วุฒิสภาลงมติเลือกแล้ว 4 ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ "ชั่งทอง" หลุดโผ เหตุเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดไม่ถึง 5 ปี เตรียมแจ้งหน่วยงานในสังกัดสรรหาคนใหม่ภายใน 30 วัน ขณะที่ประธาน ส.ว.เตรียมนำ 4 รายชื่อทูลเกล้าฯ ถวายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเลือกประธานแล้วเสร็จ
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุม ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 12 วรรคแปด หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยคณะกมธ.ดังกล่าวได้ขอขยายเวลาพิจารณารวมแล้ว 4 ครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตในศาลฎีกา, นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา, นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และนายนภดล เทพพิทักษ์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
พล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อฯ ชี้แจงว่า การตรวจสอบประวัติและข้อมูลเชิงลึกนั้นไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เพราะต้องรักษาข้อมูลให้เป็นการพิจารณาแบบลับ อย่างไรก็ตามระยะเวลาที่ใช้จำนวนมาก เพราะหลังจากที่ กมธ.ได้รับข้อมูลต้องส่งไปยังหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ตรวจสอบ ซึ่งระบบราชการมีความล่าช้า โดยเฉพาะการจัดเก็บเอกสารแบบรุ่นโบราณ ทำให้ใช้เวลาค้นหาข้อมูลตามที่ต้องการใช้เวลาจำนวนมาก ซึ่งการทำงานของ กมธ.สามารถตรวจสอบได้แค่นี้ ตามความยากที่ได้ข่าวสารหรือเนื้อหาต่างๆ ตามต้องการ ตามเวลาที่กำหนด
พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. หารือว่าทั้ง 5 บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 กำหนดให้มีโควตาของบุคคลที่ได้รับการสรรหามาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหนงไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (5) ต้องมี 2 คน แต่กรณีที่เสนอชื่อมีเพียงคนเดียวคือ นายนภดล ดังนั้นในอนาคตหากมีบุคคลร้องต่อองค์พิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญอาจมีปัญหาได้ จึงขอให้นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการกรรมการสรรหา ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวด้วย
พล.อ.ต.เฉลิมชัยกล่าวด้วยว่า จากการอ่านรายงานของคณะกรรมการสรรหาบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด ไม่พบประเด็นวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหา ดังนั้นอาจเป็นเผือกร้อนของประธานวุฒิสภาที่มีหน้าที่นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแต่งตั้ง
นายพรเพชรชี้แจงว่า ตนไม่อนุญาตให้ถามเลขาธิการวุฒิสภาในประเด็นดังกล่าว เพราไม่มีอำนาจให้ตนต้องปฏิบัติตาม ยอมรับว่าเป็นความรับผิดชอบของตนที่จะนำรายชื่อหลังจากที่วุฒิสภาเห็นชอบทูลเกล้าฯ ถวาย ทั้งนี้ การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้ระยะเวลาจำนวนมากในการตรวจสอบประวัตินั้น ไม่ขอแก้ตัวแทน แต่ กมธ.ได้รับเวลาสรรหาครั้งแรกเพียง 45 วัน ซึ่งน้อยกว่าข้อบังคับที่วุฒิสภาเขียนขึ้นภายหลังว่า กำหนดให้ใช้เวลา 60 วัน
จากนั้นที่ประชุมได้ยุติการหารือและเข้าสู่ขั้นตอนของการประชุมลับเพื่อพิจารณารายงานของ กมธ. ต่อมาที่ประชุมได้เปิดการประชุมอีกครั้ง และให้ ส.ว.ทั้งหมดลงคะแนนในคูหาที่เตรียมไว้ กระทั่งเวลา 15.15 น. พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น ได้ประกาศผลการลงมติ ดังนี้ นายอุดม เห็นชอบ 216 ไม่เห็นชอบ 3 เสียง
นายวิรุฬห์ เห็นชอบ 216 ไม่เห็นชอบ 3 เสียง, นายจิรนิติ เห็นชอบ 217 ไม่เห็นชอบ 2 เสียง และนายนภดล เห็นชอบ 203 ไม่เห็นชอบ 12 ไม่ออกเสียง 4 เสียง เท่ากับทั้ง 4 คนดังกล่าวได้รับคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่ทั้งหมด จึงได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนนายชั่งทอง ได้คะแนนเห็นชอบ 52 ไม่เห็นชอบ 139 ไม่ออกเสียง 28 เสียง ถือเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุผลที่นายชั่งทองไม่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก ส.ว.ส่วนใหญ่มองว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 200 กำหนดคุณสมบัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากสายศาลปกครองสูงสุดว่า ต้องดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่นายชั่งทองเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดไม่ถึง 5 ปี แต่ที่ผ่านการคัดเลือกมาได้ เพราะที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณา ลดเวลาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดเหลือต่ำกว่า 5 ปี ในการไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าใช้เงื่อนไขต้องดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดไม่น้อยกว่า 5 ปี จะไม่มีตุลาการศาลปกครองสูงสุดคนใดได้รับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งวรรคท้ายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 200 ระบุว่า ในกรณีจําเป็นให้คณะกรรมการสรรหาจะประกาศลดระยะเวลาลดลงจาก 5 ปีได้ แต่จะเหลือน้อยกว่า 2 ปีมิได้ ในที่สุดคณะกรรมการสรรหาฯ มีมติลดเวลาการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดเหลือไม่น้อยกว่า 3 ปี ทำให้นายชั่งทองมีคุณสมบัติได้รับคัดเลือกไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดมา 3 ปีกว่า
อย่างไรก็ตาม ส.ว.หลายคนมองว่าการลดเวลาดำรงตำแหน่งลงมาเหลือ 3 ปีของคณะกรรมการสรรหาฯ เป็นการลดสเปกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ควรเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์สูงมาทำหน้าที่สำคัญ ไม่ควรลดหย่อนกฎเกณฑ์ใดๆลงมา เพราะตัวแทนศาลฎีกาและผู้ทรงคุณวุฒิสาขาอื่นต่างๆ ดำรงตำแหน่งมากกว่า 5 ปี จึงไม่ควรที่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดจะลดเวลาดำรงตำแหน่งลงมา
นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา กล่าวว่า กรณีที่ ส.ว.ไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 คนนั้น ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 12 วรรคเก้า ระบุว่าให้ ส.ว.แจ้งผลการลงมติไปยังคณะกรรมการสรรหา ซึ่งกรณีดังกล่าว ส.ว.จะแจ้งไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดให้รับทราบว่านายชั่งทอง บุคคลที่สรรหามาจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้รับความเห็นชอบ จากนั้นหน่วยงานต้องสรรหาคนใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
นายสมชายกล่าวอีกว่า สำหรับ 4 คนที่ได้รับความเห็นชอบ ตามขั้นตอนต้องลาออกจากตำแหน่งที่สังกัดในปัจจุบัน ภายใน 15 วัน จากนั้นสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ จะนัดประชุม 4 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งปัจจุบันและยังไม่พ้นวาระ ร่วมกับ 4 ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นำรายชื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ และ 4 ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนที่ต้องพ้นวาระนั้น ส่วนตัวมองว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า 4 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |