ยุคเศรษฐศาสตร์ระบาดวิทยา


เพิ่มเพื่อน    

       บางคนบอกว่าที่บาทอ่อนลงนั้นเป็นเพราะการระบาดของไวรัสอู่ฮั่น มิได้เป็นฝีมือของแบงก์ชาติ และอีกบางคนก็ตั้งคำถามใหม่ว่าบาทอ่อนลงตามเสียงเรียกร้องแล้ว จะทำให้การส่งออกดีขึ้นหรือไม่

                คำตอบจากคนกลุ่มที่สามก็คือ มันจะดีขึ้นได้อย่างไรถ้าไวรัสอู่ฮั่นยังอาละวาดไม่จบ

                สรุปว่าจากนี้ไปนักเศรษฐศาสตร์ต้องเรียนวิชาระบาดวิทยาอีกแขนงหนึ่ง จึงจะสามารถวิเคราะห์ภาพเศรษฐกิจได้แม่นยำ

                เขาเรียกมันว่า The Economics of Epidemiology (เศรษฐศาสตร์แห่งระบาดวิทยา) หรือ Health  Economics (เศรษฐศาสตร์สุขภาพ)

                น้อยคนจะแปลกใจกับมติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จากเดิม 1.25% มาเป็น 1.00% โดยให้มีผลทันที

                ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดในประวัติศาสตร์ทีเดียว

                เหตุผลก็เห็นได้ชัดเจน...นั่นคือแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่ประเมินไว้ มีสาเหตุทั้งเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนาที่มาจากข้างนอก

                และปัจจัยภายในที่เกิดจากความล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และภัยแล้ง  (ผสมกับมลพิษทางอากาศที่เกิดจาก PM2.5)

                คุณทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  บอกว่า กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่า "ที่ประเมินไว้เดิม" และ "ต่ำกว่าศักยภาพที่ประเมินไว้มาก"

                อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบที่ประมาณการ

                มีผลทำให้เสถียรภาพทางการเงิน "เปราะบางมากขึ้น" จากแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

                ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการต่างๆ ทั้งการเงินและการคลัง

                กนง.จึงมีความเห็นว่า มาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มมากขึ้น นั่นคือการลดอัตราดอกเบี้ย  จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น

                และจะสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ภาคธุรกิจและครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

                กนง.บอกด้วยว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่าประมาณการเดิม และต่ำกว่าระดับศักยภาพมากจากปัจจัยทั้งสามประการข้างต้น

                นั่นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องเป็นจำนวนมาก

                การท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลงจากประมาณการเดิมมาก

                อีกทั้งการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคด้วย

                ที่มาซ้ำเติมปัญหาคือ การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลงจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้าและยังมีความไม่แน่นอนสูง

                มิหนำซ้ำการบริโภคภาคเอกชนก็โดนกระหน่ำจากรายได้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ทั้งจากครัวเรือน ภาคบริการ เกษตรและอุตสาหกรรม

                ที่ไม่อาจจะมองข้ามได้คือ ระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง

                ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หลายสำนักกำลังทบทวนประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

                จากเดิมส่วนใหญ่มองว่าน่าจะอยู่ที่ 2.8%

                แต่บางค่ายเริ่มจะปรับลดลงมาที่ 2.5%

                นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการพยากรณ์ตัวเลขขณะนี้ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบจากไวรัสอู่ฮั่น ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะวิ่งขึ้นไปถึงจุดสูงสุดเมื่อใดก่อนที่จะค่อยๆ ลดความรุนแรงลงจนถึงจุด "เลิกนับจำนวนคนป่วยและคนตาย"

                เมื่อเป็นเช่นนี้ตัวเลขอัตราโตจีดีพีที่ 2.5% ก็ยังต้องถือว่าอยู่ในเกณฑ์ "มองโลกในแง่ดี"

                หากจะ "มองโลกในแง่ร้าย" บางสำนักก็วาดภาพว่าตัวเลข 2.0% อาจจะไม่ใช่การใส่ร้ายกันมากเกินไป

                แต่หากจะมองอย่างกลางๆ เผื่อลบเผื่อบวกและเผื่อความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านบวกและลบให้ครบถ้วน อัตราโตที่ 2% บวกๆ ก็อาจจะสมเหตุสมผลในระดับหนึ่ง

                แต่จะบวกมากหรือน้อยย่อมอยู่ที่การระดมสมองของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการที่จะร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา

                และร่วมกันเขียนแผนแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และร่างแผนระยะกลางที่มีการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยความร่วมมือและประสานกันทุกฝ่ายอย่างเข้มข้น

                ทุกคนต้องรอด บ้านเมืองถึงจะรอด

                ใครคิดจะเอาตัวรอดแต่เพียงฝ่ายเดียว คิดผิดแน่นอนครับ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"