'ปชช.'กางมุ้งรอ ศึกถล่มประยุทธ์ พท.คัด40ขุนพล


เพิ่มเพื่อน    


     ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าคิวรอถล่มบิ๊กตู่และพวกทะลักร่วม 40 คน เตรียมรอคัดชื่อรอบสุดท้าย เพื่อไทยบอกอนาคตใหม่โดนยุบพรรค 21 ก.พ.ก็ไม่กระเทือนศึกซักฟอก พบประชาชนตื่นตัว นับวัน กางมุ้งรอชมอภิปรายไม่ไว้วางใจ 
     นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหนึ่งใน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่จะทำหน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ กล่าวว่า เรื่องการแบ่งหน้าที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรีนั้น ได้มีการวางตัวผู้อภิปรายและแบ่งหน้าที่รับผิดชอบไว้บ้างแล้ว จะให้นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านเป็นผู้ปิดการอภิปราย และนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เป็นผู้กล่าวปิดการอภิปราย โดยใช้เวลาตามความเหมาะสม ส่วนหากพรรคอนาคตใหม่ถูกวินิจฉัยยุบพรรคในวันที่ 21 ก.พ. คงไม่มีผลกระทบอะไรมากต่อการอภิปราย เชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่จะเตรียมบุคคลมาอภิปรายแทน ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค และต้องพ้นจากตำแหน่งไป ซึ่งคงมาทดแทนกันได้ เพราะเนื้อหาสาระได้เตรียมไว้หมดแล้ว เพียงแต่เทคนิคลีลาการอภิปรายอาจจะขาดอรรถรสไปบ้าง แต่ไม่กระทบอะไรมาก เพราะเราเน้นเนื้อหาการอภิปรายเป็นหลัก
    ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเป็นการชี้ชัดเจนว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวปัญหาของเศรษฐกิจไทยหรือไม่ และมีการบริหารราชการผิดพลาดอย่างไร เพราะที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้สนใจแต่เรื่องการตลาดมากกว่าจะมองถึงการปฏิบัติจริงในนโยบายที่รัฐบาลนำมาใช้ ดังจะเห็นได้จากหลากหลายโครงการที่นำมาใช้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้จริง ซึ่งถ้าหากรัฐบาลจากฝ่ายประชาธิปไตยได้มาบริหารประเทศ ก็จะใส่ใจประชาชนทั่วไปมากกว่าคนรวย ซึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ เวลาที่ฝ่ายรัฐบาลให้ก็มีจำกัด แต่ฝ่ายค้านมีหน้าที่อภิปราย ดังนั้นจึงต้องมีการปรับรายชื่อผู้จะอภิปราย ซึ่งขณะนี้รายชื่อยังไม่นิ่ง เนื่องจากส.ส.แต่ละคนในจำนวนหลายพรรครวมกันทั้งหมด 30-40 คนนั้นเตรียมข้อมูลมาอย่างดี แต่ข้อมูลบางคนมีความใกล้เคียงกัน ดังนั้นสุดท้ายจึงต้องมาตัดอีกรอบ ซึ่งทางพรรคหวังเป็นอย่างยิ่งว่าฝ่ายรัฐบาลคงจะไม่ประท้วงจนทำให้ทุกฝ่ายต้องเสียเวลา เพราะประชาชนให้ความสนใจรอฟังการอภิปรายในครั้งนี้ ดังนั้นหากรัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายให้ครบถ้วนและพยายามปิดบังข้อเท็จจริง ก็ยิ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความกังขา ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลเอง ซึ่งตนเชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่ารัฐบาลชุดนี้ควรจะอยู่ต่อไปหรือไม่
    วันเดียวกันนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไร  กรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรี” โดยทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,088 คน ระหว่างวันที่ 5-8 ก.พ.
    ผลสำรวจมีประเด็นน่าสนใจ เช่น เมื่อถามว่าประชาชนจะติดตามการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 24-26 ก.พ.หรือไม่ พบว่า ติดตาม 45.59% เพราะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรก ประเด็นที่ฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายน่าสนใจ อยากฟังการชี้แจงของทั้ง 6 รัฐมนตรี ต้องการรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงให้มากขึ้น ชอบติดตามข่าวการเมือง ฯลฯ, อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 29.32% เพราะต้องทำงาน อาจไม่มีเวลาติดตาม ทำให้เครียด การอภิปรายครั้งนี้คงไม่แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ฯลฯ, อันดับ 3 ไม่ติดตาม 25.09% เพราะไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ไม่น่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่อยากรู้ ไม่เชื่อถือนักการเมือง ฯลฯ
    สำหรับเรื่องที่ประชาชนสนใจหรืออยากให้มีการอภิปรายมากที่สุดอันดับ 1 ผลงานของนายกรัฐมนตรีและฝ่ายรัฐบาล การไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ให้ไว้ 44.52%, อันดับ 2 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน 33.56%, อันดับ 3 การปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ความไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง 23.27%
    ขณะที่สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผลสำรวจพบว่า อันดับ 1 ความเป็นระเบียบเรียบร้อย เคารพกฎกติกาในที่ประชุม 43.33%, อันดับ 2 ข้อมูลเป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ ชัดเจน ตรงประเด็นตามข้อเท็จจริง 37.12%, อันดับ 3 รัฐบาลปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น นำข้อเสนอแนะไปใช้ 33.48% ส่วนสิ่งที่ประชาชนไม่อยากเห็นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คืออันดับ 1 พฤติกรรมไม่เหมาะสม ทะเลาะกัน ประท้วงบ่อย ทำสภาล่ม 51.21%, อันดับ 2 ตอบคำถามไม่ชัดเจน ไม่ตรงประเด็น พูดนอกเรื่อง พูดเรื่องเดิม 33.15%, อันดับ 3 ไม่เคารพที่ประชุม นั่งหลับ เล่นมือถือ ไม่เข้าประชุม ไม่รักษาเวลา 28.68%
    ผลสำรวจยังพบว่า เมื่อถามถึงประชาชนคิดว่าจะได้รับประโยชน์จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ พบว่า อันดับ 1 ไม่แน่ใจ 40.07% เพราะต้องรอดูจากการอภิปราย ขึ้นอยู่กับผลที่จะเกิดขึ้น ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ฯลฯ, อันดับ 2 ได้ประโยชน์ 33.92% เพราะได้รับรู้ข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นจากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ได้ฟังการชี้แจงจาก 6 รัฐมนตรี อาจมีข้อมูลใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ช่วยให้เข้าใจการเมืองมากขึ้น ฯลฯ, อันดับ 3 ไม่ได้ประโยชน์ 26.01% เพราะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของสภา นักการเมืองมัวแต่ทะเลาะโต้เถียงกันไปมา เป็นเพียงแค่เกมการเมือง รัฐบาลยังคงบริหารประเทศต่อไป ฯลฯ
    กับคำถามประเด็นสุดท้ายว่าหลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลง ประชาชนคิดว่าการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ผลสำรวจพบว่า อันดับ 1 เหมือนเดิม 55.88% เพราะคณะทำงานชุดเดิม รัฐบาลยังคงมีอำนาจและมีเสียงข้างมาก เหมือนกับการอภิปรายทุกครั้งที่ผ่านมา ฯลฯ, อันดับ 2 น่าจะแย่ลง 24.08% เพราะรัฐบาลแก้ปัญหาล่าช้า ไม่เป็นรูปธรรม มีปัญหารุมเร้าหลายเรื่อง สถานการณ์อาจบานปลายหรือแย่ลงกว่าเดิม ฯลฯ, อันดับ 3 น่าจะดีขึ้น 20.04% เพราะเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลเร่งทำงาน กระตือรือร้นมากขึ้น รู้ข้อบกพร่องหรือปัญหาที่ผ่านมา นำไปพัฒนาปรับปรุง ฯลฯ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"