รัฐบาลของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ยื่นฟ้องศาลสูงสุดของประเทศเมื่อวันจันทร์ เพื่อขอให้ยกเลิกสัมปทานสถานีโทรทัศน์ช่องดัง ABS-CBN ของกลุ่มสื่อรายใหญ่สุดในฟิลิปปินส์ที่มักวิจารณ์รัฐบาล ฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวชี้เป็นการโจมตีเสรีภาพสื่ออิสระ
ประชาชนชุมนุมสนับสนุนเสรีภาพสื่อและสถานี ABS-CBN ที่กรุงมะนิลาเมื่อวันจันทร์
รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์กล่าวหาว่า บริษัท เอบีเอส-ซีบีเอ็นคอร์ป เจ้าของสถานีโทรทัศน์ ABS-CBN ที่มีอายุการดำเนินงานมานาน 66 ปีและเป็นคู่ปรับของประธานาธิบดีดูเตร์เตมาตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2559 ละเมิดกฎหมายการเป็นเจ้าของสื่อและเกี่ยวข้องกับการดำเนินการอย่างผิดกฎขั้นร้ายแรง และยื่นขอให้ศาลสูงสุดยกเลิกสัญญาสัมปทานซึ่งมีอายุ 25 ปี ที่กำลังจะหมดอายุวันที่ 30 มีนาคมนี้
การยื่นฟ้องครั้งนี้เกิดในช่วงเวลาที่รัฐสภาฟิลิปปินส์กำลังจะพิจารณาต่ออายุสัมปทานดังกล่าว ฝ่ายต่อต้านดูเตร์เตชี้ว่าการฟ้องของรัฐบาลต้องการบีบให้สภาปฏิเสธการต่อสัญญาแก่เอบีเอส-ซีบีเอ็นคอร์ป ซึ่งมีลูกจ้างเกือบ 7,000 คนและทำงานร่วมกับคนมีชื่อเสียงในประเทศนับพันคนในการผลิตเนื้อหาทางวิทยุ, โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์
โฮเซ คาลิดา รองอธิบดีกรมอัยการที่เป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของดูเตร์เต กล่าวว่า เอบีเอส-ซีบีเอ็นแสดงให้เห็นถึงความละโมบมาช้านานและละเมิดสัญญาสัมปทาน "เราต้องการยุติสิ่งที่เราพบว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎอย่างร้ายแรงของเอบีเอส-ซีบีเอ็น ที่ให้ผลประโยชน์แก่พวกโลภมากไม่กี่คนแลกกับค่าใช้จ่ายของสมาชิกที่ภักดีหลายล้านคน" คำแถลงกล่าว
เอบีเอส-ซีบีเอ็นปฏิเสธคำกล่าวหานี้ และว่า คำฟ้องของรัฐบาลเป็น "ความพยายามปิด ABS-CBN เพื่อสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ชาวฟิลิปปินส์หลายล้านคน"
ดูเตร์เตเคยขู่มาตลอด 3 ปีที่จะล้มการต่อสัญญาสัมปทานของ ABS-CBN ที่เขากล่าวหาว่าปฏิเสธจะออกอากาศโฆษณาหาเสียงของเขา
รอยเตอร์กล่าวว่า บริษัทปฏิเสธจะตอบโต้คำกล่าวอ้างของดูเตร์เต แต่ยูจีนีโอ โลเปซ ประธานเอบีเอส-ซีบีเอ็นเคยกล่าวไว้ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อปี 2560 ว่าเรื่องพวกนี้เป็นของคู่กันกับการทำงานในฐานะสถาบันสื่อ และบริษัทมักจัดการกับปัญหาเหล่านี้เป็นการส่วนตัว
ฝ่ายค้านและนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า การยื่นฟ้องของรัฐบาลเป็นการโจมตีเสรีภาพสื่อมวลชนครั้งล่าสุดในยุคของดูเตร์เต ที่เล่นงานหนังสือพิมพ์รายใหญ่ฉบับหนึ่งและเว็บไซต์หนึ่งที่วิจารณ์รัฐบาลของเขา
"เราต้องไม่ยอมให้ความอาฆาตพยาบาทของผู้ชายคนเดียว ไม่ว่าจะมีอำนาจมากมายเพียงใด มาปฏิบัติอย่างเลวร้ายต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนที่ได้รับการรับประกันภายใต้รัฐธรรมนูญ" สหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติของฟิลิปปินส์กล่าว และว่า ศาลสูงสุดและรัฐสภาซึ่งเต็มไปด้วยพันธมิตรของดูเตร์เต มีโอกาสที่จะพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นสถาบันอิสระที่ไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณดูเตร์เต
มาเรีย เรสซา นักข่าวของเว็บไซต์ แรพเลอร์ เป็นสื่ออีกรายที่กำลังเผชิญโทษจำคุกนานหลายปี ที่เธอและนักปกป้องสิทธิสื่อกล่าวกันว่าเป็นการล้างแค้นที่เว็บไซต์ของเธอวิจารณ์สงครามยาเสพติดของดูเตร์เต
เมื่อปี 2561 รัฐบาลเพิกถอนใบอนุญาตของเว็บไซต์ข่าวแห่งนี้ โดยกล่าวหาว่าปล่อยให้ชาวต่างชาติถือหุ้น ดูเตร์เตเคยเรียกแรพเลอร์ว่าเป็นสื่อข่าวปลอมที่ได้รับการสนับสนุนจากสายลับอเมริกัน เว็บไซต์นี้ยังเปิดดำเนินการอยู่ระหว่างรอการอุทธรณ์
นอกจากกล่าวหาเอบีเอส-ซีบีเอ็นว่าอนุญาตให้ชาวต่างชาติถือหุ้น คาลิดายังกล่าวหาว่า สถานีนี้เปิดบริการเก็บเงิน เพย์-เพอร์-วิว โดยไม่ได้ขออนุญาตจากสภาก่อน
ด้านซัลวาดอร์ ปาเนโล โฆษกของประธานาธิบดีดูเตร์เต อ้างว่า ประธานาธิบดีไม่ได้ยุ่งเกี่ยวใดๆ กับการยื่นคำร้องนี้ และเป็นอำนาจของสภาที่จะให้สัมปทานหรือต่ออายุสัมปทาน ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |