เป็นไปตามความคาดหมายของหลายฝ่าย ที่สุดท้ายผลการลงมติ ลับ ของที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันอังคารที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ครบตามจำนวนที่วุฒิสภาได้รับชื่อมา 5 ชื่อ โดยโหวตเห็นชอบเพียงแค่ 4 ชื่อเท่านั้น หลังมีกระแสข่าวออกมาตลอดหลายสัปดาห์ว่า บางรายชื่อที่มาจากสายศาลอาจมีปัญหาจนทำให้วุฒิสภาโหวตไม่เห็นชอบ
ผลการลงมติ เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ ที่เป็นการลงคะแนน ลับ ซึ่งบุคคลที่จะเข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน.จะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ว.คือไม่น้อยกว่า 125 เสียง ผลออกมาสรุปได้ว่า รายชื่อที่ส่งมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 รายชื่อ ได้เข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน.ทั้งหมดคือ อุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตในศาลฎีกา เห็นชอบ 216 ไม่เห็นชอบ 3 เสียง วิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เห็นชอบ 216 ไม่เห็นชอบ 3 เสียง จิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เห็นชอบ 217 ไม่เห็นชอบ 2 เสียง
เช่นเดียวกับชื่อที่ส่งมาจากคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ก็ได้รับการโหวตเห็นชอบคือ นภดล เทพพิทักษ์ อดีตเอกอัครราชทูต เห็นชอบ 203 ไม่เห็นชอบ 12 ไม่ออกเสียง 4 เสียง
แต่ชื่อที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดคือ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ไม่ผ่านความเห็นชอบ เพราะมีเสียงเห็นชอบเพียง 52 เสียง แต่มีเสียงไม่เห็นชอบถึง 139 เสียง ไม่ออกเสียง 28 เสียง ถือเป็นจำนวนเสียงไม่เห็นชอบที่สูงมาก ชนิดที่ไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยครั้งนักในการโหวตเลือกองค์กรอิสระหรือองค์กรศาลหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา
กรณีของ ชั่งทอง อดีตผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดอยู่ในปัจจุบัน พบว่าหลังศาลปกครองสูงสุดเปิดรับสมัครตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่จะเข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน. แต่ปรากฏว่าไม่มีคนสมัคร จนศาลปกครองสูงสุดต้องทำหนังสือถึงคณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน เพื่อขอหารือเรื่องการลดสเปกระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดลง จนสุดท้ายกรรมการสรรหาฯ ให้ลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลปกครองสูงสุด จากไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 3 ปี ศาลปกครองจึงเปิดรับสมัครอีกรอบ ทำให้ชั่งทองไปสมัครคัดเลือกเพียงคนเดียว จนได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และสุดท้ายวุฒิสภาก็โหวตไม่เห็นชอบ ชั่งทอง ไม่ได้ไปต่อในเก้าอี้ตุลาการศาล รธน.
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 12 บัญญัติเรื่องขั้นตอนการเข้าทำหน้าที่ตุลาการศาล รธน.ไว้ โดยสรุปความว่า "เมื่อมีผู้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้ว หากเป็นกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับตุลาการซึ่งยังไม่พ้นจากตําแหน่ง ถ้ามีเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และในกรณีที่ผู้ซึ่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจํานวนที่ต้องสรรหาหรือคัดเลือก แต่เมื่อรวมกับตุลาการซึ่งยังดํารงตําแหน่งอยู่ ถ้ามีจํานวนถึงเจ็ดคนก็ให้ดําเนินการประชุมเพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว ให้ศาลดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไปพลางก่อนได้ โดยในระหว่างนั้นให้ถือว่าศาลประกอบด้วยตุลาการเท่าที่มีอยู่"
เท่ากับว่าหลังจากนี้ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 ตุลาการจากศาลฎีกาต้องไปลาออกจากการเป็นข้าราชการตุลาการให้เรียบร้อย ภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน ขณะที่ นภดล ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว จากนั้นพอเคลียร์ทุกอย่างเรียบร้อย ทั้ง 4 คนก็ต้องไปร่วมประชุมกับตุลาการศาล รธน.อีก 4 คนชุดปัจจุบันที่ยังไม่หมดวาระ คือ วรวิทย์ กังศศิเทียม, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และ ปัญญา อุดชาชน เพื่อเลือกประธานศาล รธน.คนใหม่แทน นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาล รธน. เมื่อได้ชื่อแล้วประธานวุฒิสภาจึงนำรายชื่อทั้งหมดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป เท่ากับจะทำให้ตุลาการศาล รธน.แผงใหม่มีด้วยกัน 8 เสียงเป็นเลขคู่ จากปกติที่ตุลาการศาล รธน.ที่ปฏิบัติหน้าที่จะเป็นเลขคี่ กันไปก่อนชั่วคราว
ส่วนตำแหน่ง ประธานศาล รธน.คนใหม่ ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าแคนดิเดตอาจมีชื่อของ วรวิทย์ กังศศิเทียม อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด กับ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อาจเป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้ประธานศาล รธน.ในกลุ่ม 4 ตุลาการชุดปัจจุบันที่ยังไม่ครบวาระ ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่าในส่วนของ 4 ว่าที่ตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่ ให้จับตาชื่อของ อุดม-จิรนิติ ที่อาจเข้าชิงเก้าอี้ประธานศาล รธน.คนใหม่เช่นกัน ซึ่งในส่วนของ ดร.จิรนิติ เป็นผู้พิพากษาที่มีความสัมพันธ์อันดีกับ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาล รธน. เพราะเคยทำงานที่สำนักประธานศาลฎีกาด้วยกันหลายปี และยังพบว่าก่อนหน้านี้เคยเข้าไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในยุคหลัง คมช.ทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ด้วย แต่ต่อมาได้ลาออกกลางคัน
ขณะเดียวกันเรื่อง คดีความ-คำร้อง ในชั้นศาล รธน. ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจใหม่ในศาลรธน. พบว่า พรรคอนาคตใหม่ กำลังเลือดเข้าตา ดิ้นสู้อย่างหนัก ก่อนที่จะถึงวันนัดฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่กรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ.นี้
เห็นได้จากเมื่อวันอังคารที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ฝ่ายกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นหนังสือไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านคำสั่งของศาล รธน.ที่กำหนดให้พรรคจัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นเป็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 12 ก.พ. เพราะให้เวลากระชั้นชิดเกินไป รวมถึงเรียกร้องให้ศาลเปิดกระบวนการพิจารณาในศาลเพื่อเรียกพยานบุคคล 17 รายมาไต่สวนเบิกความ
ทว่าประเมินแล้วศาล รธน.คงไม่มีการทบทวนเรื่องการไม่เปิดห้องพิจารณาไต่สวนตามที่พรรคอนาคตใหม่ต้องการ เพราะถือว่าศาล รธน.มีมติและมีคำสั่งไปแล้วให้นัดประชุมลงมติและอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ 21 ก.พ. ดังนั้นการจะมากลับความเห็น เปลี่ยนท่าทีกลางคันคงยากที่จะทำได้
สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ทำได้อย่างเดียวต่อจากนี้ก็คือ ลุ้นให้พรรคไม่โดนยุบและกรรมการบริหารพรรคไม่โดนตัดสิทธิทางการเมืองในวันที่ 21 ก.พ. ที่ศาล รธน.จะเริ่มอ่านคำวินิจฉัยเวลา 15.00 น.ที่เป็นช่วงเวลาที่คนอนาคตใหม่บอกว่าเป็นสัญญาณไม่ค่อยดี!!!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |