"อิทธิพร" เดินหน้าฟ้องอาญาอนาคตใหม่ปมกู้เงิน สั่งคกก.ไต่สวนเพิ่ม ไม่กังวลโดนฟ้องกลับ ยันทำตามหน้าที่ "ธนาธร" ลั่นยังหนักแน่นมั่นคง ข้องใจยื้อตั้งตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่ ป.ป.ช.ฟันอาญา "จารุพงศ์" อดีต มท.1 ละเลยหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข ปราศรัยหนุน นปช.แบ่งแยกประเทศ ส่วน "ตู่-เต้น-วีระกานต์" ส่ง สตช.สอบข้อเท็จจริงต่อ
เมื่อวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรกในเรื่องเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โดยเฉพาะการเดินหน้าคดีฟ้องร้องคดีอาญาพรรค อนค.กู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ 191 ล้านบาท และกรณีนายธนาธรถือหุ้นสื่อว่า คณะกรรมการไต่สวนฯ ส่งเรื่องมาให้ กกต.พิจารณาแล้ว แต่ได้ส่งเรื่องกลับไปเพื่อให้ไปพิจารณาประเด็นอื่นเพิ่มเติม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรอคณะกรรมการไต่สวนฯ ส่งกลับมาอีกครั้ง
“ขอรอดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 21 ก.พ.นี้ก่อน ยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ในตอนนี้” นายอิทธิพรกล่าวตอบกรณีดำเนินคดียุบพรรคการเมืองอื่นที่เข้าข่ายกู้เงินอีก 7 พรรค
เมื่อถามถึงกรณีศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขอสำนวนการไต่สวนคดียุบพรรค อนค.ประเด็นเงินกู้ 191 ล้านบาท หลังพรรค อนค.ยื่นฟ้องกลับนั้น ประธาน กกต.กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ศาลขอให้ กกต.ไปชี้แจง ไม่ใช่ขั้นตอนไต่สวน และเจ้าหน้าที่ของ กกต.จะไปชี้แจงต่อศาลในวันที่ 20 ก.พ.นี้
“ยืนยันไม่กังวลกรณีที่ถูกฟ้องกลับ เพราะเป็นเรื่องที่สามารถฟ้องร้องได้หากไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของ กกต. แต่ยืนยันทุกอย่างเป็นการดำเนินการตามหน้าที่” ประธาน กกต.ระบุ
ขณะที่นายธนาธรให้สัมภาษณ์ถึงการนัดอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรค อนค. ในวันที่ 21 ก.พ. ว่า เราไม่ถอย ไม่ทน ถ้ากลัวผู้มีอำนาจ เราก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่เขาใช้คดีความ หรือคำร้องเรียนต่างๆ มาทำลายผู้ที่ลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมของพวกเขา ถ้าเรากลัว พวกเขาก็จะประสบความสำเร็จ
หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 ก.พ. ขณะที่การอภิปรายจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. และเมื่อไม่นานมานี้ วุฒิสภาได้ผ่านรายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แล้ว และรายชื่อเหล่านี้อยู่ระหว่างรอขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และคำถามคือ เหตุใดจึงไม่ยอมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หรือต้องการให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันตัดสินคดีในวันที่ 21 ก.พ.เสียก่อน
ลั่น อนค.ยังหนักแน่น
“ยืนยันว่าพวกเราหนักแน่นและมั่นคง ไม่ว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรค เราอภิปรายต่อแน่นอน ส่วนเรื่องที่กรรมการบริหารพรรคที่จะอภิปราย และอาจถูกตัดสิทธิ์ไม่สามารถอภิปรายได้หลังคำตัดสินนั้น เราก็จะออกมาอภิปรายนอกสภาแทน” นายธนาธร กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีการฟ้องร้อง กกต.เป็นรายบุคคลในมาตรา 157 เมื่อใด นายธนาธรกล่าวว่า เราเคยฟ้อง กกต.ไปแล้ว และมาตรการต่อไปน่าจะเห็นชัดเจนขึ้นในสัปดาห์หน้า
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการหยิบข่าวมาคุย ถึงกรณีนี้ว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค อนค. ในฐานะเลขาธิการพรรค พยายามทำคำร้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ไต่สวนพยาน 17 ปาก แต่ศาลไม่รับคำร้อง ซึ่งที่ผ่านมาในการยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย หรือพรรคมัชฌิมาธิปไตย ศาลตัดพยานออกทั้งหมด และอนุญาตให้พรรคไปแถลงการณ์ปิดคดีตอนเช้า ตกบ่ายศาลตัดสินยุบพรรค ดังนั้นกรณีของพรรคอนาคตใหม่ การที่ศาลให้ทำบันทึกถ้อยคำพยานส่งให้ศาลภายในวันที่ 12 ก.พ. และขยายให้ถึงวันที่ 17 ก.พ. แต่ยังคงนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 21 ก.พ. สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการล็อกหัวล็อกท้ายไว้แล้ว
“มีการวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีดังกล่าวเป็น 2 กรณี ศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน ซึ่งต้องพ้นวาระตามกำหนดแล้ว แต่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้ เพราะคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อรอการสรรหาใหม่มาได้ 4 คน ส่วนกรณีที่ 2 คือก่อนวันอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเพียง 3 วัน แทนที่พรรคอนาคตใหม่จะได้เตรียมตัว กลับต้องมาพะวงกับคดีการถูกยุบพรรค” นายจตุพร ระบุ
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีกล่าวหานายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับพวก กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยละเว้นไม่ดำเนินการ ไม่สั่งการตรวจสอบ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อระงับยับยั้งหรือป้องกันเหตุการณ์ความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นตามแนวทางและข้อเสนอ อันละเมิดต่อกฎหมายของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่กล่าวปราศรัยเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2557 ว่า
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2557 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (กลุ่ม นปช.) ได้จัดการชุมนุมโดยใช้ชื่อว่า “นปช. ลั่นกลองรบ” ที่อาคารลิปตพัลลภฮอลล์ ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหากับพวกรวม 13 คน เข้าร่วมในการปราศรัย โดยผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนได้ผลัดเปลี่ยนขึ้นกล่าวปราศรัยและมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไปทั่วประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาในการกล่าวปราศรัยในลักษณะให้มีการแบ่งแยกประเทศ และสั่งให้รวมตัวกันเพื่อไปปิดล้อมองค์กรอิสระต่างๆ
หนุนยุยงแยกประเทศ
และเมื่อนายจารุพงศ์ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรักษาการ รมว.มหาดไทย และในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมาถึงที่ชุมนุม ก็ได้รับทราบถึงแนวทางของกลุ่ม นปช. เมื่อขึ้นเวทีกล่าวปราศรัยก็ได้กล่าวปราศรัยด้วยถ้อยคำในลักษณะเห็นด้วยและสนับสนุนกับแนวทางและข้อเสนอของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 พร้อมที่จะสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการตามแนวทางที่แกนนำได้กล่าวปราศรัย อันเป็นแนวทางที่อาจจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง และก่อให้เกิดความแตกแยกถึงขั้นแบ่งแยกประเทศตามที่มีการกล่าวปราศรัยไปก่อน
และปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่า หลังจากมีการชุมนุมปราศรัย เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2557 ดังกล่าวแล้ว ได้มีกลุ่มบุคคลนำป้ายผ้าไวนิลที่มีข้อความในลักษณะขอแบ่งแยกประเทศเป็นประเทศล้านนา ไปปิดประกาศไว้ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย จนเป็นเหตุให้มีกลุ่มบุคคลต้องถูกดำเนินคดี และต่อมาก็ยังมีการจัดชุมนุมในลักษณะเดียวกันอีกที่สนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยยังคงใช้ชื่อว่า “นปช. ลั่นกลองรบ ครั้งที่ 1” ซึ่งเป็นการกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานขององค์กรอิสระและคำตัดสินของศาลแพ่ง เป็นต้น โดยกล่าวว่าอาจจะเคลื่อนกำลังคนเข้ากรุงเทพมหานคร
คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า นายจารุพงศ์ ขณะนั้นรักษาการในตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม และความมั่นคงภายใน แต่กลับกล่าวปราศรัยเพื่อสนับสนุน ยุยง ส่งเสริม ให้กลุ่มผู้ชุมนุมกระทำการตามแนวทางการดำเนินการและข้อเสนอที่มุ่งก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองของนปช.เพื่อสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ซึ่งตนเองเป็นหัวหน้าพรรคให้ยังคงเป็นรัฐบาลต่อไป โดยนายจารุพงศ์ละเว้นไม่ดำเนินการ ไม่สั่งการตรวจสอบ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อระงับยับยั้งหรือป้องกันเหตุการณ์ จนเกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น
การกระทำของนายจารุพงศ์ จึงมีมูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานกระทำการให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีการอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 116 (2) (3)
สำหรับผู้ถูกกล่าวหารายอื่น ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, ร้อยตรีประไพ ฮวดศรี, นางสำเนียง คงพลปาน, นางอัญชลี เทพวงษา, นางอุบลกาญจน์ อมรสิน, นายนันท์พิพัชร์ หรือเอนก วงศ์มีมา, นายทองอยู่ พรมนำชา, นายรัตน์ ภู่กลาง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2-13 ตามลำดับ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐที่เข้าร่วมชุมนุมและกล่าวปราศรัยนั้น เป็นเรื่องนอกหน้าที่ราชการ และกรณีของผู้ถูกกล่าวหาอื่นที่มิได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้แจ้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการกระทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |