นายวรวิทย์ กังศศิเทียม , นายทวีเกียรติ มีนะกษิษฐ์ , นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ,นายจิรนิตติ หะวานนท์
ในที่สุดเราก็ได้ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่อีก 4 คน หลังจากเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) โดยมีวาระสำคัญเพื่อให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ 5 คน โดยที่ประชุมดำเนินการลงมติทางลับ โดยมีบุคคลได้รับความเห็นชอบเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ จำนวน 4 คน
โดยผู้ที่รับความเห็นชอบ ประกอบด้วย 1.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา มติเห็นชอบ 216 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง 2.นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา มติเห็นชอบ 217 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา มติเห็นชอบ 216 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง
4.นายนภดล เทพพิทักษ์ อดีตเอกอัครราชทูตสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สายผู้ทรงคุณวุฒิ มติเห็นชอบ 203 เสียง ไม่เห็นชอบ 12 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ส่วนนายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด มติเห็นชอบ 52 เสียง ไม่เห็นชอบ 132 เสียง งดออกเสียง 28 โดยในส่วนของสายศาลปกครองจะต้องมีการสรรหาใหม่อีก 1 คน
ซึ่งตามหลักเกณฑ์ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งจาก ส.ว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ คือเกิน 125 เสียง (ทั้งหมด 250 เสียง) โดยนายชั่งทองได้แค่ 52 เสียง และไม่เห็นชอบ 132 เสียง ทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว และคณะกรรมการสรรหาจะต้องดำเนินการสรรหาใหม่อีกครั้ง ส่วนผู้ได้รับความเห็นชอบ 4 ราย หลังจากนี้ประธานวุฒิสภาจะนำรายชื่อทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อโปรดเกล้าฯ ดำรงตำแหน่งต่อไป
ปัจจุบันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมี 9 คน โดยมี 5 คนพ้นตำแหน่ง เพราะอยู่ครบวาระ และมีอีก 4 คน ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยนายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะพ้นตำแหน่งเพราะครบวาระเช่นกัน ดังนั้นจะต้องมีการประชุมเพื่อลงมติเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ประวัติผู้ถูกคัดสรรเป็นตุลาการไม่ธรรมดา โดยเริ่มจากนายวิรุฬห์ เริ่มรับราชการในตำแหน่งอัยการ ผู้พิพากษาประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมุกดาหาร, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดกาฬสินธุ์, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมา, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเบตง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา, รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา, รองประธานศาลฎีกา, ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ผลงานที่สำคัญคือ เป็นองค์คณะที่ร่วมพิพากษาคดีโครงการจำนำข้าว และคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
ต่อมานายอุดมเริ่มรับราชการในตำแหน่งนายทหารพระธรรมนูญ, ผู้พิพากษาประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแม่สอด, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพิษณุโลก, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครสวรรค์, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุทัยธานี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดกำแพงเพชร, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6, ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 5, ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ภาค 3, รองประธานศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา
ขณะที่ นายจิรนิติ หะวานนท์ เริ่มรับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลแพ่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง, เลขานุการศาลฎีกา, ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์, ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 2, ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์, อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
มีความเชี่ยวชาญข้อกฎหมาย โดยระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา ในปี 2560 เคยเป็นเจ้าของสำนวนและองค์คณะคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีอาญาและแพ่งที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา นายเกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย คนสนิทของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และอดีตที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่ กรณียื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ
นายนภดล เทพพิทักษ์ เริ่มทำงานในตำแหน่งบริหารระดับสูงครั้งแรก โดยเป็นอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกและแอฟริกา แล้วออกไปเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (กรุงไคโร) จนถึงปี 2553 เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำนิวซีแลนด์ (กรุงเวลลิงตัน) แล้วเข้ามาเป็นรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระยะหนึ่งก่อนออกต่างประเทศ ครั้งสุดท้ายเป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (เวียงจันทน์)
ซึ่งหลังจากนี้ประธานวุฒิสภาจะต้องส่งรายชื่อเพื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง โดยการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน มีวินิจฉัยคดีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจะรอดูว่า 5 คนที่จะเข้ามาเป็นตุลาการจะสามารถผ่านความกดดันทางการเมืองและกระแสสังคมได้อย่างไร.
วอชเชอร์
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |