วิกฤติโรคระบาดไวรัสอู่ฮั่นครั้งนี้ทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์และศักยภาพของผู้นำทางการเมืองได้หลายระดับทีเดียว
“วอร์รูม” ทางการแพทย์ที่ตั้งขึ้นสามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้พอสมควร
แต่ “วอร์รูม” ด้านการสื่อสารกับประชาชนที่บริหารโดยรัฐบาลมีปัญหาการประสานงานและทำความเข้าใจกับประชาชนที่มีคำถามมากมาย
ใน “สงครามทางการแพทย์” ระดับโลกอย่างนี้ ศัตรูของบุคลากรทางการแพทย์คือตัวไวรัสและการกลายพันธุ์ของมัน
ขณะเดียวกันนี่ก็เป็น “สงครามข่าวสาร” ไปพร้อมๆ กัน และศัตรูของทางการคือ “ข่าวปลอม” และ “ข่าวปล่อย”
โรคร้ายทางการแพทย์คือ “ไวรัส”
ศัตรูทางการสื่อสารระหว่างรัฐบาลกับประชาชนคือ “ไวรัล” หรือข่าวสารข้อมูลที่ไม่จริงทั้งหลายทั้งปวงที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในโลกโซเชียลมีเดีย
ความจริงคำว่า viral ก็มาจาก virus นั่นแหละ
Viral เป็นคำคุณศัพท์ของ Virus ที่เป็นคำนาม
เพราะไวรัสแพร่กระจายไปทำร้ายผู้คนได้กว้างขวางและรุนแรน เมื่อมันเป็นข่าวสารที่เป็นพิษ เพราะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงไปในทางที่สร้างความเสียหาย มันก็ร้ายแรงพอๆ กับเชื้อโรคที่เป็นไวรัสนั่นแหละ
เพราะนี่คือสงครามทั้งด้านการแพทย์และการสื่อสาร ผู้บริหารวอร์รูมด้านข่าวสารของทางการจึงต้องใช้หลักการเหมือนอยู่ในสงคราม
นั่นหมายถึงการที่จะต้องมีการประเมินฝ่ายตรงกันข้าม รู้เขารู้เรา ต้องมีเครื่องมือและอาวุธที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้ของฝ่ายศัตรู และต้องแยกแยะศัตรูให้ออกว่าจุดแข็ง-จุดอ่อนอยู่ตรงไหนอย่างไร
แต่ครั้งนี้การบริหารการสื่อสารในยามวิกฤติไม่มีศูนย์บัญชาการ หรือ single command เมื่อประชาชนมีคำถามหรือข้อสงสัยไม่รู้จะไปถามใคร แต่ละหน่วยงานก็ออกข่าวตามรูปแบบเดิมๆ เหมือนในยามสงบ ซึ่งไม่อาจจะต้านกระแสของข่าวปล่อยและข่าวดรามาทั้งหลายได้ทันท่วงที
มีความเชื่อในรัฐบาลว่า เมื่อคณะแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวประจำวันแล้วก็น่าจะพอ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
การแถลงข่าวของคณะแพทย์คือการตอบคำถามเรื่องเทคนิคทางการรักษาและเรื่องมาตรการสกัดไวรัส
แต่ในสงครามข่าวสารนั้นมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก การตีความข่าวไปคนละทิศละทาง และยังมีการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบที่มีอคติ ทั้งด้านบวกสุดๆ และลบอย่างรุนแรง
การตอบคำถามที่ถาโถมเข้ามาทุกนาที ด้วยภาษาและท่าทีลีลาที่อยู่นอกเหนือขอบเขตการแพทย์และตรรกะทางการเมืองปกติ จำต้องมี “กองกำลัง” ด้านการกรอง, ประเมินและพุ่งเป้าให้ตรงกับแนวทางของกระแสข่าวและความเข้าใจอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
ในแง่ประสบการณ์ทางการแพทย์ เรามีบุคลากรที่พร้อมพอสมควร
มีข่าวยืนยันว่า “ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ” ชี้ความพร้อมรับมือโรคระบาดของไทยอยู่ในแถวหน้าของโลกเลยทีเดียว
รายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพโลก หรือ Global Health Security (GHS) Index ชี้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือวิกฤติโรคระบาดในระดับต้นๆ ของโลก
รายงาน GHS Index โดยทีมนักวิจัยโครงการ Nuclear Threat Initiative มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ และ The Economist Intelligence Unit ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของนิตยสาร The Economist ได้ชื่อว่าเป็นการประเมินสถานะความมั่นคงด้านสุขภาพโลกที่ครอบคลุมที่สุดฉบับแรก
รายงานนี้ที่เผยแพร่สู่สาธารณะตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องใน 195 ประเทศ และวิเคราะห์ปัจจัยที่สำคัญ 6 ปัจจัย อันได้แก่ การป้องกัน การตรวจจับและรายงาน ความรวดเร็วในการโต้ตอบและรับมือ ระบบสาธารณสุข มาตรฐานการปฏิบัติตามบรรทัดฐานโลก และความเสี่ยงต่างๆ
ส่วนอันดับที่ 6 ด้วยคะแนน 75.5 จาก 100 คะแนน และเป็นประเทศกำลังพัฒนาหนึ่งเดียวใน 15 ประเทศที่มีการเตรียมพร้อมด้านความมั่นคงทางสุขภาพสูงสุด 15 อันดับ ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และแคนาดา
เมื่อแบ่งตามปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์ ประเทศไทยได้คะแนนสูงสุดในด้านการตรวจจับและรายงาน ที่ 81 คะแนน ขณะที่คะแนนด้านความเสี่ยงต่างๆ อยู่ในระดับต่ำ ที่ 56.4
ส่วนจีน ที่เป็นประเทศศูนย์กลางการระบาดครั้งนี้ อยู่ในอันดับที่ 51 ด้วยคะแนน 48.2 และมีคะแนนระดับความเสี่ยงต่างๆ ที่ 64.4 ซึ่งสูงที่สุด เมื่อเทียบกับ 5 ปัจจัยอื่น
แต่ยังไม่มีใครทำดัชนีชี้ “ประสิทธิภาพของการสื่อสารในยามวิกฤติโรคระบาด” ของประเทศต่าง ๆ หากจะประเมินจากที่เห็นวันนี้ คะแนนของไทยเราด้านการแพทย์เหนือกว่าด้านการสื่อสารหลายเท่าทีเดียว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |