หลัง จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา นายทหารสังกัดค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา ก่อเหตุอุกอาจสะเทือนขวัญหลายจุดในจังหวัดนครราชสีมา จนสุดท้ายถูกตำรวจวิสามัญฯ ในช่วง 09.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ระหว่างทีมตำรวจโดยการนำของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ที่นำกำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ในห้าง Terminal 21 นครราชสีมา อันเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 30 ศพ ซึ่งรวมถึงตัวผู้ก่อเหตุด้วย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 58 ราย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้นำประเทศ ระบุว่า "ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย และต้องไม่มีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดทุกคนต้องมีบทเรียน แม้จะเคยผ่านสถานการณ์มาหลายครั้ง แต่ไม่เคยรุนแรงแบบนี้ ทุกอย่างคาดการณ์ไม่ได้ แต่เราต้องเตรียมให้พร้อม วันนี้ครั้งนี้ถือว่ารับมือได้ดี"
ในความเห็นเชิงวิชาการด้านความมั่นคง ปณิธาน วัฒนายากร ที่มีสถานะเป็น "ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี" นำเสนอความเห็นผ่านบทความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Panitan Wattanayagorn เรื่อง "ทางเลือกและทางรอดหลังกรณีสังหารหมู่"
โดยระบุตอนหนึ่งว่า การก่อเหตุร้ายเป็นวงกว้าง หรือ การสังหารหมู่ หรือการสังหารผู้คนเป็นจำนวนมากๆ ในครั้งเดียวกัน นอกจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครอบครัวผู้ที่สูญเสียแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจและความเชื่อมั่นของประชาชนโดยทั่วไปด้วย อีกทั้งยังอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศในระยะยาว จึงจำเป็นจะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมมาป้องกันหรือรองรับ เพราะอย่างที่สหรัฐอเมริกา การสังหารหมู่โดยการใช้อาวุธปืนถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกิดขึ้นทุกๆ 12-13 วันจากการศึกษาของ Lankford ที่ไปศึกษาเหตุการณ์ใน 171 ประเทศ เมื่อปี 2016 ซึ่งของอเมริกานับเป็นสัดส่วนกว่า 30% เมื่อเทียบกับของทั้งโลก
ดร.ปณิธาน-นักวิชาการสายรัฐศาสตร์ ความมั่นคง ให้ทัศนะอีกว่า ในประเทศไทยยังไม่มีการรวบรวมสถิติแบบเดียวกัน และเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นที่โคราชก็ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย แต่เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องถอดบทเรียนของเราเอง และนำเอาบทเรียนของประเทศอื่นๆ ที่คล้ายกับเรามาปรับใช้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันขึ้นอีก
"มาตรการของหลายๆ ประเทศที่น่าสนใจก็คือ 1.เร่งรัดยกระดับมาตรการการรักษาความปลอดภัย การควบคุมอาวุธปืน ทั้งในเมือง ในศูนย์การค้า และในชุมชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย หรือเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ 2.เยียวยาผู้ที่สูญเสียและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างรวดเร็ว 3.บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตวิทยาของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม 4.เริ่มดำเนินการระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ รวมทั้งการปรับแนวทางการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และการสื่อสารสมัยใหม่ของบุคคล"
ดร.ปณิธาน ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี ที่อีกสถานะหนึ่งเขาคือ "กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ" ให้ทัศนะว่า สิ่งที่พูดกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งในเวลานี้ก็คือ การสื่อสารในยามวิกฤติ ซึ่ง James Meindl และ Jonathan Ivy (ในวารสาร American Journal of Public Health เมื่อสามปีก่อน) ได้ชี้ให้เห็นว่าองค์การอนามัยโลก (World Health Organization-WHO) ได้ศึกษาเรื่องนี้มากว่า 50 ปีแล้ว และก็มีข้อแนะนำที่น่าสนใจว่า 1.ไม่ควรใส่อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปในการรายงานข่าว 2.ไม่ควรพาดหัวข่าวใหญ่โตเกินไป 3.ไม่ควรด่วนสรุปว่าเป็นเพราะสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เพราะในความเป็นจริงจะมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน 4.ไม่ควรจะรายงานซ้ำๆ หรือย้ำบ่อยๆ 5.ไม่ควรจะนำเสนอขั้นตอนการสังหารโดยละเอียด อันจะนำไปสู่การลอกเลียนแบบ หรือการเรียนรู้ได้ง่าย 6.จำกัดการนำเสนอของรูปภาพและคลิปวิดีโอให้น้อย เพื่อลดผลกระทบลง 7.ระมัดระวังในการนำเสนอ ไม่ให้ผู้กระทำผิดถูกยกย่องชื่นชมหรือเป็นแบบอย่าง รวมทั้งเรื่องการสังหารตัวเอง ซึ่งข้อแนะนำดังกล่าวทางรัฐบาลอเมริกัน โดย FBI ได้นำไปเป็นนโยบายในการสื่อสารชื่อว่า "อย่าไปเอ่ยชื่อเขา" (Don’t Name Them) และได้นำไปใช้ในกรณีที่อดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเรือนจำชาวอเมริกันที่มีพ่อแม่อพยพมาจากอัฟกานิสถานได้สังหารคนที่มาเที่ยวไนต์คลับไป 49 คนและบาดเจ็บอีก 53 คน ที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา เมื่อหลายปีก่อน
"กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ" ให้ข้อมูลอีกว่า นอกจากนี้ James Meindl และ Jonathan Ivy ยังได้มีข้อเสนอที่น่าสนใจในการสื่อสารอีก 5 ประการ คือ 1.สื่อสารให้เห็นถึงความน่าละอาย การละเมิดศีลธรรม จรรยาบรรณ ความขลาดกลัวของมือสังหาร ซึ่งจะป้องกันไม่ให้ผู้ทำผิดถูกชื่นชมหรือยกย่อง 2.หลีกเลี่ยงการอธิบายเหตุผลของมือสังหาร เพราะซับซ้อน และจะทำให้คนอื่นที่มีปัญหาคล้ายๆ กัน อาจเลือกแนวทางรุนแรงเป็นทางออกได้ 3.ลดเวลาออกอากาศให้สั้นหรือให้พื้นที่การสื่อสารให้น้อย เพราะการให้เวลาหรือให้พื้นที่สื่อมากๆ จะเป็นการให้รางวัลและเพิ่มสถานะทางสังคมของผู้ทำผิด เป็นต้น
และทิ้งท้ายว่า "สังคมไทยก็คงจะต้องพิจารณากันว่า อะไรจะเป็นทางเลือก อะไรจะเป็นทางรอดของเรา จากความรุนแรงที่น่ารังเกียจและสมควรได้รับการประณามเช่นนี้"
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสังคมไทยเวลาเกิดเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ๆ ก็มักจะมีการออกมาให้ทัศนะคล้อยหลังว่า "ต้องมีการถอดบทเรียน" หรือ "ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเหตุการณ์" แล้วจากนั้นพอเรื่องเริ่มเงียบไป สังคมไม่ค่อยสนใจ แนวคิดที่เคยเสนอให้สังคมและภาครัฐต้องถอดบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ก็มักจะลืมเลือนกันไป จนบางคราวก็เกิดเหตุลักษณะเดียวกันขึ้นมาซ้ำอีก โดยไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาอะไรที่ดีกว่าตอนเกิดเหตุครั้งแรก ก็ต้องรอดูว่า หลังเหตุยิงกระหน่ำที่นครราชสีมาจบไปแล้ว ข้อเสนอให้ถอดบทเรียนดังกล่าวจะเงียบหายไปตามกาลเวลาหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |