โหวตงบฯวาระ2,3หืดจับ นับหนึ่งใหม่ก่อนผ่านฉลุย


เพิ่มเพื่อน    

  สภาเสียงปริ่มน้ำหืดจับโหวตงบประมาณ 2563 วาระ 2-3 ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว “ชวน” กรีดเมื่อส่งเรื่องให้ศาลตีความคำตัดสินย่อมผูกพัน ไม่ใช่ก้าวก่าย แต่สภา ต้องร่วมรับผิดชอบ ที่ประชุมเกือบสะดุดหลังมาตรา 6 องค์ประชุมไม่ครบ สุดท้ายโหวตนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่มาตราแรกก่อนฉลุย อึ้ง! ส.ส.ต้องอั้นอึอั้นฉี่ กระทั่งปั๊มนมก็ไม่กล้าหายหัว ส.ว.เตรียมรับไม้ต่อทันที 14 ก.พ.

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในระเบียบวาระการประชุมครั้งที่ 28 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วใหม่ในวาระ 2 และ 3 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจากกรณีเสียบบัตรแทนกัน
โดยก่อนการประชุม นายชวนให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อว่าสมาชิกคงไม่อภิปรายต่อ การพิจารณาจึงน่าจะจบได้เร็วขึ้น แต่จะจบหรือไม่ ไม่ทราบ หากไม่จบก็อภิปรายต่อวันที่ 14 ก.พ. เพราะเป็นสิทธิ์ของสมาชิก ส่วนจะมีปัญหาเรื่องเสียบบัตรอีกหรือไม่นั้น เราก็มีบทเรียนอย่างแรงมาแล้ว
    และเมื่อเวลา 09.30 น. ก่อนเปิดประชุม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย (พท.)  กล่าวว่า แปลกใจว่านายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เลขานุการ กมธ.วิสามัญฯ มานั่งบนบัลลังก์ในห้องประชุมทำไม ทั้งที่หน้าที่น่าจะหมดไปแล้ว ขณะเดียวกัน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลยังมาลงชื่อเป็นองค์ประชุมไม่ถึง 200 คน แต่ฝ่ายค้านมาลงชื่อให้ครบแล้ว ดังนั้นฝ่ายค้านจะปล่อยให้รัฐบาลทำหน้าที่ลงมติในวาระที่ 2 และ 3 จึงขออนุญาตออกจากห้องประชุม
       นายชวนกล่าวว่า ขณะนี้อยู่นอกระหว่างการประชุม จึงยังไม่มีการบันทึกการประชุมอะไรทั้งสิ้น และแจ้งต่อที่ประชุมว่ามีผู้เข้ามาลงชื่อเป็นองค์ประชุมแล้ว 281 คน จึงขอเปิดการประชุมในเวลา 09.47 น.
         จากนั้น นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขอหารือว่า เนื่องจากฝ่ายค้านได้ออกจากห้องประชุมไปแล้ว จึงอยากสอบถามว่าซีกรัฐบาลไปนั่งเพื่อใช้ช่องเสียบบัตรเพื่อลงมติหรือไม่ ซึ่งนายชวนแจงว่าไม่ควร เพราะจะโดนว่าเป็นคนกดบัตรแทน เชื่อว่าเดือน พ.ค.นี้เราจะใช้ห้องประชุมใหญ่ได้แล้ว ทั้งนี้เห็นใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่เราอาสาประชาชนมาแล้ว เรื่องแค่นี้เราไม่ต้องบ่น
สภาต้องร่วมรับผิดชอบ
    ต่อมานายชวนได้ดำเนินตามระเบียบวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า เราใช้สิทธิ์ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สิ่งที่เราต้องทำคือคำวินิจฉัยมีผลผูกพันรัฐสภา ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ส่วนเรื่องความชอบหรือไม่ชอบก็ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละคน และกรณีไม่ได้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะมาจากการที่ประธานสภาฯ ส่งเรื่องไปให้ศาลวินิจฉัย ก็ต้องร่วมรับผิดชอบ ถ้าการทำงานผิดพลาดก็ร้องเรียนมากันมาได้ แต่ยืนยันการดำเนินการประชุมวันนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องกรอบเวลา 105 วันที่สภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จแล้ว และสิ้นสุดไปตั้งแต่เดือน ม.ค.แล้วนั้น ขอชี้แจงว่าประเด็น 105 วัน สภาได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วตั้งแต่ 11 ม.ค.2563 แต่การประชุมวันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้อง 105 วัน เพราะเป็นกระบวนการใหม่ที่เกิดมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขออย่าไปกังวลว่าเราเสียเกียรติหรือไม่ เพราะการเคารพกฎหมายบ้านเมืองเป็นการกระทำที่มีเกียรติอยู่แล้ว
    ทั้งนี้ บรรยากาศที่ประชุมสภาในการพิจารณามาตรา 1 ว่าด้วยชื่อร่าง พ.ร.บ. นายเรืองไกรและนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รองประธาน กมธ.วิสามัญฯ พยายามเปิดประเด็นเรื่องการพิจารณาเกิน 105 วัน จน ส.ส.ซีกรัฐบาลยกมือประท้วง ทำให้นายชวนระบุว่า สองคนนี้อภิปรายนอกประเด็น อยากให้ กมธ.ช่วยอภิปรายอยู่ในประเด็น ไม่เช่นนั้นประชาชนจะมองว่าเป็นการยื้อเวลาผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ
         หลังจากที่อภิปรายมาตรา 1 เสร็จ ที่ประชุมได้เช็กองค์ประชุมก่อนโหวตลงมติ ปรากฏว่ามี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแสดงตนเป็นองค์ประชุม 250 เสียง ถือว่าเกินองค์ประชุมมาอย่างฉิวเฉียดเพียง 1 เสียง จาก ส.ส.ที่มีอยู่ในสภาขณะนี้ 498 คน ที่ต้องมีองค์ประชุมตั้งแต่ 249 เสียงขึ้นไป ก่อนที่ประชุมจะลงมติเห็นชอบมาตรา 1 ด้วยคะแนน 245 ต่อ 0 งดออกเสียง 6
    และระหว่างพิจารณามาตรา 2 ไปจนถึงมาตรา 8 นายเรืองไกรที่ขอสงวนความเห็นอภิปรายไว้เกือบทุกมาตรา ก็ยังคงอภิปรายตามที่สงวนไว้ และมีบางมาตราที่นายเรืองไกรแฉลบออกไปพูดนอกประเด็น ทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต้องคอยประท้วงเป็นระยะๆ แต่บรรยากาศยังเดินไปได้ด้วยดี จนกระทั่งเข้าสู่มาตรา 9 ว่าด้วยกระทรวงการคลัง นายเรืองไกรได้ขอถอนในสิ่งที่สงวนความเห็นขออภิปรายไว้ ทำให้การประชุมลงมติตั้งแต่มาตรา 9 เป็นต้นไป เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะไม่มี กมธ.และ ส.ส.คนใดอภิปราย แต่ละมาตรา ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็ลงมติผ่านความเห็นชอบไปได้ราบรื่น โดยแต่ละมาตรามี ส.ส.รัฐบาลแสดงตนเป็นองค์ประชุมอยู่ระหว่าง 250-254 เสียง และมีเสียงให้ความเห็นชอบระหว่าง 244-245 เสียง และงดออกเสียงอยู่ 5-6 เสียง ไม่มีเสียงไม่เห็นชอบ
    สำหรับการแสดงตนเป็นองค์ประชุมนั้น มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลแสดงตนเป็นองค์ประชุมพร้อมเพรียง ส่วนคะแนนงดออกเสียงที่มีผู้งดออกเสียงในแต่ละมาตราอยู่ที่ประมาณ 7 คน พบว่าเป็น ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 คน ที่ประกาศตัวแยกการทำงานจากการเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ส่วนคะแนนงดออกเสียงอีก 2 เสียงคือนายชวน และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ กระทั่งเวลา 12.45 น. ที่ประชุมผ่านมาตรา 30 นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ขอพักการประชุม เนื่องจาก ส.ส.ต่อคิวเข้าห้องน้ำกันเป็นจำนวนมาก ทำให้นายชวนสั่งพักประชุม และนัดประชุมอีกครั้งในเวลา 13.15 น.
    ทั้งนี้ หลังพักประชุมไปนานกว่า 1 ชั่วโมง ปรากฏว่าที่ประชุมไม่สามารถกลับมาเปิดประชุมได้ เนื่องจากต้องไปหารือถึงปัญหาการลงมติมาตรา 6 งบกลางที่อาจเกิดข้อผิดพลาด มีองค์ประชุมไม่ครบระหว่างโหวตลงมติ เนื่องจากตอนโหวตลงมติด้วยคะแนนเสียง 237 ต่อ 0 นั้น มีผู้อยู่ในห้องประชุมแค่ 245 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม จนนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. ต้องทักท้วง แต่นายชวนยืนยันว่าดำเนินการถูกต้องแล้ว และให้ดำเนินการประชุมต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุมใช้เวลาหารือเรื่องดังกล่าวเป็นเวลา 1.30 ชั่วโมง จึงมาประชุมใหม่
มาตรา 6 พาโหวตใหม่
    ต่อมาเวลา 14.15 น. ที่ประชุมกลับมาเปิดประชุมใหม่ นายวิรัชได้ขอหารือว่ามีข้อเคลือบแคลงเรื่องการโหวตมาตรา 6 ที่มีปัญหาเรื่ององค์ประชุมครบถ้วนหรือไม่ เนื่องจากเมื่อเวลา 11.17 น. ได้เช็กองค์ประชุมก่อนลงมติ พบว่ามีองค์ประชุม 253 เสียง ถือว่าครบองค์ประชุม แต่ต่อมาเวลา 11.18 น. ซึ่งห่างกันเพียง 1 นาที ได้โหวตลงมติมาตรา 6 ปรากฏว่ามีองค์ประชุมเหลือแค่ 245 เสียง หายไป 8 เสียง ซึ่งได้สอบถามทั้ง 8 คนแล้ว ยืนยันว่าอยู่ในห้องประชุมครบโดยตลอด จึงเป็นไปได้อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ใน 3 ประการ ได้แก่ 1.ปัญหาเครื่องลงคะแนนที่กดบัตรแล้ว คะแนนไม่ขึ้น 2 ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนผิด และ 3.เสียบบัตรแสดงตนเป็นองค์ประชุมแล้ว แต่ลืมกดปุ่มตอนลงมติ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะลืมกดพร้อมกัน 8 คน เพื่อให้การดำเนินการถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ จึงขอหารือให้โหวตลงมติกันใหม่ตั้งแต่มาตรา 6 เป็นต้นไป จะได้ไม่มีใครไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอีก 
    ด้านนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ ชี้แจงเช่นกันว่า การแสดงตนเป็นองค์ประชุมในทุกมาตราที่ผ่านมามีเสียงเกิน 249 เสียงมาตลอด 
    จากนั้นนายชวนได้ขอความเห็นจากสมาชิกว่า ควรย้อนกลับไปลงมติใหม่ตั้งแต่มาตรา 6 เป็นต้นมาหรือไม่ เพื่อมิให้ใครไปยื่นร้องต่อศาล ซึ่งสมาชิกได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง และในท้ายที่สุดนายชวนเสนอให้ไปโหวตใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่มาตรา 1 ซึ่งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท. ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านก็เห็นด้วยกับแนวทางของนายชวน ในที่สุดที่ประชุมจึงเห็นพ้องต้องกันให้ไปเริ่มโหวตลงมติใหม่ตั้งแต่มาตรา 1 ในเวลา 15.00 น. ในขณะที่นายเรืองไกรได้ขอถอนการอภิปรายที่สงวนความเห็นไว้ตั้งแต่มาตรา 1-31 เพื่อให้การประชุมเป็นไปด้วยความราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้ ส.ส.ในห้องประชุมพากันปรบมือแสดงความพอใจ ก่อนเริ่มลงมติใหม่ ซึ่งก็เป็นไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่มาตรา 1 และเสร็จสิ้นมาตรา 55 ในเวลา 16.17 น. จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 ทันที โดยที่ประชุมมีมิติเห็นชอบ 257 ไม่เห็นด้วย 1 และงดออกเสียง 3 คน จากที่ประชุมทั้งหมด 261 คน 
    ต่อมานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ  และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีติดภารกิจไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพผู้เคราะห์ร้ายที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งนายกฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญและซาบซึ้งถึงความทุ่มเทของ ส.ส.ทุกท่าน ที่ร่วมกันพิจารณาลงมติผ่านร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ในที่สุดก็ได้รับความเห็นชอบจากสภา รัฐบาลขอให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการบริหารงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน ทั้งใช้จ่ายงบของรัฐด้วยความระมัดระวังตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด และขอให้ความมั่นใจว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ซึ่งมาจากภาษีของประชาชนจะถูกนำไปใช้จ่ายพัฒนาประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น  
ต่อมาประธานสภาฯ ได้สั่งปิดประชุมในเวลา 16.31 น. ขณะที่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. ในฐานะ กมธ. ได้ร้องขอให้ กมธ.วิสามัญฯ ร่วมถ่ายรูปบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ก่อนกลับบ้าน 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 14 ก.พ. เวลา 14.00 น. วุฒิสภาได้นัดประชุมพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ต่อไป   
มีรายงานบรรยากาศการประชุมสภาพบว่า จากภาวะเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล ทำให้การโหวตรายมาตรามีความตะกุกตะกักอยู่เป็นระยะ จน ส.ส.ฝั่งรัฐบาลไม่กล้าลุกออกจากห้องประชุม แม้แต่การรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพราะกลัวจะกลับมาลงคะแนนไม่ทัน โดยในช่วงเวลาประมาณ 10.45-12.50 น. ขณะที่ประชุมพิจารณาลงมติในมาตรา 2 น.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลเมืองไทย ต้องนั่งปั๊มนมในห้องประชุม เพื่อเก็บไว้ให้บุตรชายอายุ 8 เดือน เนื่องจากไม่สามารถออกไปพักนอกห้องประชุมได้
เด็กส้มหวานขอสร้างสีสัน
ทั้งนี้ ในการลงมติในวาระ 3 ซึ่งมี ส.ส. 1 เสียงที่ไม่เห็นชอบ คือนายนิรามาน สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.)  ซึ่งถือว่าฝืนมติวิปฝ่ายค้านที่ไม่เข้าร่วมพิจารณาและลงมติ โดยนายนิรามานชี้แจงว่า รู้อยู่แล้วว่าร่างงบประมาณดังกล่าวจะผ่านวาระ 3  จึงลงมติไป ซึ่งไม่ซีเรียสและต้องการสร้างสีสันเท่านั้น และยังอยู่ฝ่ายค้านเหมือนเดิมทั้งตัวและใจ ส่วนจะถูกมองว่าเป็นงูเห่าหรือไม่ ขอยืนยันว่าให้เงินเป็น 100 ล้านบาทก็ไม่ไป เพราะเติบโตมาจากบ้านหลังนี้ และจะไม่มีการทำร้ายพรรค อนค.อย่างแน่นอน
    นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค อนค. กล่าวถึงสาเหตุที่ อนค.และพรรคฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมโหวตในวาระ 2 และ 3 ว่า อนค.และพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และที่ผ่านมาได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการผ่านร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างเต็มที่แล้ว แต่ก็มีปัญหาเรื่องเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งยังไม่มี ส.ส.หรือตัวแทนรัฐบาลออกมาแสดงความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น  
    "อยากวิงวอนสังคมร่วมกันกดดันไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ถ้าจะเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้" นายพิจารณ์กล่าว 
    ส่วนที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ก่อนเดินทางไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ยิงกราด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ปฏิเสธที่จะตอบคำถามกรณีที่เกิดปัญหาระหว่างการประชุมสภาในการลงมติในวาระ 2 และ 3 ในมาตรา 6 ที่องค์ประชุมไม่ครบ โดยนายกฯ เพียงแต่พยักหน้าโดยไม่ได้ตอบคำถามใดๆ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไม่ตอบคำถามเช่นเดียวกัน
    ด้านนายชวนกล่าวถึงความคืบหน้าผลสอบ ส.ส.เสียบบัตร ว่าเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งผลสอบกรณีนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง  และนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย มาให้เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ซึ่งได้บอกแล้วว่าเราต้องสอบ ส.ส.คนอื่นที่มีข่าวด้วย เพราะข้อมูลนี้อยู่ที่สภา จึงไม่มีใครอยากเปลืองตัวเรื่องนี้ แม้แต่ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาฯ ก็ไม่อยากทำ แต่อย่างน้อยสภาต้องรับผิดชอบ เพราะทั้งวงจรปิดและเรื่องบัตร เจ้าหน้าที่สภาเป็นผู้เก็บรักษา ดังนั้นสภาจึงเป็นผู้ที่น่าจะสอบได้ดีที่สุด
    “ในรายงานส่วนของนายฉลอง ไม่มีปัญหา เพราะยอมรับว่าไม่อยู่ในห้องประชุม ส่วนนางนาทียังไม่ปรากฏในข้อมูล แต่สภาก็ส่งเรื่องไปยังการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ว่าขึ้นเครื่องบินตอนกี่โมง แล้วเอามาเทียบเวลาในสภาว่าลงคะแนนตอนกี่โมง” นายชวนกล่าว
        นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรค พท. กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประวิตร, นายอนุทิน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เร่งเอาผิดกับ ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกัน เพราะถือเป็นการจงใจกระทำความผิดกฎหมายเสียเอง ซึ่งผู้นำพรรครัฐบาลทุกท่านต้องกล้าที่จะดำเนินการกับลูกพรรคของตนเอง เพื่อรักษาหลักการทางกฎหมาย จะปล่อยให้ ส.ส.เห็นรัฐสภาอันศักดิ์สิทธิ์เป็นเหมือนสนามเด็กเล่น นึกอยากจะทำผิดก็ปล่อยให้ทำกันตามอำเภอใจโดยไม่มีมาตรการลงโทษ และปล่อยให้คนทำผิดลอยนวลแบบนี้ไม่ได้.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"