อึ้ง!โกงเงินเด็กทะลุ110ล. ‘ศธ.’ฟันวินัยร้ายแรง‘ซี8’


เพิ่มเพื่อน    

 ป.ป.ท.บุกค้นบ้าน ขรก.ซี 8 งาบกองทุนเสมาฯ พบเอกสารหลักฐานเพียบ ข้องใจบ้านโทรมไม่เชื่อโกงคนเดียว เผยเจอทุจริตเพิ่ม 30 ล้าน! ศธ.สรุปฟันวินัยร้ายแรง ชง อ.ก.พ. 26 มี.ค. ไล่ออกหรือปลดออก

    เมื่อวันที่ 23 มีนาคม เวลา 06.30 น. พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อม พ.ต.อ.ธนวุฒิ โพธิ์ชุ่ม ประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ป.ป.ท., 
พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 ป.ป.ท. สนธิกำลังเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท., สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.),  กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และ สน.ดอนเมือง นำหมายค้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เลขที่ 2/2561 และ 3/2561 ลงวันที่ 22 มี.ค.2561 
    ขอค้นบ้านเลขที่ 310/926 และ 310/927 หมู่บ้านปิ่นเจริญ 3 ถนนสรงประภา 14 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ของนางรจนา สินที นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สังกัดสำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ระดับ 8 กระทรวงศึกษาธิการ ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์, เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานปลอมเอกสาร, เป็นเจ้าพนักงานรับรองเอกสารเพื่อพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามมาตรา 147,1 51, 161, 162 และ 157 โดยเบียดบังงบกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ทุนการศึกษาของนักเรียนในโครงการของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กว่า 88 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี
    โดยสภาพบ้านนางรจนาเป็นทาวน์เฮาส์หลังเก่า 2 หลังติดกัน มีการนำผ้าม่านและแผ่นสังกะสีปิดซ้อนกับประตูรั้วอย่างมิดชิด ซึ่ง พ.ต.ท.สิริพงษ์ได้กดกริ่งเรียกเจ้าของบ้าน พร้อมแสดงหมายค้นของศาลเพื่อขอเข้าตรวจค้นหลักฐานนำมาประกอบการไต่สวนมูลฟ้อง และหลักฐานอื่นอันเป็นเหตุสงสัยว่าใช้เพื่อกระทำความผิด  ทั้งนี้ ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์กับนางรจนานานกว่า 20 นาที และนางรจนาได้โทรศัพท์หารือกับทนายความ ก่อนอนุญาตให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เข้าตรวจค้นเก็บหลักฐาน
    พ.ต.ท.สิริพงษ์เปิดเผยว่า คดีนี้เลขาธิการ ป.ป.ท.มีนโยบายให้ทำงานเชิงรุก ภายหลังบอร์ด ป.ป.ท.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนความผิดได้ขอหมายค้นเข้าตรวจค้นเพื่อเก็บพยานหลักฐานในทันที เนื่องจากกรณีของนางรจนา มีเหตุต้องสงสัยว่าเป็นเพียงข้าราชการระดับ 8 แต่สามารถใช้ช่องว่างทุจริตอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ปี สร้างความเสียหายให้กับระบบราชการกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่สภาพบ้านพักค่อนข้างทรุดโทรม จึงเป็นประเด็นต้องสงสัยถึงเส้นทางการเงิน โดยเบื้องต้นพบเส้นทางการเงินที่ได้จากการทุจริตนำไปเข้าในบัญชีของบุคคลต่างๆ ตั้งแต่ปี 51 จนถึงปัจจุบันแล้ว แต่อยู่ระหว่างการขยายผลว่าเงินไหลออกไปจุดใดบ้าง 
เจอโกงเพิ่ม 30 ล้าน
    "ที่สำคัญในคดีมีข้อสงสัยว่าการอนุมัติทุนทำในรูปคณะกรรมการ มีผู้ร่วมพิจารณาเป็นจำนวนมาก เหตุใดจึงมีการทุจริตเพียงคนเดียว โดยไม่พบร่องรอยของผู้ร่วมพิจารณารับรู้เรื่องด้วย สำหรับผู้ที่มีชื่อรับเงินจากนางรจนาจะต้องเสนอให้บอร์ด ป.ป.ท.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมด ล่าสุดจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบความเสียหายเพิ่มเติมจาก 88 ล้านบาท เป็นกว่า 110 ล้านบาท โดยพบวงเงินที่ถูกทุจริตในงบประมาณปี 51 และ 53 เพิ่มอีก 30 ล้านบาท" พ.ต.ท.สิริพงษ์ระบุ
    ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่มีเวลาในการตรวจอายัดหลักฐาน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. จะพยายามทำการตรวจอายัดให้เสร็จภายในวันที่ 23 มี.ค. ก่อนนำหลักฐานทั้งหมดไปตรวจสอบ และหาความเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับคดีหรือไม่ เบื้องต้นได้ทำการตรวจอายัดแฟ้มเอกสารจำนวนมาก และคอมพิวเตอร์อีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงเอกสารที่อยู่ภายในรถมิตซูบิชิ ปาเจโร สีน้ำเงิน ทะเบียน ศส 6116 กรุงเทพฯ ของนางรจนาที่จอดอยู่หน้าบ้าน จากการตรวจสอบบ้าน 2 หลัง สามารถทะลุถึงกันได้ มีคนในครอบครัวรวมนางรจนาด้วยทั้งหมด 4 คน ซึ่งให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ในการตรวจเป็นอย่างดี หลังจากนี้จะนำหลักฐานทั้งหมดกลับ ป.ป.ท. เพื่อให้คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงทำการตรวจหาพยานหลักฐานต่อไป  
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เอกสารที่ ป.ป.ท.ยึดได้ภายในรถคันดังกล่าว ประกอบด้วย เอกสารที่ถูกฉีกทำลายอยู่ในถุงขยะสีดำ 2 ถุง เอกสารที่ระบุประวัตินักเรียนที่ได้รับทุน สำเนาสลิปการโอนเงิน สำเนาบัญชีธนาคาร และเอกสารกองทุนเสมาฯ ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2540 
      ด้าน พ.ท.กรทิพย์เผยว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อนุมัติหมายค้น ตรวจอายัดหาพยานหลักฐานทั้งหมด เพื่อหาความเกี่ยวโยงกับคดีทุจริตงบกองทุนเสมาฯ และหาพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับนางรจนา ส่วนใหญ่พบเอกสารและแฟ้มจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จะนำกลับไปตรวจสอบอย่างละเอียด หลังจากนี้หากพบความเกี่ยวโยงถึงใคร และข้าราชการระดับสูง คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ป.ป.ท. จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ปปง.ตรวจสอบพบเส้นทางการเงินบุคคลที่ไม่ใช่เครือญาติของนางรจนา แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอยู่ในสำนวน ยังต้องขอเวลาตรวจสอบต่อไป
    ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ท.เข้าค้นบ้านนางรจนา และพบเอกสารเพิ่มเติมตั้งแต่ปี 2540-2546 นั้น ถือเป็นข่าวดี ทาง ศธ.จะขอเอกสารดังกล่าวจาก ป.ป.ท.มาตรวจสอบ เพื่อจะไล่ดูว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นตั้งแต่ปีไหน ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. ย้ำว่าให้ตรวจสอบทั้งระบบ โดยล่าสุดทางนิติกรได้ทำคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเสนอให้ รมว.ศธ.ลงนามเร็วๆ นี้
ศธ.ฟันวินัยร้ายแรง
    ปลัด ศธ.เปิดเผยว่า สำนักนิติการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้สรุปและเสนอโทษทางวินัยของนางรจนาเรียบร้อยแล้ว โดยเสนอให้ลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีโทษ 2 สถานคือ ไล่ออกหรือปลดออกจากราชการ ส่วนจะลงโทษสถานใดนั้น จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สป.ศธ. เพื่อมีมติร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง 
    นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตระหว่างปี 2551-2561 จำนวนกว่า 88 ล้านบาท กล่าวว่า ต้องตรวจสอบย้อนหลังตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนฯ อย่างเป็นทางการในปี 2543 ซึ่งเป็นช่วงที่ได้เงินประเดิมกองทุนฯ จำนวน 600 ล้านบาท จากสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยเอกสารที่รวบรวมจะมีทั้งเอกสารที่เป็นบันทึกรายงานการประชุม การจัดทำบัญชีเบิกจ่ายในแต่ละปี แม้จะมีเอกสารส่วนหนึ่งที่ยังหาไม่เจอ แต่คณะกรรมการสืบสวนฯ ได้ค้นพบเอกสารเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อย ๆ 
    "ล่าสุด พบเอกสารการเงินที่เกี่ยวข้องกับปี 2551 และ 2553 และยังพบว่าปี 2550 มีการทุจริตเพิ่มเติม แต่ยังไม่ทราบจำนวนเงิน อยู่ระหว่างการตรวจสอบและค้นหาเอกสารยืนยัน ทั้งนี้ จากเอกสารและข้อมูลที่พบทั้ง 3 ปี พบว่ามีตัวเลขเงินที่หายไปเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30 ล้านบาท แต่ทางคณะกรรมการสืบสวนฯ ยังยืนยันไม่ได้ว่าตัวเลข 30 ล้านบาทที่พบเป็นการทุจริตทั้งหมดหรือไม่ แต่เท่าที่ตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง" ประธานคณะกรรมการสืบสวนฯ ระบุ
    นายอรรถพลกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการสืบสวนฯ ได้เชิญนางรจนามาให้ข้อมูลแล้วถึง 3 ครั้ง แต่นางรจนาปฏิเสธ โดยบอกว่ามีปัญหาเรื่องสุขภาพ ส่วนข้าราชการที่เกี่ยวข้องอีก 4 รายนั้น ยังไม่ได้เชิญมาให้ข้อมูล ขณะนี้คณะกรรมการสืบสวนฯ ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบจากเอกสารก่อน เพราะเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ตัวผู้กระทำความผิดได้ ส่วนพยานบุคคลเป็นเพียงการให้ข้อมูลยืนยันว่าจริง หรือไม่จริง ดังนั้น แม้ไม่ได้สอบสวนผู้เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะมีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อมโยงไปถึงผู้ที่ทำการทุจริตได้
         ส่วนนางรจนานั้น ยังถือว่าเป็นข้าราชการ และหากในการประชุม อ.ก.พ. สป.ศธ. วันที่ 26 มี.ค.นี้มีมติลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง ไล่ออก หรือปลดออกนางรจนา  ออกจากราชการ คณะกรรมการสืบสวนฯ ยังคงต้องทำหน้าที่สืบสวนต่อไป เพราะกระบวนการยังมีอีกหลายขั้นตอน หน้าที่ของคณะกรรมการสืบสวนฯ คือรวบรวมข้อมูลหลักฐาน และเสนอให้ผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามขั้นตอน
    เมื่อถามว่า จะเชิญอดีตปลัด ศธ.ที่อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวมาให้ข้อมูลหรือไม่ นายอรรถพลกล่าวว่า ขอให้สรุปข้อมูลจากเอกสารให้ได้ก่อน ส่วนผู้บริหารในอดีตบางคน มีการมอบหมายให้รองปลัด ศธ.ดูแลแทน และส่วนใหญ่จะเซ็นอนุมัติในหลักการ ซึ่งการที่เห็นลายเซ็นปรากฏในเอกสารอนุมัติงบประมาณต่างๆ นั้น อาจเป็นการอนุมัติงบภาพรวม ซึ่งตรงนี้ต้องไปตรวจสอบ 
    ในช่วงค่ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า ขอย้ำอีกครั้งว่าการทุจริตที่ตรวจสอบพบจากข้อร้องเรียนของภาคประชาชน รัฐบาล และ คสช.นั้น จะดำเนินการให้ทุกเรื่อง ขอให้อย่าเป็นการกลั่นแกล้ง หรือเป็นการทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน เพียงแต่ว่าขอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพอสมควรให้เกิดความกระจ่างชัด จะได้ดำเนินการต่อได้ ซึ่งจะต้องทำให้เป็นธรรมตามขั้นตอน ตามกระบวนการและข้อกฎหมาย โดยอาจจะมีหลายเรื่องในเวลานี้ ไม่ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจ แต่จำเป็นต้องใช้กระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใสและเป็นธรรม ทั้งกับผู้ร้องและผู้ถูกกล่าวหาตามกฎหมายที่มีอยู่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"