นานๆ ทีจะได้มีโอกาสพบกับนักดาราศาสตร์ระดับโลกที่มีส่วนค้นพบ "ดาวนิวตรอน" (Pulsar) และถ่ายรูป "หลุมดำ" (Black Hole) เป็นคนแรก ผมจึงตื่นเต้นเป็นธรรมดา
ยิ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่มีการเปิด "อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร" ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ที่เชียงใหม่ด้วยแล้วก็ยิ่งมีความหมายเป็นพิเศษ
ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงโจเซลิน เบลล์ เบอร์แนลล์ (Prof. Dame Jocelyn Bell Burnell) แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดมีบทบาทสำคัญในการค้นพบ "ดาวนิวตรอน" หรือ "พัลซาร์" (Pulsating Star หรือ Pulsar) ที่ส่งผลให้อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอ ศาสตราจารย์แอนโทนี เฮวิช ร่วมกับเซอร์มาร์ติน ริลล์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ.1974
อีกท่านหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้ตั้งวงเสวนาพร้อมกันคือ ศาสตราจารย์มิชาเอล คราเมอร์ (Prof. Michael Kramer) ผู้อำนวยการสถาบันมักซ์พลังค์ด้านดาราศาสตร์วิทยุของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
อาจารย์ผู้นี้มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะมีส่วนในการช่วยกันบันทึกภาพแรกของ "หลุมดำ" หรือ Black Hole ได้เป็นครั้งแรก ด้วยความร่วมมือของกล้องดาราศาสตร์ทั่วโลกในการจับภาพที่มนุษย์ไม่เคยได้เห็นมาก่อน
อีกทั้งการที่ท่านได้ศึกษาฟิสิกส์พื้นฐานโดยใช้ดาราศาสตร์วิทยุ โดยเฉพาะพัลซาร์วิทยุ เช่นการสังเกตและศึกษาวงโคจรของพัลซาร์คู่ (double pulsars) ซึ่งสามารถใช้ทดสอบ "ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป" ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
อะไรคือ "ดาวนิวตรอน"?
ได้รับคำอธิบายว่า Pulsar คือดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วที่สูงมากเป็นพิเศษ และแผ่รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาเป็นจังหวะ โดยที่คาบการหมุนที่สังเกตได้อยู่ระหว่าง 1.4 มิลลิวินาทีถึง 8.5 วินาที
นักดาราศาสตร์อธิบายว่ามนุษย์สามารถสังเกตเห็นการแผ่รังสีได้จากลำรังสีที่ชี้มาทางโลกเท่านั้น
ที่เห็นนั้นเรียกว่า "ปรากฏการณ์ประภาคาร" หรือ lighthouse effect
ที่เห็นรังสีเป็นช่วงๆ นั้นเรียกว่า pulse เพราะเหมือนการเต้นของชีพจรมนุษย์
แน่นอนวงสนทนาเรื่องดาราศาสตร์ในประเทศไทยจะขาดคนสำคัญในวงการนี้ไม่ได้
นั่นคือ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการ สดร. ซึ่งเป็นผู้เชิญนักดาราศาสตร์ระดับสากลทั้งสองท่านมาร่วมพิธีการเปิดตัวของอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา
ถือเป็นโอกาสอันสำคัญยิ่ง เพราะสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร หรือ Princess Sirindhorn AstroPark จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงวิทยาการดาราศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลก เป็นผู้นำด้านดาราศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรมีพื้นที่ 54 ไร่ นอกจากอาคารสำนักงานใหญ่แล้วยังมีห้องปฏิบัติการวิจัยทางดาราศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์ ศูนย์ปฏิบัติการดาราศาสตร์วิทยุ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ และห้องสมุดดาราศาสตร์
ที่น่าตื่นเต้นสำหรับคนที่สนใจคืออาคารดูดาว ติดตั้งโดมไฟเบอร์กลาสรูปเปลือกหอย เส้นผ่าศูนย์กลาง 18 ฟุต ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์แบบบริชชี-เครเทียน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.7 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาว ภายใต้หลังคาเลื่อน ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก 6 ชุด สำหรับให้บริการสังเกตวัตถุท้องฟ้า
ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจเป็นพิเศษคืออาคารท้องฟ้าจำลอง ที่มีระบบฟูลโดมดิจิทัล เส้นผ่าศูนย์กลาง 17 เมตร ความจุ 160 ที่นั่ง
วงสนทนาสนุกสนานกับเรื่องไอน์สไตน์, หลุมดำ และดาวนิวตรอน...พร้อมคำถามคำตอบว่าด้วยเรื่องมนุษย์จะต้องแสวงหาดาวเคราะห์ดวงใหม่เพื่อรองรับประชากรโลก ที่วันหนึ่งอาจจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้ จะด้วยเหตุผลเรื่องมลพิษหรือเพราะดวงอาทิตย์จะต้องดับลงสักวันหนึ่งข้างหน้าก็ตาม
ผมถามศาสตราจารย์โจเซลินที่เป็นประเด็นมาตลอดเวลา เพราะไม่ได้เป็นหนึ่งในคณะที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 1974 ทั้งๆ ที่เธอเป็นคนทำการบ้านหนักที่สุดจนค้นพบ "ดาวนิวตรอน" ในจักรวาลเป็นครั้งแรก
เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะขณะนั้นเธอยังเป็นนักศึกษาทำปริญญาเอกอยู่ และคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลอาจจะเห็นว่าเธอยัง "เด็ก" เกินไป
แต่เธอก็ไม่ได้เสียใจอะไรมากมาย เพราะเธอบอกว่าเมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาของเธอได้รับเกียรติเช่นนั้นเธอก็ดีใจแล้ว
ผมบอกเธอว่าการที่ไม่ได้รับรางวัลโนเบลกลับทำให้เธอมีชื่อเสียงมากกว่าคนได้รางวัลเสียอีก
เธอยิ้มไม่พูดอะไร ได้แต่พยักหน้า ขณะที่คนทั้งหมดในท้องฟ้าจำลองต่างปรบมือกันเกรียวกราว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |