ศาล รธน.มีมติเฉียดฉิว 5 ต่อ 4 พ.ร.บ.งบฯ 63 ไม่โมฆะ แม้เสียบบัตรแทนมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ผ่านวาระหนึ่งมาโดยชอบรัฐธรรมนูญแล้ว ระบุประเทศชาติรองบฯ ไปแก้ปัญหา ใช้อำนาจตาม พ.ร.ป.ศาลกำหนดทางออก สั่งลงมติวาระ 2-3 ใหม่ พร้อมให้รายงานผลใน 30 วัน “ชวน” กำหนด 13 ก.พ.ประชุมแก้ไข วิษณุคาดทูลเกล้าฯ ถวายได้ในเดือน ก.พ.
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.63 องค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของ ส.ส. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีนายฉลอง เทิดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย, น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน
โดยผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีนี้ไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความผิดทางอาญาหรือทางจริยธรรมของ ส.ส.คนใด คงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะเรื่องกระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลใดจะต้องรับโทษอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า การกระทำโดยไม่สุจริตใช้สิทธิออกเสียงลงมติ แทนผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมประชุมด้วยนั้นเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ทั้งสมาชิกคนหนึ่งย่อมมีหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรคสาม และการออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 80 วรรคสาม
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 10 ม.ค.63 เวลา 19.30 น. ถึงวันที่ 11 ม.ค.63 ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ปรากฏการแสดงตนและลงมติของนายฉลอง ทั้งที่นายฉลองรับเองว่าตนไม่อยู่ในที่ประชุมตามวันและเวลาดังกล่าว การที่ ส.ส.มิได้อยู่ในห้องประชุม แต่ปรากฏว่ามีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทน ย่อมมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ในวันและเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ปัญหาว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ตกไปทั้งฉบับตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 (กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.) และคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557 (กรณีร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท) หรือไม่ เห็นว่าประเด็นข้อวินิจฉัยพฤติการณ์แห่งคดีและบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแตกต่างจากประเด็นข้อวินิจฉัยพฤติการณ์แห่งคดี และบทกฎหมายในคดีนี้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือคดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อความอันเป็นสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่มีปัญหาที่กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ปรากฏชัดว่า การพิจารณาออกเสียงลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการและการพิจารณาของกรรมาธิการก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่ 2 ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ ถือว่าได้เป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นไปโดยสมบูรณ์ก่อนแล้ว
ให้แก้ไขใน 30 วัน
นอกจากนี้ยังมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 74 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดคำบังคับไว้ในคำวินิจฉัยได้ด้วย ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวนี้มิได้มีอยู่ในอดีต จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ดังกล่าว ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้ถูกต้องเฉพาะในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 และข้อสังเกตของกรรมาธิการ แต่การพิจารณาลงมติในวาระที่ 1 และขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาออกเสียงลงมติเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่ 2 ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปก่อนที่จะมีการกระทำอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเป็นขั้นตอนที่ชอบและมีผลสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญแล้ว จากนั้นให้เสนอร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขให้ถูกต้องดังกล่าวให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป พร้อมทั้งให้สภาผู้แทนราษฎรรายงานผลการปฏิบัติตามคำบังคับต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย
ส่วนคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ ส.ส.จำนวน 78 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 ก.พ.นั้น เห็นว่าเหตุแห่งคำร้องดังกล่าวเป็นเหตุเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในคดีนี้แล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุต้องรับไว้พิจารณาวินิจฉัยให้อีก จึงสั่งไม่รับคำร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปอย่างฉิวเฉียด ด้วยมติ 5 : 4 เสียง โดยมีรายงานว่า ตุลาการเสียงข้างมาก 5 คน ประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต,นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายบุญส่ง กุลบุปผา, นายปัญญา อุดชาชน และนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 4 คน ประกอบด้วย นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายชัช ชลวร และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่ได้นอกเหนือความคาดหมาย เพราะเดาล่วงหน้าไว้อยู่แล้ว และคิดว่าคนส่วนหนึ่งคงคิดคล้ายๆ กัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะนั่งดูเฉยๆ แล้วไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยนั้นคงไม่น่าดูเท่าไหร่นัก เพราะนี่คือการกระทำของฝ่ายรัฐบาลล้วนๆ ต้องรับผิดบ้าง ไม่ใช่เอาเข้าวาระ 2-3 ใหม่แล้วจบกัน ทั้งนี้ ความรับผิดชอบทางการเมืองคือรัฐบาลลาออกหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่อย่างนั้นจะหาบรรทัดฐานอะไรไม่ได้เลย
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเป็นผู้เปิดประเด็นเสียบบัตรแทนกันกล่าวในเรื่องนี้ว่า เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล เพราะไม่ต้องการให้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องตกไป และส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ทั้งนี้ ศาลสามารถกำหนดคำบังคับให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีความไม่สมบูรณ์ของ พ.ร.บ.งบฯ เกิดขึ้นจริงในวาระที่ 2 และ 3 จึงต้องไปทำให้สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนจะใช้ระยะเวลาเท่าใดนั้น อยู่ที่กระบวนการทางสภา โดยคาดว่าใช้เวลาไม่นาน ซึ่งศาลก็ระบุว่าต้องรายงานให้ศาลทราบภายใน 30 วัน
“คนที่เสียบบัตรแทนกัน และเจ้าของบัตรที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในวันโหวตนั้น ทราบว่าทางสภาได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงว่ามีความผิดจริยธรรมของนักการเมืองหรือไม่ ถ้าผิดจริงก็ถือว่าผิดจริยธรรมร้ายแรง คณะกรรมการฯ ก็ต้องทำความเห็นเพื่อส่งเรื่องให้สภาพิจารณาและส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญา เพราะถือว่า ส.ส.เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี ทั้งนี้ การกระทำของนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย และนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย จะมีความผิดทางอาญาหรือไม่ ก็อยู่ที่ ป.ป.ช.จะดำเนินการต่อไป ซึ่งมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ไว้แล้ว” นายนิพิฏฐ์ระบุ
นัด 13 ก.พ.ถกวาระ 2-3
ขณะที่ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ศาลได้ส่งหนังสือมายังสภาเรียบร้อย นายชวนจึงมีดำริว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วนและสำคัญกับประเทศ จึงสั่งให้มีการประชุมสภานัดพิเศษ ในวันที่ 13 ก.พ. เวลา 09.30 น. โดยผู้ที่สงวนคำแปรญัตติในครั้งที่แล้วมีสิทธิอภิปราย แต่ถ้าจะให้ประหยัดเวลา วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านก็สามารถหารือกัน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ คนที่พูดไว้เมื่อครั้งก่อนอาจขอถอนไม่อภิปรายก็ได้
“สาเหตุที่ไม่นัดประชุมพิเศษในวันที่ 12 ก.พ.นั้น เนื่องจากฝ่ายค้านได้ประสานงานมา โดยอยากให้จบญัตติด่วนของนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ พร้อมคณะเรื่อง ขอให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น นายชวนจึงดำริให้วันดังกล่าวเป็นวันประชุมตามวาระเช่นเดิม” นพ.สุกิจกล่าว
นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ กล่าวว่า ในขั้นตอนการประชุมวันที่ 13 ก.พ. ต้องเริ่มพิจารณาวาระสองใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ชื่อร่าง ไปจนถึงมาตราสุดท้าย โดย ส.ส.ที่เสนอคำแปรญัตติ และ กมธ.ที่ขอสงวนความเห็นสามารถอภิปรายได้ตามกรอบเดิม และลงมติเป็นรายมาตรา ก่อนลงมติวาระสามต่อไป โดยหากการประชุมนัดพิเศษไม่แล้วเสร็จภายในวันเดียว ก็สามารถขยายไปจนกว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จทั้งฉบับ และเมื่อสภาลงมติวาระสามแล้วเสร็จ ก็จะส่งเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาต่อทันที
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกโล่งอก โดยทุกอย่างต้องรีบร้อน รวดเร็ว ให้เสร็จใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. ตามที่ศาลมีคำวินิจฉัย ซึ่งได้เรียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมทราบแล้ว และทราบว่านายชวนกำหนดให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าววันที่ 13 ก.พ.เป็นต้นไป เมื่อพิจารณากันเสร็จและลงมติวาระ 3 เสร็จแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของ ส.ว. ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน จากนั้น ส.ว.จะส่งกลับมายังรัฐบาลซึ่งมีเวลา 5 วัน ก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูล คาดว่าทูลเกล้าฯ ถวายได้ภายในเดือน ก.พ.
เมื่อถามถึงการดำเนินการกับผู้เสียบบัตรแทนกัน นายวิษณุ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้แตะต้อง เพราะไม่ใช่เรื่องของศาล ต้องไปตรวจสอบกันเอง และไม่ว่าภายหลังผลการตรวจสอบการเสียบบัตรจะเป็นอย่างไร ผิดหรือไม่ จะไม่ย้อนมาทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นั้นเสียไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวสภามีสิทธิเอาเรื่องกับผู้เสียบบัตรแทนกันได้ ใครก็สามารถร้องเรียนเหมือนกับที่มีการยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ มันเป็นเรื่องพฤติกรรมของ ส.ส. ไม่ใช่คดีอาญาธรรมดา เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ป.ป.ช.จะเป็นเจ้าของเรื่องที่ต้องตรวจสอบก่อนเป็นด่านแรก
เมื่อถามว่า ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกับเจ้าของบัตร มีโทษเหมือนกันหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เรายังไม่ทราบเลยว่ามีการเสียบบัตรแทนกันหรือไม่ แต่ละคนมีพฤติกรรมไม่เหมือนกัน บางคนอ้างว่าบัตรคาอยู่เพราะตัวเขาไม่อยู่ บางคนก็อ้างว่าให้คนอื่นเสียบบัตรแทนโดยยินยอมและยืนควบคุมอยู่ สิ่งเหล่านี้หากเป็นความผิดจะไม่เหมือนกัน โทษก็จะไม่เหมือนกัน เว้นแต่เป็นการสมคบกันแบบนั้นจะถือเป็นตัวการทั้งคู่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |