นิทรรศการผ้าขาวม้าโดยเหล่านักออกแบบ
แม้งานนิทรรศการ The Color of Thais-ผ้าขาวม้า : มหัศจรรย์สีสันแห่งวิถีไทย จะจบไปแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ยังอยากชวนให้ทุกคนมาทำความรู้จักกับผ้าขาวม้า ผ้าสารพัดประโยชน์ที่ผูกพันกับวิถีไทยมายาวนาน รวมทั้งนำเสนอผลงานออกแบบผ้าขาวม้าในมุมมองใหม่ที่มีสีสันทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิม โดยศิลปินไทยและต่างประเทศ อาทิ น้ำฝน ไล่ศัตรูไกล, ชลิต นาคพะวัน, ศรัณย์ เย็นปัญญา, ชัยชน สวันตรัจฉ์ และ Peter Pilgrim (ปีเตอร์ พิลกริม) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2020 (Bangkok Design Week 2020) อีกด้วย
เราคนไทยคงคุ้นตากับผ้าผืนบาง ลายตารางหลากสีที่เรารู้จักในชื่อ “ผ้าเคียนเอว” หรือ “ผ้าขาวม้า” เป็นผ้าที่ถูกใช้สารพัดประโยชน์มาตั้งแต่สมัยโบราณ บ้างใช้ห่ออาวุธ เก็บสัมภาระ ปูพื้น นุ่งอาบน้ำ คาดบ่า คาดเอว ฯลฯ จนเรียกได้ว่าเป็นผ้าท้องถิ่นของไทย เป็นผ้าที่คนไทยใช้ในชีวิตประจำวันมาช้านาน ยาวนานกว่า 500 ปี และมีหลายชุมชนทั่วประเทศยึดถืออาชีพทอผ้าขาวม้าเพื่อเลี้ยงชีพ
ผ้าขาวม้าแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันทั้งในด้านวัตถุดิบ ลวดลาย คุณภาพและความเป็นมาเชิงลึก ซึ่งคนทั่วไปอาจจะยังไม่เข้าใจถึงรายละเอียดเหล่านี้ และอาจไม่เห็นคุณค่าของผ้าขาวม้าในเชิงศิลปวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไอคอนสยาม ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงาน ICONCRAFT x Bangkok Design Week 2020 จนกลายมาเป็นนิทรรศการ The Color of Thais-ผ้าขาวม้า : มหัศจรรย์สีสันแห่งวิถีไทย
กิจกรรมเวิร์กช็อปผ้าขาวม้า
สำหรับนิทรรศการได้มีการนำเสนอประวัติผ้าขาวม้าและแง่มุมที่น่าสนใจแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น 17 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลวดลายผ้าขาวม้าตารางหมากรุก ลายตาเล็ก ลายไส้ปลาไหล ลายตาหมู่ ในภาคอีสานจะนิยมลายตารางเล็กละเอียด ในขณะที่ภาคกลางจะเน้นช่องหมากรุกขนาดใหญ่ สีสันของผ้าขาวม้าถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นเช่นกัน อาทิ ผ้าขาวม้าสองสีของอยุธยา โดยนิยมสลับเพียงสองสี เช่น ขาว-แดง ผ้าขาวม้าห้าสีของชัยนาท เน้นสีจัดอย่างแดง เหลือง ส้ม เขียว และขาว หากเป็นผ้าขาวม้าน่านจะนิยมทอด้วยผ้าฝ้ายใช้สีจากเปลือกไม้สกัด ไปจนถึงผ้าขาวม้าร้อยสีจากกาญจนบุรี ผ้าขาวม้ายังเป็นงานดีไซน์โบราณที่เพียบพร้อมด้วยฟังก์ชัน ไม่ว่าจะเป็นผ้านุ่งอาบน้ำ ซับเหงื่อ โพกศีรษะ ผูกเป็นย่าม หรือแม้กระทั่งเป็นมรดกประจำตระกูลที่ใช้ในพิธีการสำคัญตามความเชื่อของชาวสุรินทร์ดั้งเดิม อีกทั้งภายในงานยังมีการจัดแสดง Art installation จากผ้าขาวม้าที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน โดยนำผ้าขาวม้ามาประยุกต์และจัดแสดงในมุมมองใหม่ที่น่าสนใจให้ถ่ายรูปเล่น สวยงาม กิจกรรมเวิร์กช็อปการประดิษฐ์เข็มกลัดจากผ้าขาวม้า และการสกรีนลายบนผ้าขาวม้า Pop Up ที่นำเสนอสินค้าผ้าขาวม้าหลากหลายดีไซน์ที่ขนทัพสินค้าผ้าขาวม้า ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน
ผู้ออกแบบผ้าขาวม้ามุมมองใหม่
น้ำฝน ไล่ศัตรูไกล นักออกแบบที่เพิ่งได้รับรางวัล Designer of the year Awards ในสาขา Textile Design กล่าวว่า เรื่องผ้าขาวม้าเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่าผ้าขาวม้ามีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย และยังมีในต่างประเทศ แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าแต่ละลวดลายของผ้าขาวม้านั้นเป็นของที่ไหน จะรู้ได้อย่างไรว่าผ้าขาวม้าผืนนี้เป็นของเชียงใหม่ เป็นของลาว หรือเวียดนาม เลยมีโครงการวิจัยเกิดขึ้นเพื่อกำหนดอัตลักษณ์ของผ้าขาวม้า และมีการเริ่มหาอัตลักษณ์ผ้าขาวม้าในราชบุรีก่อน ซึ่งเป็นจังหวัดที่โด่งดังเรื่องผ้าขาวม้า มีกิจการเกี่ยวกับผ้าขาวม้าหลายแห่ง เลยให้นักออกแบบในโครงการร่วมค้นหาอัตลักษณ์ผ้าขาวม้าในราชบุรีตามชุมชนต่างๆ มีการระดมความคิดเห็นของชาวบ้านเกี่ยวกับผ้าขาวม้าในชุมชนของเขา ว่าชอบลวดลายแบบใด และแบบใดเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนเขา จากนั้นนักออกแบบก็นำเอาความคิด สิ่งที่ได้มาเวิร์กช็อปร่วมกัน และดูว่ามีสีใดบ้างที่แต่ละพื้นที่ในราชบุรีใช้ร่วมกันมากที่สุด แล้วถอดเอาสีนั้นมาออกแบบเป็นผ้าขาวม้าที่นักออกแบบชอบ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าสีที่นิยมใช้มากสุดคือ สีเขียว แดง เหลือง และขาว ก็นำมาใช้ในการนำเสนอลวดลายผ้าขาวม้าในแบบที่เราชอบ อย่างของตนเองก็มีการนำเสนอสีสันสดใส มีการใช้หลายสีตั้งแต่สีเขียว ชมพู ฟ้า ให้ดูทันสมัยมากขึ้น แต่คงเอกลักษณ์ของความเป็นผ้าขาวม้าลายตาราง นอกจากนี้ยังมีศิลปินจากต่างประเทศ คุณปีเตอร์ พิลกริม เขาจบการศึกษาด้านศิลปะจากวิทยาลัยรอยัลคอลเลจ ในปี 1970 ได้รับรางวัลในฐานะผู้นำในแวดวงวิชาการและการออกแบบ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาและคณะกรรมการด้านศิลปะและการออกแบบมากมายหลายสถาบันมาร่วมออกแบบด้วย
ผ้าขาวม้าออกแบบโดย ชัยชน สวันตรัจฉ์
ขณะที่ ชัยชน สวันตรัจฉ์ ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์แบรนด์ Good Mixer และ Muse กล่าวว่า เขาเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าที่เคยทำงานเกี่ยวกับคอลเลคชั่นผ้าขาวม้ามาแล้ว จะเห็นว่าผ้าขาวม้าอยู่คู่กับคนไทยมานานมาก เป็นผ้าที่มีความคลาสสิกในตัว ไม่มีความเชยเลย ตอนนี้ผ้าขาวม้าได้เข้ามาอยู่ในกระแสแฟชั่นแล้ว นับเป็นเรื่องราวดีๆ เพราะจะเห็นว่ามีคนนำมาประยุกต์เป็นทั้งเสื้อผ้า เป็นสิ่งของเครื่องใช้จำนวนมาก ส่วนครั้งนี้ได้มีการออกแบบผ้าขาวม้าให้มีสีสันจัดจ้าน ดูสวยขึ้น
ด้านชลิต นาคพะวัน ศิลปินอิสระและครูสอนศิลปะ กล่าวว่า เราเติบโตมากับชนบท เกิดมาก็เห็นพ่อของเราใช้ เราก็ใช้กับพ่อบ้าง นำไปเช็ดตัว ตอนเด็กถ้าจำไม่ผิดแม่ยังเคยเอามาทำเป็นเปลให้เรานอน ความทรงจำนี้ยังวนเวียนอยู่กับเรา จนตอนนี้เวลาที่ไปต่างจังหวดก็จะเห็นชาวบ้าน ลุงป้าน้าอายังใช้อยู่เลย ทุกวันนี้ก็ผ้าขาวม้าเข้ามาอยู่ในวงการแฟชั่นแล้ว ทำให้เห็นว่ามีความหมายกับชีวิตเรามากขึ้น มันคืออัตลักษณ์ของคนไทยอย่างแท้จริง
ผ้าขาวม้าลายใหม่โดย ชลิต นาคพะวัน
" ส่วนผลงานในครั้งนี้เกิดจากผมเคยไปราชบุรีบ่อย ผมเห็นว่าคนราชบุรีอัธยาศัยดีมาก น่ารักมาก เลยทำให้ผมหยิบเอาประเด็นเรื่องนี้มาออกแบบเป็นผ้าขาวม้าที่มีสีสันสดใส มีความหวาน ความอบอุ่นอยู่ในผืนผ้าเดียวกัน ให้ความรู้สึกนิ่ง เย็นสบาย มันคือความรักที่เราใส่ลงไปในผ้า" ชลิตกล่าว
สำหรับงาน ICONCRAFT x Bangkok Design Week 2020 กับนิทรรศการ The Color of Thais-ผ้าขาวม้า : มหัศจรรย์สีสันแห่งวิถีไทย จัดแสดงที่ชั้น 4-5 ไอคอนคราฟต์ ไอคอนสยาม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |