สั่งคสช.จ่อแถลงผลงาน โพลยังหวัง61มีความสุข


เพิ่มเพื่อน    

นายกฯ อวยพรปีใหม่ ให้กำลังใจ ครม.-ข้าราชการทุกกระทรวงตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน ช่วยกันแก้ไขปัญหาประเทศชาติ แนะอุปสรรคที่ผ่านมาคือกำลังใจของทุกคน เตรียมให้ คสช.แถลงผลงานภายใน 1-2 เดือนนี้ "นิด้าโพล" เผย ปชช.ส่วนใหญ่คาดหวังความสุขเป็นคุณภาพชีวิตในปี 61
    เมื่อวันอังคาร เวลา 07.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อร่วมพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 61 รูป เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2561 โดยมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) และภริยา เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง 
    จากนั้น เวลา 08.40 น. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ครม.
     ต่อมา พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการเปิดประชุม ครม.ว่า ในปีใหม่ที่ผ่านมาไม่ได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการในกระทรวงต่างๆ เข้าอวยพรปีใหม่ แต่ส่วนตัวขอฝากคำอวยพรถึงข้าราชการในทุกกระทรวงว่า ขอให้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้กับประชาชน และขอบคุณที่ได้ทำงานร่วมกันมา รวมถึงขอบคุณเรื่องของขวัญปีใหม่จากทุกกระทรวงที่มอบให้ประชาชนด้วย 
    พร้อมกันนี้ นายกฯ ยังให้กำลังใจ ครม. ว่าในช่วงที่ผ่านมามีอุปสรรคต่างๆ แต่ขอให้คิดว่าอุปสรรคที่ผ่านมานั้นคือกำลังใจของทุกคน ขอให้ทุกคนช่วยกันตั้งใจร่วมกันแก้ไขปัญหาของประเทศชาติต่อไป รวมถึงมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยต่างๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ยังมีข้อขัดข้องอยู่บ้าง ก็ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่อยู่ดีกินดีขึ้น
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมแถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศในปี2561 ว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยกำชับมาตลอดเวลา และเร่งให้คณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติจัดทำแผนแม่บทว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง โดยให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรวบรวม ก่อนที่จะส่งให้แต่ละกระทรวงตรวจสอบว่าได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง เนื่องจากบางเรื่องมีความซ้ำซ้อน ทั้งนี้รัฐบาลได้ดำเนินการทำมาหลายอย่างแล้ว จะได้ตอบสังคมชัดเจนเสียที โดยจะให้ คสช.เป็นผู้แถลงผลงาน ภายใน 1-2 เดือนนี้
    นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อย่าลืมว่ามีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกันระหว่างการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ จะได้ตอบคำถามได้ว่าเราจะมีประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้อย่างไร และจะใช้วิธีใดในการเดินหน้า และใช้เวลา ใช้งบประมาณเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณในอนาคต และให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ที่กำลังจะออกมา คือ พ.ร.ป.การเลือกตั้งกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามขั้นตอนกฎหมาย ในมาตรา 77 ไม่ใช่ไม่ฟังใครแล้วไปออกกฎหมาย
    วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คุณภาพชีวิตของคนไทย 2560 และความคาดหวัง ภายใต้รัฐบาล คสช.” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-26 ธันวาคม 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกระดับการศึกษาและ อาชีพ 1,250 หน่วยตัวอย่าง 
    จากการสำรวจเมื่อถามถึงคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ในปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 ภายใต้รัฐบาล คสช. ที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าดีขึ้น ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 49.36 ระบุว่าด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เช่น สัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต น้ำ ประปา ไฟฟ้า ถนน การคมนาคม ฯลฯ, อันดับ 2 ร้อยละ 47.44 ระบุว่าด้านความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว, อันดับ 3 ร้อยละ 43.84 ระบุว่าด้านการบริการและการได้รับสวัสดิการของรัฐด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และเท่าเทียมกัน เช่น ระบบการศึกษา  ระบบประกันสุขภาพ การให้บริการของหน่วยงานภาครัฐแก่ประชาชน, อันดับ 4 ร้อยละ  41.52 ระบุว่าด้านระดับความสุข และอันดับ 5 ร้อยละ 39.76 ระบุว่า ด้านความสงบสุข ความปรองดอง ความสามัคคีของคนในสังคมและชุมชน
     สำหรับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ในปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 ภายใต้รัฐบาล คสช. ที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าเท่าเดิม ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 44.00 ระบุว่าด้านการพักผ่อนและการใช้ชีวิตในเวลาว่าง,   อันดับ 2 ร้อยละ 42.80 ระบุว่าด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, อันดับ 3 ร้อยละ 40.32 ระบุว่า ด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจโดยรวม, อันดับ 4 ร้อยละ 33.60 ระบุว่าด้านเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง และอันดับ 5 ร้อยละ 32.48 ระบุว่าด้านปัญหาทางการเมืองและคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ในปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 ภายใต้รัฐบาล คสช. ที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าแย่ลง ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 54.24 เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และอันดับ 2 ร้อยละ 39.04 ระบุว่าด้านการศึกษา/ภาวะการมีงานทำ/การประกอบอาชีพ 
    เมื่อถามถึงความคาดหวังของประชาชนต่อคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ในปี 2561 ภายใต้รัฐบาล คสช. ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความคาดหวังให้ดีขึ้นได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 71.04 ระบุว่าด้านระดับความสุข, อันดับ 2 ร้อยละ 65.84 ระบุว่าด้านความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัว, อันดับ 3 ร้อยละ 64.72 ระบุว่าด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เช่น สัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต น้ำประปา ไฟฟ้า ถนน การคมนาคม ฯลฯ, อันดับ 4 ร้อยละ 64.56 ระบุว่าด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจโดยรวม, อันดับ 5 ร้อยละ 61.76  ระบุว่าด้านการพักผ่อนและการใช้ชีวิตในเวลาว่าง, อันดับ 6 ร้อยละ 58.88 ระบุว่าด้านการบริการและการได้รับสวัสดิการของรัฐด้วยความเสมอภาค  เป็นธรรม และเท่าเทียมกัน เช่น ระบบการศึกษา ระบบประกันสุขภาพ การให้บริการของหน่วยงานภาครัฐแก่ประชาชน, อันดับ 7 ร้อยละ 58.64 ระบุว่าด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน, อันดับ 8 ร้อยละ 56.56 ระบุว่าด้านความสงบสุข ความปรองดอง ความสามัคคีของคนในสังคมและชุมชน, อันดับ 9 ร้อยละ 54.88 ระบุว่าด้านการศึกษา/ภาวะการมีงานทำ/การประกอบอาชีพ, อันดับ 10 ร้อยละ 53.04 ระบุว่าด้านเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ, อันดับ 11 ร้อยละ 52.40 ระบุว่าด้านปัญหาทางการเมือง และอันดับ 12 ร้อยละ 49.44 ระบุว่าด้านเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"