หากเปรียบเทียบการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ปีนี้ กับ SARS เมื่อปี 2003 หรือ 17 ปีก่อน ก็จะเห็นความเหมือนและความแตกต่างที่น่าสนใจหลายประเด็น
คราวที่ SARS ระบาดมีคนเสียชีวิต 774 ติดเชื้อกว่า 8,000 ราย
ครั้งนั้นเริ่มเดือนพฤศจิกายนปี 2002 ถึงกรกฎาคม 2003 หรือประมาณ 9 เดือน
ขณะนั้นเศรษฐกิจจีนยังเล็กกว่าปัจจุบันหลายเท่า
ตอนนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยยังมีอยู่ไม่กี่ล้าน ไม่เหมือนขณะนี้ก่อนการระบาดของไวรัสอู่ฮั่นที่เรามีนักท่องเที่ยวจีนมากกว่า 10 ล้านต่อปี
เมื่อปี 2003 โลกโซเชียลมีเดียของจีนและของโลกยังค่อนข้างจำกัด ไม่เหมือนกับวันนี้ที่คนสามารถเข้าไปหาข้อมูลและแสดงความเห็นในเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างคึกคัก
ครั้งนั้นการออกข่าวเรื่องการแพร่ระบาดค่อนข้างจำกัดและปกปิด ครั้งนี้มีแรงกดดันจากคนทั้งโลกให้จีนต้องบอกกล่าวเรื่องราวและปล่อยสถิติล่าสุดตลอดเวลา
การค้าขายและลงทุนระหว่างจีนกับไทยเมื่อ 17 ปีก่อน เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันก็ห่างไกลกันมากมาย
คราวนั้นเศรษฐกิจไทยไม่ได้ผูกติดกับจีนอย่างใกล้ชิดแนบแน่นเหมือนวันนี้
เพราะโลกมีปฏิสัมพันธ์กับจีนใกล้ชิดวันนี้มากกว่าปี 2003 เพิ่มขึ้นหลายเท่า อะไรที่เกิดที่จีนก็มีผลกระทบไปทั่วทั้งโลก
เมื่อการเดินทางไปมาหาสู่ การค้าขายและลงทุน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างจีนกับส่วนต่างๆ ของโลกมีความคึกคักมากขึ้นตลอดเวลา เวลามีข่าวร้ายที่แพร่ไปถึงกันได้จึงกลายเป็นวิกฤติระดับโลกอย่างฉับพลันทันที
มองในแง่ดี วันนี้จีนมีเครื่องมือตั้งรับกับการแพร่กระจายของโรคร้ายได้ดีกว่าเมื่อก่อน
อีกทั้งมีพลังและอาวุธทางเศรษฐกิจที่จะตั้งรับการถดถอยทางเศรษฐกิจที่มาพร้อมกับความวุ่นวายทางด้านสุขอนามัย
การพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบจากไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้มากน้อยเพียงใดยังเป็นเพียงเรื่องคาดเดาเท่านั้น
แต่หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2003 ผลร้ายจาก SARS ปีนั้นทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีต่อมาหดตัวจาก 11.1% ลงมาที่ 9.1%
ปีนี้หลายสำนักประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกน่าจะโตที่ 5.9%
แต่ความปั่นป่วนอันเกิดจากการแพร่กระจายของไวรัสตัวใหม่นี้ทำให้มีการทบทวนการประเมินตัวเลขใหม่
มีตั้งแต่ให้ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนทั้งปีนี้หล่นลงไปที่ 5% ถึง 2% แล้วแต่จะมองในแง่บวกมากบวกน้อยหรือลบมากลบน้อย
จะวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนก็ต้องพิเคราะห์เศรษฐกิจโลกด้วย
ก่อนเกิดโรคระบาดครั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะโตได้ที่ 3.3% เปรียบเทียบกับ 2.9% สำหรับทั้งปี 2019 ที่ผ่านมา
เมื่อปี 2003 นั้นเศรษฐกิจโลกโตที่ 4% และขยับขึ้นไปที่ 6% ในปี 2007
นั่นแปลว่าการระบาดของ SARS มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกค่อนข้างจำกัดเพราะการฟื้นตัวเกิดขึ้นได้เร็วและแรงพอสมควร
แต่วันนี้ปัจจัยทางลบมีอยู่หลายประการ
ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ยังไม่รู้ว่าจะกระเตื้องขึ้นหลังจากการลงนามใน "ข้อตกลงพักรบ" เมื่อเดือนก่อนหรือไม่
อีกทั้งยังไม่แน่นอนว่าเมื่อจีนเผชิญกับภัยโรคร้ายเช่นนี้ แล้วจะสามารถทำตามเงื่อนไขในการซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นได้มากน้อยเพียงใด
ดังนั้นประเด็นนี้จึงกลายเป็นคำถามใหญ่
นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านที่ยังมีความผันผวนรวนเรไม่น้อย
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือที่อาจจะระเบิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้
อีกทั้งการเกิด Brexit ในช่วงนี้ก็อาจจะมีผลทำให้การต่อรองเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปกับส่วนต่างๆ ของโลกจะมีผลทางบวกหรือลบอย่างไร
เศรษฐกิจของจีนวันนี้โตกว่าเมื่อ 17 ปีก่อนถึง 8 เท่า
จีนได้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบและกฎหมายอย่างมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา เช่นนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
อีกทั้งธนาคารกลางของจีนก็เริ่มใช้เครื่องมือหลายๆ ทางในการปรับแก้ระบบการเงินการธนาคารและนโยบายดอกเบี้ยที่แตกต่างไปจากแนวทางเดิมๆ เมื่อเกิดโรคระบาด SARS ครั้งนั้น
ดังนั้นปัจจัยที่แตกต่าง วิธีคิดและบริหารประเทศจีนของผู้นำยุคนี้ ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง จึงทำให้เราต้องประเมินผลกระทบของวิกฤติรอบใหม่นี้จากมุมมองใหม่และให้รอบด้านมากขึ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |