สุดท้ายที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อพฤหัสบดีที่ 13 ก.พ. ก็ดำเนินการแก้ไข-ซ่อมแซมจุดบกพร่อง ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ด้วยการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบฯ เสร็จสิ้นแล้วในชั้นสภาผู้แทนราษฏร หลังก่อนหน้าถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สภาฯ ดำเนินการลงมติในวาระ 2 และ 3 อีกครั้ง หลังเกิดกรณีปัญหา ส.ส.รัฐบาลเสียบบัตรแทนกัน จนทำให้การนำร่าง พ.ร.บ.งบฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นไปอย่างล่าช้า จนส่งผลต่อการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบฯ ปี 2563 ที่ล่าช้าอยู่แล้วหลายเดือน ต้องล่าช้าออกไปอีกร่วมเดือน
และในวันศุกร์ 14 ก.พ.นี้ ที่ประชุมวุฒิสภาที่มีการเรียกประชุมเป็นกรณีพิเศษ ก็จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ที่ผ่านสภาฯ มาพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วนอีกเช่นกัน ที่ก็จะไม่มีอะไรพลิกโผ วุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ ดังกล่าวอย่างรวดเร็วภายในวันเดียว จากนั้นพลเอกประยุทธ์จะได้นำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไปโดยเร็วทันที โดยหลังพลเอกประยุทธ์ได้รับร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2563 ที่ผ่านสภาฯ และวุฒิสภามาแล้ว พลเอกประยุทธ์ต้องเก็บร่างฯ ไว้ก่อน 5 วัน ยังไม่สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทันที เพื่อรอว่าจะมีสมาชิกรัฐสภาทักท้วงใดๆ หรือไม่ หากครบ 5 วันแล้ว ถ้าไม่มีการทักท้วง จากนั้นถึงจะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
อย่างไรก็ตาม กว่าที่ประชุมสภาฯ จะให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ ออกมาได้ ก็ปรากฏว่าเกิดความวุ่นวายพอสมควรกับปัญหาเรื่องเดิมคือ จำนวนเสียงองค์ประชุม ส.ส.ในห้องประชุมสภาฯ จากซีกรัฐบาล
ที่เกิดปัญหาขลุกขลักขึ้นเล็กน้อย จนต้องมีการพักการประชุมสภาฯ กลางคัน ร่วม 1 ชั่วโมง จากปัญหาเรื่องการนับองค์ประชุมในช่วงการโหวตลงมติวาระ 2 เรียงรายมาตรา ที่มีการแสดงความเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในมาตรา 6 งบกลาง เพราะองค์ประชุมไม่ครบระหว่างการโหวตลงมติ เนื่องจากตอนโหวตลงมติเห็นชอบในมาตราดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 237 ต่อ 0 นั้น มีจำนวนผู้อยู่ในห้องประชุมแค่ 245 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม แต่ฝ่ายวิปรัฐบาล โดยวิรัช รัตนเศรษฐ์ ประธานวิปรัฐบาล ยืนกรานต่อที่ประชุมว่า ได้ตรวจสอบเสียง ส.ส.รัฐบาลแล้วยืนยันว่าอยู่ครบ โดยการแจกแจงว่า ก่อนการโหวตมาตรา 6 ดังกล่าว ช่วง 11.17 น. ได้มีการเช็กองค์ประชุมก่อนลงมติโหวตพบว่า มีองค์ประชุม 253 เสียง ถือว่าครบองค์ประชุม แต่ต่อมาเวลา 11.18 น. ซึ่งห่างกันเพียง 1 นาที ได้มีการโหวตลงมติมาตรา 6 ปรากฏว่ามีองค์ประชุมเหลือแค่ 245 เสียง หายไป 8 เสียง
"วิปรัฐบาลได้สอบถาม ส.ส.ทั้ง 8 คนแล้ว ยืนยันว่าอยู่ในห้องประชุมครบโดยตลอด จึงเป็นไปได้ว่าอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ใน 3 ประการ ได้แก่ 1.ปัญหาเครื่องลงคะแนนที่กดบัตรแล้ว คะแนนไม่ขึ้น 2 ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนผิด และ 3.เสียบบัตรแสดงตนเป็นองค์ประชุมแล้ว แต่ลืมกดปุ่มตอนลงมติ"
ขณะเดียวกัน ส.ส.รัฐบาล 8 คน ที่มีชื่อหายไประหว่างการโหวตลงมติมาตรา 6 อาทิเช่น สมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ก็ยืนยันว่าได้อยู่ในห้องประชุมและได้ร่วมการแสดงตนเป็นองค์ประชุม และโหวตลงมติด้วย
ทำให้ที่ประชุมอภิปรายถกเถียงกันอย่างหนัก จนมีข้อเสนอจากฝ่ายค้านให้กลับไปโหวตใหม่ ตั้งแต่มาตรา 1 ชื่อร่าง พ.ร.บ.เป็นต้นมา เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหามีการส่งศาล รธน.ตีความขึ้นอีก จะได้ไม่เสียเวลา ข้อเสนอดังกล่าวทำให้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เสนอความเห็นให้ไปโหวตใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่มาตรา 1 และที่ประชุมเห็นด้วย
จนสุดท้ายที่ประชุมสภาฯ ต้องย้อนกลับไปโหวตเรียงรายมาตรา ตั้งแต่มาตรา 1 ใหม่อีกรอบ โดยที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ชุดเดิม อย่างเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ขอถอนคำสงวนคำแปรญัตติในวาระ 2 ออกไปทั้งหมดทุกมาตรา จึงทำให้การพิจารณาดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และนับจากนั้นวิปรัฐบาลก็มีการคุมเข้มตรวจเสียงองค์ประชุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก จนสุดท้ายสภาฯ ก็พิจารณาวาระ 2 และมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ วาระ 3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 257 ไม่เห็นด้วย 1 และงดออกเสียง 3 คน จากที่ประชุมทั้งหมด 261 คน
สำหรับเสียง ส.ส.ที่หายไปจำนวนมากในห้องประชุม เป็นเสียงที่เกิดจากฝั่งฝ่ายค้าน ที่มีมติไม่ร่วมสังฆกรรมการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบฯ ดังกล่าว แต่มีการลงชื่อเข้าร่วมประชุม แต่ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมและไม่ร่วมลงมติใดๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท จะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ แล้ว และวุฒิสภาก็จะให้ความเห็นชอบออกมาโดยเร็วเช่นกัน แต่สิ่งสำคัญที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ควรต้องดำเนินตรวจสอบ-สะสาง-เอาผิดให้ได้ ก็คือบรรดา แก๊งเสียบบัตรแทนกัน
จนส่งผลทำให้การบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ล่าช้า และเป็นสิ่งที่สร้างความอดสูให้กับสภาฯ ไทยที่มี ส.ส.ไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง มีการฝากบัตรให้ ส.ส.เสียบแทนกันในห้องประชุมฯ เพราะแม้เรื่องนี้จะมีการยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบอยู่ในเวลานี้ แต่ก็อย่างที่รู้กัน การทำงานของ ป.ป.ช.ที่มีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ทำให้การตรวจสอบล่าช้า
ควรที่ฝ่ายสภาฯ ที่เวลานี้ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ แม้จะมีการตรวจสอบเรื่อง ส.ส.เสียบบัตรแทนกันอยู่ แต่ก็ควรต้องเร่งตรวจสอบและสรุปผลโดยเร็ว อย่าทำแบบล่าช้า ลอยตัว หรือหวังโยนให้ ป.ป.ช.พิจารณาฝ่ายเดียว ยิ่งต่อมามีการเปิดเผยข้อมูลว่ายังมี ส.ส.รัฐบาลอีกหลายคนมีการเสียบบัตรแทนกัน แม้จะไม่ใช่ตอนโหวต พ.ร.บ.งบฯ ไม่ใช่แค่คนที่ถูกร้องไปยังศาล รธน.เท่านั้น สภาฯ ก็ต้องสะสางเรื่องนี้
"ชวน หลีกภัย-ประธานสภาฯ" จึงต้องสนับสนุนทุกกระบวนการที่จะทำให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ จนได้ผลออกมาโดยเร็ว จะได้มีการแฉชื่อ ส.ส.ที่มีพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อให้สังคมรับรู้ จะได้เกิดการรับผิดทางสังคมและคดีความต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |