ถึงบางอ้อ! ทำไม ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ 21 ก.พ.


เพิ่มเพื่อน    

8 ก.พ.63 - การนัดอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ปมเงินกู้ 191 ล้านบาท ที่ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมเพื่อลงมติคำร้องคดีดังกล่าว ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ.เวลา  15 .00 น สร้างข้อสงสัยและเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า ทำไมตุลาการศาลรธน.ต้องนัดอ่านคำวินิจฉัย 21 ก.พ. โดยเฉพาะการไม่ยอมเปิดห้องไต่สวนพิจารณาคำร้องเพื่อเรียกพยานบุคคลมาไต่สวนเบิกความ จนถูกพรรคอนาคตใหม่ เปิดแถลงข่าวถล่มศาลรธน.ว่าเร่งรัดพิจารณาคดี

คำเฉลยก็คือ ในวันอังคารนี้  11 ก.พ. ที่ประชุมวุฒิสภาจะมีการพิจารณาวาระสำคัญนั่นก็คือการ"ประชุมลับ-ลงมติลับ"เพื่อให้ความเห็นชอบรายชื่อ 5 ตุลาการศาลรธน.ชุดใหม่ ที่ศาลฎีกา-ศาลปกครองสูงสุดและคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรธน. รวม 3 ทางส่งชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรธน.มาให้ วุฒิสภา ลงมติ"เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ"

ซึ่งการพิจารณาวันอังคาร11 ก.พ.นี้  สว.ทั้งหมด สามารถจะลงมติ เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ บางรายชื่อก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเห็นชอบครบทั้ง5 คน หรืออาจจะไม่เห็นชอบทั้ง5 ชื่อเลยก็ยังได้ โดยคนที่จะได้เข้าไปเป็นตุลาการศาลรธน. จะต้องได้เสียงเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 125 เสียง ถึงจะได้เป็นว่าที่ตุลาการศาลรธน.ชุดใหม่

ข่าวที่ออกมาจนถึงสุดสัปดาห์ เช็คข่าวกันหลายสาย พบว่าก่อนหน้านี้ มีแค่ข่าวลือทำนองว่า มีบางรายชื่อใน 5 ชื่อดังกล่าว ประวัติบางอย่างอาจมีปัญหา อาจจะไม่ผ่านการเห็นชอบก็ได้ แต่ยังไม่ถึงขั้นว่า จะล้มกระดานหมด ไม่เลือกเลยสักคน เพื่อให้ไปนับหนึ่งเริ่มการสรรหากันใหม่หมด ที่หากเป็นแบบนั้น ในทางอ้อมก็คือการต่ออายุให้ 5 ตุลาการศาลรธน.ชุดปัจจุบันที่จะหมดวาระได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกยาวนาน 

ทังนี้ ปัจจุบันตุลาการศาลรธน.มีด้วยกัน 9 คน โดยจะมี 5 คนพ้นจากตำแหน่งเพราะอยู่ครบวาระ และจะมีอีก 4 คน ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งตามพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 เพียงแค่ให้มี ตุลาการศาลรธน.แค่ 7 คน ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่พิจารณาคดีได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องครบ 9 คน

 จึงหมายความว่า วันอังคารที่ 11 ก.พ.นี้ เพียงแค่วุฒิสภา ลงมติเห็นชอบแค่ 3 รายชื่อ ไม่ต้องครบ 5 ชื่อ ก็เพียงพอแล้ว และจากนั้น ว่าที่ตุลาการศาลรธน.ชุดใหม่ ก็จะต้องไปสะสางเรื่องของตัวเองเช่นแจ้งขอลาออกจากราชการ -ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษา กรรมการบริษัทเอกชนต่างๆ ให้เรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมตัวเข้าไปเป็นตุลาการศาลรธน.

และเนื่องจาก5ชื่อตุลาการศาลรธน.ที่จะหมดวาระ มีชื่อของ นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรธน.รวมอยู่ด้วย ดังนั้น ตามกฎหมาย ตุลาการทั้งหมด ทั้งชุดปัจจุบัน4 คน และชุดใหม่ ที่รวมกันแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 7 คน ต้องประชุมกันภายในเพื่อเลือก "ประธานศาลรธน.คนใหม่" จากนั้น ประธานวุฒิสภา จะนำรายชื่อ ประธานศาลรธน.คนใหม่ และตุลการศาลรธน.ชุดใหม่ นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป

ขั้นตอนทั้งหมดข้างต้น  หากวันอังคาร11 ก.พ.นี้  วุฒิสภาโหวตเห็นชอบ รายชื่อตุลาการศาลรธน.อย่างน้อย 3 คน กระบวนการต่างๆ ทั้งการเลือกประธานศาลรธน.-การนำชื่อตุลาการศาลรธน.ขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะเดินหน้าต่อไปทันทีโดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณเร็วสุดก็ 2 สัปดาห์ นับจากอังคารนี้ 11 ก.พ.  อันนี้ไม่นับรวมกรณี รอการโปรดเกล้าฯ

และนี้คือเหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไม ศาลรธน. ต้องนัดอ่านคำวินิจฉัยคดี ยุบพรรคอนาคตใหม่ 21 ก.พ.

เพราะการพิจารณาของวุฒิสภา ไม่สามารถต่อเวลาออกไปได้มากกว่านี้แล้ว เนื่องจากกมธ.สอบประวัติฯ ตุลาการศาลรธน.มีการขอขยายเวลาไม่ยอมส่งเรื่องให้วุฒิสภาเห็นชอบรายชื่อ5 ตุลาการฯ เสียที ขยายมาถึง 4 รอบ ใช้เวลาสอบนานถึง 5 เดือน ที่ถือว่านานผิดปกติ จนถูกวิจารณ์อย่างมากว่า ต่อเวลาให้ตุลาการศาลรธน.”ทิ้งทวน ยุบพรรคอนาคตใหม่”ก่อนแยกย้าย ยังไงสว.ก็ต้องพิจารณาวาระนี้ให้เสร็จก่อนปิดสมัยประชุมสิ้นเดือนนี้

ถ้าเป็นไปตามนี้ คือ อังคาร 11 ก.พ. วุฒิสภาเห็นชอบรายชื่อตุลาการศาลรธน.ชุดใหม่ อย่างน้อย 3 รายชื่อหรือไม่ก็อาจครบ 5 ชื่อเลย จนต่อมามีสัญญาณชัดเจนว่ามีการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะทำให้ ตุลาการศาลรธน.5 คนที่จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่สามารถนัดประชุมเพื่อลงมติและอ่านคำวินิจฉัยคดีต่างๆได้อีกต่อไป เพราะถือว่าเข้าสู่ขั้นตอนรอการโปรดเกล้าฯแล้ว 

จุดนี้คือคำเฉลยที่ว่า เหตุใด  ศาลรธน.ต้องนัดตัดสินคดี ยุบพรรคอนาคตใหม่ 21 ก.พ.นี้ เพราะถ้าช้าไปกว่านี้ อาจจะเข้าสู่ช่วงทูลเกล้าฯ ชื่อตุลาการศาลรธน.ชุดใหม่ไปแล้ว จะตัดสินคดีอะไรไม่ได้ ส่วนคดีอื่นๆ ที่ศาลเคยรับคำร้องไว้เช่น คดีหุ้นสื่อของส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านรวม 64 คน ก็ต้องให้ตุลาการศาลรธน.ชุดใหม่เข้ามาตัดสินไป  

อนึ่ง สำหรับ5 รายชื่อว่าที่ตุลาการศาลรธน.ชุดใหม่ที่วุฒิสภาต้องโหวต มี 5 รายชื่อดังนี้ วิรุฬห์ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา-จิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา-อุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีฯในศาลฎีกา  -ชั่่งทอง โอภาสศิริวิทย์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด -นภดล เทพพิทักษ์ อดีตอธิบดีกรมเอเชียใต้ฯ

 โดย 5 ชื่อดังกล่าวจะมาแทน 5 ตุลาการศาลรธน.ชุดปัจจุบัน ที่ต้องพ้นวาระคือ นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรธน. -ชัช ชลวร -บุญส่ง กุลบุปผา-อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และ จรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งทั้งห้าคนถือเป็นแผงอำนาจสำคัญของศาลรธน. ที่เข้ามาเป็นตุลาการศาลรธน. พร้อมกันหมดตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันปี 2563 รวมเวลา 12 ปี !


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"