7 ก.พ.63 - เมื่อเวลา 13.30 น. องค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของส.ส. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีนายฉลอง เทิดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน
โดยผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีนี้ไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความผิดทางอาญาหรือทางจริยธรรมของส.ส.คนใด คงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะเรื่องกระบวนการตราร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลใดจะต้องรับโทษอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า การกระทำโดยไม่สุจริตใช้สิทธิออกเสียงลงมติ แทนผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมประชุมด้วยนั้นเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นส.ส. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ทั้งสมาชิกคนหนึ่งย่อมมีหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรคสาม และการออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 80 วรรคสาม
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 10 ม.ค.63 เวลา 19.30 น. ถึงวันที่ 11 ม.ค.63 ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ปรากฏการแสดงตนและลงมติของนายฉลอง ทั้งที่นายฉลองรับเองว่าตนไม่อยู่ในที่ประชุมตามวันและเวลาดังกล่าว การที่ส.ส.มิได้อยู่ในห้องประชุมแต่ปรากฎว่ามีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทนย่อมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ในวันและเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ปัญหาว่าร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ตกไปทั้งฉบับตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18 /2556 (กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.)และคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557(กรณีร่างพ.ร.บ.กู้เงิน2.2 ล้านล้านบาท) หรือไม่ เห็นว่าประเด็นข้อวินิจฉัยพฤติการณ์แห่งคดีและบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแตกต่างจากประเด็นข้อวินิจฉัยพฤติการณ์แห่งคดี และบทกฎหมายในคดีนี้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือคดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อความอันเป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่มีปัญหาที่กระบวนการตราร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ปรากฏชัดว่า การพิจารณาออกเสียงลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการและการพิจารณาของกรรมาธิการก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่ 2 ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ ถือว่าได้เป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นไปโดยสมบูรณ์ก่อนแล้ว
นอกจากนี้ยังมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 74 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดคำบังคับไว้ในคำวินิจฉัยได้ด้วย ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวนี้มิได้มีอยู่ในอดีต จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ดังกล่าว ให้สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการให้ถูกต้องเฉพาะในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 และข้อสังเกตของกรรมาธิการแต่การพิจารณาลงมติในวาระที่ 1 และขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาออกเสียงลงมติเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่ 2 ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปก่อนที่จะมีการกระทำอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเป็นขั้นตอนที่ชอบและมีผลสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญแล้ว จากนั้นให้เสนอร่างพ.ร.บ.ที่แก้ไขให้ถูกต้องดังกล่าวให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป พร้อมทั้งให้สภาผู้แทนราษฎรรายงานผลการปฏิบัติตามคำบังคับต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย
ส่วนคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของส.ส.จำนวน 78 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 ก.พ.นั้น เห็นว่า เหตุแห่งคำร้องดังกล่าวเป็นเหตุเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในคดีนี้แล้วกรณีจึงไม่มีเหตุต้องรับไว้พิจารณาวินิจฉัยให้อีกจึงสั่งไม่รับคำร้อง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |