กองทัพเรือญี่ปุ่นขยายภารกิจสู่อ่าวเปอร์เซีย


เพิ่มเพื่อน    

ภาพ : เรือพิฆาตชั้นทากานามิ (Takanami)

ที่มา : http://www.seaforces.org/marint/Japan-Maritime-Self-Defense-Force/Destroyer/Takanami-class_DAT/DD-114-JDS-Suzunami.htm

 

คำประกาศส่งเรือพิฆาตสู่ตะวันออกกลางเพื่อรวบรวมข่าวกรอง กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดยืนของรัฐบาลญี่ปุ่นอีกครั้งว่ากำลังละเมิดรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มีกองทัพเพื่อป้องกันตัวเองเท่านั้นหรือไม่


    
    ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ชินโซะ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่น กล่าวในโอกาสส่งเรือพิฆาตทากานามิ (Takanami) สู่ภูมิภาคตะวันออกกลางว่า “การรักษาความปลอดภัยต่อเรือลำเลียงสินค้าที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล” เป็นภารกิจเก็บรวบรวมข้อมูลการข่าวที่จำเป็น มีผลสำคัญต่อชีวิตคนญี่ปุ่น
    คำพูดนี้นายกฯ อาเบะสื่อในความหมายกว้างคือ “เรือที่เกี่ยวกับญี่ปุ่น” ซึ่งอาจเป็นเรือต่างชาติที่ส่งสินค้าสู่ญี่ปุ่น หรือตีความไกลกว่านั้นคือเรือทุกลำที่อยู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะทั้งหมดอาจส่งผลต่อเรือลำเลียงสินค้าต่างๆ
    ข้อมูลเพิ่มเติมคือเรือทากานามิจะปฏิบัติภารกิจร่วมกับเครื่องบินลาดตระเวน P-3C ของญี่ปุ่น เพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้าญี่ปุ่นที่แล่นในย่านนั้น และพร้อมใช้กำลังปกป้องเรือญี่ปุ่น ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐ แต่ไม่วายว่าประกาศพร้อมใช้กำลังปกป้องเรือสินค้าประเทศตน

ความตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซีย :
    ช่วงกลางปี 2019 เกิดเหตุตึงเครียดหลายครั้งในอ่าวเปอร์เซีย เริ่มจากเรือบรรทุกสินค้าจำนวน 4 ลำ (บางลำเป็นเรือบรรทุกน้ำมัน) ถูกก่อวินาศกรรมแถบชายฝั่งสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ วันต่อมาเครื่องโดรนติดอาวุธโจมตีสถานีสูบน้ำมัน 2 แห่งของซาอุฯ สถานีหนึ่งถึงกับไฟไหม้
    ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ลงมือ รัฐบาลสหรัฐ ซาอุฯ และพวกชี้ว่าอิหร่านต้องรับผิดชอบ
    จากเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลทรัมป์ขอให้พันธมิตรส่งเรือรบร่วมคุ้มกันอ่าวเปอร์เซีย ร่วมภารกิจตรวจตราช่องแคบฮอร์มุซ อันเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันสำคัญที่รัฐบาลอิหร่านขู่เรื่อยมาว่าจะปิดเส้นทางดังกล่าวหากจำเป็น

ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือประนีประนอม :
    การส่งเรือรบไปตะวันออกกลางเป็นประเด็นถกเถียง แบ่งเป็น 2 มุมคือฝ่ายที่มองว่าละเมิดรัฐธรรมนูญกับอีกฝ่ายที่อธิบายว่าเป็นการประนีประนอม

มุมมอง 1 ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
    แม้รัฐบาลอาเบะประกาศว่าเน้นเก็บข่าวกรองและจะทำหน้าที่เพียง 1 ปีหากเกินกว่านั้นต้องขออนุมัติใหม่ เกิดคำถามว่าเพื่อการดังกล่าวเท่านั้น หรือผู้สงสัยเจตนาจะตั้งคำถามว่ารัฐบาลจงใจละเมิดรัฐธรรมนูญด้วยการปกปิด บิดเบือนว่าเป็นเพียงเก็บข้อมูลหรือไม่ ทำตามคำขอจากรัฐบาลสหรัฐใช่ไหมที่รัฐบาลอาเบะยืนยันว่าเป็นปฏิบัติการเอกเทศไม่เกี่ยวกับใคร
    ถ้าตอบว่าไม่ได้ส่งไปช่วยสหรัฐ ทำไมต้องส่งเรือรบไปบริเวณนั้นในเวลาช่วงนี้ ถ้าตอบว่าช่วยทางอ้อมจะโดนวิพากษ์ว่าละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
    หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้กองทัพมีหน้าที่ป้องกันตัวเท่านั้น หากบิดเบือนอาจเป็นเหมือนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเปิดฉากทำสงครามด้วยเหตุผล “เพื่อป้องกันตนเอง” เพื่อความอยู่รอดจำต้องขัดขวางสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ไม่ให้มีอิทธิพลในเอเชียต่อไป
    หลักคิดก่อสงครามชิงทำลายศัตรูก่อนเป็นหลักการที่ใช้ตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลว่าเพื่อป้องกันตนเองก่อนจะสายเกินไป
    ในอีกมุมหนึ่งต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นมีสิทธิที่จะคิดและทำในสิ่งที่ต้องการ และอาจเป็นสันติภาพในแบบที่เห็นว่าดี

มุมมอง 2 ประนีประนอม
    แนวคิดประนีประนอมมาจากประเด็นที่ว่าแม้ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐ แต่ญี่ปุ่นเป็นมิตรกับอิหร่านและพยายามรักษาความสัมพันธ์นี้
    ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นใช้หลักประนีประนอมหลายครั้ง เช่น ในสงครามอัฟกานิสถานปี 2001 ส่งเรือบรรทุกน้ำมันเติมเชื้อเพลิงแก่เรือรบสหรัฐ ปี 2003 ส่งทหารสู่อิรักในเขตปลอดการรบเพื่อช่วยฟื้นฟูประเทศอิรัก ตัวอย่างเหล่านี้อาจตีความว่าไม่เข้าสมรภูมิรบโดยตรง
    ครั้งนี้เป็นการประนีประนอมอีกครั้งทั้งต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับการพยายามรักษารัฐธรรมนูญ ไม่ได้คิดส่งเรือเพื่อยิงใคร เป็นวิธีการป้องกันเหตุร้ายเหมือนส่งตำรวจไปเฝ้าจุดที่สุ่มเสี่ยง
    ผลโพลจาก Kyodo News เมื่อต้นเดือนมกราคม พบว่าคนญี่ปุ่นร้อยละ 58.4 ไม่เห็นด้วยกับการส่งเรือรบไปตะวันออกกลาง ร้อยละ 34.4 เห็นด้วย ร้อยละ 52.2 ไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้รัฐธรรมนูญเพื่อขยายบทบาทกองทัพ ในขณะที่ร้อยละ 35.9 สนับสนุน อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 49.3 ให้รัฐบาลสอบผ่าน คะแนนเพิ่มจากโพลครั้งก่อน 6.6 จุด ให้สอบตกเพียง 36.7

มองในแง่บวกแง่ลบ :
    การที่รัฐบาลอาเบะตัดสินใจส่งเรือรบไปตะวันออกกลาง ถ้ามองในแง่บวกปฏิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ หากช่องแคบฮอร์มุซเส้นทางขนส่งน้ำมันถูกปิดหรือไม่ปลอดภัย ย่อมกระทบเศรษฐกิจญี่ปุ่นและผู้นำเข้าน้ำมันทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจะไม่ปล่อยให้ความขัดแย้งบานปลาย ไม่ปล่อยให้สหรัฐแสดงบทบาทฝ่ายเดียว การมีส่วนร่วมจากญี่ปุ่นอาจช่วยลดทอนโอกาสเกิดเหตุลักลอบโจมตีเรือบรรทุกสินค้า ลดความเสี่ยงที่สถานการณ์จะบานปลาย ดังเช่นครั้งที่ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งหน่วยรบเตรียมโจมตีอิหร่าน ดีที่ถอนคำสั่งใน 10 นาทีสุดท้าย
    ถ้ามองแง่ลบ อาจเป็นวิธีของรัฐบาลญี่ปุ่นที่กำลังคลายกฎให้กองทัพสามารถปฏิบัติภารกิจนอกประเทศ ขยายคำจำกัดความของคำว่า “เพื่อป้องกันตัวเอง” ดังที่ครั้งนี้ประกาศชัดว่าไปป้องกันเรือสินค้าต่างๆ
    ด้านรัสเซียเห็นว่าเป็นวิธีสร้างความตึงเครียดแก่ภูมิภาค ทั้งๆ ที่ไม่ได้รุนแรงเช่นนั้น รัสเซียกับอิหร่านพยายามสร้างความสมดุลแก่ภูมิภาค ให้ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย ถ้าจะแก้ปัญหาจริงต้องเจรจาเท่านั้น และจัดระบบความมั่นคงร่วมกัน

อิซูโมสะท้อนนโยบายกองทัพญี่ปุ่น :
    เมื่อกองทัพประกาศจะประจำการเรือพิฆาตอิซูโม (Izumo) เรือรบที่ญี่ปุ่นต่อเองและมีขนาดใหญ่สุดเท่าที่สร้างมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อสมรรถนะของเรือลำนี้ว่าเกินความจำเป็นหรือไม่ เพราะสามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ได้ 9-14 ลำ หรือเปลี่ยนเป็นเครื่องบินรบ F-35 ก็ได้
    ดังที่นำเสนอในบทความก่อนว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอ้างว่าหวังใช้เรือดังกล่าวเพื่อลาดตระเวน ป้องกันหมู่เกาะเซนกากุที่พิพาทกับจีน ความจริงแล้วทุกวันนี้เรือรบ เรือตรวจการยามฝั่งและเครื่องบินลาดตระเวนญี่ปุ่นได้ทำการเฝ้าระวังเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องระยะทาง ที่สำคัญคือหมู่เกาะเซนกากุอยู่ห่างจากหมู่เกาะโอกินาวา อันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ของสหรัฐเพียง 225 ไมล์ทะเล (410 กิโลเมตร) หากเกิดสงครามใหญ่ขึ้นจริง ฐานทัพที่โอกินาวาคือจุดใกล้ที่สุดและมีศักยภาพสูงสุด
    เทียบกับเรือหลวงจักรีนฤเบศรของไทยที่เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินกลับมีขนาดเล็กกว่าอย่างชัดเจน คือมีความยาวตลอดลำเพียง 182.6 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 11,544 ตัน อากาศยานประจำเรือประกอบด้วยเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งแบบ AV-8S จำนวน 9 เครื่องกับเฮลิคอปเตอร์แบบ S-70B จำนวน 6 เครื่อง ส่วนเรืออิซูโมยาว 248 เมตร ระวางขับน้ำ 24,000 ตัน บรรทุกอากาศยานจำนวนใกล้เคียงกับหลวงจักรีนฤเบศร
    ความจริงที่ปกปิดไม่ได้คือ แม้จะจัดให้อยู่ในชั้นเรือพิฆาต แต่โดยลักษณะและสมรรถนะแล้วเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่ทันสมัย เหนือว่าเรือบรรทุกเครื่องบินของหลายประเทศ สามารถใช้เพื่อการโจมตีเชิงรุกได้เป็นอย่างดี
    ต้นเดือนพฤศจิกายน 2019 ศูนย์การประเมินยุทธศาสตร์และงบประมาณ (Center for Strategic and Budgetary Assessments : CSBA) สถาบันอิสระด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐเปรียบเทียบพลังอำนาจกองทัพเรือประเทศต่างๆ สรุป 5 ลำดับกองทัพเรือที่ทรงพลังมากที่สุดในโลก สหรัฐมาเป็นอันดับหนึ่ง รองมาคือกองทัพเรือจีน ลำดับที่ 3-5 คือ รัสเซีย สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น
    ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธคือกองทัพเรือที่ถูกจำกัดขอบเขตเพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น แต่มีขีดความสามารถสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และเป็นที่ 2 ของเอเชีย ขาดแต่อาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น
    การปกปิดเป็นเรื่องปกติทางทหาร คำถามสำคัญคือสิ่งที่ช่วยทำให้ชาติมั่นคงขึ้นหรือไม่ และต้องไม่ลืมว่าประเทศอื่นมีสิทธิที่จะตีความเช่นกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"