สะพานโซ่ Szechenyi เชื่อมเปสต์ฝั่งตรงข้ามกับปราสาทบูดา โดยมีจัตุรัส Clark Adam และรถกระเช้าส่งต่อขึ้นมาอีกที
ผมตั้งใจเก็บ “ปราสาทบูดา" (Buda Castle) ที่เป็นทั้งปราสาทและราชวังไว้เยี่ยมชมในช่วงขากลับก่อนจบทริป ซึ่งก็เป็นไปตามแผน
ป้อมปราการเมืองเป็นสิ่งแรกที่ถูกก่อสร้างขึ้นบน “เนินเขาบูดา” เมื่อปี ค.ศ. 1247 ก่อนที่ปราสาทและราชวังส่วนแรกจะเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1265 ซึ่งต่างอยู่ในช่วงระยะเวลาการครองราชย์ของสมัยกษัตริย์บีลา ที่ 4 แห่งฮังการีและโครเอเชีย จากนั้นก็มีการก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมา จากสถาปัตยกรรมโกธิคมาเป็นเรเนซองส์ ก่อนที่จะถูกจักรวรรดิออตโตมันยึดครองในปี ค.ศ. 1541 อันกินเวลาต่อจากนั้นถึง 145 ปี ราชวงศ์ฮับสบวร์กพยายามอยู่ 6 ครั้งกว่าจะแย่งชิงมาได้ในสมัยจักรพรรดิลีโอโพล ที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1686 จากการรวมพลังกันของพันธมิตรคริสเตียนหลายประเทศเพื่อขับไล่กองทัพเติร์ก แต่ก็ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับตัวปราสาท โดยเฉพาะจากกระสุนปืนใหญ่
ทั้งนี้ราชวังสไตล์บาโร้กขนาดมหึมาที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ถูกสร้างขึ้นในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 และการก่อสร้างส่วนขยายเพิ่มเติมเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1905
ความเสียหายครั้งใหญ่ต่อปราสาทบูดาได้เกิดขึ้นอีก 2 ครั้ง นั่นคือระหว่างการปฏิวัติฮังการี ในปี ค.ศ. 1849 เพื่อปลดแอกฮังการีจากราชวงศ์ฮับส์บวร์กแห่งออสเตรียที่จบลงด้วยความล้มเหลว และอีกครั้งระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปลายซึ่งฮังการีอยู่ข้างเดียวกับเยอรมนีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ การถูกรุกคืบและโอบล้อมโดยกองทัพโซเวียตที่เรียกว่า “ซีจ ออฟ บูดาเปสต์” ระหว่างธันวาคม ค.ศ. 1944 ถึง กุมภาพันธุ์ ค.ศ. 1945 ทำให้ปราสาทบูดาพังจนแทบไม่เหลือชิ้นดีและบางส่วนกลายเป็นกองเพลิง สิ่งของมีค่าจำนวนมากถูกปล้นสะดมไปโดยทั้งฝ่ายทหารนาซีผู้แตกพ่ายและทหารโซเวียตผู้มาใหม่
ปราสาทบูดา มุมมองจากถนน Fö
หลังสงครามในยุคที่ฮังการีกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์การซ่อมแซมและสร้างใหม่ก็ค่อยๆ ดำเนินไปจนกลับมาดูดีอีกครั้ง และได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี ค.ศ. 1987
ปัจจุบัน ภายในพื้นที่เกือบ 5 ตารางกิโลเมตรของปราสาทบูดา มีโบราณสถานสำคัญอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น หอศิลป์แห่งชาติ, โบสถ์มัทธิอัส, โบสถ์อีแวนเจลิค, วังประธานาธิบดี, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์บูดาเปสต์, พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางด้านดนตรี, พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางด้านการทหาร, พิพิธภัณฑ์ทางด้านเภสัชศาสตร์, พิพิธภัณฑ์โทรศัพท์ และพิพิธภัณฑ์ฮูดินี ยอดนักมายากลชาวฮังกาเรียน ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีราคาค่าเข้าชมที่แตกต่างกันไป
ปราสาทบูดายังถูกใช้เป็นสถานที่จัดเทศกาลเฉลิมฉลองประจำปีอีกหลายงาน อาทิ เทศกาลไวน์, เทศกาลเบียร์, เทศกาลช็อกโกแลต, เทศกาลหนังสือ, เทศกาลงานฝีมือ, เทศกาลปาลิงกาและไส้กรอก ซึ่ง “ปาลิงกา” ก็คือบรั่นดีจากผลไม้หลากหลายชนิด คล้ายๆ “รัคเคีย” ของเซอร์เบียและบอสเนีย และ “ทุยกา” ของโรมาเนีย ซึ่งทุกเทศกาลจะมาพร้อมกับคอนเสิร์ตและอาหารการกิน
รูปปั้นพระแม่มารี (Virgin Mary Statue) ยื่นออกมาจากกำแพงปราสาทบูดา
สำหรับผมเองทราบแต่เพียงว่าเทศกาลเบียร์ของปี ค.ศ. 2018 นี้จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 18 มิถุนายน ผู้จัดงานจะนำเบียร์ของฮังการีกว่า 200 เจ้า และอีกบางยี่ห้อจากประเทศชั้นนำด้านการผลิตเบียร์มาให้บริการ ส่วนเทศกาลไวน์นั้นจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายนอันเหมาะกับสภาพอากาศที่จะดื่มไวน์กลางแจ้งมากกว่าฤดูกาลอื่นๆ แต่จะว่าไปการดื่มไวน์กันอย่างหัวราน้ำแบบบรั่นดีหรือเบียร์นั้นเป็นสิ่งที่พิสดารอยู่หน่อยๆ นอกเสียจากว่าจับคู่กับอาหารบางชนิดและดื่มกินอย่างมีศิลปะแบบเรื่อยๆ เอื่อยๆ ก็ว่าไปอย่าง
ออกจากปราสาทโดยใช้ลิฟต์ภายในอาคารหลังหนึ่ง เดินเลียบแม่น้ำไปทางด้านทิศใต้แล้วข้ามสะพานเอลิซาเบธไปยังฝั่งเปสต์ จากนั้นก็เดินเลียบแม่น้ำไปไปยังทิศใต้อีกจนถึงเชิงสะพานลิเบอร์ตี เลี้ยวซ้ายไปยังถนนที่พุ่งตรงมาจากสะพาน เดินอีกนิดก็ถึง For Sale Pub (อยู่ตรงข้ามกับ “ตลาดกลาง” หรืออาจเรียก Great Market Hall ตลาดในร่มที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในกรุงบูดาเปสต์) หวังจะกินกูลาสให้จงได้ แต่ปรากฏว่าคิวนอกร้านยาวเหมือนเดิม จึงเดินผ่านร้านนี้ไป กะว่าเจอร้านอาหารฮังกาเรียนร้านถัดไปก็จะเข้าไปทันที ไม่จำเป็นต้องพิจารณาให้มากแล้ว
เมื่อเจอร้านชื่อ Pesti Sorcsarnok ผมก็เปิดประตูเข้าไป บรรยากาศในร้านดีกว่า For Sale Pub หากว่าตั้งใจมาดินเนอร์ โดยเฉพาะผู้ที่มากับคนรักหรือมาเป็นครอบครัว ส่วน For Sale Pub นั้นเหมาะแก่การดื่มมากกว่า เพียงแต่ว่ากูลาสของเขาขึ้นชื่อ
กลุ่มนักท่องเที่ยวใช้บริการเช่า “เซกเวย์” ในการทัวร์ปราสาทบูดา
ผมสั่ง “กูลาส” (Goulash) ซึ่งเป็นซุปเนื้อต้มรวมกับมะเขือเทศ, มันฝรั่ง, พริกปาปริก้า และผักอีกบางชนิด เสิร์ฟมาในหม้อสเตนเลสซึ่งวางบนเตาไฟเล็กๆ มีหูหิ้วอีกที หลายคนเข้าใจผิดว่ากูลาสเป็นสตูว์เนื้อข้นๆ แล้วเรียกกูลาสว่าเป็นซุปกูลาส ซึ่งความจริงแล้วสตูว์ดังกล่าวเรียกว่า “เปอคอยต์”
กูลาสเสิร์ฟพร้อมขนมปังแผ่นในตะกร้า และเมื่อกินกับไวน์แดงท้องถิ่นแบบดราย ยี่ห้อ Egri Bikaver รสชาติเข้ากันได้ดีเพราะในหม้อกูลาสมีเนื้อหั่นขนาดเท่าลูกเต๋าอยู่หลายชิ้น นอกจากนี้ผมก็ยังสั่งสเต็กเนื้อที่หั่นเป็นชิ้นเรียบร้อยแล้ว โรยด้วยหอมทอดกรอบชิ้นบางๆ ทั้งเป็นริ้วและเป็นวงกลม จะเรียกว่าโรยก็คงไม่ถูก ควรเรียกว่าโปะมามากกว่าเพราะหอมทอดพูนชามจนไม่เห็นเนื้อด้านล่าง ผมเลือกกินเนื้อจนหมดเหลือหอมทอดไว้ครึ่งหนึ่ง แล้วเรียกเก็บเงินก่อนเดินกลับโฮสเทล
หลังจากอาบน้ำเก็บเสื้อผ้าเสร็จ มีเวลาเหลือก่อนรถไฟออกผมจึงนำเทนเนสซีวิสกี้ที่เหลือประมาณครึ่งขวดออกมาดื่มกับเกย์หนุ่มอัลเบิร์ตและรีเซ็พชั่นสาวเสมือนการบอกลา
“ไม่เอาขวดนี้ไปด้วยหรือ ?” รีเซ็พชั่นสาวถาม ผมตอบเธอว่า “สำหรับคุณทั้งสองคน” พวกเขาขอบคุณเป็นการใหญ่
ด้านหน้าของตัวประสาทบูดา
เหลือเวลาอีกประมาณ 15 นาทีเมื่อผมไปถึงสถานีรถไฟที่จะออกเดินทางในเวลา 22.50 น. มีคณะของเด็กเยอรมันเบียดเสียดหาห้องหรือตู้ของตัวเองกันอยู่เต็มโบกี้ บางคนที่ได้ห้องแล้วก็ยังไม่เดินเข้าไป ผมมองเห็นห้องของตัวเองแล้วแต่พวกเด็กวัยรุ่นเยอรมันออกันเต็มทางเดินไม่สามารถเดินเข้าห้องได้ จึงเดินไปซื้อน้ำเปล่ากับตู้กด เมื่อกลับมารถไฟก็เคลื่อนออกจากสถานีแต่เด็กเยอรมันยังคงอยู่ที่เดิม ผมวางกระเป๋าสะพายหลังและกระเป๋าล้อเลื่อนบรรจุของฝากเจ้ากรรมไว้ตรงใกล้ๆ ทางเชื่อมระหว่างโบกี้แล้วถือกระเป๋าใบเล็กซึ่งใส่ของมีค่าไว้ฝ่าฝูงเด็กเยอรมันไปเข้าห้อง
ห้องในรถไฟชั้นสองนี้สำหรับผู้โดยสาร 6 คน โบกี้รถไฟมีทางเดินแคบๆ อยู่ด้านขวามือของตัวรถแบบคนเดินสวนกันได้พอดีโดยไม่แบกหามสัมภาระ หากใครมีสัมภาระก็ต้องหลบเข้าไปในห้องโดยสารห้องใดห้องหนึ่งก่อนเพื่อคอยให้อีกฝ่ายเดินสวนไป ห้องโดยสารที่ซอยย่อยหลายห้องเรียงกัน ขนาดห้องประมาณ 10 ตารางเมตร (หรืออาจจะน้อยกว่า) เมื่อเข้าไปได้ก็รู้สึกว่าค่อนข้างคับแคบ มีเตียงนอนเรียงกัน 2 ฝั่ง ซ้ายขวา ฝั่งละ 3 เตียง เรียงกันขึ้นไปตามแนวดิ่งคล้ายรถไฟชั้นสองของอินเดีย ชั้นล่างสุดนอนสะดวกที่สุด ชั้น 2 ต้องปีนโดยใช้เท้าเหยียบชั้นล่างขึ้นไป ส่วนชั้น 3 นั้นก็ต้องใช้เท้าเหยียบทั้งชั้น 1 ชั้น 2 และอาจจะเหยียบชั้น 1 ชั้น 2 ของฝั่งตรงข้ามด้วย แต่ก็มีบันไดเคลื่อนที่สามารถยกมาเทียบไว้แล้วปีนขึ้นไปได้ ซึ่งจะเป็นภาระคนชั้นล่างในการยกเข้าที่เก็บอีก
รายละเอียดบางส่วนของสถาปัตยกรรมแบบบาโร้ก
บนเบาะที่นอนมีผ้าปู ผ้าห่ม และปลอกหมอนวางไว้ให้สำหรับทำเตียงด้วยตัวเอง คนอยู่ชั้น 3 จะทำได้ยากมาก ขนาดของเตียงนอนดูแล้วเล็กกว่าของอินเดีย แต่สะอาดกว่า มีที่วางสัมภาระอยู่เหนือศีรษะตรงประตูและที่วางเหนือหน้าต่าง หากผู้โดยสารเต็มห้องทั้งหกคน ก็จะไม่เพียงพอ ผมต้องวางใต้เตียงชั้นล่าง ซึ่งสตรีชาวโรมาเนียนอายุประมาณสี่สิบต้นๆ ที่นอนอยู่ชั้น 2 ฝั่งตรงข้ามแนะนำ
ผมขึ้นนอนโดยที่ยังมีกระเป๋าสะพายใส่เสื้อผ้าอยู่ข้างนอก ถามสตรีคนเดิมว่าจะปลอดภัยไหม เธอพูดเหมือนสั่ง จับใจความได้ว่าให้ไปเอาเข้ามา แต่ผมจำต้องวางกระเป๋าใบนี้ตรงพื้นระหว่างเตียงสองฝั่ง ยัดใต้เตียงไม่ได้แล้วเพราะมีของคนอื่นเบียดเสียดอยู่เต็ม
เตียงชั้นล่างฝั่งของผมคืออาจารย์ผู้หญิง ชั้นบนสุดคืออาจารย์ผู้ชายที่นำคณะเด็กมัธยมปลายจากเยอรมนีไปออกค่ายอาสาในประเทศโรมาเนีย ทราบภายหลังว่าพวกเขาจะออกค่ายที่หมู่บ้านเดิมทุกปี ส่วนอีกฝั่ง เตียงชั้นล่างคือป้าโรมาเนียผู้พูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก (แต่แกเริ่มพูดตอนเช้าอีกวัน) ชั้น 2 คือเจ๊ใจดี พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่ฟังรู้เรื่อง ชั้นบนสุดคือนักเรียนหญิงเยอรมัน เธอเข้ามานอนหลังสุดหลังจากออกไปโม้กับเพื่อนอยู่จนราวตีหนึ่ง ตอนที่เจ้าหน้าที่ขึ้นมาตรวจพาสปอร์ตตอนที่สองกว่าๆ เธอไม่ตื่น อาจารย์ชายต้องเอื้อมมือไปเขย่าตัวอยู่นานกว่าจะตื่นได้ แล้วควานหาพาสปอร์ตอย่างงัวเงียยื่นให้เจ้าหน้าที่โดยไม่ได้ลืมตา
สำหรับตัวผมนั้น ตอนตรวจ “คนออกเมือง” ใช้เวลาไม่นาน คงเพราะเจ้าหน้าที่ฮังการีคิดว่าไหนๆ ก็ออกไปแล้ว แต่ตอนที่เจ้าหน้าที่ฝั่งโรมาเนียขึ้นมาตรวจ “คนเข้าเมือง” ใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะประทับตราลงในพาสปอร์ต โดยมีการเรียกเจ้าหน้าที่อีกคนที่มีเครื่องมือทันสมัยกว่ามาช่วยดู
มีเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมนอนหลับลงไปได้อย่างยากลำบากก็คือตั๋วโดยสารได้หายไป ผมรู้ตัวว่าตั๋วหายตอนที่จัดเตียงเสร็จ แต่เจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วได้ตรวจไปแล้วก่อนจะขึ้นรถในตอนแรก ผมถามเจ๊ชั้น 2 ว่าจะเดือดร้อนไหม เธอใช้แอพแปลภาษาจากมือถือแล้วยื่นให้ผมอ่าน
“ไม่ต้องกังวล” แอพแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษ
หอศิลป์แห่งชาติฮังการี
ตื่นเช้าขึ้นมามีคนเดินขายกาแฟและชาแบบรถไฟบ้านเรา แต่ไม่แน่ใจว่ามีตู้เสบียงหรือเปล่า เตียงอื่นๆ ตื่นกันหมดแล้ว เจ๊ใจดีกับป้าพูดภาษาอังกฤษเก่งฝั่งตรงข้ามปรับเตียงเป็นที่นั่ง ซึ่งเตียงชั้น 1 และชั้น 2 สามารถปรับเป็นที่นั่งได้ ความจริงแล้วต้องพูดว่าที่นั่งปรับเป็นเตียงได้มากกว่า เมื่อคุยกับเจ๊และป้าโรมาเนียว่าอาจจะไม่ไปถึงบูคาเรสต์ แต่จะลงที่เมืองบราชอฟเพราะอยากแวะทักทาย “จูดี้” แมวอ้วนแห่งโรลลิ่งสโตนโฮสเทล แล้วพรุ่งนี้ค่อยนั่งรถบัสตรงไปยังสนามบิน Henri Coanda ชานกรุงบูคาเรสต์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง และผมก็มีเวลาเหลือเฟือเพราะเที่ยวบินออกหลังเที่ยงคืนไปแล้ว ทั้งคู่สนับสนุนความคิด อยากให้ผมเที่ยวต่างเมืองมากกว่าบูคาเรสต์ ว่าแล้วป้าก็ยื่นลูกพีชให้ผมกินเป็นมื้อเช้า อีกทั้งกรอกน้ำจากขวดตัวเองเติมให้ขวดของผม
อาการกลัวเจ้าหน้าที่มาตรวจตั๋วยังไม่หายไป เพราะเมื่อวานเจ้าหน้าที่คนนั้นบอกว่า 11 โมงจะมีการตรวจอีกครั้ง และไม่รู้ว่าตัวแกจะยังอยู่บนรถคันนี้หรือลงไปก่อนแล้ว พอเห็นแกโผล่หน้ามาก็ใจชื้นหน่อยเพราะอย่างน้อยแกเคยเห็นตั๋วผมแล้ว แต่ก็ไม่บอกว่าตั๋วหาย ถ้ามีการตรวจเมื่อไหร่ค่อยอธิบายอีกที
ประมาณบ่ายสองโมงรถไฟใกล้จะถึงบราซอฟและยังไม่มีการตรวจตั๋วรอบที่สอง เจ้าหน้าที่คนเดิมเดินมาใกล้ๆ ผมจึงชิงถามแกก่อนว่า “อีกห้านาทีได้ไหมกว่าจะถึงสถานีบราชอฟ” แกตอบ “สามนาที” ผมได้แต่ภาวนาว่าอย่าเล่นพิเรนทร์ตรวจตั๋วกันตอนนี้เลย
เมื่อรถไฟผ่อนความเร็วลงเตรียมจอด แกสะกิดผมที่แขนแล้วพูดขึ้นว่า “จะเอาตั๋วคืนไหม” พร้อมหยิบตั๋วออกมายื่นให้ ผมถามว่าตั๋วไปอยู่ที่แกตั้งแต่เมื่อไหร่ แกบอกว่า “ตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว” ไม่ทันได้ถามว่าแกหยิบไปจากผมตอนไหน หรือมีคนเจอแล้วเอาไปให้ รถไฟก็เทียบจอด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |