ผนึกกำลังดันนวัตกรรม


เพิ่มเพื่อน    


    ปัจจุบันนี้แนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการเริ่มเดินไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการเปิดตัวโครงการต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีการรับรู้และเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากต้องยอมรับว่าประเทศไทยส่วนใหญ่จะประกอบด้วยผู้ประกอบการรายเล็กๆ ซะมากกว่ารายใหญ่ หากมีการเข้ามาสนับสนุนให้กลุ่มนี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ก็จะช่วยผลักดันภาพรวมของเศรษฐกิจไปด้วย
    และที่ผ่านมาการผนึกกำลังของทั้งจากเอกชนกับเอกชน รัฐกับรัฐ หรือเอกชนกับรัฐเอง เพื่อให้เกิดการสนับสนุนผู้ประกอบการที่เรียกว่าเอสเอ็มอีนั้น ก็มีความหลากหลายและถือว่าครอบคลุมเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการมอบเงินทุน การมอบความรู้ การให้โอกาส และเปิดช่องทางการตลาด รวมถึงพัฒนาคน พัฒนาแนวธุรกิจ และทำให้เกิดการจับคู่ธุรกิจร่วมกันเองภายในประเทศและภายนอกประเทศ ซึ่งมีหลายโครงการพิสูจน์ได้ว่าสามารถสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เกิดประโยชน์ได้จริง
    และเมื่อเร็วๆ นี้เองก็เกิดการผนึกกำลังขึ้นอีกครั้งระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กับสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยได้เริ่มโปรแกรมพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร หรือ IOP เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเกิดความรู้และเข้าใจในการบริหารจัดการนวัตกรรมภายในองค์กร และทราบสถานะระดับความสามารถทางนวัตกรรมของตัวเอง
    เพื่อให้สามารถกำหนดแผนงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำไปสู่การยกระดับส่วนงานต่างๆ ในธุรกิจได้มากขึ้น ทั้งนี้ โปรแกรม IOP มีการให้บริการเพื่อยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมกับองค์กรใน 3 ระดับคือ การประเมินศักยภาพนวัตกรรมขององค์กรด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ การเข้าประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อระบุโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ และการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนานวัตกรรมองค์กร
    นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวย NIA กล่าวว่า ทางหน่วยงานได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ในการนำนวัตกรรมมาต่อยอดและพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง เพราะกลุ่มธุรกิจดังกล่าวถือเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวสู่ “เศรษฐกิจ 4.0” ตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มของจีดีพีการจ้างงาน
    รวมทั้งภาพลักษณ์ที่ดีต่อความน่าลงทุนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่ายังมีเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดการเข้าถึงนวัตกรรม และยังไม่สามารถนำองค์ความรู้ งานวิจัย รวมถึงกระบวนการที่แตกต่างมาสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้ ดังนั้น ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นความท้าทายที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องหันมาให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโอกาสให้การทำธุรกิจเหล่านี้มีการเติบโตและแข่งขันได้มากขึ้นในอนาคต
    โดยการร่วมมือครั้งนี้จะปรับเนื้อหาให้ตรงกับเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยเฉพาะ 8 มิติที่สำคัญ ได้แก่ 1.มิติด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม เป็นการวางยุทธศาสตร์และแผนงานด้านนวัตกรรมในระยะยาวสำหรับองค์กร 2.มิติด้านการมุ่งเน้นธุรกิจ เป็นการวางเป้าหมายการเติบโตด้านนวัตกรรมให้สอดคล้องกับบริบททางธุรกิจ 3.มิติด้านกระบวนการ เป็นการวางโครงสร้างกระบวนการด้านนวัตกรรมขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ 4.มิติด้านผลิตผล เป็นการวางแนวทางการติดตามและประเมินผลลัพธ์ด้านนวัตกรรมขององค์กร 
    5.มิติด้านบุคลากร เป็นการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน 6.มิติด้านองค์ความรู้ เป็นการบริหารจัดการองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับการพัฒนานวัตกรรมทั้งจากภายในและภายนอก 7.มิติด้านวัฒนธรรม เป็นการสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการคิดและพัฒนาสิ่งใหม่ และ 8.มิติด้านทรัพยากร เป็นการออกแบบการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อกิจกรรมนวัตกรรม
    อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ไร้พรมแดนแบบนี้ การยกระดับเอสเอ็มอีจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากจะช่วยสร้างความแตกต่างหรือความโดดเด่นแล้วนั้น ยังเป็นการเดินหน้าตามการหมุนเวียนของโลกที่ดีอีกด้วย โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรมผ่านการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรไปในทิศทางที่ต้องการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพด้วยนวัตกรรม.
ณัฐวัฒน์ หาญกล้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"