ซักฟอกเปิดแผล รบ.ประยุทธ์
ลั่นมีหลักฐานเด็ดถลุง 3 ป.
พรรค รบ.แทงข้างหลังบิ๊กป๊อก
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลของฝ่ายค้าน ที่ยื่นญัตติอภิปรายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมกับรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอีก 5 ชื่อ ได้ข้อยุติแล้วว่าจะมีการเปิดอภิปรายตั้งแต่ 24 ก.พ.จนถึงวันที่ 26 ก.พ. และลงมติกันในวันที่ 27 ก.พ. แต่หากการอภิปรายไม่จบภายใน 3 วันจะขยายเวลาให้อภิปรายถึงวันที่ 27 ก.พ.และไปลงมติในวันที่ 28 ก.พ.
สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคามและประธานวิปฝ่ายค้านจากพรรคเพื่อไทย-ขุนพลหลักของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ที่จะเป็นผู้กล่าวสรุปปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นคนสุดท้าย ย้ำว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ ฝ่ายค้านมีข้อมูลแน่นหนาหลายเรื่องที่จะแสดงให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นระหว่างการอภิปรายอย่างน้อยสามวันสามคืน ที่จะชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศและพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมหลายเรื่อง เช่น การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือการทุจริตคอร์รัปชัน การร่ำรวยผิดปกติของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอีก 5 คน ส่วนจะเป็นเรื่องใดบ้างขอให้รอติดตาม เพราะการอภิปรายบางประเด็นฝ่ายค้านจะมีพยานหลักฐานทางการเมืองที่เรียกกันว่า "ใบเสร็จทุจริต" จะมาแสดงให้เห็นประกอบการอภิปรายด้วย
...การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้เป็นการอภิปรายที่ทิ้งช่วงมานาน และพบว่าเป็นการอภิปรายที่ประชาชนให้ความสนใจ และน่าจะมีส่วนร่วมมากในหลายรูปแบบ และจะเป็นการอภิปรายที่รูปแบบจะเปลี่ยนไปมาก จากการอภิปรายแบบที่เคยเห็นดุเดือดเลือดพล่าน ก็จะได้เห็นการอภิปรายครั้งนี้แบบลดความร้อนแรงลง แต่จะหนักแน่นด้วยข้อมูลและเนื้อหา และจะเป็นการอภิปรายที่จะมี ส.ส.ฝ่ายค้านหลายพรรคสลับกันขึ้นอภิปราย จากที่ในอดีตจะอภิปรายกันแค่ไม่กี่พรรค มั่นใจว่าการอภิปรายครั้งนี้ประชาชนจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หูตาจะสว่าง และจะเป็นการอภิปรายที่รัฐบาลจะตอบไม่ได้ จะจำนนต่อหลักฐานหลายเรื่อง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องหลักคิดของสังคมพอสมควร และเมื่อเสร็จการอภิปรายแล้ว รัฐบาลจะพบกับวิกฤติศรัทธาและไปไม่ได้ในที่สุด โดยเชื่อว่าหลังอภิปรายจบไม่เกินสามเดือน รัฐบาลจะเหนื่อยจากวิกฤติศรัทธา
...สำหรับการลงมติของ ส.ส.รัฐบาล ที่อาจจะไม่ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีบางคนหรือไม่นั้น มองดูแล้วรอบนี้คงไม่ได้เห็น แต่สิ่งที่เห็นหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้นลงก็คือ อาจจะมีบางพรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลอาจจะยื่นคำขาดให้นายกฯ ต้องทำอะไรสักอย่าง ที่หากไม่มีการดำเนินการ ก็อาจจะมีการแจ้งขอถอนตัว ที่อันนั้นคือจุดจบของรัฐบาล
"จะมีบางพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่พอได้เห็นข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมารยาทเขาอาจยกมือไว้วางใจให้ แต่เขาจะไปยื่นคำขาดให้นายกฯ ต้องทำอะไรสักอย่าง หากไม่ได้เขาก็จะถอนตัว ซึ่งแบบนั้นก็คือจุดจบ เพราะพอมีวิกฤติศรัทธามากๆ เขาก็ไม่ยอมด้วย ก็ต้องสละเรือ โดดจากเรือ เรือจะจม เพราะพออภิปรายจบลงคนจะเสื่อม เสื่อมมากๆ ก็เหมือนหมากำลังจะตาย ก็ต้องมีเห็บตัวใดตัวหนึ่งชิงกระโดดหนีไปก่อน" สุทินระบุ
-ข้อมูลฝ่ายค้านจะถึงขั้นมีใบเสร็จไหม?
มี การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้มีใบเสร็จอยู่หลายกรณีเรื่องทุจริต สำหรับประชาชน ผมเชื่อว่าไม่ผิดหวัง แต่คำว่าไม่ผิดหวัง ต้องฝากประชาชน คอการเมือง ถ้ายังมีรสนิยมแบบเดิม คืออภิปรายต้องแบบดุเดือดเลือดพล่าน ต้องบู๊ล้างผลาญ อาจจะผิดหวัง แต่ถ้าเราปรับรสนิยมการติดตามใหม่ คือเป็นการอภิปรายในเชิงข้อมูลที่อาจจะไม่มีวาทะบู๊ล้างผลาญ ถ้าเป็นรสนิยมเดิมอาจผิดหวัง ก็ต้องเปลี่ยนรสนิยมการติดตามใหม่ ส่วนปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 หรือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ก็คงต้องมี เพราะปัญหาเหล่านี้ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐบาล เป็นการบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอดีต
ต้องทุบ-ไล่ถลุง 3 ป.เพราะคือตัวหลัก
สุทิน แจงกรณีมีเสียงวิจารณ์ว่า รัฐบาลเพิ่งบริหารประเทศได้แค่ 7 เดือน ทำไมต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยบอกว่าหากย้อนหลังไปดูการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีต จะพบว่าฝ่ายค้านเคยยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐมนตรีที่ทำงานมาแค่ 4 เดือน ฝ่ายค้านก็ยื่นญัตติแล้ว คือตอนช่วงนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายค้านเวลานั้นคือพรรคประชาธิปัตย์ก็ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว หรือสมัยประชาธิปัตย์ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็ยื่นหลังบริหารประเทศไป 6 เดือน และยื่นอภิปรายทุกปีด้วย มาครั้งนี้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรายื่นหลังรัฐบาลบริหารมา 7 เดือน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แค่ 7 เดือน เพราะรัฐบาลชุดนี้โดยตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงรัฐมนตรีคนสำคัญในรัฐบาลบริหารประเทศมาแล้วรวมเวลาถึง 6 ปี เป็น 6 ปีซึ่งไม่มีการตรวจสอบ เราก็คิดว่าฝ่ายค้านมีความจำเป็นและชอบธรรมที่จะตรวจสอบรัฐบาล
"หลักการของการตรวจสอบไม่คำนึงถึงเรื่องเวลาอยู่แล้ว ถ้าพบว่ามีการกระทำผิดและส่อว่าจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย ประชาชนจะลำบาก เพียงแค่ 1 เดือนก็สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจได้เลย การยื่นอภิปรายครั้งนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสม"
...ที่ยื่นอภิปรายพลเอกประยุทธ์ เพราะนายกรัฐมนตรีคือผู้รับผิดชอบสูงสุด และศูนย์รวมของปัญหาทั้งหมดมาจากตัวพลเอกประยุทธ์และการบริหารราชการใดๆ ที่เราตรวจสอบอำนาจเบ็ดเสร็จทุกอย่างอยู่ที่พลเอกประยุทธ์และตัวนายกฯ ก็ยังเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเวลานี้ด้วย โดยที่ปัญหาใหญ่เวลานี้คือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาหลายเรื่องที่ฝ่ายค้านตรวจสอบพบ เราก็พบว่าพลเอกประยุทธ์ใช้การบริหารประเทศโดยศูนย์รวมทั้งหมดอยู่ที่นายกฯ และที่สำคัญคือเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่เรียกร้องให้พุ่งเป้ามาที่นายกฯ เราจึงต้องอภิปรายตัวนายกฯ เพราะเราวางน้ำหนักไว้ที่การอภิปรายตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ชัดเจนที่สุดก็คือตัวนายกฯ
สำหรับกรณี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ไม่ถูกอภิปรายในครั้งนี้ด้วย เพราะฝ่ายค้านเห็นว่าสมคิดตอนนี้เขาไม่ได้รับผิดชอบอะไรมากมายเรื่องเศรษฐกิจ แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือ นายกฯ ต้องรับรู้ทั้งหมดในเรื่องเศรษฐกิจ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล จึงอภิปรายพลเอกประยุทธ์คนเดียวก็เพียงพอ
ส่วนเมื่ออภิปรายเรื่องเศรษฐกิจแล้วรัฐมนตรีคนอื่นๆ เช่น นายสมคิด รองนายกฯ จะขอชี้แจงแทนนายกฯ ในสภาฯ นั้น อยู่ที่ประธานในที่ประชุมฯ แต่ผมคิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจแตกต่างจากกรณีอื่นๆ เพราะแนวทางปฏิบัติคือ ฝ่ายค้านอภิปรายซักถามใคร รัฐมนตรีคนนั้นต้องเป็นผู้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ เพราะในญัตติเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีคนนั้น ไม่ใช่การอภิปราย ครม.ทั้งคณะ หากจะชี้แจงพอเท่าที่จำเป็น ก็อาจพอรับได้ แต่หากจะถึงขั้นมีหน้าที่มาชี้แจงแทนนายกฯ เช่น มาชี้แจงแทนเป็นชั่วโมง แบบนี้ไม่เหมาะสม และประเพณีปฏิบัติไม่เคยมี ถ้าทำแบบนี้ผมว่าผิดวัตถุประสงค์
...การอภิปรายรอบนี้ ฝ่ายค้านหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประชาชน อย่างน้อยครั้งนี้ผมว่าจะทำให้เกิดการปรับปรุงนิสัยหรือฐานคิดของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ที่เคยมองข้ามหัวประชาชน ไม่แยแสต่อหลักของกฎหมาย หลักนิติรัฐ นิติธรรม เคยลุแก่อำนาจ แต่หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลงผมเชื่อว่าเขาจะปรับพฤติกรรม วิธีคิดของเขาใหม่ หันมาคิดในลักษณะตรงกันข้ามจากก่อนหน้านี้ และที่หวังต่อไปก็คือจะทำให้เกิดการปรับคน หรือปรับคณะรัฐมนตรี จนถึงขั้นที่เราหวังก็คือ ให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล การอภิปรายจะทำให้ความเชื่อถือที่มีต่อพลเอกประยุทธ์จะลดลง และนายกฯ จะรู้ตัวเองดีขึ้นหลังจบการอภิปราย
"เป็นการเปิดแผลและทำให้นายกฯ ตาสว่าง ท่านอาจจะเคยฟังลูกน้องบริวาร หรือข้าราชการคอยให้แต่ข้อมูลที่เป็นไปในทางบวก แต่ถ้าฟังข้อมูลฝ่ายค้านบางกรณี นายกฯ อาจจะต้องอึ้งกับบางเคส บางกรณีที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นในรัฐบาลตัวเอง แล้วนายกฯ ก็จะตาสว่าง"
ประธานวิปฝ่ายค้าน ให้เหตุผลถึงการอภิปราย 3 รัฐมนตรีแกนนำรัฐบาล ที่เรียกกันว่า 3 ป. คือ พลเอกประยุทธ์-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือบิ๊กป้อม และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หรือบิ๊กป๊อก ว่า เป็นเพราะทั้ง 3 คนคือตัวอำนาจที่แท้จริงในรัฐบาล ทั้งในฐานะคนสั่งการและคนที่กุมทิศทางจริงๆ ของรัฐบาลอยู่ที่ 3 คนนี้ คนอื่นๆ เราถือว่าเป็นตัวประกอบ
-ยืนยันว่าประเด็นที่เขียนในญัตติว่า พลเอกประยุทธ์เข้ามาโดยมิชอบ ล้มล้างการปกครองฯ หมายถึงฝ่ายค้านก็จะอภิปรายย้อนหลังไปถึงยุค คสช.?
เพราะเป็นต้นทางของความเสื่อมและความล้มเหลว ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจแม้ฝ่ายค้านจะเน้นไปที่รัฐบาลชุดนี้ก็จริง แต่เราต้องอภิปรายชี้ให้เห็นว่า สารตั้งต้นของความเลวร้ายมาจากช่วงไหน โดยจะลำดับให้เห็น จึงมีความจำเป็นที่ฝ่ายค้านต้องเขียนในญัตติให้เห็น และเวลาอภิปราย เราก็ต้องอภิปรายให้เห็นในสิ่งนี้ด้วย จะได้แก้ปัญหาให้ถูกจุด ยืนยันว่าการอภิปรายย้อนหลังไปถึงตอน คสช.ผมว่าทำได้ ถ้าเป็นความผิดที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่หากเป็นความผิดที่ไม่ได้มีอะไรต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ก็อาจไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภาฯ แต่ว่าทุกเรื่องที่เราจะอภิปรายครั้งนี้ มีความเชื่อมโยงกัน มันมีความเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน
ตรงนี้คือเหตุจำเป็นที่ฝ่ายค้านต้องอภิปรายย้อนอดีตบ้าง ต้องฉายให้เห็น ที่บอกว่าต้องเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ แล้วมาคอยเที่ยวด่าว่านักการเมืองชั่ว นักการเมืองเลว แต่จะทำให้เห็นว่าเขาเข้ามาแล้วหนักกว่าเขาอีก ทำแย่กว่านักการเมืองอีก ก็มีข้าราชการส่งข้อมูลให้เราเยอะ แม้แต่ฝ่ายรัฐบาลเอง ทั้งรัฐมนตรีและ ส.ส.รัฐบาลก็ส่งมาให้
สำหรับข่าวพรรคพลังประชารัฐและวิปรัฐบาลจะมีการตั้งทีมองครักษ์พิทักษ์นายกฯ กลางห้องประชุมสภาฯ ก็มองว่า เพราะฝ่ายเขากลัว เพราะว่า ณ วันนี้ เขารู้ว่าความผิดใดๆ มันมาจากอดีต แต่มาออกผล เห็นความเสื่อมสุดๆ ในตอนนี้ เขาก็ต้องพยายามสกัด เพราะเป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้วในการที่จะขัดขวาง ทำลายจังหวะในการพูด ก็ต้องทำ แต่ที่ผ่านมาเป็นที่น่าสังเกต การอภิปรายนัดสำคัญๆ ไม่ค่อยมีตีรวน ไม่ค่อยประท้วง เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้เล่นนอกเกม เราไม่ได้ใช้สำนวนโวหารมาเสียดสี ไม่มีการอภิปรายแบบให้ร้ายป้ายสี จึงทำให้ไม่ค่อยมีการตีรวน มาประท้วงเรา
การอภิปรายรอบนี้ก็เช่นกัน เราจะอภิปรายด้วยข้อมูล ความจริง และไม่มีการใช้โวหารที่เกินงาม จึงเชื่อว่าคนคิดจะมาคอยจ้องประท้วง อาจจะแป๊ก เพราะหากจังหวะประท้วงไม่ได้ ส่วนจะมาใช้วิธีการชิงปิดอภิปราย แบบนี้จะยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ ต้องไม่ลืมว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ การมีส่วนร่วมเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างข้างนอกกับข้างในคือสังคมกับในสภาฯ มันเป็นไปอย่างกลมกลืนมาก คนก็ติดตามการอภิปรายรอบนี้กันมาก แล้วทีนี้หากรัฐบาลจะไปใช้วิธีชิงปิดอภิปราย ผมเชื่อว่าประชาชนจะรับไม่ได้ ผลเสียจะเกิดกับรัฐบาลเอง
-ที่เขียนในญัตติว่าพลเอกประยุทธ์ร่ำรวยผิดปกติ มีข้อมูลหลักฐานชัดเจน?
ใช่ ก็มี เพราะนายกฯ ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินชี้แจงแสดงให้ดู เราก็มีคนไปตรวจสอบไปพบ โดยข้อมูลหลักฐานที่ฝ่ายค้านได้มาในการอภิปรายครั้งนี้ ช่วงแรกวิปฝ่ายค้านปล่อยให้แต่ละพรรคไปหาข้อมูลกันโดยอิสระ จนเมื่อถึงจังหวะ เราก็ถามกันภายในว่า ใครมีข้อมูลเรื่องอะไร พุ่งไปที่เรื่องไหนอยู่ พอรู้ว่าแต่ละคน แต่ละพรรค จับเรื่องประเด็นอยู่ เราก็ให้เกณฑ์เบื้องต้นไปว่าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ต้องใช้คีย์สูง ไม่ใช่คีย์แบบการอภิปรายทั่วไปแบบที่ผ่านมา ข้อมูลต้องยกขึ้นมาอีกระดับ จนเราได้ตรวจสอบแน่ใจ โดยทุกคนยืนยันว่าเป็นไปตามกรอบที่ให้ไว้และพร้อมจะรับผิดชอบด้วยตัวเอง จนมีการยื่นญัตติไป และหลังจากนี้ฝ่ายค้านจะเริ่มวิธีการนำข้อมูลทั้งหมดมาจัดระบบ แบ่งซีรีส์ แบ่งคนอภิปราย แบ่งจังหวะการอภิปราย ถัดจากนั้นก็เข้าสู่การซ้อมให้เป็นทีมเวิร์ก ฝึกการส่งไม้รับไม้กัน
ส่วนที่เขียนในญัตติว่านายกฯ มีเรื่องการทุจริตด้วย เพราะมีอยู่ 3 พฤติกรรมคือ ทุจริตเอง-เอื้อและเปิดทางให้คนอื่นทุจริต และเป็นนายกฯ พบว่ามีการทุจริต แต่กลับปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต และที่เขียนในญัตติว่า หากนายกฯ อยู่ต่อไป ประเทศจะล่มจม ก็จริงอย่างนั้น เพราะหลายเรื่องเขาวางไว้แล้วทำให้มันเสียหาย เช่น การวางระบบโครงสร้างต่างๆ ที่ทำให้ประเทศเกิดความเหลื่อมล้ำ ที่หากปล่อยไว้แบบนี้ไม่ยอมแก้ไข ก็จะทำให้ประเทศเดินไปสู่ความล่มจม และหลายเรื่อง พลเอกประยุทธ์พูดเองว่า ประเทศนี้ไปไม่ไหวแล้ว จำเป็นต้องปฏิรูป จึงต้องยึดอำนาจ เพราะบ้านเมืองไปไม่ไหว จะล่มจม จึงเข้ามาเพื่อจะปฏิรูป แต่พบว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย ก็แสดงว่าความล่มจมที่พลเอกประยุทธ์มองไว้ ถึงตอนนี้ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม เพราะพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ปฏิรูปอะไรเลย สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่อธิบายให้เห็นได้
'มท.1' โดนรัฐบาลด้วยกันแทงหลัง
ประธานวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไล่ให้ฟังถึงการอภิปรายรัฐมนตรีอีก 5 คนเรียงตามรายชื่อดังนี้ เริ่มที่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่อยู่ในตำแหน่งมาร่วม 6 ปี ตั้งแต่ยุครัฐบาล คสช. โดยบอกว่า สำหรับกรณีพลเอกอนุพงษ์ ยอมรับว่ายังไม่ดูรายละเอียดมาก แต่แกก็มีเรื่องทุจริตอยู่หลายเรื่อง ทั้งทำเองและลูกน้องบริวารทำ โดยฝายค้านมีหลักฐานชัดเจนที่จะแสดงต่อสภาฯ โดยเขาก็ต้องตอบ และสิ่งนี้จะทำให้ประชาชนผิดหวัง คือผิดหวังที่ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะเป็นคนแบบนั้น และตัว รมว.มหาดไทยเอง เราได้รับความร่วมมือจากคณะรัฐมนตรี ตัวรัฐมนตรีในรัฐบาลและจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลดีมาก ส่งข้อมูลให้ฝ่ายค้านมาเยอะมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าคนในซีกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี หรือ ส.ส.รัฐบาลด้วยกันเอง ส่งข้อมูลให้ฝ่ายค้านเยอะมาก ที่ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
ส่วนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เราต้องยอมรับว่า เราพยายามหาข้อมูลตั้งแต่แรก จนมีข่าวว่าฝ่ายค้านจะไม่อภิปรายพลเอกประวิตร เราก็พยายามหาข้อมูล จนสุดท้ายประมวลข้อมูลแล้ว ฝ่ายค้านมีหลักฐานเพียงพอ แต่ยอมรับว่า หายากกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ โดยก็จะอภิปรายในเรื่องการทุจริต และการใช้อำนาจโดยมิชอบในหลายกรณี รวมถึงปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต
-หากข้อมูลของฝ่ายค้านแน่นหนา แต่นายกฯ ไม่ปรับ ครม.หลังอภิปรายจบลงโดยเฉพาะไม่ปรับพลเอกประวิตร-พลเอกอนุพงษ์?
หากไม่ปรับเลย ผมว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นเขาจะยื่นเงื่อนไข ผมว่าบางพรรคอาจยื่นเงื่อนไขต้องเอาคนนี้ออก เอาคนนั้นออก หากทำตามเขา เขาก็อยู่ต่อ แต่หากไม่ทำตามก็ออก
นอกจากนี้ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการอภิปรายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ว่า คนนี้ชัดเจนคือมีการทำลายระบบนิติธรรมและใช้การตีความกฎหมายเพื่อเปิดช่องให้คนอื่นได้เข้ามาทุจริต เหมือนกับจงใจ เช่นเดียวกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ก็จะเป็นเรื่องที่คล้ายๆ กับนายวิษณุ มีการทำตัวเพื่อเอื้อและปูทางให้มีการทุจริต ที่ทำให้ประเทศชาติเสียหายโดยตรง ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นกรณี คุณสมบัติส่วนตัวไม่เหมาะสม และเมื่อเข้ามาเป็นรัฐมนตรีแล้ว หลายปัญหาเขาก็แก้ปัญหาโดยไม่ใช้มาตรฐานทางกฎหมาย จนสร้างบรรทัดฐานที่ผิดต่อประเทศ ที่ก็อาจจะมีเรื่องอื่นด้วยส่วนหนึ่ง เช่น วุฒิการศึกษา ที่เป็นเรื่องความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง
สุทิน เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วก่อนถึงเส้นตายวันยื่นญัตติอภิปรายต่อประธานสภาฯ เมื่อ 31 ม.ค. ฝ่ายค้านเตรียมเซอร์ไพรส์ด้วยการยื่นซักฟอกพลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียวด้วยซ้ำ แต่มาเปลี่ยนใจในช่วงโค้งสุดท้าย โดยเล่าเรื่องนี้ให้ฟังพร้อมกับเหตุผลที่ทำไมไม่อภิปรายรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลคนอื่นๆ เช่น จากพรรคภูมิใจไทย ว่า ที่ไม่มีการอภิปรายรัฐมนตรีจากภูมิใจไทย ก็มีหลายเหตุผล หนึ่งในเหตุผลก็คือ พรรคภูมิใจไทยเขาเพิ่งมาอยู่ร่วมเป็นรัฐบาล เพิ่งมามีส่วนร่วมไม่กี่เดือน ทำให้กระทงความผิดยังไม่สะเด็ดน้ำ ยังไม่ชัด หากเราไปอภิปรายเขา เราเชื่อว่าเขาจะมีทางออก เขาตอบได้ เหตุผลที่สองก็คือ จริงๆ เรามุ่งเน้นที่ตัวนายกฯ
“ตอนแรกเราคิดว่าจะอภิปรายเฉพาะพลเอกประยุทธ์ด้วยซ้ำไป จะหักมุมเลย แต่มาเปลี่ยนตอนช่วง 1-2 วันสุดท้าย ก่อนยื่นญัตติต่อประธานสภาฯ ตอนแรกกะจะให้เซอร์ไพรส์เลย อภิปรายนายกฯ คนเดียว แต่พอมาคุยกันตอนท้าย ก็เห็นว่ารัฐมนตรีที่ควรโดนอภิปรายด้วย ก็เลยนำชื่อเข้ามา อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ อย่าไปคิดว่าจะรอด เพราะในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า เราอาจจะอภิปรายซ้ำ คนที่รอดไม่โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ ความผิดเขาอาจจะยังไม่สำเร็จ แต่รอบหน้า เรายังสามารถอภิปรายได้อีก คนที่รอดรอบนี้ก็อาจอยู่ในคิวหน้าก็ได้”
เปิดแผนซักฟอก 3 วัน 3 คืน
ประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยการเตรียมจัดทัพซักฟอกในปลายเดือนนี้ว่า ฝ่ายค้านจะใช้วิธีการทำแบบ story ให้จบเป็นเรื่องๆ ว่าการบริหารประเทศที่ล้มเหลวจะนำไปสู่อนาคตของประเทศที่อาจจะเป็นอันตราย และทำให้ประชาชนพบกับความลำบากยากจน อันนี้จะเป็น story พอได้ story หลัก จากนั้นฝ่ายค้านจะแบ่งเนื้อหาการอภิปรายเป็น series จากนั้นก็จะมาดูกันว่าแต่ละ series จะให้ใครรับผิดชอบ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมาคุยกันว่าจะแบ่งเป็นพรรคหรือจะแบ่งกันเป็นรายบุคคล ที่เบื้องต้นดูแล้วคงจะแบ่งการอภิปรายเป็น ส.ส.รายคน โดยคนไหนมีความถนัด มีความพร้อมในการอภิปรายเรื่องใดก็รับผิดชอบเรื่องนั้น
....เช่นพรรคอนาคตใหม่อาจถนัดเรื่องหลักกฎหมาย หลักการประชาธิปไตย การทำลายระบบนิติรัฐ แล้วเพื่อไทยก็เสริมเรื่องเศรษฐกิจ โดยให้ ส.ส.ของพรรคที่ชำนาญเรื่องนี้อภิปรายเป็นตัวหลัก แต่คนอื่นๆ ก็สามารถเข้ามาเสริมการอภิปรายได้ โดยบางหัวข้อ บางกระทงความผิดอาจจะมี ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายกันหลายคน แต่ก็จะแบ่งเนื้อหาการพูดให้แตกต่างกันคนละมุม แล้วมาบรรจบพบกันจนเป็น series ที่สมบูรณ์ แล้วจาก series ก็จะเป็น story ที่ฟังแล้วก็คิดว่าให้ประชาชนเห็นภาพของประเทศ ภาพของความไม่ชอบมาพากล ภาพของความเสื่อม แล้วมองไปในอนาคตว่าอันตรายมันจะเกิดขึ้นอย่างไร
...เบื้องต้นจำนวน ส.ส.ที่จะอภิปรายพบว่ามี ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอตัวขออภิปรายมายังวิปฝ่ายค้านรอบนี้ร่วม 30 กว่าคน แต่หากเราคัดเลือกกันได้ก็ต้องการให้มีผู้อภิปรายรวมทั้งหมดประมาณ 20-25 คน แต่เนื้อหาจำเป็นก็ต้องใช้คนเยอะ สามวันก็ต่ำสุด แล้วจากนั้นก็ว่ากันตามจริง หากมันไม่จบ เพราะตามกฎหมายข้อบังคับต้องให้ ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายจนจบ ในอดีตก็เคยมีหลายครั้งอภิปรายกันห้าวัน แต่เมื่อรัฐบาลอยากให้เราสามวัน เราก็คิดว่าสามวันไม่น่าจะพอ เพราะแค่พลเอกประยุทธ์คนเดียวพบว่ามี ส.ส.ฝ่ายค้านขอจองกฐินหลายกองมาก แค่นายกฯ คนเดียวคาดว่าใช้เวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งวันครึ่งเกือบสองวัน แล้วจะมาให้อีกหนึ่งวันครึ่งมาอภิปรายอีกห้าคน มันก็ยาก เราก็คิดว่าห้าวันน่าจะดีแล้วโหวตอีกวัน ก็เป็นหกวัน แต่เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการก็ไม่เป็นไร ก็ต้องเอาความจริงวันอภิปรายเป็นตัวกำหนด เพราะตามข้อบังคับหากอภิปรายไม่จบก็ไม่สามารถมาปิดอภิปรายได้ ยกเว้นจะมีการอภิปรายวกวนซ้ำซาก ประธานในที่ประชุมก็ต้องแจ้งมา แต่หากไม่เกิดกรณีแบบนั้น เขาต้องให้ฝ่ายค้านอภิปรายจนจบกระบวนความ เราถึงบอกตลอดว่าไม่ควรมากำหนดวันให้ฝ่ายค้านอภิปรายช่วงใกล้ๆ ปิดสภาสมัยประชุมนี้ 28 ก.พ. ควรกำหนดกลางเดือน หากมากำหนดกันช่วง 26-28 ก.พ.แบบนี้เป็นเจตนาที่ไม่ดีของรัฐบาลไม่ควรทำ
ขู่บิ๊กตู่คางเหลืองกลางสภา
สุทิน-ประธานวิปฝ่ายค้าน เล่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า เรื่องการอภิปรายที่จะถึงขั้นเคยล้มรัฐบาลในสภาพบว่าไม่ค่อยมี สำหรับประเภทอภิปรายเสร็จแล้วโหวตลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจแล้วรัฐบาลเป็นฝายแพ้ไม่ค่อยมี แต่จะไปเกิดเรื่องภายหลังเพราะจำนนต่อหลักฐาน จำนนต่อความเสื่อม และวิกฤติศรัทธาที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังการอภิปรายจบลง
คือต้องยอมรับว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อเริ่มอภิปรายประชาชนจะเริ่มได้รับข้อมูล แล้วประชาชนก็จะมาย่อยข้อมูล ทำให้วิกฤติจะไปเกิดหลังการยกมือในสภาแล้ว ผมถึงชอบพูดว่าอาจจะเปิดแผลในสภาแล้วไปเน่าข้างนอก หรือไม่ตายคาที่แต่ไปตายที่โรงพยาบาล ถ้าแบบนี้จะเห็นภาพ อย่างในอดีตการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พออภิปรายเสร็จฝ่ายค้านก็จะแพ้ แต่ในที่สุดรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ยิ่งสมัยนี้ น่าจะเป็นไปได้มากกว่าเมื่อก่อน เพราะเป็นยุคโซเชียลมีเดีย แรงกดดันจะมากกว่าและมาจากทุกสารทิศ จะทะลุทะลวงได้เร็ว
การอภิปรายในอดีตเช่นสมัยคุณชวน หลีกภัย ก็เรื่อง ส.ป.ก. 4-01 ส่วนสมัยท่านบรรหาร ศิลปอาชา ก็เรื่องธนาคาร BBC เป็นสองเรื่องใหญ่ แต่ไปล้มกันข้างนอกจนอยู่ไม่ได้ บางพรรคก็ขอถอนตัวเลย คือยกมือให้ในสภา แต่พอเสร็จจากนั้นหากไม่ทำตามที่บอกจะขอถอนตัว รอบนี้ผมยังเชื่อว่าอาจจะมีบางพรรคร่วมรัฐบาลขอถอนตัวจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ถามย้ำช่วงท้ายว่า ข้อมูลฝ่ายค้านที่จะอภิปรายถึงขั้นทำให้พลเอกประยุทธ์คางเหลืองกลางสภาได้เลยไหม สุทิน ระบุว่า ผมคิดว่าขั้นนั้น นายกฯ อาจต้องยอมจำนน เว้นเสียแต่จะดื้อ โดยหากยิ่งดื้อออกไปก็จะยิ่งมีปัญหา เรามั่นใจมากในเรื่องข้อมูล เพียงแต่เรายังวิตกในเรื่องที่ ส.ส.ของฝ่ายค้านที่จะอภิปราย ประสบการณ์อาจจะยังน้อย เพราะต้องยอมรับว่า ส.ส.ฝ่ายค้านส่วนมากเรายังมือใหม่ แต่เรื่องข้อมูลเรามั่นใจมาก ก็อยากฝากสังคมว่าในอดีตการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจจะคุ้นเคยกับคนอภิปรายระดับบิ๊กเนมที่ดุเดือดเลือดพล่าน แต่ว่าคราวนี้อาจจะเป็นผู้อภิปรายที่ไม่ใช่บิ๊กเนม จะบอกว่าโนเนมก็ได้ แต่การมีทีมเวิร์กที่ดีก็อาจจะออกมาดีกว่ารวมดารา ใครเคยดูทีมฟุตบอลรวมดาราโลกแพ้ทีมสโมสร ที่แม้ทีมสโมสรไม่บิ๊กเนมแต่ทีมเวิร์กดี แต่รวมดาราโลกทีมเวิร์กไม่ดีก็แพ้ได้
...ก่อนจะถึงวันอภิปรายฝ่ายค้านก็ต้องมีการป้องกันความลับการอภิปรายด้วย ต้องมีการสกีนกันพอสมควร แต่ความจริงแล้ว ส.ส.ฝ่ายค้านที่จะอภิปรายเรื่องไหน เขาจะรู้แต่เฉพาะประเด็นที่เขาจะอภิปรายเท่านั้น รู้เฉพาะของตัวเอง โดยอย่างเวลาประชุมก่อนถึงวันอภิปราย ผมจะใช้วิธีเรียกมาทีละพรรค แล้วเรียก ส.ส.ฝ่ายค้านมาคุยกันทีละคนด้วย ไม่ใช่ทุกคนที่อภิปรายจะรู้ข้อมูลร่วมกันหมด แต่คนที่จะรู้ข้อมูลทั้งหมดก็คือคนที่จะมาอภิปรายสรุปปิดการประชุม
สิ่งที่ประชาชนจะได้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ประชาชนจะได้มากกว่าทุกครั้ง เช่นได้ความรู้เช่นเรื่องระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ทำไมการแก้ปัญหาถึงล้มเหลว ทำไมประชาชนถึงลำบาก และเราจะมีทางออกให้ การอภิปรายรอบนี้ไม่ใช่ตำหนิอย่างเดียว แต่จะชี้ให้เห็นว่าแล้วควรทำอย่างไร แต่ที่ผ่านมาเขาไม่ทำ ก็จะทำให้ประชาชนที่ติดตามการอภิปรายของฝ่ายค้านจะได้รับรู้แนวทางความเป็นไปของแต่ละปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหา
“การอภิปรายครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะหนัก นอกนั้นก็จะหนักพอๆ กัน แต่ตัวนายกฯ ก็ต้องหนัก ผมยังคิดอยู่เลยว่าตัวพลเอกประยุทธ์จะทนฟังได้จนจบการอภิปรายได้หรือไม่" ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าวทิ้งท้าย หลังเราถามว่ารายชื่อคนที่ถูกอภิปราย 1 นายกฯ 5 รมต. คนไหนจะโดนซักฟอกหนักที่สุด
ผลสรุป กมธ.แก้ รธน.ไม่ผูกมัดทุกฝ่าย
รัฐบาล-ฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องทำตาม
ขณะที่ศึกใหญ่ของฝ่ายค้านคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กำลังจะเกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนก.พ.นี้ แต่กับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านเคลื่อนไหวมาตลอด ช่วงหลังดูยังไม่มีอะไรขยับ เราเลยสอบถามความคืบหน้าเรื่องนี้กับ สุทิน ประธานวิปฝ่ายค้าน ในฐานะกรรมาธิการและโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานกมธ.
สุทิน ให้ข้อมูลว่าการทำงานของ กมธ.ที่มีเวลา 120 วันถึงตอนนี้ ยอมรับว่ายังออกสตาร์ทช้าอยู่ แต่หลังจากนี้ก็น่าจะเร็วได้ การทำงานของ กมธ.พอเดินมาถึงจุดนี้ก็ได้เห็นความแตกต่างทางความคิด คือพอมองเห็นแล้วว่า กมธ.ฝ่ายรัฐบาลต้องการเสนอให้แก้ไข รธน.รายมาตรา ส่วน กมธ.ซีกพรรคฝ่ายค้านคิดกว้างกว่า คือต้องการให้แก้ไขมาตรา 256 และให้ทำโดยการตั้งสภาร่าง รธน. เพราะคิดว่าไม่ว่าจะแก้ไข รธน.กันอย่างไรก็ควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข แต่รัฐบาลต้องการให้แก้ไขแค่บางมาตรา ไม่ให้ตั้งสภาร่าง รธน. ซึ่งก็พอไปถึงจุดหนึ่งเราก็คิดว่าน่าจะพอเห็นทางอยู่เพื่อให้มาบรรจบพบกันได้ ถ้าไม่มีอะไรในช่วงนั้น
...ส่วนจะหาจุดลงตัวระหว่า งกมธ.จากปีกรัฐบาลกับฝ่ายค้านได้อย่างไร ก็มองว่ายังพอเห็นช่องทางเป็นไปได้ แต่จุดที่ลงตัวอาจไม่เป็นประโยชน์มากกับสังคม คือแค่พอไปได้ เช่นพอแก้ไขปัญหารัฐบาลนี้กับรัฐบาลชุดหน้าให้พอไปได้ แต่สำหรับเรื่องของการเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ผมมองว่าอาจจะยังไม่ได้มาก เพราะว่ามันหนีไม่พ้นต้องประนีประนอมถึงจะแก้ไข รธน.ได้ เพราะถ้าไม่มีการประนีประนอมกันคงแก้ไข รธน.ไม่ได้ และไม่มีใครจะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ฝ่ายค้านเองคิดอยากได้แบบนี้ๆ แต่สุดท้ายเราอาจต้องยอมตัดสินใจว่าไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่อยากได้ แต่ได้สัก 40-50 เปอร์เซ็นต์ก็ยังดี ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
ถามให้แน่ชัดถึงจุดยืนของฝ่ายค้านว่า หากสุดท้าย กมธ.มีข้อสรุปออกมาเป็นรายงานโดยไม่มีการเสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีสภาร่าง รธน. ฝ่ายค้านรับได้หรือไม่ สุทิน แสดงท่าทีไว้ว่า ถามว่ารับได้ไหม คือหากไม่แก้แบบนี้ ถ้าจะแก้รายมาตราก็ได้ แต่จะเป็นมาตราไหนก็ต้องมาดูกัน
"ถ้าสามารถทำให้แก้ได้หลายมาตรา และเป็นมาตราสำคัญ แก้แล้วเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก็ยอมรับได้ ก็เป็นหนทางหนึ่งที่เราอาจประนีประนอมได้ ก็เป็นการพยายามหาทางออก เพราะหากเราจะยืนแบบของเราอย่างเดียว ก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ มือข้างหน้ามันไม่เอื้อเรา"
ถามต่อไปว่าหากสุดท้าย กมธ.สรุปผลออกมาให้แก้ไข รธน. แต่เมื่อเอารายงานเข้าที่ประชุมสภาเพื่อให้เห็นชอบด้วย ปรากฏว่าพรรคแกนนำเช่นพลังประชารัฐสั่งให้ ส.ส.รัฐบาลโหวตคว่ำไม่เห็นชอบรายงาน สุทิน-กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.จากเพื่อไทย วิเคราะห์ประเด็นนี้โดยยอมรับว่า ก็เป็นไปได้ เราก็ระแวงอยู่ เราพยายามดูรัฐบาลอยู่ ดูความจริงใจอยู่ ณ วันนี้ ที่วันนี้เริ่มต้นดูเหมือนว่าจะมีความจริงใจ แต่สุดท้ายเขาจะสลัดเราทิ้งหรือเขาจะโดดล้มตอนไหน แต่ว่าเรื่องนี้จริงๆ ก็ไม่ต้องคิดมาก เพราะ กมธ.ชุดนี้เป็นเรื่องของการศึกษาการแก้ไข รธน. ไม่ใช่กรรมาธิการชุดยกร่าง รธน. ที่ก็เป็นบันไดขั้นแรก ที่หากบันไดทำดีก็อาจทำให้บันไดขั้นที่สองและขั้นที่สามจะดีด้วย แต่ไม่ใช่ว่าบันไดขั้นแรกนี้หากออกมาไม่ดีแล้วเราจะหมดหวังกันหมดเสียเลย เราก็อาจใช้วิธีการกลับมายกร่างแก้ไข รธน.กันใหม่ก็ได้ หากผลการศึกษาของ กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.ทำแล้วล้มเหลว
สุทิน ระบุว่า ผลการศึกษาของ กมธ.ชุดดังกล่าวไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามก็ได้ อาจจะมีอีกทางหนึ่งก็คือ เราก็มายกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่มาเลย เราอยากแก้อะไรก็เสนอแก้ไขเข้ามา หรือประชาชนอยากจะเสนอร่างแก้ไข รธน.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ก็เข้าชื่อกันเสนอรัฐสภาเลย อันนี้กรณีหากผลการศึกษาของ กมธ.ล้มเหลว คิดไม่ตรงกัน หรือทำรายงานไปแล้วที่ประชุมสภาลงมติไม่เห็นด้วยกับผลของ กมธ. ดังนั้นผลการศึกษาของ กมธ.ชุดนี้ทำแล้วจะไปผูกมัดกับทุกคนทุกองค์กร มันไม่ใช่ มันเป็นเพียงไกด์ไลน์เฉยๆ พอมันยกร่างจริงๆ อาจจะไม่ยกร่างตามนี้ก็ได้ เพียงแต่ว่าหากผลการศึกษาของ กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.ของสภาเวลานี้ออกมาดี แล้วมีความเห็นร่วมกันว่าควรให้ทำตามนั้น แต่หากดูแล้วผลสรุปออกมามันเห็นไม่ตรงกัน หรือมีความไม่ชอบมาพากล มีเจตนาซ่อนเร้น เราก็อาจไม่จำเป็นต้องทำตามผลการศึกษาก็ได้ เราก็ทำตามนี้ หรือดีไม่ดีหากผลการศึกษาของ กมธ.ออกมาแล้ว ประชาชนบอกว่าไม่เห็นด้วย ใช้ไม่ได้ เราก็อาจมาเลือกเสนอเป็นร่างแก้ไข รธน.ตามเสียงของสังคมก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตามผลการศึกษาของ กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน. โดย ส.ส.ก็เข้าชื่อกันเสนอต่อรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ หรือประชาชนเข้าชื่อกันเสนอ โดยอาจจะยึดตามแนวผลการศึกษาของ กมธ.หรือจะไม่ยึดตามก็ได้
สุทิน-แกนนำพรรคเพื่อไทย มองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อจากนี้ โดยบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่สุดท้ายการแก้ไข รธน.อาจไม่เกิดขึ้นในสภาชุดปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูง แล้วก็จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งกันใหม่ โดยบางมาตราก็จะต้องสิ้นไปตามการเปลี่ยนผ่าน เช่นอำนาจของวุฒิสภาในการโหวตเลือกนายกฯ ก็เหลืออีกประมาณสามปีกว่าก็จะหมดลง ที่นายกฯ ก็อาจต้องยุบสภาก่อนครบวาระ เพื่อจะได้ใช้บริการของ ส.ว.ชุดนี้ต่อ อย่างไรก็ตามหากทุกคนพยายามถึงที่สุดแล้ว แต่มันแก้ไข รธน.ในสมัยนี้ไม่ได้จริงๆ ทุกคนก็อาจรอวันที่วันหมดการบังคับใช้บทเฉพาะกาล ที่ถึงตอนนั้นก็จะเข้าทางตรงและเริ่มเป็นประชาธิปไตยขึ้นหลายเรื่อง ก็อาจต้องยอมลงทุนกับเวลาสักห้าปี ส่วนจะมีการเรียกร้องอะไรบนท้องถนนหรือไม่หากสุดท้ายไม่มีการแก้ไข รธน.เกิดขึ้น อันนี้ก็รับรองไม่ได้ เชื่อว่าประชาชนก็อาจต้องคิดและชั่งน้ำหนักว่าระหว่างการรออย่างสงบ กับการออกมาเรียกร้องอันไหนจะคุ้ม ที่ก็ไม่แน่หากออกมาเรียกร้องแล้วสำเร็จก็อาจจะคุ้ม.
จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่รัฐบาลจะตอบไม่ได้ จะจำนนต่อหลักฐานหลายเรื่อง เชื่อว่าหลังอภิปรายจบไม่เกินสามเดือน รัฐบาลจะเหนื่อยจากวิกฤติศรัทธา...จะมีบางพรรคที่พอได้เห็นข้อมูล โดยมารยาทเขาอาจยกมือไว้วางใจให้ แต่เขาจะไปยื่นคำขาดให้นายกฯ ต้องทำอะไรสักอย่าง หากไม่ได้ เขาก็จะถอนตัว...ต้องสละเรือ โดดจากเรือ เรือจะจม เพราะพออภิปรายจบลงจะเสื่อมมาก
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้มีใบเสร็จอยู่หลายกรณีเรื่องทุจริต...สำหรับกรณี รมว.มหาดไทยก็มีเรื่องทุจริตอยู่หลายเรื่อง ทั้งทำเองและลูกน้องบริวารทำ ฝ่ายค้านมีหลักฐานชัดเจนที่จะแสดงต่อสภา โดยเขาก็ต้องตอบ และสิ่งนี้จะทำให้ประชาชนผิดหวัง คือผิดหวังที่ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะเป็นคนแบบนั้น และตัว รมว.มหาดไทยเอง เราได้รับความร่วมมือจากรัฐมนตรีในรัฐบาลและจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลส่งข้อมูลมาให้ฝ่ายค้านเยอะมาก
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |