กองทัพอิหร่านเปิดตัวขีปนาวุธพิสัยใกล้สามารถขับดันด้วยเครื่องยนต์ "เจเนอเรชันใหม่" ที่ออกแบบมาเพื่อใช้นำส่งดาวเทียม ขณะเดียวกันรัฐมนตรีไอทีประกาศนับถอยหลังปล่อยจรวดส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นวงโคจร โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สหรัฐกล่าวหาว่าเป็นข้ออ้างบังหน้าการพัฒนาขีปนาวุธ
รายงานเอเอฟพีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 ว่าพลตรีฮุสเซน ซาลามี ผู้บัญชาการกองทัพพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (ไออาร์จีซี) ของอิหร่าน และพลจัตวาอามีราลี ฮาจิซาเดห์ ผู้บัญชาการกองกำลังอากาศอวกาศของไออาร์จีซี เปิดตัวมิสไซล์และเครื่องยนต์จรวดรุ่นใหม่ในวันเดียวกันนี้ โดยรายงานเว็บไซต์เซปาห์นิวส์ของไออาร์จีซีกล่าวว่า มิสไซล์ราอัด-500 ที่เผยโฉมในวันนี้ติดตั้งเครื่องยนต์ซูแฮร์รุ่นใหม่ที่ทำจากวัสดุผสมที่มีน้ำหนักเบากว่ารุ่นเก่าที่ใช้เหล็ก
วันเดียวกัน อิหร่านยังเปิดตัวเครื่องยนต์ซัลมานที่ทำจากวัสดุชนิดเดียวกัน แต่มีหัวฉีดแบบเคลื่อนย้ายได้ ใช้สำหรับการนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ
คำแถลงของไออาร์จีซีกล่าวว่า ราอัดเป็นมิสไซล์เจเนอเรชันใหม่ที่มีน้ำหนักเพียงครึ่งเดียวของน้ำหนักมิสไซล์ฟาเตห์-110 แต่มีพิสัยไกลกว่าถึง 200 กิโลเมตร
อิหร่านเปิดตัวฟาเตห์-110 ซึ่งเป็นขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นสู่พื้น เมื่อปี 2545 โดยรุ่นล่าสุดของมิสไซล์ฟาเตห์นั้นมีพิสัย 300 กิโลเมตร
พลตรีซาลามีกล่าวว่า ความสำเร็จของเทคโนโลยีระดับโลกที่อิหร่านเปิดเผยให้วันนี้เป็นกุญแจสำคัญของการขึ้นสู่อวกาศ และช่วยให้อิหร่านพัฒนามิสไซล์ที่ถูกลง, เบาลง, เร็วขึ้น และแม่นยำมากขึ้น
วันเดียวกันนี้ จาวัด อาซารี จาห์โรมี รัฐมนตรีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอิหร่าน ทวีตว่า อิหร่านกำลังนับถอยหลังปล่อยดาวเทียมซาฟาร์ขึ้นสู่วงโคจรในวันอาทิตย์จากฐานปล่อยที่เมืองเซมนาน แต่เขาไม่ระบุช่วงเวลาของการปล่อยดาวเทียมวิทยาศาสตร์ดวงนี้
ปีที่แล้วอิหร่านเคยพยายามส่งดาวเทียมแต่ล้มเหลวอย่างน้อย 2 ครั้ง
รัฐบาลสหรัฐเคยแสดงความกังวลว่าเทคโนโลยีขีปนาวุธพิสัยไกลที่ใช้นำส่งดาวเทียมสู่วงโคจรนั้นสามารถใช้ในการนำส่งหัวรบนิวเคลียร์ได้ แต่รัฐบาลอิหร่านปฏิเสธว่ากิจกรรมการส่งดาวเทียมของพวกเขาเป็นการปกปิดการพัฒนามิสไซล์ และยืนกรานด้วยว่าอิหร่านไม่เคยพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านทวีขึ้นนับแต่เดือนพฤษภาคม 2561 เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ที่ชาติมหาอำนาจเสนอผ่อนคลายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการจำกัดการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์
สหรัฐอ้างว่าตนกำลังพยายามควบคุมโครงการขีปนาวุธของอิหร่านและพฤติกรรมของอิหร่านที่บั่นทอนเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ ปี 2561 สหรัฐรื้อฟื้นการคว่ำบาตรอิหร่านอย่างเต็มพิกัด และทำให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการยกเลิกการปฏิบัติตามข้อจำกัดนิวเคลียร์หลายประการภายใต้ข้อตกลงฉบับนั้น
เดือนมกราคมปีที่แล้ว อิหร่านเคยนำส่งดาวเทียมปายัมเพื่อใช้ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยอมรับว่าดาวเทียมดวงนี้ไปไม่ถึงวงโคจร คราวนั้นสหรัฐประณามว่าการยิงจรวดนำส่งดาวเทียมดวงนี้ของอิหร่านละเมิดข้อมติ 2231 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ห้ามอิหร่านทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธที่สามารถนำส่งหัวรบนิวเคลียร์
เดือนมกราคม ทั้งสองฝ่ายยังหวิดเปิดฉากสงครามกันเมื่อสหรัฐลอบสังหารนายพลกาเซม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์ของอิหร่านเมื่อวันที่ 3 มกราคม อิหร่านตอบโต้ด้วยการยิงมิสไซล์โจมตีฐานทัพสหรัฐในอิรัก 2 แห่งในวันที่ 8 มกราคม แล้วไม่กี่ชั่วโมงต่อมากองทัพอิหร่านก่อความผิดพลาด ยิงเครื่องบินโดยสารของยูเครนตกที่กรุงเตหะราน
รัฐมนตรีจาโรมีกล่าวด้วยว่า ทันทีที่ดาวเทียมซาฟาร์ส่งขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ ภารกิจแรกคือการส่งภาพของนายพลสุไลมานีกลับมายังโลก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |