ศาลสั่งจำคุก 'สมเกียรติ' 2 ปี 'เจ๊ปอง' โดน 1 ปีไม่รอลงอาญาคดีบุก NBT


เพิ่มเพื่อน    

12 ก.พ.63 - ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.1033/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก, นายภูวดล ทรงประเสริฐ, นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที แนวร่วม พธม. และนายชิติพัทธ์ ลิ้มทองกุล น้องชายของนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำ พธม. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก มั่วสุม สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง อั้งยี่ซ่องโจรฯ กรณีร่วมกันบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ในช่วงการชุมนุมของ พธม. เพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551

คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 25-26 ส.ค. 2551 จำเลยทั้งห้ากับพวก 85 คน ที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษแล้ว ร่วมกันกระทำความผิดเป็นซ่องโจร มั่วสุมก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยร่วมกันเดินขบวนในถนนสาธารณะจากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ และจากที่อื่นๆ โดยมีอาวุธปืน มีด ขวาน ไม้กอล์ฟ ไม้ท่อน หนังสติ๊ก ลูกเหล็ก แล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณและอาคารสำนักงานสถานีเอ็นบีที ทุบทำลายประตูหน้าต่าง ตัดสายไฟฟ้าตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบกล้องวงจรปิด ทำลายระบบส่งสัญญาณการออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ และร่วมกันข่มขืนใจพนักงานไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ออกอากาศและกระจายเสียง และสั่งให้ออกไปจากอาคารสถานี โดยจำเลยทั้งห้าเป็นหัวหน้าและเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันบุกรุก และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210, 215, 309, 358, 364 และ 365 จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว

วันนี้จำเลยทั้งหมดเดินทางมาฟังคำพิพากษาครบทุกคน โดยนายภูวดลนั่งรถเข็นมาศาล และมีกลุ่มคนเดินทางมาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง

โดย น.ส.อัญชะลี เดินทางมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มทักทายสื่อมวลชน และให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นฟังการพิจารณาคดีว่า วันนี้มาฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีบุกสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบคำพิพากษาของศาล แต่ก็ได้เตรียมหลักทรัพย์ในการยื่นประกันตัวมาด้วย สำหรับคดีนี้กลุ่มของตน 1-5 คน ที่จะมาฟังคำพิพากษาในวันนี้เป็นคดีที่อัยการฟ้องเพิ่มภายหลังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ส่วนรายละเอียดในคดีให้ทีมทนายความดำเนินการทั้งหมด ทั้งเอกสาร พยานในการต่อสู้คดี รวมถึงหลักทรัพย์ในการยื่นประกันตัว โดยตนเองไม่ทราบถึงรายละเอียด ส่วนนายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ได้ติดต่อให้กำลังใจมาตลอด ล่าสุดได้กล่าวกับตัวเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องเกิด เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความจริงได้

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปดูแลรักษาความปลอดภัย, ผอ.สถานีเอ็นบีที และช่างภาพสถานีเอ็นบีที เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุกลุ่ม พธม. ชุมนุมกันที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อขับไล่รัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2551 แกนนำ พธม. ประกาศว่าวันที่ 26 ส.ค.2551 จะบุกสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งสถานีเอ็นบีเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2551 ในเวลา 05.00 น.มีกลุ่มนักรบศรีวิชัย ซึ่งเป็นการ์ดของกลุ่ม พธม. บุกรุกเข้าไปในอาคารสถานีเอ็นบีที ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมได้ 85 คน หลังจากนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางมาที่หน้าประตูทางเข้าออกด้านหน้าสถานี จนเวลา 06.00 น.ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่พร้อมรถยนต์บรรทุกติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่มาถึงสถานีเอ็นบีที่หลายคันผู้ชุมนุมบนรถดังกล่าวผลัดเปลี่ยนกันพูดโจมตีรัฐบาลและสถานีเอ็นบีที ว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ต้องการยึดเอ็นบีทีให้จอดำและเชื่อมต่อสัญญาณออกอากาศเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกลุ่ม พธม. รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับไปก่อนหน้านี้

โดยเจ้าพนักงานตำรวจที่เป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุอยู่ในลักษณะประจันหน้ากันที่ประตูรั้ว พยานเห็นจำเลยทั้ง 5 อยู่บนรถ และมีพยานจำเสียงของจำเลยที่ 2 ได้ โดยโจทก์มีภาพถ่ายเป็นพยานหลักฐานด้วย ต่อมากลุ่ม พธม. ได้พังประตูรั้วเหล็กฝ่าแนวกั้นของเจ้าพนักงานตำรวจบุกรุกเข้าไปในบริเวณพื้นที่และอาคารสถานีเอ็นบีที ซึ่งจำเลยที่ 5 ประกาศต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจว่าผู้ชุมนุมเป็นกองทัพประชาชน มีผู้สั่งการให้มายึดเอ็นบีที ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจออกจากอาคารสถานีไป จากนั้นกลุ่ม พธม. ได้ยึดพื้นที่สถานีและอาคารดังกล่าว จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.00 น.จึงออกจากพื้นที่ดังกล่าว นอกจากพยานในที่เกิดเหตุแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจผู้ติดตามความเคลื่อนไหวการชุมนุมทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และผู้ถอดเทปคำปราศรัยบนเวทีชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ยังเบิกความข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบุกยึดสถานีเอ็นบีทีอย่างสอดคล้องกัน พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคง รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกที่บุกรุกเข้าไปในอาคารสถานีเอ็นบีที เมื่อเวลา 08.00 น.กับกลุ่มนักรบศรีวิชัยที่บุกรุกเข้าไปในอาคารสถานีเอ็นบีที เมื่อเวลา 05.00 น.ในวันที่ 26 ส.ค.2561 มีเจตจำนงเดียวกัน กระทำการต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเพื่อปฏิบัติภารกิจบุกยึดสถานีเอ็นบีทีให้บรรลุเป้าหมายที่แกนนำร่วมกันมีมติเป็นการร่วมกันกระทำความผิด

ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1, 2, 3, 4 ซึ่งอ้างว่ามีผู้ชุมนุมดาวกระจายไปที่สถานีเอ็นบีที่แล้วถูกจับกุมไป ยังมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งอยู่ที่หน้าสถานีเอ็นบีที เมื่อจำเลยทราบข่าวจึงเคลื่อนขบวนติดตามไปภายหลังเพื่อจะนำมวลชนที่อยู่หน้าสถานีเอ็นบีทีกลับมาที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยไม่ได้เข้าไปในสถานีเอ็นบีที และจำเลยที่ 5 เป็นเพียงผู้ชุมนุมธรรมดาที่เดินทางไปร่วมชุมนุม ไม่ได้พูดประกาศต่อเจ้าพนักงานตำรวจนั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันบุกรุก ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ส่วนความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรนั้น โจทก์ยังไม่มีพยานหลักฐานว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกและกลุ่มนักรบศรีวิชัยสมคบกันร่วมประชุมวางแผนกัน  จึงลงโทษในความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรไม่ได้ จำเลยที่ 1 เป็นแกนนำของกลุ่ม พธม. ร่วมสมคบคิดบุกยึดสถานีเอ็นบีที ขึ้นเวทีชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ร่วมประกาศภารกิจและเดินทางไปในลักษณะกำกับดูแล เป็นหัวหน้าเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด แต่สำหรับจำเลยที่ 2-5 พยานหลักฐานยังไม่ชัดว่าเป็นหัวหน้าหรือมีหน้าที่สั่งการในการบุกยึด

การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท พิพากษาให้ลงโทษบทหนักสุด ฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ให้จำคุกนายสมเกียรติ จำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุก น.ส.อัญชะลี จำเลยที่ 2 นายภูวดล จำเลยที่ 3 นายยุทธิยง จำเลยที่ 4 และนายชิติพัทธ์ จำเลยที่ 5 คนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา หลังจากนี้ จำเลยทั้งห้าได้ยื่นประกันตัวสู้คดีชั้นอุทธรณ์ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีบุกยึด NBT ก่อนหน้านี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาในส่วนของการ์ดและผู้ชุมนุม พธม. คดีหมายเลขดำ อ.4486/2551 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธเนศร์ คำชุม กับพวกรวม 85 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ดของกลุ่ม พธม. และผู้ชุมนุม พธม. เป็นจำเลยที่ 1-85 ใน โดยศาลฎีกาพิพากษายืน ให้จำคุก นายธเนศร์ คำชุม จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 8 เดือน, นายเมธี อู่ทอง จำเลยที่ 24 จำคุก 8 เดือน, นายนัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าการ์ดเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) จำเลยที่ 14 กับจำเลยที่ 2-13, 15-23, 25-29, 31-41, 43– 46, 48 - 80, 82 รวม 76 ราย จำคุกคนละ 6 เดือน แต่ศาลยังให้รวมโทษปรับนายชนินทร์ อินทร์พรหม จำเลยที่ 2, นายจรัส วีระพันธ์ จำเลยที่ 39 กับนายธนพล แก้วเชิด จำเลยที่ 80 ในความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอีกคนละ 500 บาท ส่วนนายอัมรินทร์ ยี่เฮง จำเลยที่ 48 ยังให้บวกโทษคดีนี้กับคดีอื่นอีก 3 เดือน จึงจำคุกรวม 9 เดือน และนายประดิษฐ์ คงช่วย จำเลยที่ 70 ก็เช่นกัน ให้บวกโทษกับคดีอื่นอีก 2 เดือน จึงจำคุกรวม 8 เดือน

สำหรับกลุ่มที่เป็นเยาวชนขณะกระทำความผิด ประกอบด้วยจำเลยที่ 30, 47, 81 นั้น ซึ่งระหว่างกระทำผิดอายุยังไม่เกิน 20 ปี ให้จำคุกคนละ 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 83-85 ระหว่างกระทำผิดยังเป็นเยาวชน ให้จำคุกคนละ 3 เดือน ศาลจึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกทั้งหกรายจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ส่วนความผิดฐานซ่องโจรนั้นให้ยกฟ้อง สำหรับจำเลยห้ารายที่ไม่มาศาลนั้น ประกอบด้วยจำเลยที่ 31, 37, 59, 78, 84 ศาลให้ออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนของตน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"