พิษอู่ฮั่นหั่นดอกเบี้ย0.25% ท่องเที่ยวอ่วมปรับลดจีดีพี


เพิ่มเพื่อน    

  ไวรัสโคโรนาส่งผลเศรษฐกิจไทยแล้ว กนง.หั่นดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือแค่ 1% ต่อปี ต่ำสุดแบบไม่เคยมีมาก่อน แต่ย้ำไม่ถึงขั้นดอกเบี้ยติดลบ กกร.ก็ปรับจีดีพีลง เหตุนักท่องเที่ยวจีนหดหายหนัก

    เมื่อวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลประชุม กนง.ว่า มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม และต่ำกว่าระดับศักยภาพมากขึ้นมาก จากการระบาดของไวรัสโคโรนา และความล่าช้าของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และภัยแล้ง
    “3 ปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีชะลอตัวลง บางเรื่องก็เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ซึ่งยังไม่รู้ว่ามากน้อยขนาดไหน ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 2.8% ซึ่ง กนง.ขอประเมินสถานการณ์ และผลกระทบที่ชัดเจนก่อนทบทวนประมาณการใหม่ ในการประชุมรอบเดือน มี.ค.นี้” นายทิตนันทิ์กล่าว
    นายทิตนันทิ์กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลัง กนง.จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยแบบติดลบหรือไม่ แต่การปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 1% เป็นเครื่องมือที่ กนง.ได้หารือและเตรียมไว้ใช้ในภาวะที่จำเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องเพิ่มสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลชัดเจนขึ้น แต่ยังไม่จำเป็นต้องถึงขั้นใช้มาตรการคิวอี เพราะสภาพคล่องในระบบไม่ได้มีปัญหา
    “คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านต่างประเทศที่มีอยู่สูง รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออก และสนับสนุนให้ ธปท.ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายทิตนันทิ์กล่าว
    เลขานุการ กนง.กล่าวอีกว่า ระบบการเงินโดยรวมมีความเปราะบางมากขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี กนง.จึงเห็นว่ามาตรการการเงินการคลังต่างๆ ที่ภาครัฐและ ธปท.ได้เร่งดำเนินการเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด โดย กนง.จะติดตามประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามพฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร 
วันเดียวกัน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 ใหม่อยู่ที่ 2-2.5% ลดลงจากก่อนหน้านี้คาดการเติบโตอยู่ที่ 2.5-3% เนื่องจากเผชิญความท้าทายจากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ โดยปัญหาหลักในตอนนี้คือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อใด โดยภายใต้สมมติฐานการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในจีนอยู่ในกรอบเวลา 3-6 เดือน จะส่งผลกระทบรายได้การท่องเที่ยวที่หายไป อาจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 108,000-220,000 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมธุรกิจในห่วงโซ่ทั้งโรงแรมและที่พัก ร้านอาหาร ค้าปลีก และขนส่ง รวมถึงกระทบต่อปัจจัยการส่งออกและนำเข้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร แต่ยังคงกรอบประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกติดลบ 2-0% และเงินเฟ้อไว้ตามเดิมที่ 0.8-1.5% 
"ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 เผชิญความท้าทายจากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ และผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนในปี 2563 จะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด และส่งผลทางลบมากขึ้นต่อการส่งออกของไทยแล้ว ยังเป็นแรงฉุดสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของไทยให้ยากลำบากด้วย เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนด้านจำนวนและรายได้คิดเป็น 28% ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมด" นายสุพันธุ์กล่าว
     นายสุพันธุ์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังขาดแรงขับเคลื่อน โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ กกร.จึงมีข้อเสนอเรื่องด่วนต่อภาครัฐ โดยให้ตั้งคณะกรรมการ กกร.ร่วมกับกรมบัญชีกลางเพื่อปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสมและการจัดซื้อสินค้าแบรนด์ไทย รวมทั้งช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีมีส่วนร่วมในการเข้าประมูลของภาครัฐ และขอยกเว้นการจ่ายประกันสังคมของลูกจ้างทั้งหมด และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นเวลา 6 เดือน และขอให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้เร็วขึ้นไม่เกิน 30 วัน  ขณะเดียวกันขอให้มีการลดค่าไฟฟ้า 5% จากยอดเรียกเก็บให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 6 เดือน ในขณะที่ภาคเอกชนก็จะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในประเทศโดยสนับสนุนให้ร้านค้า โรงแรม และบริษัทในเครือข่าย จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายขึ้นในช่วงนี้.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"