อยากได้กองหนุนเพิ่ม บิ๊กตู่รับเอามาช่วยหมดแล้วถ้าปชช.ไม่เข้าใจก็ลำบาก


เพิ่มเพื่อน    

“บิ๊กตู่” ตีความคำพูด “ป๋าเปรม” หมายถึงเอาทุกคนมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไปหมดแล้ว ทั้งขรก.-เอกชน-ปชช.-ภาคประชาสังคมและธุรกิจ ปลอบตัวเองกองหนุนอยู่ที่ใจตัวเองก่อน รับอยากได้ ปชช.เป็นกองหนุนเพิ่ม ถ้าไม่เข้าใจก็ลำบาก ย้ำเลือกตั้งพ.ย.61 หลัง กม.ลูกเสร็จ ย้อน "ปู่พิชัย" ไม่ใช่รัฐบาลทหาร แต่เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร ตะเพิดพรรคการเมืองเช็กสถานะสมาชิกพรรคให้ถูกต้อง ซัดไม่ใช่ภาระประเทศ "บิ๊กป้อม" ยันความสงบภายในเป็นปัจจัยสำคัญ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 3 มกราคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ระบุว่านายกฯ ใช้กองหนุนเกือบหมดแล้ว ต้องหากองหนุนเพิ่ม ว่าโดยส่วนตัวตนเข้าใจ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายคนที่ไปอวยพรปีใหม่ พล.อ.เปรมในวันนั้นก็เข้าใจ คำว่ากองหนุน หมายความว่าเราได้เอาคนทุกคนมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชารัฐ ทั้งข้าราชการ เอกชน ประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ท่านก็บอกว่าใช้ไปหมดแล้ว แต่ทำอย่างไรให้มันมากขึ้น 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนตีความหมายแบบนี้ และคิดว่า พล.อ.เปรมคงไม่ได้มีเจตนาอะไรกับตนที่จะมองในเรื่องไม่ดี ท่านได้ให้กำลังใจรัฐบาลมาโดยตลอด คงไม่พูดอะไรที่ทำให้ตนเสียหาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตีความอย่างไร ฉะนั้นลองคิดดู สิ่งที่ตนพูดมันใช่หรือไม่ แต่ก่อนทุกคนมาร่วมมือกันแบบนี้หรือไม่ คือยังไม่ใช้กองหนุน แต่ตอนนี้ผมเอากองหนุนมาหมดทุกอัน เอามาช่วยกิจการที่เป็นของรัฐ ความร่วมมือเกิดมากขึ้นในกลุ่มประชารัฐ คณะทำงานประชารัฐทุกคนมาช่วยและมาทำตรงนี้ เพื่อแก้ปัญหาการเอื้อประโยชน์ต่อกัน
    “ผมคิดว่าต้องคิดอย่างสร้างสรรค์กันหน่อย ถ้าหาประเด็นตีกันอยู่แบบนี้มันก็ไม่ได้ คำว่ากองหนุนของผม คือใจผมยังเต็มที่ เต็มเปี่ยม กองหนุนมันต้องอยู่ที่ใจตัวเองก่อน ตราบใดที่ผมยังมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อประชาชนของผม ของพวกเราทุกคน ผมก็คิดว่าทำได้ทำสำเร็จ แต่ถ้าเราบอกว่าท้อแท้หมดกำลังใจหรือโมโหมากเกินไป มันก็ไม่ใช่เรื่อง มันบ่อนทำลายตัวผมเปล่าๆ สุขภาพของผมก็ไม่ แข็งแรงอย่างที่สื่อเองก็เป็นห่วงผม กลัวผมป่วยเจ็บตาย ยิ้มให้กันดีกว่า” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
     ผู้สื่อข่าวถามว่า กองหนุนส่วนไหนที่ต้องการมากที่สุดในช่วงเวลานี้ นายกฯ กล่าวว่า อยากได้ทุกพวก คือประชาชน ซึ่งต้องเข้าใจ ถ้าประชาชนไม่เข้าใจก็ลำบาก การจะทำอะไรก็ตามที่เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศจากสิ่งที่ทำมาทั้งชีวิตและเผชิญความยากจนมาตลอดชีวิต จะแก้ภายในระยะเวลาอันสั้นคงแก้ไม่ได้ อยู่ที่การสร้างการรับรู้ การเรียนรู้ ซึ่งในวันนี้เราปล่อยปละละเลยมายาวนาน จนกระทั่งไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าทุกอย่างต้องเป็นภาระของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว และมีการตอบสนองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งบางทีไม่ใช่ นั่นคือปัญหาที่ทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไม่ได้ สรุปความขัดแย้งก็เกิดขึ้นอีก
    “วันนี้ทุกคนอาจจะบอกว่าไม่น่ามีเหตุผลในเรื่องความขัดแย้ง ไม่เห็นมีอะไร แล้วทุกวันนี้มันสงบกันยังไง ก็เป็นเรื่องของท่าน ประชาชนก็ไปตัดสินกันเอาเอง ควรเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะที่บอกว่าทุกอย่างเป็นของประชาชน ซึ่งประชาชนที่ว่านั้นตรงไหนล่ะ ถ้าประชาชนของพรรค ท่านก็ต้องไปตรวจสอบสมาชิกพรรคมีเหลือเท่าไหร่ให้ถูกต้อง แค่นั้นเอง จะไปยากตรงไหน ภาระของพรรคไม่ใช่ภาระของประเทศ ดังนั้น ทุกพรรคก็ต้องไปทำให้ถูกต้อง ผมคิดว่าสังคมก็รอดูอยู่เหมือนกัน” 
    เมื่อถามว่า ความสงบในช่วงปีใหม่ที่ไม่เกิดเหตุอะไรถือเป็นสัญญาณที่ดีของบ้านเมืองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สื่อทุกสื่อเขียนว่าปีใหม่การต่อสู้ทางการเมืองจะแรงขึ้น หากสื่อเขียนอยู่แบบนี้ก็จะเป็นอยู่แบบนี้ ตราบใดที่ให้ความสำคัญกับเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นเรื่อง สื่อต้องฟังรัฐบาลบ้าง ชี้แจงแทนตนบ้าง ไม่ใช่เอาความขัดแย้งหรือเอาคนที่ไม่มีบทบาทออกมาพูดแล้วขยายความกันทุกวัน ขอให้แยกแยะกันให้ออกหน่อย ใครที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ถ้าเขาดีบริสุทธิ์ ตนก็ไม่ได้ว่าอะไร พูดมาตนก็ไม่ตอบโต้ แต่ถ้าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วเราไปส่งเสริมขยายให้เขาเรื่อยๆ มันจะสงบไหม
นักการเมืองเคยเป็นทหาร
     ส่วนข้อมูลรัฐบาลเรื่องความสงบเป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สงบในระดับหนึ่ง คือยังไม่ออกมาข้างนอกก็กลัวกฎหมายอยู่เหมือนกัน กฎหมายของตนไง ลองคิดดูถ้าไม่มีกฎหมายที่มีอยู่แล้วในวันนี้มันจะเกิดอะไรขึ้น ที่ผ่านมากฎหมายปกติทั้งนั้น เอาอยู่กันหรือไม่ ไม่อยู่หรอก และในวันนี้ในโซเชียลมีเดียมีมากมาย ฉะนั้นต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ก่อนที่จะไปสู่การเลือกตั้ง เข้าใจหรือไม่ ถ้าไม่แก้เรื่องเหล่านี้ ต่อไปก็ลำบาก
    “ผมยังไม่รู้ใครจะมารับผิดชอบต่อ เขาจะแก้ได้หรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ เขาจะทำให้สงบแบบนี้ได้หรือเปล่า ผมก็ไม่รู้ ใครจะเป็นรัฐบาลก็ยังไม่ทราบใช่ไหม เมื่อได้รัฐบาลเลือกตั้งมาแล้วจะบริหารได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ทุกอย่างมีบทเรียนทั้งสิ้น ดังนั้นทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต ต้องทำความเข้าใจประชาชนให้ชัดเจนว่าจะทำให้บ้านเมืองสงบสุขได้อย่างไร อย่ามาอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความขัดแย้ง ความบริสุทธิ์ ซึ่งท่านเองก็รู้ อันไหนบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ ผมก็ดูออก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    เมื่อถามอีกว่า แสดงว่าไม่มั่นใจในสถานการณ์ข้างหน้า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับตน มั่นใจหรือไม่ไม่ใช่เรื่องของตน เป็นเรื่องกติกา จะเลือกตั้งได้เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ตนจะมั่นใจหรือไม่มั่นใจตนก็ทำอะไรไม่ได้
    "วันนี้เราต้องพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ เพราะถือเป็นกองหนุน หากผลิตและสร้างคนที่มีคุณภาพจะถือเป็นกองหนุนอีกชั้น ซึ่งกองหนุนไม่ได้มีกองเดียว มันมีขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 วันนี้ผ่านกองหนุนขั้นที่ 1 มาแล้ว ขั้นที่ 2 คนยังลำบากอยู่ในทุกวันนี้ เราต้องแก้ให้เขาจึงจะมีเพิ่ม ผมเข้าใจว่าสิ่งที่ พล.อ.เปรมพูดหมายความว่าอย่างนี้ ตอนนี้เราเอามาทุกกลุ่ม แต่ยังมาได้ไม่มาก" นายกรัฐมนตรีระบุ
     นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า วันนี้เป็นวันแห่งความสุข เป็นวันแห่งรอยยิ้ม ผมก็ยิ้มเยอะๆ แต่เก่าผมยิ้มแล้วหุบเร็ว เพราะเป็นคนไม่ค่อยยิ้มเท่าไหร่ เพราะหน้าเป็นแบบนี้
     “วันนี้ผมต้องเปลี่ยนแปลง เพราะผมไม่ใช่ทหาร เข้าใจไหม เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร มันก็ติดนิสัยทหารอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดคือประชาชน และไม่ใช่ประชาชนของผม แต่เป็นประชาชนของประเทศไทย และไม่ใช่ของพรรคไหน ทุกคนเป็นพลเมืองไทย ก็ต้องหนุนการเมืองที่ถูกต้องมีธรรมาภิบาล มีการเลือกตั้งในระบบยุติธรรม มีพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ มีพรรคการเมือที่ใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าและประหยัด ตรวจสอบได้ และการตรวจสอบเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม อย่ามาตัดสินกันเองเลยทุกเรื่อง” 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเป็นนักการเมืองยาวๆ ไปเลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่เคยอยากเป็นสักวัน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ยังไม่ได้อยากเป็น แต่มันด้วยหน้าที่ความจำเป็น ชีวิตรับผิดชอบ ตนรับผิดชอบด้วยชีวิตของตน
    เมื่อถามถึงกรณีที่นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย จับมือทวงคืนประชาธิปไตยจากทหาร เพราะไม่เชื่อมั่นว่าปี 2561 จะมีการเลือกตั้ง หลังจากที่นายกฯ เคยระบุว่าหากยังมีความขัดแย้งสูงจะไม่รับประกันว่าจะมีเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “ทวงจากทหารที่ไหน ผมเคยบอกแล้วว่ารัฐบาลไม่ใช่ทหาร ถึงผมจะมาจากทหารก็ไม่ใช่ทหาร เพราะผมออกจากทหารมา 3 ปีแล้ว อย่าไปมองว่าอะไรก็ทหาร ต้องไปดูว่าเป็นการสร้างความเกลียดชังให้กับทหารหรือไม่ แล้วรัฐบาลนี้ก็ไม่ใช่ทหารทั้งหมด มีนักวิชาการด้วย ถ้าเป็นทหารก็ไปสั่งทหารด้วยกัน ผมไปสั่งอย่างนั้นไม่ได้ เรื่องใครจะไปจับมือใครเป็นสิทธิส่วนบุคคล ทุกพรรคการเมืองมีอุดมการณ์ที่ประชาชนยอมรับ มีสมาชิกพรรคที่ครบถ้วนถูกต้องก็จบสังคมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน”
     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า แต่ข้อสำคัญคือ ต้องมีการทบทวนการเป็นสมาชิกพรรค เพราะที่ผ่านไม่มีการแสดงตน เรื่องการบำรุงพรรคก็ใช้วิธีการเสียภาษี ทำให้ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นสมาชิกพรรคไหน ก็ต้องทำให้ชัดเจน แต่หากเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของตัวเอง แล้วจะกลัวทำไมว่าคนจะไปไหน ที่ผ่านมาหลายๆ เรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ประชาชนและสื่อก็ต้องช่วยกันคิดว่าวันข้างหน้าเราต้องการใครเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องของประชาชนที่จะตัดสินด้วยการกาบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่ให้ตนไปสั่งกาบัตรให้ใคร เพราะทำไม่ได้ ที่ผ่านมาเขาเลือกตั้งกันอย่างนี้ไม่ใช่หรือ ตนคงทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นการเลือกตั้งของประชาชน ตนไม่อยากใช้คำว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมือง เป็นเรื่องของทหารที่ต้องการมีอำนาจต่อ 
ย้ำเลือกตั้ง พ.ย.2561
    "ผมบอกไปแล้วว่าเบื่อการใช้อำนาจ เพราะผมเป็นทหารมา 30-40 ปี ใช้อำนาจในการปกครองบังคับบัญชาลูกน้องมาตลอด ผมไม่ได้รู้สึกว่าอยากมีอำนาจ เพราะการมีอำนาจมีเอาไว้เพื่อปกครอง บังคับบัญชาทหาร ทั้งในยามปกติและยามศึกสงคราม นั่นเขาเรียกว่าอำนาจทางทหาร และจำเป็นต้องมีระเบียบวินัย แต่วันนี้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลการทำงานของรัฐบาลและมอบนโยบายต่างๆ ผมไม่ได้ใช้ความคิดของทหารเลย ซึ่งเอาความคิดของทหารมาใช้แค่เรื่องเดียวคือการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าประเทศเรา มีคนหลายส่วน ซึ่งบังคับเขาไม่ได้มากนัก ถึงแม้ว่าผมจะมาแบบนี้ก็ตาม ผมก็คำนึงถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ และมีแต่ทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น"
     ส่วนการประกาศความชัดเจนในการเลือกตั้งนั้น หัวหน้า คสช.ยืนยันว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมป ซึ่งตนไปพูดกับต่างประเทศแบบนี้ และหลายประเทศที่ตนไปอธิบายเขาก็เข้าใจ เพราะตนบอกว่าอยู่ที่กฎหมายลูก 2 ฉบับ หากประกาศใช้เมื่อไรก็เมื่อนั้น แต่อย่ามาบอกว่าดึงเรื่อง คงทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขาร่างกฎหมายโดยความคิดเห็นของ กรธ.เอง ตนจะไปยุ่งอะไรกับเขา เพราะที่ผ่านมาเคยบอกแล้วว่าหน้าที่ใครหน้าที่มัน แต่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันว่าบ้านเมืองจะสงบสุขได้อย่างไร ประชาชนก็ต้องเข้าใจตามนี้
    “ก็ประกาศไปแล้วไง ถ้ากฎหมายลูกเสร็จก็เลือกตั้ง แต่ถ้าไม่เสร็จก็ไม่ใช่เรื่องของผม หรือเสร็จก็ไม่ใช่เรื่องของผม แล้วไม่ใช่ไปโทษสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ดึงเรื่อง มันไม่ใช่ เวลา สนช.อภิปรายกัน ลองไปดูเขาเถียงกันเรื่องอะไร เขาไม่ได้พูดเข้าข้างผมสักคน บางเรื่องเขาก็ไม่เห็นด้วย ถ้าบอกว่าผมมีอำนาจทับซ้อน สนช.จริงแล้วเขาจะกล้าเหรอ แสดงว่าผมก็ปล่อยเสรีเขาไม่ใช่หรือ ผมจะไปสร้างเรื่องทำไม วันนี้งานก็เยอะอยู่แล้ว ปัญหามากมาย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อถามว่ายังจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561 หรือไม่
    เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยมีความเห็นตรงกันว่าอาจยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ตนไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ เป็นเรื่องของกระบวนการ หากไม่ดีไม่ถูกต้อง ก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา แต่คำสั่ง คสช.ที่ออกมาทั้งหมดในกฎหมายรัฐธรรมนูญระบุว่าเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ แต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องไปดูว่าละเมิดตรงไหนอย่างไร
    วันเดียวกัน นายมาร์ค ฟิลด์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร รับผิดชอบด้านเอเชียและแปซิฟิก เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 3 
    โดย พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือตอนหนึ่งว่า  ไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการตามโรดแมปของรัฐบาลในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมที่ปรองดอง และบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพ ซึ่งคาดว่าน่าจะจัดการเลือกตั้งได้ในปีนี้ ภายหลังจากการจัดทำกฎหมายลูกที่จำเป็นสำหรับการเลือกตั้งเสร็จสิ้น 
        ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตของฝ่ายการเมืองถึงการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน  2561 ว่าเท่าที่ได้คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์? ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตนเข้าใจว่าโรดแมปเลือกตั้งจะไม่เปลี่ยนไปจากเดิม อย่างไรก็ตาม ปัจจัยของความสงบภายในประเทศที่หลายฝ่ายตั้งเป็นข้อสังเกตนั้น ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ประชาชนต้องการอันดับแรก ซึ่งช่วงที่ผ่านมาตนขอขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือเพื่อสร้างความสงบในบ้านเมือง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"