"อนุดิษฐ์" ยืนยันฝ่ายค้านงดออกเสียงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่จะโหวตกันใหม่ หากนำคำอภิปรายของ ส.ส.ในวาระ 2 มาประกอบกับ พ.ร.บ.ก็จะพูดให้น้อยลง ด้านวิปรัฐบาลชี้ต้องโหวตเลย ไม่ต้องอภิปรายเพราะไม่ได้มีปัญหาเรื่องการอภิปราย แต่ปัญหาคือเรื่องการลงมติ
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ในวันที่ 13 ก.พ.ว่า การผ่านกฎหมายฉบับนี้ของสภาได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้เป็นที่เรียบร้อย พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันในการงดออกเสียง เพราะเห็นว่าข้อบกพร่องผิดพลาดจำนวนไม่น้อยในการพิจารณาวาระ 1 ที่ฝ่ายค้านได้อภิปรายเอาไว้ไม่ได้รับการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ
"แต่เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐมีความจำเป็นที่ต้องรีบนำไปใช้จ่ายเพื่อสร้างประโยชน์ให้ประชาชน ดังนั้นฝ่ายค้านจึงไม่ได้ขัดขวางด้วยการลงมติไม่เห็นชอบแต่อย่างใด เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับเข้ามาสู่สภาอีกครั้ง เพราะการปล่อยปละละเลยไม่กำกับดูแลการทำงานของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พิจารณาอีกครั้ง เรื่องนี้ฝ่ายค้านคงยืนยันความเห็นเช่นเดียวกับการลงมติครั้งที่แล้วคืองดออกเสียง"
น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ในชั้นการพิจารณาวาระที่ 2 ผู้อภิปรายจากฝ่ายค้านได้แสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์ไว้อย่างมากมายหลายประเด็น ในชั้นของการพิจารณาใหม่ครั้งนี้จึงต้องมาหารือร่วมกันอีกครั้งในข้อบังคับและกฎหมาย ว่าสิ่งที่ ส.ส.ได้อภิปรายในการพิจารณาวาระที่ 2 ที่ผ่านมา จะนำมาประกอบกับ พ.ร.บ.ที่จะพิจารณาใหม่ได้หรือไม่ ถ้าได้การพิจารณารอบนี้ก็จะอภิปรายกันเท่าที่จำเป็นเพื่อให้กฎหมายเสร็จอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไม่ได้ก็คงอาจจะต้องอภิปรายกันใหม่ทั้งหมด ซึ่งความชัดเจนคงต้องไปดูที่ข้อบังคับและกฎหมายและข้อตกลงของวิปที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง
ด้านนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ว่า วิปจะหารือกันในช่วงเช้าวันที่ 13 ก.พ.ก่อนประชุมสภาตอนบ่าย ตนเห็นว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ไปดำเนินการนั้นไม่ได้ระบุว่าทุกมาตรา แต่บอกว่าไปทำให้ถูกต้อง ทางสภาคงจะเห็นว่าไปเริ่มใหม่เลยดีกว่า แต่ในวาระ 3 จะต้องโหวตใหม่อยู่แล้วเพราะเกี่ยวเนื่องกับส่วนที่เสียไปบางมาตรา อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ไปเริ่มใหม่ คือโหวตใหม่กันทั้งหมดเพื่อจะได้เคลียร์ไปทั้งหมด
เขากล่าวว่า การจะอภิปรายใหม่นั้นไม่ควรมาพูดกันใหม่ เพราะในการอภิปรายเดิมนั้นความเห็นที่ให้ไว้ก็มีบันทึกการประชุมอยู่ครบถ้วนแล้ว ดังนั้นก็น่าจะโหวตกันได้เลย การอภิปรายเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว และไม่ได้มีปัญหาเรื่องการอภิปราย แต่ปัญหาคือเรื่องการลงมติ การอภิปรายจึงไม่จำเป็น แต่โหวตต่อเนื่องไปได้ไม่เกิดความล่าช้า และ พ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้ไม่ได้มีปัญหาที่เนื้อหาแห่งกฎหมาย แต่มีปัญหาที่วิธีการของการออกกฎหมาย ดังนั้นถ้าจะไปอภิปรายกันในเนื้อหาของกฎหมายก็เป็นการพูดในส่วนที่ไม่มีปัญหา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ไว้แล้วว่าไม่ได้มีปัญหาตรงนั้น เชื่อว่าฝ่ายค้านเองก็น่าจะเข้าใจตรงนี้
ไม่จำเป็นต้องอภิปราย
"การอภิปรายในเนื้อหาคงไม่จำเป็น พอถึงตรงนี้แล้วฝ่ายค้านเองน่าจะเข้าใจ จะได้รีบๆ และขณะนี้เรื่องราวของประเทศมีปัญหาเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็นอยู่แล้ว ทั้งผลกระทบรุนแรงการท่องเที่ยวจากไวรัสโคโรนา โศกนาฏกรรมที่โคราช เราอย่าไปเพิ่มเรื่องที่ยุ่งยากให้กับประเทศอีกเลย ช่วยกันคลายๆ ก็น่าจะดี เพราะทุกคนรู้ว่าในที่สุดก็ไปจบตรงนั้น ตอนนี้เราต้องการออกงบประมาณมาดูแลประเทศในยามคับขัน เราไม่ต้องมาพูดว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องช่วยกันเท่าที่ช่วยได้ ปัญหาที่คิดว่าไม่น่าจะมีก็ให้จบๆ ไป น่าจะเป็นเรื่องที่ดี"
นายนิกรกล่าวถึงการเตรียมการช่วยรัฐบาลในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า พรรคให้ความร่วมมือโดยส่งนายอนุรักษ์ จุรีมาศ ส.ส.ร้อยเอ็ด ไปร่วมพบปะหารือกับวิปพรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 22 ก.พ.ที่พัทยา
"ในฐานะอยู่เรือลำเดียวกันก็ต้องช่วยกันพาย ช่วยกันประคองร่วมเรือลำเดียวกันอยู่แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ เราเป็นฝ่ายรัฐบาลจะปฏิเสธหน้าที่ในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ ส่วนฝ่ายค้านเขาก็ทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน" นายนิกรกล่าว
ขณะที่พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการเปิดเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ก.พ.นี้ว่า พรรคภูมิใจไทยไม่รู้สึกกังวลกับเวทีซักฟอกที่จะมีขึ้น เพราะมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถชี้แจงข้อซักถามของฝ่ายค้านได้ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ขณะที่นายกรัฐมนตรีมีภาวะผู้นำและสามารถบริหารจัดการปัญหาได้
เขากล่าวว่า แม้การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะไม่ปรากฏรายชื่อรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย แต่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลก็พร้อมให้ความร่วมมือ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้กำชับ ส.ส.ทุกคนให้เตรียมพร้อมเรื่องข้อมูล ในการนำเสนอให้ประชาชนรับทราบและเห็นผลงานของรัฐบาลได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงที่มีการซักฟอก ว่ารัฐบาลต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างไรบ้าง เช่น วิกฤติไวรัสโคโรนา ที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขสามารถดำเนินการจนทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นได้
โฆษกพรรคภูมิใจไทยเปิดเผยด้วยว่า พรรคภูมิใจไทยได้เตรียมการและประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา มั่นใจว่าการลงมติของพรรคภูมิใจไทยจะไม่มีปัญหาใดๆ เนื่องจาก ส.ส.ทุกคนเคารพมติพรรค จึงไม่มีปัญหาเรื่องเสียงแตก ที่สำคัญหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยได้กำชับ ส.ส.ทุกคนให้นั่งอยู่ในที่ประชุมตลอดเวลา และระมัดระวังเรื่องการลงคะแนน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ขณะเดียวกันอยากเรียกร้องให้ประชาชนและนักการเมืองทุกคนหันมาจับมือกันเดินหน้าพัฒนาประเทศ ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ประชาชนทุกคนต่างอยู่ในภาวะเศร้าสลด นักการเมืองทุกคนจึงควรหันหน้ามาร่วมมือกันมากกว่าจะต่อสู้ เอาชนะซึ่งกันและกัน
อยากให้ทุกฝ่ายลืมอดีต
"พรรคภูมิใจไทยมองว่า ขณะนี้ความรักความสามัคคีของคนในชาติ และนักการเมืองทุกฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องร่วมมือกันพัฒนาประเทศ ทำให้ประชาชนมีความสุข เพราะวันนี้เราสูญเสียกันมากแล้ว จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้บรรยากาศของคนในชาติอยู่ในภาวะความเศร้าเสียใจ จึง อยากให้ทุกฝ่ายลืมอดีตแล้วมองไปข้างหน้าด้วยกัน"
นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ในช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาได้ยื่นญัตติด่วนต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสืบสวนกรณี ส.ส.กดบัตรลงคะแนนในการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แต่ปรากฏว่านายชวนบอกว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ให้ไปต่อท้ายในวาระปกติในลำดับร้อยกว่าๆ จึงไม่มีทางที่ญัตตินี้จะได้รับการพิจารณา ดังนั้นจะไปหารือกับพรรคอนาคตใหม่และหารือในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางให้สภาดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว เรื่องนี้มีความชัดเจนว่าเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เพราะมติศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนให้ไปโหวตลงมติวาระ 2 และ 3 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ใหม่ อันเป็นผลมาจากการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันเป็นกระบวนการไม่ชอบ แต่เหตุใดประธานสภาจึงมองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
"สะท้อนเรื่องการวางตัวของประธานสภาผู้แทนราษฎรมีความเป็นกลางหรือไม่ เพราะ ส.ส.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกดบัตรแทนกันเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด เรื่องนี้ประชาชนให้ความสนใจ แต่เหตุใดกลับดึงเรื่องไม่ให้ตรวจสอบ ถือว่าไม่เหมาะสม" นายธีรัจชัยกล่าว
นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อเสนอให้ กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้สอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันทุกกรณีในการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ว่าเรื่องดังกล่าวเคยนำมาหารือกันใน กมธ. แต่ กมธ.เห็นว่าเรื่องนี้ควรให้คนกลางเป็นผู้สอบแทน เพราะเกี่ยวโยงกับงบประมาณแผ่นดิน แม้จะเป็นอำนาจโดยตรงของ กมธ. แต่เรื่องนี้ถูกโยงเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว จึงควรให้คนกลางสอบเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย นายชวนเองก็หนักใจเพราะผู้ร้องเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนผู้ถูกร้องก็เป็นคู่แข่งในพื้นที่ จ.พัทลุง ทางออกที่ดีที่สุดควรให้คนกลางมาสอบ เช่น ผู้นำฝ่ายค้านเป็นประธานสอบเอง แต่ถ้าผู้นำฝ่ายค้านไม่อยากสอบก็มอบอำนาจให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสอบแทนได้ กมธ.กิจการสภาฯ คงไม่สอบเองแน่ เพราะเป็นเรื่องการเมืองและเอาผิดยาก คงไปหาตัวคนกดแทนไม่ได้เพราะไม่มีใครยอมรับ แต่ให้ถือเป็นบทเรียนต้องหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต
นายอนันต์กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.ได้เสนอแนวทางป้องกันการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อาทิ 1.การให้ ส.ส.ทุกคนเก็บบัตรลงคะแนนไว้กับตัวเองตลอดเวลา หากจะออกนอกห้องประชุมก็ห้ามเสียบบัตรคาเครื่องลงคะแนนไว้ 2.การให้ติดกล้องวงจรปิดในห้องประชุมสภา 3.การล็อกตำแหน่งที่นั่ง ส.ส.ในห้องประชุมสภาว่าใครนั่งอยู่จุดใด หากไม่ทำแบบนี้คงแก้ปัญหาไม่ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |