ก่อนถึงวันที่อยู่อาศัยโลก สสส.และภาคีเครือข่ายผลักดันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม พัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลแจงนับคนไร้บ้านครั้งแรก! ครอบคลุมทั้งประเทศ 77 จังหวัด พบคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะเกือบ 3 พันคน หากรวมผู้ไร้บ้านในศูนย์พักพิงเลขหลักหมื่น กทม.มากที่สุด ผู้สงอายุไร้บ้านน่าห่วง ส่วนใหญ่อยู่คนเดียว ไม่ได้รับความคุ้มครองสวัสดิการ ได้รับความเดือดร้อนเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ชี้ฐานข้อมูลคนไร้บ้านช่วยต่อยอดเชิงนโยบายหนุนเสริมระบบการดูแลและป้องกันภาวะคนไร้บ้านอย่างยั่งยืน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ “แถลงผลสำรวจแจงนับคนไร้บ้าน สู่การขยายผลเชิงปฏิบัติและนโยบาย” เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2563 ที่ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อยู่ในอาณาบริเวณวังสะพานขาว เคยเป็นวังที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร (เสนาบดีกระทรวงกลาโหมพระองค์แรก) ต่อมาในปี 2493 กระทรวงมหาดไทยได้ขอซื้อที่ดินพร้อมอาคารจากทายาทเพื่อเป็นที่ตั้งของกรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งเดิมอาศัยพื้นที่พระราชวังสราญรมย์อยู่ ปัจจุบันวังสะพานขาวแห่งนี้ได้รับการอนุรักษ์เป็นโบราณสถาน
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ ปัจจุบันไม่มีฐานข้อมูลหรือตัวเลขคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะที่ชัดเจน สสส.ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายพัฒนาเครื่องมือและวิธีวิทยาแบบ One Night Count (ONC) หรือ The Point-in-Time (PIT) เพื่อสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านทั้งประเทศใน 77 จังหวัด โดยนำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น เมื่อปี 2558
ทั้งนี้ การสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินการครอบคลุมทั้งประเทศ พบคนไร้บ้านทั้งหมด 2,719 คน เป็นเพศชายร้อยละ 86 และเพศหญิงร้อยละ 14 ช่วงอายุที่พบส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 57 อยู่ในช่วงวัยแรงงานตอนปลาย (อายุ 40-59 ปี) และมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) อยู่ที่ร้อยละ 18 ซึ่งคนไร้บ้านสูงอายุมีสัดส่วนการอยู่คนเดียวมากที่สุดร้อยละ 60 กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีคนไร้บ้านมากที่สุด ร้อยละ 38 รองลงมาคือ นครราชสีมา ร้อยละ 5 เชียงใหม่ ร้อยละ 4 สงขลา ร้อยละ 4 ชลบุรี ร้อยละ 3 ขอนแก่น ร้อยละ 3 และจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าพบคนไร้บ้านในพื้นที่ของทุกจังหวัด ในแต่ละปีมีคนไร้บ้านที่เสียชีวิตในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันประชากรที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านในแต่ละปี หรือประชากรที่อยู่ในภาวะไร้บ้านสะสมจะมีจำนวนที่มากกว่าตัวเลขการแจงนับ
ภรณีกล่าวว่า ผลการแจงนับครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก เป็นพื้นฐานต่อการขับเคลื่อนและทำงานกับประเด็นคนไร้บ้านของ สสส.ต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในประเด็นการกระจายตัวของคนไร้บ้าน พบว่าส่วนใหญ่กระจุกตัวในพื้นที่เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครราชสีมา และสงขลา เป็นต้น ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีจำนวนไม่มาก ดังนั้น สสส.จึงมุ่งทำงาน 2 แนวทาง คือ จังหวัดที่มีจำนวนคนไร้บ้านมาก เน้นการขยายผลนวัตกรรมศูนย์พักคนไร้บ้าน ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนคนไร้บ้านไม่มาก สสส.จะร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาชุดเครื่องมือและกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านโดยท้องถิ่น เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนได้
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส., นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การสำรวจคนไร้บ้านใน 77 จังหวัด พบว่ามีจำนวน 5,000 คน แต่หากรวมคนไร้บ้านที่อยู่ในศูนย์พักพิงของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จำนวน 4,000 คน จะมีจำนวนคนไร้บ้านอยู่ในจำนวนหลักหมื่นคน จากตัวเลขดังกล่าวถือได้ว่าเป็นจำนวนค่อนข้างสูง คนกลุ่มนี้ไม่มีหลักประกันในชีวิตไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งด้านสวัสดิการ ได้รับความเดือดร้อนเมื่อเปรียบเทียบกับคนจนกลุ่มอื่นๆ กลุ่มแรงงานนอกระบบ “เท่าที่สำรวจคนไร้บ้านอายุสูงสุด 70 ปี”
ภรณีตั้งข้อสังเกตว่าการที่ผู้สูงอายุออกมาเป็นคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ไม่มีลูก หรือมีลูก แต่ลูกไม่เลี้ยงดู บางรายอยู่กับลูก แต่มีความไม่สบายใจจึงออกมาอยู่ในศูนย์คนไร้บ้าน หรือผู้ต้องขังหญิงบางรายยอมรับผิดแทนลูกเพื่อจะได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ อย่างน้อยก็ไม่อดตาย มีข้าวกินทุกมื้อ ผู้สูงอายุที่ได้รับแรงกดดันจากครอบครัว มีปัญหาการกระทบกระทั่งกัน ลูกมองว่าผู้สูงอายุกลายเป็นภาระ เพราะลำพังการทำมาหากินก็ยากลำบากแล้ว ผู้สูงอายุจึงออกมาจากบ้านเพื่อความสบายใจ
กลุ่มคนไร้บ้านมีทั้งที่มีบัตรประจำตัวประชาชนและไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน บางรายบัตรประจำตัวประชาชนหาย เมื่อจะทำบัตรใหม่ก็ต้องหาคนรับรอง จังหวัดที่พบคนไร้บ้านมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ โคราช เชียงใหม่ คนไร้บ้านจะใช้ชีวิตอยู่ในตลาด ตามสถานีรถไฟ และสถานีขนส่งต่างๆ จะใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ที่น่าแปลกมากก็คือคนไร้บ้านในจังหวัดสงขลา คนไร้บ้านที่เป็นชาวมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังมีเรื่องที่คาดไม่ถึงคือ ปัญหาคนไร้บ้านในจังหวัดเล็กๆ สิ่งเหล่านี้ต้องมีการถอดบทเรียนที่เชียงใหม่ ขอนแก่น การสร้างแกนนำมีพี่เลี้ยงช่วยเหลือในการสร้างศูนย์บริหารจัดการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในจังหวัดใหญ่ๆ ก่อน การทำความเข้าใจกับ 86 หน่วยงานที่เข้ามาเป็นกลไกสำรวจ ให้มีความเข้าใจคนไร้บ้านมากยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะการออกแบบจัดการพื้นที่ของตัวเอง ติดอาวุธทางความรู้ หน่วยงาน อบต.บอกว่าเขาตกเป็นจำเลย
ภรณีกล่าวว่า ปัญหาของคนไร้บ้านสะท้อนให้เห็นภาวะเปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขยายตัว เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้คนไร้บ้านเข้าไม่ถึงสวัสดิการการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ จากการแจงนับยังพบว่ามีคนไร้บ้านที่มีความพิการอย่างเห็นได้ชัด ร้อยละ 4 และมีปัญหาสุขภาพจิตที่เห็นได้ชัด ร้อยละ 7.6 ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือภาคอีสานมีสัดส่วนของคนพิการมากกว่าสัดส่วนของทั้งประเทศเกือบ 1 เท่าตัว (ร้อยละ 8) ทั้งนี้จะมีการสำรวจทั่วทั้งประเทศอีก 3-4 ปีข้างหน้า เพื่อนำมาเปรียบเทียบให้เห็นความเปลี่ยนแปลง เพื่อนักวิชาการจะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์
ขณะนี้มีคนไร้บ้านในพื้นที่สำนักงานเขตบางกอกน้อย เป็นบ้านที่จุคน 70 คน ซึ่งล้นเกินจริง คนไร้บ้านเป็นเจ้าของและบริหารจัดการกันเอง สร้างกฎกติกาพื้นที่ของการอยู่ร่วมกัน ขณะนี้ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านแห่งที่ 3 บางพูน ปทุมธานี สนับสนุนโดย สสส.และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ใกล้แล้วเสร็จ เปิดใช้ในช่วงสงกรานต์เดือน เม.ย.นี้
นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การสำรวจแจงนับครั้งนี้ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานถึง 86 องค์กร ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ อันเป็นพื้นฐานในการสร้างความเข้าใจและความตระหนักต่อประเด็นคนไร้บ้านที่มีความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาคนจน
ทั้งนี้ คนไร้บ้านอาจมิใช่ปัญหาในตนเอง หากแต่ประเด็นที่สะท้อนให้เห็นหรือเป็นผลลัพธ์ของปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจด้านอื่นๆ โดยเฉพาะประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงประสิทธิภาพของนโยบายด้านสวัสดิการ ทั้งนี้ จะเป็นประโยชน์มากขึ้นหากมีการสำรวจแจงนับประชากรคนไร้บ้านในทุกรอบ 1-5 ปี เพื่อชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางประชากรคนไร้บ้าน กล่าวคือ หากจำนวนตัวเลขคนไร้บ้านมีจำนวนสูงขึ้น ก็จะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาคนจนยังไร้ประสิทธิภาพ
อนึ่ง วิทยากรเวทีสาธารณะ สุทธิ จันทรวงษ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, สมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), ประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น, สุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน, นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ดำเนินรายการโดย ธีรเดช งามเหลือ สถานีโทรทัศน์
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |