคะแนนมีบัตรเสียบไว้ 2-3 ใบ แล้วมีการดึงเข้าดึงออก แบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ามีการลงคะแนนแทนกันในห้องประชุมสภา เพราะอาจเป็นกรณีมี ส.ส.คนหนึ่งลงคะแนนเสร็จแล้ว แล้วมี ส.ส.อีกคนเข้ามาดึงบัตรออกเสียงของ ส.ส.คนอื่นออกมาจากช่องเสียบบัตรลงคะแนน แล้ว ส.ส.คนนั้นก็นำบัตรของตัวเองเสียบเข้าไปที่เป็นการออกเสียงของ ส.ส.คนนั้น คือทุกคนลงคะแนนด้วยบัตรออกเสียงของตัวเองหมด แต่ภาพที่ออกมาเหมือนกับว่ามีการเสียบบัตรออกเสียงเสียบเข้าเสียบออกหลายใบ ทำให้คนสับสน จน ส.ส.บางคนยังงงเลยเวลาดูในคลิป เพราะการลงมติของ ส.ส.บางครั้งออกเสียงกันหลายรอบ แบบนี้มันคนละความหมายกับการที่ ส.ส.ไม่อยู่ในห้องประชุมสภาแล้วมีคนลงคะแนนแทนให้กัน เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าห้องประชุมสภาที่ ส.ส.ใช้อยู่ ช่องเสียบบัตรออกเสียงช่องไม่พอกับจำนวน ส.ส. จึงทำให้ช่องลงคะแนนบางช่องมีคนใช้ช่องลงคะแนนช่องเดียวกัน เรื่องนี้ต้องดูข้อเท็จจริงก่อน
...ส่วนที่ ส.ส.ฝ่ายค้านมีการเสนอญัตติให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญมาพิจารณาตรวจสอบเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะเสนอ จะตรวจสอบก็ตรวจสอบได้ เพราะตอนนี้ก็มีการไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบอยู่ด้วย แต่ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเราที่จะไปตัดสินว่าผิดหรือถูก ต้องให้คนที่มีอำนาจมาตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบสวนไป ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนที่ถูกกล่าวหาด้วย แต่ในส่วนของพลังประชารัฐก็มีการเรียก ส.ส.ที่เป็นข่าวมาซักถามหมดแล้ว เท่าที่ดูก็ไม่ใช่การลงคะแนนแทนกัน
สำหรับการทำงานในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาลในยุครัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ชัยวุฒิ สะท้อนสภาพที่เกิดขึ้นว่า เสียงปริ่มน้ำมันไม่สำคัญเท่า ส.ส.ต้องมีวินัย มีความรับผิดชอบ ความเสียสละ เสียงปริ่มน้ำ แต่หาก ส.ส.รัฐบาลมาครบทุกคน ยังไงก็โหวตชนะอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ ส.ส.บางคนก็ไม่เสียสละ ไปทำธุรกิจส่วนตัว ไปทำภารกิจส่วนตัว วิปก็พยายามขอความร่วมมือให้ ส.ส.รัฐบาลทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน ต้องเสียสละ เพื่อให้การทำงานในสภาไปได้ แต่เท่าที่มีการประสานไปในเรื่องการให้มาร่วมประชุมสภา ตอนหลังทุกคนก็ให้ความร่วมมือกันหมด
..........................................................................................
กลุ่ม-ก๊ก-มุ้งในพลังประชารัฐ ขยับก่อนซักฟอก นัยแสดงพลัง?
ชัยวุฒิ เลขานุการวิปรัฐบาล-กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ที่อยู่ร่วมกับพรรคตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง คุยการเมืองถึงเรื่องพรรคพลังประชารัฐ ที่ช่วงก่อนจะถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจพบความเคลื่อนไหวของกลุ่ม ส.ส.พลังประชารัฐ เช่นกลุ่มสามมิตรและนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือกลุ่ม ส.ส.ของนายสุชาติ ชมกลิ่น ประธาน ส.ส.พลังประชารัฐ มีการนัดรวมตัวกันทางการเมือง ท่ามกลางกระแสข่าวอาจจะมีการปรับ ครม.หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเขาย้ำว่าพลังประชารัฐไม่ได้มีการแบ่งกลุ่มการเมืองอะไร แต่กรณีที่มี ส.ส.หลายสิบคนไปร่วมรับประทานอาหารร่วมกันเมื่อวันอังคารที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ ที่ทำการแห่งใหม่ของพรรคพลังประชารัฐ ก็เป็นเรื่องของการนัดกินข้าวกัน ใครสนิทกันก็มานั่งกินข้าวกันเป็นเรื่องปกติ แต่ทุกคนก็เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ทำงานให้พรรคพลังประชารัฐกันทุกคน เพราะก็มี ส.ส.พลังประชารัฐที่ไปร่วมกินข้าวกับคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก่อนหน้านี้เมื่อ 5 ก.พ.ก็พบว่าก็มาร่วมกินข้าวด้วยกันในวันอังคารที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมาด้วย
เรื่องนี้เป็นเพราะทุกคนรู้จักกันหมด มันซ้อนกัน ไม่ใช่ว่าไปแล้วขาดกันเลย เพราะอย่างหากมีผู้ใหญ่มาชวน เช่นนายสมคิด รองนายกฯ มาชวน ส.ส.ไปกินข้าว คนที่ถูกชวนก็ต้องไป เรื่องนี้ไม่ใช่ว่ามากินกันเพราะในพรรคพลังประชารัฐมีกลุ่มมีมุ้งอะไร มันไม่ใช่ เพียงแต่ผู้ใหญ่เขาอาจไม่ได้ติดต่อ ส.ส.ทุกคน เขาอาจอยากจะเจอใครเขาก็ติดต่อให้ไปเจอกัน
เมื่อถามถึงการพัฒนาปรับปรุงพรรคพลังประชารัฐต่อจากนี้ควรต้องทำอะไรบ้าง ชัยวุฒิ-กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ มองว่า ถ้าพรรคมีการปรับระบบในบางเรื่องก็น่าจะไปได้ดีกว่านี้ตอนนี้ เราก็ยังมีข้อจำกัดในบางเรื่องที่พรรคก็อยากจะปรับปรุง เช่นเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายบางอย่างของพรรค ก็ยังไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนในบางเรื่องเพราะยังติดขัดบางอย่าง โดยเฉพาะนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐเคยนำเสนอไว้ตอนหาเสียง หลายนโยบายก็ยังไม่ได้นำมาใช้ รวมถึงการคิดนโยบายใหม่ๆ ออกมาที่เป็นนโยบายที่ดี มานำเสนอกับประชาชน เราต้องทำให้เยอะขึ้น
เรื่องที่สองคือเรื่องการประชาสัมพันธ์ การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย หรือการตอบโต้ทางการเมืองกับกระแสสังคม การสื่อสารองค์กร ตรงนี้ยังเป็นจุดอ่อน ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น เพราะตอนนี้ผมว่าพรรคก็ยังช้าอยู่ อาจต้องปรับในสองเรื่องนี้ ส่วนเรื่องความเข้มแข็งทางการเมือง เรื่องการทำหน้าที่และบทบาทของส.ส.และสมาชิกพรรค เช่นการอภิปรายในสภา หรือการดูแลประชาชนในพื้นที่ บทบาทส่วนนี้โดยรวมผมว่าพลังประชารัฐไม่ได้แพ้พรรคการเมืองอื่น
ท่าที พปชร.ปักธงยึดที่มั่นท้องถิ่น?
ขณะเดียวกันในอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะมีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ตอนนี้ผ่านความเห็นชอบจากทั้งสภาและวุฒิสภาแล้วเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้แวดวงการเมืองเริ่มจับตามองกันว่า หลังจากนี้จะทำให้รัฐบาลปลดล็อกให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศเกิดขึ้น จนนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นเตรียมเริ่มขยับกันแล้ว ซึ่งเมื่อเราถาม ชัยวุฒิ-กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ถึงท่าทีของพรรคพลังประชารัฐต่อการส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นในนามพรรคพลังประชารัฐ เขาเปิดเผยให้ทราบว่า เบื้องต้นเท่าที่ผมได้คุยกับประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ก็เห็นว่าไม่จำเป็นที่ต้องส่งในนามพรรคพลังประชารัฐทุกเขต แต่ให้ดูเป็นกรณีๆ ไป เอาเท่าที่จำเป็น อย่างกรุงเทพมหานครเราก็จะส่งในนามพรรคพลังประชารัฐ แต่บางจังหวัดพลังประชารัฐก็อาจไม่ส่งในนามพรรค ให้ดูเป็นกรณี เช่นในส่วนของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็อาจเป็นกรณีจังหวัดที่มีความยึดโยงกับพรรคหรือมีความจำเป็นต้องส่ง เพราะเป็นยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้ง ไม่ใช่นโยบายว่าจะต้องส่งคนลงสมัครท้องถิ่นทุกเขตทุกจังหวัดในนามพลังประชารัฐ บางเขตหากดูแล้วถ้าส่งแล้วมีปัญหาก็จะไม่ส่ง แต่ถ้าส่งคนลงแล้วจะเป็นประโยชน์กับพรรคพลังประชารัฐเราก็จะส่ง คือ ส.ส.กับนักการเมืองท้องถิ่นปกติเขาจะผูกพันกันอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้ใช้ในนามพรรค เราก็ผูกพันกันได้ ให้เป็นแบบลักษณะตัวบุคคล
"การส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นทุกพื้นที่ในนามพรรค มันไม่ได้มีประโยชน์ เพราะมันสร้างความแตกแยก”
...คือในบางจังหวัดที่มี ส.ส.ของพรรคสามคน ส.ส.คนหนึ่งเชียร์ผู้สมัครคนหนึ่ง แล้วอีกสองคนก็จะเชียร์คนอื่น สุดท้ายก็จะมาแข่งกันเอง แล้วพรรคก็ลงมายุ่งด้วย สุดท้ายก็จะทะเลาะกันหมด ดูอย่างบางพรรคการเมืองเวลานี้ เขาจะหาคนลงสมัครนายก อบจ.ที่จันทบุรี ชลบุรี ปรากฏว่าผู้สมัครแย่งกันลง ทะเลาะกันจนพรรคมีปัญหาเลย กรณีลักษณะแบบนี้บางคนไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคก็โกรธ ทำให้แทนที่พรรคจะเข้มแข็ง กลายเป็นว่าพรรคแตกแยก การส่งคนลงท้องถิ่นในนามพรรคจึงไม่ได้เป็นประโยชน์ในทุกกรณี.
โดย อนุพนธ์ ศักดา
วรพล กิตติรัตวรางกูร
..................................................
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |