การเมืองมะกันมีเรื่องต้องให้เซอร์ไพรส์กันตลอดเวลา โดยเฉพาะในปีนี้ซึ่งเป็นปีแห่งการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ที่ไม่เซอร์ไพรส์คงเป็นประเด็นที่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์จะเสนอตัวเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในนามพรรครีพับลิกัน แต่ในฟากพรรคเดโมแครตที่ต้องเลือกตัวแทนมาแข่งกับทรัมป์มีเรื่องต้องลุ้นกันตลอดเวลา
แรกเริ่มเดิมทีตัวเต็งคืออดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน วัย 77 และเบอร์นี แซนเดอร์ส อายุ 78 หรือไม่ก็อาจจะเป็นนักการเมืองหญิงคนดังอย่างอลิซาเบธ วอร์เรน สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐแมสซาชูเซตส์ ปีนี้อายุ 70
แต่พอเริ่มการแข่งรอบแรกในการเลือกตั้งขั้นต้นที่รัฐไอโอวาเท่านั้น เกมก็พลิกทันที เพราะคนที่นำมาคือนักการเมืองวัย 38 ชื่อ Peter Buttigieg (อ่านว่าปีเตอร์ บูติเจียก)
ปีเตอร์มีประสบการณ์การเมืองระดับท้องถิ่นเป็นหลัก เป็นนายกเทศมนตรีสองสมัยของเมือง South Bend รัฐอินดีแอนา
เมืองนี้มีประชากรเพียง 100,000 คน
หนุ่มปีเตอร์สร้างชื่อเสียงด้วยการได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีสมัยที่สองด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นที่ 82% และนั่นเกิดขึ้นหลังจากที่เขาประกาศเป็นเกย์อย่างเปิดเผย
ปีเตอร์ประกาศแต่งงานกับ "สามี" ชื่อ Chasten Glezman ซึ่งเป็นครูโรงเรียนมัธยมในรัฐเดียวกัน ไปไหนมาไหนถ่ายรูปจูงมือและจูบกันให้เป็นที่รับรู้ในที่สาธารณะ
ที่สร้างความประหลาดใจแก่ผู้คนมากคือ เมื่อปีเตอร์ประกาศเข้าร่วมแข่งขันเป็นประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต
หะแรกไม่มีใครคิดว่าเขาจะมีโอกาสได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำ อาจจะเป็นเพียงสีสันของพรรคที่กำลังหาคนมาสกัดทรัมป์ไม่ให้ชนะเลือกตั้งรอบสองเท่านั้น
แต่พอเริ่มการดีเบตเท่านั้น ปีเตอร์ก็สามารถสร้างความประหลาดใจให้คนจำนวนมาก ด้วยการแสดงความคล่องแคล่วในการเสนอนโยบายที่น่าฟัง และทำให้เห็นว่าเขาเป็น "ทางเลือก" ของคนอเมริกันได้อย่างน่าทึ่ง
ทั้งไบเดนและแซนเดอร์สมีปัญหาเรื่องวัยที่เกิน 70 มามาก (หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งรอบใหม่ เขาจะกลับเข้าทำเนียบขาวในวัย 75 ขณะที่หากแซนเดอร์สสามารถโค่นเขาได้ ก็จะเป็นประธานาธิบดีที่เริ่มต้นในวัย 80 ทีเดียว)
นามสกุลแปลกๆ ที่อ่านยากของปีเตอร์ (Buttigieg) นั้นมาจากคุณพ่อที่อพยพมาจากมอลตา (เกาะทางใต้ของยุโรป) และคุณแม่เป็นคนอเมริกันในรัฐอินดีแอนา
เขาเรียนหนังสือเก่ง จบมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐฯ และต่อที่ออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ
พอจบมาปีเตอร์ก็ทำงานในบริษัทที่ปรึกษาชื่อดัง McKinsey & Co ก่อนจะสมัครเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองของกองทัพเรือ และต่อมาก็ถูกส่งไปปฏิบัติการที่อัฟกานิสถานเป็นเวลา 10 เดือน
กลับจากสมรภูมิอัฟกานิสถานเขากระโดดเข้าทำงานการเมือง ด้วยการดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครดังๆ ของพรรคเดโมแครต ทั้งระดับรัฐและระดับชาติรวมถึง John Kerry
อาจจะเป็นเพราะสภาวะความปริแยกทางการเมืองที่หนักหน่วงรุนแรงของอเมริกา ทำให้ปีเตอร์ตัดสินใจเสนอตัวให้ประชาชนพิจารณาเป็น "ทางเลือก” ออกจากวงจรความขัดแย้งระหว่างสองพรรคใหญ่ และสกัดกั้นทรัมป์ไม่ให้กลับมาทำเนียบขาวหลังการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้อีก
ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้ (ก่อนคะแนนของการเลือกตั้งขั้นต้นที่รัฐไอโอวาจะนับได้ครบ 100%) คะแนนจาก 71% ของทั้งหมดแสดงว่าปีเตอร์มาที่หนึ่งด้วย 26.8% ตามมาด้วยแซนเดอร์สที่ 25.2% วอร์เรนได้ที่สาม 18.4% และไบเดนตกไปอันดับที่สี่ด้วย 15.4%
คะแนนออกมาในรอบแรกอย่างนี้สร้างความตื่นตะลึงให้ผู้คนไม่น้อย รวมถึงแซนเดอร์สและไบเดนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเดิมทีวงการการเมืองส่วนใหญ่คาดว่าการแข่งขันขั้นต้นนั้นน่าจะเป็นการพันตูระหว่างสองผู้เฒ่า แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
การเมืองมะกันกำลังจะเข้าสู่โหมดของความสับสนวุ่นวาย อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้
ทำให้หวนคิดถึงตอนบารัก โอบามาเสนอตัวเป็นตัวเลือกของพรรคเดโมแครตใหม่ๆ เมื่อปี 2006 คนส่วนใหญ่คิดว่าหนุ่มผิวดำที่เพิ่งชนะเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐเล็กๆ สมัยแรกจะมีน้ำยาอะไรมาเอาชนะมือเก๋าอย่างฮิลลารี คลินตัน
และแล้วทุกอย่างที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
ครั้งนี้ประวัติศาสตร์จะพลิกผันอีกครั้งหรือไม่ ไม่นานก็รู้ครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |