ถ้าเป็นไปตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุไว้ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ระยะเวลาที่เหลืออีก 11 เดือนข้างหน้า ถือเป็นห้วงเวลาที่ คสช.ต้องทำงานอย่างเต็มสูบ ตามเจตนารมณ์ที่พลเอกประยุทธ์ได้เข้ามาบริหารประเทศ คือการสร้างรากฐาพร้อมแก้ไขปัญหาประเทศอย่างยั่งยืน สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน
11 เดือนที่เหลือเป็นห้วงเวลาที่ไม่มากนักในการเร่งเดินงานของรัฐบาลให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอภิมหาโปรเจ็กต์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กว่าจะแล้วเสร็จก็ต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี ขณะที่โครงการแก้ไขปัญหาให้คนยากจน เกษตรกร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ก็ได้ผลในแง่จิตวิทยาเท่านั้น เพราะยังไม่ได้สร้างความพอใจให้กับภาคเกษตรและกลุ่มผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง
และยิ่งยากขึ้นไปอีกหลายเท่าในการสร้างผลงานช่วงท้ายของรัฐบาล ซึ่งเป็นธรรมชาติทั่วไปที่คนจะมีความพึงพอใจลดลงเมื่อรัฐบาลบริหารงานไปซักระยะ แม้ "บิ๊กตู่" จะยืนยันว่ารัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชนผ่านกลไกของศูนย์ดำรงธรรม และไม่ต้องมีการออกมาประท้วงรัฐบาล
"อย่าให้ใครมาปลุกปั่น ไปประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล อย่าไปเลย เสียเวลา เสียเงินเสียทอง อยู่บ้านนอน มีอะไรส่งศูนย์ดำรงธรรมแก้ให้หมด แก้มากแก้น้อย แก้เร็วแก้ช้า ก็ว่าไปตามกลไก อย่าไปประท้วง อย่าให้ใครเขาปลุกปั่นอีกเลย ไม่เกิดประโยชน์กับท่านหรอก คนอื่นเขาเดือดร้อนไม่ได้ ต้องไม่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น...
...ใครจะชวน อย่าไปอีกเลย ไปแล้วอันตราย วันหน้าอย่าให้เกิดอีกนะ รัชกาลนี้ต้องไม่มีนะ พระเจ้าอยู่หัวท่านทอดพระเนตรอยู่ ท่านทรงทำไว้เยอะแยะแล้ว รัชกาลนี้ต้องไม่มีเรื่องที่มันไม่ดีเกิดขึ้นอีก เราต้องทำให้สิ่งดีๆ ร่วมกัน เพื่อลูกหลานในอนาคต เราเดี๋ยวก็แก่ตาย ผมอายุ 64 ปีเข้าไปแล้ว” พลเอกประยุทธ์กล่าวระหว่างลงพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู
นอกจากนั้น ปัจจัยที่เกิดจากแรงปะทะจากกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามจาก คสช. รวมไปถึงการท้าทายจากคนในฝ่ายเดียวกันที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขปัญหาและการบริหารราชการแผ่นดิน ยังคงมีอยู่และ ยิ่งเสียงดังขึ้นเมื่อรัฐบาลเจอมรสุมหลายด้าน
โดยเฉพาะปมปัญหาเรื่องการบริหารงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถควบคุมดูแลการใช้จ่ายงบประมาณรายโครงการที่ลงไปช่วยคนยากจน กลายเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และต้องระมัดระวังเรื่องการตรวจสอบให้ถูกต้องอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเรื่องเพิกเฉย ละเลย ไม่แก้ไขปัญหา ถูกย้อนตรรกะไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลพลเรือนที่ถูกรัฐประหาร
จนพลเอกประยุทธ์เองต้องออกมาจี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสะสาง เก็บขยะใต้พรมที่ถูกรื้อขึ้นมาทีละเรื่อง พร้อมยืนยันว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับของข้าราชการ ยังไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตเชิงนโยบายแต่อย่างใด
"รัฐบาลและ คสช.จะตรวจสอบเรื่องทุจริตที่ได้รับร้องเรียนจากประชาชนทุกเรื่อง หากมีพยานหลักฐานพอให้เกิดความกระจ่างชัด รัฐบาลก็จะดำเนินการต่อตามขั้นตอน ตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะมีหลายเรื่องในเวลานี้ และจำเป็นต้องใช้กระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใส เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งกับผู้ร้องและผู้ถูกกล่าวหา" นายกรัฐมนตรีระบุ
แต่ดูเหมือนว่าการปฏิบัติงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ในการลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณที่ผ่านนั้น จับไปตรงไหนก็เจอ จนถูกมองว่าเป็นมีการโกงลามไปทั่วประเทศ
ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ที่ส่อทุจริต ปลอมลายมือชาวบ้านเซ็นรับเงินช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ติดเชื้อ HIV คนละ 2,000-3,000 บาท รวมเป็นเงินกว่า 6.9 ล้านบาทในเบื้องต้น
การใช้จ่ายเงินงบประมาณประเภทเงินอุดหนุนเฉพาะกิจของศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ งบปี 2560 จำนวน 67 ล้านบาท
ยังไม่นับการปูพรมงบประมาณก้อนใหม่หลังจากร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติฯ 3 วาระรวด ซึ่งการจัดทำโครงการไทยนิยมยั่งยืนก็ต้องมีการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวมาสนับสนุนด้วย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ชี้แจงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2561 ว่า จะเน้นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ และการรักษาวินัยการคลัง แบ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรกว่า 24,000 ล้านบาท การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาสในอาชีพและการจ้างงานกว่า 76,000 ล้านบาท และการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายเงินคงคลังที่จ่ายไปแล้วกว่า 49,600 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างความเจริญเติบโต ขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 3.6-4.6 ดีขึ้นจากปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9
"เศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะภาคการเกษตรและชนบท แม้ราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแลด้านราคาพืชผล การลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ตลอดจนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยเกื้อกูลเศรษฐกิจโดยส่วนรวมให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต รวมทั้งการรักษาวินัยการคลัง โดยการตั้งรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง นอกจากนี้ รัฐบาลจะนำงบประมาณแผ่นดินไปดำเนินการเรื่องสำคัญและเร่งด่วนอย่างคุ้มค่า โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป" นายสมคิดกล่าว
หนีไม่พ้นคำวิจารณ์การใช้งบในการสร้างคะแนนนิยม เพื่อสร้างทัศนคติให้ประชาชนพึงพอใจกับนโยบายของรัฐบาล คสช. รองรับการดำรงอยู่ของทหารหลังการเลือกตั้งทั่วไปผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งที่ถูกออกแบบไว้
ยิ่งไปกว่านั้น ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกับดักกฎหมายและเงื่อนเวลาการเลือกตั้ง รวมถึงความไม่ชัดเจนกรณีนาฬิกาหรูของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โดยส่วนใหญ่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายตรงข้าม
โดยเฉพาะนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ถูกมาตรา 44 ให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลการให้สัมภาษณ์และ การไปสมัครเป็นเลขาฯ กกต. ทั้งที่ยังทำหน้าที่ กกต. แม้นายกฯ จะระบุว่าไม่ได้เป็นความต้องการของตนเอง แต่เป็นการเสนอมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"เป็นการร้องขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวกับด้านกฎหมาย เนื่องจากนายสมชัยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งจนเกิดความสับสน" พลเอกประยุทธ์ระบุเหตุผล
รวมไปถึงกรณีของ นางทิชา ณ นคร อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ได้รายชื่อประชาชนกว่า 8 หมื่นรายชื่อ กรณีของนาฬิกาหรู ที่ต้องการให้ "บิ๊กป้อม" ลาออก เพื่อแสดงสปิริตหลังจากประกาศว่าจะไขก๊อกหากประชาชนไม่ต้องการ โดยอดีต สปช.ได้ไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เร่งดำเนินการ หลังครบเดดไลน์การขยายเวลาให้ "บิ๊กป้อม" ส่งข้อมูลมาชี้แจง
อย่างไรก็ตาม พลเอกประวิตรบอกว่า ตอนนี้ยังไม่ผิด ให้ ป.ป.ช.ชี้มูลมาก่อน และยืนยันว่า คสช.ไม่ได้ดุขึ้น แต่การใช้ ม.44 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงาน พร้อมระบุถึงการย้าย นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ไปปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลที่ว่า ดำรงตำแหน่งมานาน แต่ทำงานไม่ประสบความสำเร็จ
ยังไม่นับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งก่อกำเนิดจากกลุ่มทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย คัดค้านการรัฐประหาร ต่อต้านเผด็จการ ที่รณรงค์ชุมนุมกันเป็นอีเวนต์รายสัปดาห์ ที่มีการประเมินว่ายังไม่ได้มีการขยายตัว เนื่องจากแนวร่วมที่เป็นพรรคการเมืองกำลังเตรียมความพร้อม หลังจาก คสช.เปิดเกมในสนามเลือกตั้ง ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว
ทว่า คสช.ยังต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างยืดหยุ่น โดยไม่เป็นการสร้างเงื่อนไขในการนำไปใช้ปลุกระดมมวลชนอื่นๆ ได้
ห้วงเวลานี้ คสช.จึงต้องเจอศึกอย่างรอบด้าน พร้อมไปกับการคงสภาพการทำงานของรัฐบาลให้ได้ผลงาน สร้างคะแนนความนิยมให้กับประชาชน โดยเฉพาะในระดับรากหญ้ามากขึ้น ผ่านโครงการช่วยเหลือคนจนจากงบประมาณเพิ่มเติมที่กำลังจะออกมา
บรรทัดสุดท้าย คือดำรงสภาพความพร้อมของรัฐบาลที่กำลังถูกมรสุดพัดกระหน่ำอยู่หลายลูก เพื่อเข้าสู่สถานการณ์เลือกตั้งที่ มีออปชัน "นายกฯ คนนอก" เป็นเดิมพันนั่นเอง!.
ทีมข่าวการเมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |