นอกจากปมประเด็นความไม่เป็นธรรมอันเนื่องจากการขัดผลประโยชน์ระหว่างทหารที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา กับเครือญาติของผู้บังคับบัญชาของกองทัพ จนนำมาซึ่งเหตุการณ์กราดยิงผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บเกือบร้อยราย ที่ห้างเทอร์มินอล 21 จ.นครราชสีมา จนนำมาซึ่งคำถามเรื่องโครงการสวัสดิการต่างๆ ของกองทัพที่มีเรื่อง "เงินทอน" และผลประโยชน์ทับซ้อน นำไปสู่การกดดันให้กองทัพรื้อขยะใต้พรมกวาดบ้านตัวเองแล้ว
อีกประเด็นสำคัญคือ ปัญหาเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย คลังอาวุธ ของหน่วยทหาร ที่มีอาวุธสงครามจำนวนมาก มีความหละหลวมและการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จนผู้ก่อเหตุสามารถปล้นอาวุธเหล่านั้นออกไปได้อย่างง่ายดาย
กองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 เป็นหน่วยต้นสังกัดของผู้ก่อเหตุ รวมถึงผู้บังคับบัญชาที่เป็นเครือญาติของคู่กรณี คือ พันเอกอนันต์ฐโรจน์ กระแสร์ ผู้บังคับกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ก็อยู่ที่หน่วยนี้ ดังนั้นกองพันดังกล่าวจึงเป็นค่ายใหญ่ พื้นที่กว้างขวาง ถือเป็น "คลังอาวุธ" หลัก คือ คลัง AT ที่ส่วนใหญ่สำรองอาวุธสหรัฐอเมริกามาก่อน ทั้งกระสุนปืน กระสุนปืนใหญ่ที่ใช้ในปฏิบัติการข้อพิพาท "ปราสาทเขาพระวิหาร" เมื่อหลายปีมาแล้ว ซึ่งคลังกระสุนแบ่งเป็นสองส่วน คือ คลังกระสุนปืนเล็ก ระเบิด และคลังกระสุนปืนใหญ่
ฟังที่ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เล่าลำดับเหตุการณ์ ทำให้เห็นภาพว่าผู้ก่อเหตุพกอาวุธปืนส่วนตัว 5 กระบอก ขับรถยนต์ส่วนตัวมาที่ป้อมรักษาการณ์ของกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 จากนั้นใช้อาวุธปืน 1 ใน 5 ชนิดที่นำมาด้วยขู่ยามรักษาการณ์ที่ป้อมยามของกองพันฯ บริเวณด้านหน้าค่าย จนได้ปืนเอชเค 33 ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของยามรักษาการณ์พร้อมกระสุนปืนอีก 40 นัดไป (กระสุนจำนวนนี้ไม่ได้บรรจุในแมกกาซีน) เมื่อขู่จนได้ปืนและกระสุนแล้วก็นำกระสุนบรรจุแมกกาซีน จากนั้นขับรถยนต์มาที่กองร้อยรักษาการณ์ซึ่งเป็นอาคารอยู่ห่างจากจุดป้อมยามพอสมควร แล้วกราดยิงเข้าไปจนถูกพลทหารเมธา เลิศศิริ ยามรักษาการณ์คลังอาวุธซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ เขาถูกนำส่ง รพ.แต่ชีพจรเต้นช้าลงๆ ที่สุดไม่สามารถยื้อชีวิตได้เพราะถูกยิงด้วยอาวุธเอชเค-33 จากนั้นผู้ก่อเหตุได้ใช้อาวุธปืนเรมิงตัน 870 ซึ่งเป็นปืนส่วนตัวที่กระสุนมีอานุภาพทำลายสูง ไปยิงประตูและลูกกุญแจคลังอาวุธเพื่อเข้าไปปล้นปืนเอชเค 33 จำนวน 1 กระบอก ปืนกลเอ็ม 60 อีก 1 กระบอกที่เก็บอยู่ในกองรักษาการณ์ไป
จากนั้นใช้ปืนเอชเค 33 กราดยิงยามรักษาการณ์ที่อยู่ตรงข้าม ทำให้พลทหารโชคชัย มูลจันทา และพลทหารอรรถพล วงศ์พล ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ยามรักษาการณ์ได้รับบาดเจ็บ โดยพลทหารทั้งคู่ไม่เฉลียวใจ จึงไม่ได้ทันระวังตัวและไม่ได้ต่อสู้กลับ สิ่งที่เขาทำอย่างแรกคือรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบทันที
จากนั้นผู้ก่อเหตุได้ขับรถยนต์ส่วนตัวไปหลัง บก.กองพันฯ ตอนนั้นทหารภายในเริ่มทราบว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นเพราะได้ยินเสียงปืน ผู้ก่อเหตุขโมยรถตรวจการณ์ทางทหาร หรือรถยนต์ต้นแบบ 51 ซึ่งเป็นรถจี๊ปดัดแปลง เพราะเขารู้ว่าหลัง บก.กองพันฯ มีรถตรวจการณ์ไว้สำหรับทหารตรวจพื้นที่ ซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) ที่ต้องมีมอเตอร์ไซค์หรือรถจี๊ปให้กำลังพลหรือกำลังเผชิญเหตุตรวจดูรอบบริเวณ หลังจากได้รถตรวจการณ์ไปก็ขับไปที่คลังเก็บกระสุนและชนประตูคลังจนเสียหาย และเข้าไปขโมยกระสุนปืนขนาด 5.56 มม.ที่ใช้กับปืนเอชเค 33 มาได้
ขณะเดียวกันชุดเผชิญเหตุได้พยายามไล่ติดตามแต่ไม่มีรถเนื่องจากถูกขโมยไป จึงต้องใช้รถส่วนตัว แต่ก็ไม่มีอาวุธเพราะอยู่ในคลัง จึงใช้ปืนพกไล่ยิง ผู้ก่อเหตุขับรถหนีออกมาพ้นนอกค่าย ชุดเผชิญเหตุได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสกัดจับ ผู้ก่อเหตุเมื่อออกพ้นนอกค่ายก็ได้ยิงประชาชนที่อยู่รายทาง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนายทหารที่ลาพักผ่อนมาเยี่ยมญาติได้เสียชีวิตด้วย ก่อนที่ผู้ก่อเหตุจะไปก่อเหตุที่ห้างดังกล่าว
“หน่วยมี 2 ลักษณะ คือหน่วยที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ในหน่วยที่ตั้งปกติ และหน่วยบริเวณแนวชายแดน ซึ่งหน่วยแบบหลังนี้จะมีการเตรียมพร้อม เพราะฉะนั้นมาตรการแต่ละหน่วยทั้งการติดซีซีทีวีหน้าคลัง การเก็บรักษากระสุน ยอมรับว่าหลายๆ หน่วยมาตรฐานอาจจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความใส่ใจของผู้บังคับบัญชา ซึ่งกองทัพบกเน้นเรื่องนี้ทุกยุคทุกสมัย แต่มาตรการนี้คือมาตรฐานหลักของกองทัพ ถ้ามันไม่ดีก็ต้องทำให้ดีขึ้น รัดกุมมากขึ้น มีคนรับผิดชอบในทุกๆ หน่วย ในทุกกองรักษาการณ์ ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบและป้องกันอย่างแน่นหนาอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ก็ไม่ดีทั้งนั้น ซึ่งผมก็จะพยายามทำให้ดีขึ้น ไม่ใช่วัวหายล้อมคอก” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแสดงว่าบริเวณกองร้อยรักษาการณ์มีพลทหารอยู่แค่ 3 นาย ซึ่งมีคำถามตามมาว่าสำหรับ "คลังอาวุธ" ขนาดใหญ่เช่นนี้ ถือว่าผู้บังคับหน่วยตามลำดับชั้น ชะล่าใจ-ปล่อยปละละเลย หรือไม่? ซึ่งปกติแล้วต้องมีชุดเผชิญเหตุ 5 นาย โดยมีสิบเอกหรือจ่าสิบเอกเป็นหัวหน้าชุด และรถตรวจการณ์พร้อมออกเผชิญเหตุเมื่อเกิดเหตุในค่ายหรือรอบค่ายเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และแม้ผู้ก่อเหตุจะปล้นรถไปแล้ว การประสานเพื่อขอกำลังสนับสนุนน่าจะเร็วกว่านี้
เมื่อฟังการลำดับเหตุการณ์จากปากพลเอกอภิรัชต์ แสดงให้เห็นว่าชุดเผชิญเหตุไม่อยู่ในบริเวณดังกล่าว อีกทั้งเมื่อดูตามระเบียบการเปิดคลังได้ต้องใช้กุญแจสองดอก ที่นอกจากทหารเวรแล้วยังต้องมี "นายสิบเวร" ที่ต้องสแตนด์บายอยู่บริเวณนั้นด้วย แต่กลับไม่ถูกเอ่ยถึงว่าอยู่ในขณะที่เกิดเหตุหรือไม่อย่างไร และแม้ว่าคนร้ายจะเป็นคนที่คุ้นเคยและรู้จักกับพลทหารที่อยู่รักษาการณ์ จนไม่คาดคิดว่าจะมีการปล้นและยิงทำร้าย แต่ก็มีคำถามเช่นกันว่า ในการไล่ติดตามคนร้ายที่ชุดเผชิญเหตุได้รายงานไปยังผู้บังคับบัญชาและประสานงานเจ้าหน้าที่ตำรวจให้สกัดจับ ได้แจ้งเหตุอย่างละเอียดหรือไม่
ที่สำคัญในช่วงดังกล่าวเป็นวันหยุดยาว กองทัพมีคำสั่งเป็นวิทยุไปยังหน่วยที่ตั้งแจ้งเตือนเรื่องการเฝ้าระวังหน่วยช่วงวันหยุดยาว "มาฆบูชา" อยู่แล้ว ถือเป็นการเน้นย้ำให้พร้อมปฏิบัติหากเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น
จึงปฏิเสธไม่ได้ที่กองทัพภาคที่ 2 ต้องสอบสวนถึงความผิดพลาดบกพร่อง หรือความหละหลวมในการปฏิบัติ เพราะนอกจากส่งผลให้พลทหาร 1 นายต้องเสียชีวิต และอีก 2 นายบาดเจ็บ และไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในวงจำกัด จนทำให้ผู้ก่อเหตุนำอาวุธสงครามไปก่อเหตุสังหารผู้บริสุทธิ์ จนต้องย้อนกลับไปดูจุดก่อเหตุในค่ายทหาร ที่แม้จะยืนยันเรื่องมาตรการที่รัดกุมตามมาตรฐานสากลแล้วก็ยังทำให้เกิดคำถามขึ้น
และก่อนที่จะมีการปรับมาตรการ เพิ่มความเข้มข้นให้เกิดความรัดกุมมากขึ้น เดินหน้าสังคายนาระบบที่ไม่เป็นธรรม เรียกศรัทธาให้กลับคืนสู่กองทัพตามคำประกาศของผู้บัญชาการทหารบกแล้ว ยกแรกคงต้องดู "การเชือดไก่ให้ลิงดู" จากการปรับย้ายกลางปีที่กำลังจะมาถึง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |