เที่ยวเส้นทางสายไหม สกลนคร-กาฬสินธุ์


เพิ่มเพื่อน    

(เสื้อที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระราชทานแก่ยายทุ้ม-ยายไท้)

    เสน่ห์ของภาคอีสาน นอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ยังมีสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และแทบทุกจังหวัดยังคงสืบสานอนุรักษ์มาจนถึงปัจจุบัน คือ ภูมิปัญญาการทอผ้า ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางมาสัมผัสกระบวนการทอผ้า และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันกับผ้ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในทริปนี้ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้พาคณะสื่อมวลชนเดินทางสำรวจเส้นทางสายไหม...สู่เมืองรอง จังหวัดสกลนคร-กาฬสินธุ์            

(ลายผ้ากลุ่มทอบ้านหนองแข้)

     จุดแรกของทริปคือ จังหวัดสกลนคร ที่มีชื่อเสียงลือลั่นว่าเป็นแหล่งปลูกหม่อนไหมที่ดีที่สุด และยังเป็นเมืองแห่งครามโลก ชื่อเสียงนี้มีที่มา เพราะด้วยสภาพภูมิศาสตร์ ดิน น้ำ อากาศที่สมบูรณ์ ทำให้ปลูกต้นครามและต้นหม่อนได้ง่าย และให้สีที่สวยงาม

(ผ้าไหมย้อมครามเสร็จแล้ว)

    กลุ่มทอบ้านหนองแข้ ต.ตองโขง อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร คือหนึ่งในชุมชนที่ยังสืบสานงานทอผ้า ตั้งอยู่ในพื้นที่ "พิพิธภัณฑ์บ้านป้าทุ้ม-ป้าไท้" ซึ่งเป็นบ้านไม้สองชั้น ใต้ถุนโล่ง เป็นพื้นที่ทอผ้า สาวไหม อีกฟากเป็นพื้นที่ย้อมสี ชั้นบนของบ้านจัดแสดงผ้าไหมลวดลายที่สำคัญ และเรื่องราวของยายทุ้มและยายไท้ในอดีตยังคงทำให้ชาวบ้านภูมิใจ เมื่อผ้าไหมของที่นี่ได้รับการฟื้นฟูและส่งเสริมให้อนุรักษ์จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งที่พระองค์ได้เสด็จฯ เยือนที่บ้านหนองแข้              

(แม่วาส (ด้านหน้าสุด) และสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านหนองแข้)

    วาส เมืองปารคะ หรือ แม่วาส หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทอผ้าบ้านหนองแข้ เล่าว่า มีการพัฒนาการย้อมสีผ้า จากเมื่อก่อนใช้สีเคมี ก็หันมาใช้สีจากธรรมชาติ และความพิเศษของที่นี่คือการนำไหมมาย้อมคราม เพราะปกติสีของครามจะไม่ติดไหม แต่ได้อาจารย์ที่ ม.เกษตรศาสตร์เข้ามาช่วยในการคิดค้นและทดลอง ด้วยการลอกกาวจากไหม หรือที่เรียกว่าการฟอกไหม คือการทำเนื้อคราม (ต้องใช้ใบครามอายุ 4-5 เดือนขึ้นไปจะได้สีสวย) ก่อเป็นหม้อคราม โดยมีส่วนผสมคือ ต้มน้ำอุ่น มะขามเปียก เกลือ ปูน และกรองก่อนลงหม้อ และสังเกตเนื้อครามว่าขึ้นหรือยัง จึงนำไปย้อมได้ การดูแลรักษาก็ง่าย ซักเหมือนผ้าปกติ สีไม่ตก ที่นี่ลวดลายเป็นเอกลักษณ์ อย่างลายพื้นฐานพอเพียง ลายฉลองพระองค์ ลายเอกลักษณ์เต่าลงทะเล สิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดคือการได้อยู่กับบ้านและมีงานทำไปด้วยเพราะการทอผ้า              

(ผลิตภัณฑ์ร้านครามสกล)

    มาต่อกันที่ "ร้านครามสกล" ที่ ต.ห้วยยาง อ.เมืองฯ ร้านดังที่ทำผ้าย้อมครามจากสีธรรมชาติและทอมือ และยังมีการทำผลิตภัณฑ์ออกมาหลากหลาย ทั้งเสื้อผ้า เครื่องนอน ของตกแต่ง หมวก กระเป๋า ฯลฯ ที่มีทุกเฉดสีของสีคราม ตั้งแต่อ่อนมากไปจนถึงเข้มจัดจ้าน ที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้มาเยือนได้มีโอกาสได้ย้อมครามเองด้วย โดยไม่ต้องกลัวว่าจะได้ลายไม่สวย เพราะเขาจะมัดลายแบบง่ายมาก เราไม่ถนัดงานฝีมือแบบนี้ ต้องขอชมตัวเองเลยว่ามัดย้อมออกมาพอใช้ได้เลย ใครสนใจก็ติดต่อได้ที่ 08-0582-6655           

(ผลงานย้อมคราม ร้านครามสกล)

    เรามาไหว้พระเสริมสิริมงคลในช่วงต้อนรับปีใหม่ ที่วัดพระธาตุเชิงชุม ปูชนียสถานสำคัญของเมืองสกลนคร ที่มีไฮไลต์คือ หลวงพ่อองค์แสน และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นบ่อน้ำธรรมชาติผุดขึ้นมาพร้อมพระธาตุเชิงชุม ชาวบ้านก็นำไปดื่มบ้าง อาบบ้าง เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย เสริมสิริมงคลตามความเชื่อ ต่อกันที่วัดผาแด่น ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน ด้านในถูกจัดตกแต่งด้วยต้นไม้น้อยใหญ่หลากหลายสายพันธุ์ มองไกลๆ จะเห็นยอดเจดีย์องค์เล็กสีทองอร่าม แลนด์มาร์คของที่นี่ก็คือ ประติมากรรมรูปปั้นพญานาคปรก ขดเป็นฐานประดิษฐานให้แก่องค์พระ เบื้องหน้ารอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ และงดงามด้วยงานประติมากรรม งานแกะสลักอันวิจิตรอีกมากมาย และไปตามรอยพญาเต่างอย อีกหนึ่งจุดที่ห้ามพลาด               

(ชาวบ้านกำลังจกขิด เพื่อให้ได้ผ้าไหมแพรวา)

    วันถัดมา ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เราเดินทางมาที่กลุ่มทอผ้าบ้านหนองยางคำ ต.เนินยาง อ.คำม่วง อีกหนึ่งแหล่งผ้าไหมแพรวา ที่นี่จะโดดเด่นคือการทำผ้าคลุมไหล่ที่มีเทคนิคการทอแบบจกขิด ที่ยากและต้องใช้ความอดทน มีสมาธิมากทีเดียว เพราะหนึ่งผืนสามารถผสมผสานได้หลายลาย ทำให้ผ้าไหมแพรวาบางผืนที่มีมากกว่า 10 ลายมีราคาค่อนข้างสูง โดยลายเอกลักษณ์ที่นิยมคือ ลายนาค ที่เป็นลายดั้งเดิมโบราณ ลายใบบุนก้านก่อ ลายรวงแก้ว สีของไหมแพรวาจะเน้นสีแดงอมชมพูจากแก่นฟาง สีกรมจากแก่นขนุน สีเหลืองจากดอกคูน สีน้ำตาลเข้มจากโคลน สีชมพูอ่อนจากเปลือกไคร่ นอกจากสไบก็ยังมีผ้าไหมแพรวาเป็นผืน หรือฝ้ายที่ราคาจะไม่แพงเท่าไหมแพรวา

(ชาวบ้านกำลังจกขิดเพื่อให้ได้ผ้าไหมแพรวา)

    นายพสุพล บุ่งหวาย หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานผ้าไหมแพรวา ได้บอกว่า ตั้งแต่เด็กก็คลุกคลีอยู่กับที่บ้าน เพราะที่บ้านก็ทอผ้าไหม ทำให้เรารู้สึกรักและผูกพัน จึงได้เรียนรู้การทอ การย้อมผ้า การเลี้ยงไหม ตลอดจนไลฟ์สดขายผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ทำให้กลุ่มมีรายได้หลายช่องทาง และก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายขึ้น มีทั้งชุดสำเร็จ ผ้าผูกผม ฯลฯ ให้เข้ากับยุคสมัย และวัยรุ่นก็สามารถเลือกซื้อใส่ได้ด้วย            

(ลายมัดหมี่ 5 สี)

    ต่อที่กลุ่มอาชีพสตรีผ้าไหมมัดหมี่บ้านสูงเนิน ต.เนินยาง อ.คำม่วง ที่นี่จะทอผ้าไหมมัดหมี่แบบ 40 สองตะกอ ทอโดยคนในกลุ่มเอง มีเอกลักษณ์ของไหมภูไทคือ ทอลวดลายมัดหมี่ 5 สี โดยจะใช้สีเคมีเข้ามาช่วย 5 สี ได้แก่ ขาว เหลือง แดง ดำ เขียว นำมาแต้ม ให้ดูโดดเด่นสวยงาม เป็นลายหางปลา ลายหมี่ขั้น และลายใหม่ คือ ลายพาขวัญ ลายพระพันปีหลวง ลายใบหม่อน นางอ่อนสา เทสารินทร์ ประธานกลุ่มที่นี่บอกว่าสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจงานทอผ้าเท่าไหร่ กลัวว่าสักวันผ้าไหมมัดหมี่ของบ้านสูงเนินจะสูญหายไป เพราะการทอผ้าของชาวบ้านไม่ใช่เพียงแค่ทำเสริมหลังจากทำนา แต่เป็นอาชีพหลักที่สามารถเลี้ยงชีพและส่งลูกหลานเรียนได้           

(มัดหมี่บ้านสูงเนิน)

      ปิดท้ายแบบชิวๆ ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร ศูนย์ศึกษาวิจัย และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ แหล่งเรียนรู้เรื่องไดโนเสาร์ ดินแดนอีสานแบบครบวงจร ทั้งซากดึกดำบรรพ์ และที่ไฮไลต์ หุ่นจำลองไดโนเสาร์สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส รวมทั้งอีกมากมายที่ชวนตื่นตาไปกับอดีตก่อนมีมนุษย์และวิวัฒนาการจนถึงปัจจุบัน สามารถเข้าชมได้ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. ปิดให้บริการทุกวันจันทร์ ยกเว้นวันจันทร์ที่ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์ ราคาคนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 10 บาท (อายุไม่เกิน 12 ปี) ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท (อายุไม่เกิน 12 ปี).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"