เปิดเอกสารเพื่อไทยเช็กบิล 'ดอน ปรมัตถ์วินัย'


เพิ่มเพื่อน    

      พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ผ่านความเห็นจากที่ประชุม ส.ส. และ ส.ว. เป็นที่เรียบร้อย นักการเมืองนับนิ้วรอวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลครบถ้วนตามกฎหมายอย่างสมบูรณ์ งบประมาณเสร็จสิ้น พรรคการเมือง นักการเมือง ปรับเข้าสู่โหมดอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างเต็มตัว

                ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ 1 ใน 6 รัฐมนตรีที่ถูกพรรคร่วมฝ่ายค้านล็อกเป้าอภิปราย พรรคเพื่อไทยรับเป็นเจ้าภาพหลักตั้งปมถล่ม รมว.ต่างประเทศ โดยงัดเอกสารราชการมาอภิปรายหลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือ หนังสือลับที่สุด ด่วนที่สุด ที่ กต. 0804/13 ลงวันที่ 7  มีนาคม 2562 เรื่อง การระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์กรณีสินค้าบุหรี่นำเข้า (DS371) ที่ รมว.ต่างประเทศทำถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม)

                เนื้อหาช่วงสำคัญบางตอนระบุว่า ตามที่ฟิลิปปินส์ได้ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2549 และ  2560 ในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ WTO (กระบวนการ Compliance Review) จำนวน 2 คดีได้แก่ คดีใบขนสินค้าบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์และคดีใบขนสินค้าบุหรี่นำเข้าจากอินโดนีเซีย

                โดยมีข้อกล่าวหาหลักว่า การดำเนินคดีอาญาของไทยกับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด (PMTL) ฐานหลีกเลี่ยงภาษี ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิธีการประเมินราคาศุลกากรที่ขัดต่อ Customs ValuationAgreement(CVA) ในกรอบ WTO อันเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับคำตัดสินในคดีเดิมที่ฟิลิปปินส์เคยฟ้องไทย ซึ่ง WTO Panel ได้ตัดสินเมื่อปี 2554 ว่าไทยผิดแล้วนั้น

                เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัท Philip Morris International (PMI) ได้แก่…เข้าพบหารือกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เสนอให้ฝ่ายไทยยุติการดำเนินคดีอาญาในประเทศไทย โดยในทางกลับกัน PMI จะดำเนินการเพื่อให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ยุติกระบวนการระงับข้อพิพาทที่ฟ้องไทยใน WTO กระทรวงการต่างประเทศขอกราบเรียนความคืบหน้าของคดีและสรุปข้อเสนอของบริษัท Philip Morris International (PML) พร้อมข้อพิพาทดังนี้

                ความคืบหน้าของคดีที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องรัฐบาลไทยต่อ WTO

                1.1 คดีแรก (คดีใบขนสินค้าบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ Compliance Panel ตัดสินให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ชนะคดีในทุกประเด็นหลัก ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ รายงานความเห็นสืบเนื่องรายงานคำตัดสินของ Compliance Panel ปรากฏตามซึ่งที่ส่งมาด้วย 1

                1.2 คดีที่สอง (คดีใบขนสินค้าบุหรี่นำเข้าจากอินโดนีเซีย) ดำเนินกระบวนการขั้นการให้เสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างรอการตัดสินของ Compliance Panel สรุปผู้บริหารและแผนภาพสรุปประวัติคดี DS371 ฉบับปรับปรุง ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2

                1.3 ที่ปรึกษากฎหมายของไทย (Advisory Centre on WTO Law ACWL) เห็นว่าโอกาสที่ไทยจะชนะคดีแรกในชั้นอุทธรณ์มีน้อยมาก เพราะคำตัดสินโดยรวมตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้เหตุผลทางกฎหมายที่ชัดเจนและรอบคอบ และในคดีที่สอง ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคล้ายกับในคดีแรก ดังนั้น Compliance Panel นำจะใช้แนวทางตัดสินตามคำตัดสินในคดีแรกซึ่งไม่เป็นคุณกับไทย

                1.4 สถานะของคดีอาญาในประเทศไทย ในคดีใบขนสินค้าบุหรี่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ ศาลได้จำหน่ายคดีตามคำขอของอัยการเพื่อรอผลการตัดสินในกรอบ WTO อย่างไรก็ดี PMTL ได้ขอให้ศาลพิจารณาต่อ ซึ่งศาลมีกำหนดสืบพยานเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคม 2562 ส่วนในคดีใบขนสินค้าบุหรี่นำเข้าจากอินโดนีเซียศาลอยู่ในระหว่างการสืบพยาน ซึ่งจะเสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

                2 ข้อเสนอของบริษัท Philip Morris International (PMI)

                ในการดำนินคดีอาญากับผู้บริหาร (8 คน) PMTLนั้น PMTL แจ้งว่า ในเมื่อปี 2554 พนักงานอัยการเจ้าของคดีเคยสั่งไม่ฟ้องแล้ว PMI จึงเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาทำให้คำสั่งไม่ฟ้องกลับมามีผลใหม่ (reinstate non-prosecution order) พร้อมเสนอว่าหากฝ่ายไทยยุติการดำเนินคดีในประเทศไทยได้ ฝ่าย PMI ก็จะช่วยเจรจาโน้มน้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ยุติการดำเนินคดีใน WTO ซึ่งขณะนี้ฝ่ายไทยเสียเปรียบ ทั้งนี้ PMI เห็นว่าหากไม่สามารถหาข้อยุติได้ก็จะนำไปสู่สถานการณ์ที่คำพิพากษาของศาลไทยขัดกับ WTO ซึ่ง PMI เห็นว่าเป็นเรื่องอันตราย

                นอกจากนั้น PMI เสนอเป็นประเด็นข้างเคียงด้วยว่าจะมอบเงินสนับสนุนการยาสูบแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการในเรื่องที่ฝ่ายไทยให้ความสำคัญ เช่น การซื้อใบยาสูบและการแก้ปัญหาการค้ายาสูบผิดกฎหมาย และพร้อมจะร่วมมือกับไทยในเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น จะไม่คัดค้านและจะปฏิบัติตาม ("will hear language of acceptance") นโยบายของไทยในรื่องฉลากบุหรี่แบบเรียบ(generic packaging)

                ระหว่างการหารือ PMI แจ้งด้วยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ ซึ่ง…ได้หยิบยกประเด็นนี้กับนายกรัฐมนตรีไทย ในช่วงการเยือนไทยเมื่อปี 2561 อย่างไรก็ตาม PMI จะไม่ใช้วิธีกดดันระดับสูงกับไทยและได้แจ้งรัฐบาลสหรัฐแล้วว่า ไม่ควรรวมเรื่องนี้ไว้ในประเด็นพิจารณาการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย นอกจากนี้ ยังเห็นว่าแม้ไทยจะชนะคดีอาญาในประเทศไทย แต่ค่าปรับที่ไทยจะได้รับก็จะลดลงมาก โดยผลของพระราชบัญญัติศุลกากรฉบับใหม่ ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการแพ้คดีใน WTO

                ต่อมา PMI มีข้อเสนอเพิ่มเติมให้ทางการไทยพิจารณาหยุดกระบวนการดำเนินคดีในศาลไทยชั่วคราว (pause) ทั้งคดีสินค้าบุหรี่นำจากฟิลิปปินส์และคดีสินค้าบุหรี่นำเข้าจากอินโดนีเซีย เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถมีพื้นที่เจรจาหาทางออกร่วมกัน โดยในชั้นนี้ฝ่ายไทยไม่จำเป็นต้องถอนคดี

                3.ข้อพิจารณา

                3.1 การขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาทำให้คำสั่งไม่ฟ้องกลับมามีผลใหม่ (reinstate Non-prosecution order) หรือหยุดกระบวนการดำเนินคดีในสากลไทยชั่วคราว (pause) ตามข้อเสนอของ PMI จะสามารถทำได้ตามกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องขอให้อัยการสูงสุดป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงด้วยว่าประเด็นดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของฝ่ายตุลาการ

                3.2 ในส่วนมาตรการของไทยที่ Compliance Panel ตัดสินแล้วว่าขัดต่อพันธกรณีภายใต้ WTO ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาทบทวนและแก้ไขมาตรการดังกล่าว อาทิ ยุติการฟ้องคดีอาญากับ PMTL และทบทวนการตีความและการบังคับใช้กฎหมายระเบียบและข้อบังคับที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้ WTO ซึ่งหากสามารถทำได้โดยเร็ว ไทยก็อาจเจรจากับฟิลิปปินส์โดยตรงเพื่อให้ยุติคดีใน WTO ได้ ซึ่งจะเป็นไปตามข้อ 3 ของกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Understanding DSU) ของ WTO ที่ให้รัฐภาคีสามารถเจรจาหาข้อยุติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันของทั้งสองฝ่าย (mutually agree solution) เมื่อใดก็ได้ และให้แจ้ง WTO ทราบ

                3.3 ในกรณีที่ไทยกับฟิลิปปินส์ไม่สามารถเจรจหาข้อยุติร่วมกันได้ และคำตัดสินของ WTO มีผลเป็นที่สุดแล้ว ไทยจะมีพันธกรณีที่จะต้องยกเลิกหรือแก้ไขมาตรการที่ยังขัดแย้งกับกฎเกณฑ์ภายใต้ WTO ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามไทยก็อาจต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือรับผลของมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากฟิลิปปินส์เป็นมูลค่าเท่ากับความเสียหายที่อีกฝ่ายได้รับ โดยฟิลิปปินส์อาจประเมินค่าเสียหายเท่ากับค่าปรับที่ PMTL จะต้องจ่ายหากแพ้คดีอาญาในศาลไทย ซึ่งในคดีใบขนสินค้าที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์มีมูลค่าประมาณ 84,000 ล้านบาท ตามคำสั่งฟ้องของอัยการ

                แต่อย่างไรก็ดี ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ฉบับใหม่ อัตราโทษจะปรับลดลงเหลือประมาณ 290-2,320 ล้านบาท นอกจากนี้ การไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินของ WTO อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์และความเชื่อมั่นของประชาคมโลกและนักลงทุนต่างชาติต่อการประเมินราคาศุลกากรและระบบภาษีของไทยด้วย

                3.4 โดยที่คดีอาญาเป็นคดีที่ไม่สามารถประนีประนอมยอมความได้ ดังนั้น หากศาลอาญาของไทยมีคำพิพากษาตัดสินให้บริษัทและผู้บริหาร PMTL ได้รับโทษจำคุกหรือปรับเงิน หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็จะไม่อยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะดำเนินการแก้ไขหรือบรรเทา และอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ รวมถึงกับสหรัฐที่เป็นชาติของบริษัทแม่ของ PMTL นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ฟิลิปปินส์จะฟ้องไทยใน WTO บนพื้นฐานของคำพิพากษาของศาลอาญาไทยเพิ่มเติมอีก

                จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาหากเห็นชอบด้วยดำริ โปรดพิจารณามอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง(กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกระทรวงการต่างประเทศ) พิจารณาข้อเสนอของ PMI ร่วมกัน เพื่อเสนอแนวทางการดำเนินการยุติข้อพิพาทอย่างฉันมิตร โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเสนอรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

                ขอแเสดงความนับถืออย่างยิ่ง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

                รายละเอียดเบื้องต้น ...เป็นหนึ่งในเอกสารที่เพื่อไทย เตรียมนำมาอภิปราย ส่วนจะเช็กบิลดอน สร้างผลสะเทือนไปยังรัฐบาลประยุทธ์ได้หรือไม่ คงต้องตามดูกันต่อไป. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"