ท่ามกลางกระแสข่าว เชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus) ระบาดอย่างหนักในประเทศจีน และเริ่มพบผู้ป่วยในประเทศอื่นๆ ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก จนกล่าวได้ว่าเกิดความโกลาหลในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ได้ชื่อว่ามีนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเดินทางไปมาหาสู่เป็นจำนวนมากที่สุดในโลกนั้น
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า องค์กรที่ต้องทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารอย่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ FAKE NEWS ข่าวลวง ข่าวมั่ว ข่าวปล่อย ไม่น้อยหน้าไปกว่าเรื่องปัญหาไวรัส
ข่าวแชร์ปล่อยข่าวลือที่เกิดขึ้นใน อสมท ว่าด้วยประเด็นปัญหาการบริหารจัดการภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการตั้งประธานบอร์ดคนใหม่ หลังจากที่เก้าอี้ว่างมานานเกือบครึ่งปี เพราะพลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข จำเป็นต้องลาออกไปทำหน้าที่วุฒิสมาชิก หรือจะเป็นเรื่องการเยียวยาคลื่น 2600 MHz
หนีไม่พ้นความเป็นแดนสนธยา!! หรือเป็นเพราะวงจรอุบาทว์หมุนกลับเข้ามาอีกแล้ว
นั่นคือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หน่วยราชการรัฐวิสาหกิจจะเป็นด่านแรกที่นักการเมืองและท่านที่ปรึกษานักการเมืองทั้งหลายจะจับจ้องตาเป็นมัน เพราะโครงสร้างในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจต่างๆ นั้น "เอื้อประโยชน์" และเปิดช่องให้นักการเมืองเข้าไปล้วงลูกได้โดยชอบใจ แต่ชอบธรรมหรือเปล่านั้น คงไม่ต้องถามเพราะมีคำตอบอยู่แล้วว่า ยุคใครยุคมัน
บอร์ดของรัฐวิสาหกิจต่างๆ มักจะถูกเปลี่ยนหน้าถ่ายเลือดกันแทบทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีผู้กำกับรัฐวิสาหกิจนั้นๆ โดยไม่สนใจศึกษาให้ถ่องแท้เลยว่า ทุกวันนี้รัฐวิสาหกิจแบ่งเป็น 2 ประเภท นั่นคือ ประเภทที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจที่สังกัด กระทรวง ทบวง กรม และให้บริการที่เป็นสาธารณะประโยชน์ สำหรับประชาชน เช่น การไฟฟ้า การประปา รถเมล์ โทรศัพท์ รถไฟ ไปรษณีย์ การยาง การท่าเรือ และประเภทที่ 2 เป็นรัฐวิสาหกิจที่ค่อนข้างเป็นอิสระ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น ปตท., การบินไทย, ธนาคารกรุงไทย, อสมท และการท่าอากาศยาน
รัฐวิสาหกิจประเภทแรก จะมีเจ้ากระทรวง คือ รัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลและควบคุม สามารถสั่งการและส่งข้าราชการ และหรือผู้ทรงคุณวุฒิ ของตัวเองมาเป็นบอร์ดได้ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจต้องทำตามเจ้ากระทรวง
ส่วนรัฐวิสาหกิจประเภทที่สอง จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ถือหุ้นมหาชน เป็นเจ้าของ ในกลุ่มนี้ สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังเป็นเลขาคณะอนุกรรมการกลั่นกรองนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
การเลือกกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมาจากผู้ถือหุ้นที่เสนอเข้ามา แล้วเข้ากระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ เช่น director pool ของกระทรวงการคลัง และคุณสมบัติอื่นๆ ที่ไม่ผิดกฎหมาย เช่น ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือมีคดีต่างๆ
ข่าวลือ ข่าวปล่อย จนกลายเป็นข่าวสร้างความปั่นป่วนใน อสมท เกี่ยวกับสถานภาพของ พล.ต.ท.จตุพล ปานรักษา ประธานบอร์ดคนใหม่ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะรัฐมนตรีผู้กำกับ อสมท ยังมิได้เห็นชอบนั้น
ดูเหมือน..รู้ไม่จริงแล้วหน้าอาจจะแตก!! เพราะ อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจ ในกลุ่มประเภทที่สอง มาตั้งแต่ปี 2547 นักการเมืองหรือที่ปรึกษาคนไหนอยากจะล้วงลูกก็ควรจะต้องรู้
ส่วนเรื่องราวปัญหาคลื่น 2600 ที่มีเงินเยียวยาก้อนใหญ่ทำให้ตาโตเป็นไข่ห่านกันนั้น ความจริงแล้ว กสทช.เองก็ยังมิได้ฟันธงจำนวนเงิน หรือตัวเลขกลมๆ ที่สำคัญยังไม่ได้หมายความว่า การเยียวยานั้นจะทอนเป็น "ตัวเงิน" หรือไม่อย่างไร .. แต่ตื่นเต้นตื่นตัวกันเสียเหลือเกิน จนอาจจะลืมไปแล้วกระมังว่า คนที่ลุกขึ้นเรียกร้องต่อสู้ขอความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าวนี้ คือ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. ณ ปัจจุบัน แต่ดูเหมือนกำลังโดนการเมืองทั้งภายในและภายนอก อสมท.จัดหนักราวกับเป็นผู้สร้างความเสียหายให้กับองค์กร
น่าแปลก!! ยังไม่เท่ากับน่ากลัว!! ยิ่งกว่าไวรัสเสียอีก สำหรับปัญหาไม่รู้จบของแดนสนธยาที่เรียกว่า อสมท.
"ปิยสาร์"
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |